วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน

ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย


a picture
ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย
งานวิจัยปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
โดยมุ่งทำความเข้าใจในเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านทางประวัติศาสตร์
ผู้เขียน รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
จัดพิมพ์โดย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับ แผนงานร่วมศึกษา เสริมสร้างสุขภาวะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย ที่เริ่มทวีความรุนแรงและขยายวงกว้าง ไปสู่ความไม่สงบที่เกิดขึ้นครอบคลุมทั่วทุกภาคส่วนของสังคม เป็นพัฒนาการของรูปแบบของการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยที่อำนาจรัฐไทยไม่สามารถให้ความคุ้มครองดูแลสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ในฐานะพลเมืองของรัฐไทยได้
การทำความเข้าใจในปัญหารากฐานอย่างถ่องแท้ การค้นคว้าสถานะแห่งการเกิดขึ้นของเหตุการณ์อย่างแจ่มชัดไร้มายาคติ จะทำให้เราสามารถประเมินทิศทางและกำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับหนังสือเล่มนี้แล้ว รศ.ดร. ธเนศ ได้นำเราไปค้นหาความเป็นมาของแนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยอีกเล่มหนึ่ง ที่พยายามอธิบายประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศึกษาข้อมูลจากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ก่อตัวบนพื้นฐานของความขัดแย้งภายใต้การแบ่งเชื้อชาติของลัทธิชาตินิยม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการก่อตัวของสงครามปลดแอกภายใต้กรอบความคิดของการแยกดินแดนของกลุ่มมุสลิม 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจะทำความเข้าใจในสถานะทางประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องของการลุกฮือทางการเมืองของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ในการก่อตัวของการต่อสู้ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา

เนื้อหาที่ชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์การเมืองของชายแดนภาคใต้นี้ น่าจะเป็นเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้น อันจะทำให้สังคมไทยสามารถเข้าใจในรูปการณ์ของการต่อสู้ของเหตุการณ์ในภาคใต้ได้ดียิ่งขึ้น ไม่หลงติดประเด็นของลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิการแบ่งแยกเชื้อชาติในการที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรงของสถานการณ์สงครามในอนาคต

เนื้อหาโดยสรุปเพิ่มเติม จากการสัมมนา เปิดประเด็นหนังสือ ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน: ความจริงและมายาคติ วันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ณ ห้องประชุมใหญ่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ. ปัตตานี โดย อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
เนื้อหาหลักและบทสรุป
ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย “ลัทธิแบ่งแยกดินแดน” ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย อะไรคือคือมูลเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดแนวความคิดที่เรียกกันต่อมาว่า “ลัทธิแบ่งแยกดินแดน” (separatism) ข้อสรุปจากการศึกษาในขั้นนี้ วิเคราะห์ถึงมูลเหตุทางการเมืองซึ่งมีที่มาจากทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ภายในประเทศได้แก่การต่อสู้และโค่นล้มพลังการเมืองฝ่ายเสรีนิยมและก้าวหน้า(พรรคสหชีพและแนวร่วมรัฐธรรมนูญ) ที่นำโดยปรีดี พนมยงค์และอดีตขบวนการเสรีไทย โดยมีกลุ่มและนักการเมืองท้องถิ่นสำคัญๆร่วมด้วยโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ฝ่ายตรงข้ามที่ประกอบกันเป็นพลังอนุรักษ์นิยมและต่อต้านฝ่ายก้าวหน้า ได้แก่กลุ่มกษัตริย์นิยม กลุ่มข้าราชการเก่า และที่สำคัญคือกลุ่มทหารบก โดยมีพรรคการเมืองเอียงขวาคือประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุนด้วย เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่นำไปสู่การกำเนิดของการเมืองที่ต่อต้านรัฐด้วยหนทางนอกระบบและกฎหมายนั้นคือการรัฐประหาร ๘ พย. พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “บิดา” ของการรัฐประหารและปฏิวัติโดยกองทัพในเวลาต่อมาอีกครึ่งค่อนศตวรรษ ส่วนเหตุการณ์ระหว่างประเทศคือสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการเริ่มสงครามเย็นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยประเทศสหรัฐฯและพันธมิตรในยุโรปเช่นอังกฤษ ในกรณีภาคใต้ การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มชาตินิยมมลายูมีส่วนสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ฝ่ายพันธมิตร โดยเฉพาะเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาทำการโจมตีด้วยกำลังอาวุธ ทำให้อังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วไปในมลายาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐

อุดมการณ์ลัทธิชาตินิยม
นอกจากบริบททางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนในปตานีกับกรุงเทพฯ คลี่คลายดำเนินไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อย นั่นคือปัจจัยในทางอุดมการณ์ทางการเมือง ได้แก่สิ่งที่เรียกว่าลัทธิชาตินิยม คือจินตนากรรมถึงความเป็นชาติเดียวกันของบรรดาผู้คนในรัฐๆหนึ่งเหมือนกับว่ามันเป็นชุมชนที่เป็นธรรมชาติ เกิดและเติบโตมาอย่างเป็นเอกภาพสำหรับทุกคนเหมือนกัน ลัทธิชาตินิยมสยามถูกสร้างขึ้นมาท่ามกลางการต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา รูปธรรมที่ชัดที่สุดคือการปฏิรูปการปกครอง ด้วยการผนวกและรวมศูนย์ดินแดนที่เคยอยู่หรือเป็นประเทศราชแต่ก่อนให้เข้ามาเป็นหน่วยหนึ่งในรัฐใหม่คือสยามที่เป็นรัฐชาติ กลายเป็นบริเวณ มณฑลและจังหวัดในที่สุดของสยามไป นั่นคือประวัติศาสตร์ของการสุดสิ้นอาณาจักรปตานีและอื่นๆ

การสร้างชาติไทยที่ไม่สมบูรณ์
กระบวนการสร้างชาติดำเนินต่อมาอีก แม้ในที่รัฐไทยสยามเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว การสร้างรัฐชาติไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ “การแบ่งแยกดินแดน” ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆจากใต้จรดเหนือและอีสาน ด้านหนึ่งกระบวนการสร้างรัฐและชาติไทยดำเนินไปอย่างเต็มที่ในระยะทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ แต่ผลลัพธ์กลับเป็นการสร้างรัฐที่เป็นอัตลักษณ์เดี่ยวคือความเป็นไทย ที่ไม่เหลือเนื้อที่และเนื้อหาให้กับผู้คนเชื้อชาติและศาสนาอื่นๆที่ไม่ใช่ไทยและไม่ใช่พุทธ ชาติไทยจึงดูเหมือนก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดของการสร้างชาติที่ทันสมัย แต่แท้จริงแล้วกลายเป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ ในอีกด้านหนึ่งกล่าวได้ว่ากระแสอิทธิพลของแนวคิดชาตินิยมก็ได้มีส่วนในการปลุกระดมความตื่นตัวและสำนึกในความเป็นหนึ่งของคนท้องถิ่นด้วยเหมือนกัน เช่นในบริเวณสามจังหวัดมลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้และในภาคอีสานเป็นต้น

ชาตินิยมลายู
กรณีการก่อตัวขึ้นของขบวนการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความเป็นคนมลายูและเป็นมุสลิม มีปัจจัยที่ทำให้แตกต่างไปจากกลุ่มเคลื่อนไหวในภูมิภาคอื่นๆตรงที่บทบาทของศาสนาและผู้นำท้องถิ่น ในสามจังหวัดฯ การเคลื่อนไหวดำเนินไปภายใต้การนำของอูลามะหรือฮะยีห์หรือโต๊ะครู ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาของชาวบ้านและชุมชน ที่มีมายาวนานแล้ว แต่ที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองกับรัฐไทยเปลี่ยนไป คือการที่ศาสนาอิสลามถูกทำให้เป็นการเมืองมากขึ้น หรือมีมิติทางการเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยลักษณะและการปฏิบัติของศาสนาอิสลามเอง และปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ที่เป็นโลกียวิสัย (secular) ที่สำคัญคือการที่มุสลิมยึดถือและปฏิบัติหลักการคำสอนของศาสนาในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ วัตรปฏิบัติของอิสลามเป็นส่วนที่สำคัญในการดำรงชีวิตที่เป็นจริงไม่ใช่ในพิธีกรรมเหมือนศาสนาอื่นๆ

ดังนั้นเมื่อรัฐไทยเริ่มการผนวกอาณาจักรปตานีให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและความเป็นไทย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกระทบเข้ากับการปฏิบัติทางศาสนาของชาวมุสลิม ในระยะแรกมีการผ่อนปรนให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวหย่าร้างและทรัพย์สิน แต่ในทางปฏิบัติรัฐไทยก็ยังยืนยันที่จะต้องเป็นผู้กำหนดแต่งตั้งควบคุมและกระทั่งตัดสินว่าคำพิจารณาของผู้พิพากษาอิสลามในศาลศาสนาที่เรียกว่าโต๊ะกาลี ต่อมาเรียกว่าดะโต๊ะยุติธรรมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาเรื่องการจัดการปัญหาครอบครัวและมรดกของคนมุสลิมนั้น รัฐไทยอนุโลมด้วยการให้ใช้หลักการกฎหมายอิสลามในเรื่องว่าด้วยครอบครัวและมรดกที่ร่วมกันแปลเป็นภาษาไทย (ดำเนินการจากปีพ.ศ. ๒๔๗๒ ถึง ๒๔๘๔) เป็นหลัก แต่ในทางปฏิบัติก็ให้ดำเนินวิธีการทางศาลในแบบศาลแพ่งธรรมดา เพียงแต่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งทำการพิจารณาร่วมด้วย สมัยรัฐบาลจอมพลป. ประกาศยกเลิกดะโต๊ะยุติธรรมไป ๓ ปี (จากปี ๒๔๘๖ ถึง ๘๙) ปัญหาว่าศาลศาสนาดังกล่าวจะอยู่ใต้ผู้พิพากษาอิสลามทั้งหมดได้หรือไม่ การแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมโดยคนมุสลิมเองได้ไหม จะเป็นปัญหาในการเคลื่อนไหวที่มีมิติทางการเมืองอย่างมากในช่วงการนำของหะยีสุหรง

การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ
มิติอีกด้านอันเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทยกรุงเทพฯ คือการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งและการเมืองของประชาชน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่นและมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวมุสลิม๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงรวมศูนย์ในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันว่าคือ “กบฏหะยีสุหลง” กับ “กบฏดุซงญอ” ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑
กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ “กบฏ” แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆนั้นคือ การเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิของพลเมืองในรัฐที่เคารพวัฒนธรรมความเชื่อของคนกลุ่มน้อย ไปจนถึง “การทำสงคราม” เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

หนทางของการเจรจาต่อรอง
จากการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ กล่าวได้ว่าก่อนที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงโดยรัฐนั้น มีหนทางของการเจรจาและทำความเข้าใจตกลงกันในวิธีการแก้ไขปัญหาสามจังหวัด ผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี ๒๔๘๐ เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล

อุปสรรคและปัจจัยที่ทำให้การเจรจาต่อรองนั้นไม่ประสบผลสำเร็จมีหลายประการ หนึ่งคืออุปสรรคทางศาสนาและวัฒนธรรม ระหว่างความเป็นชาติไทยที่ถือว่าเป็นสมาชิกของชาติมหาอำนาจในโลกสมัยนั้น อีกด้านคือการไม่มองถึงอัตลักษณ์และความเท่าเทียมกันของชนชาติที่ไม่ใช่ไทย อันนี้เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลก ที่มีความเชื่อว่าความเป็นชาติหรือเชื้อชาติเล็กๆกระจัดกระจายนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญใหญ่โตเฉพาะหน้า ขอให้สร้างประเทศชาติใหม่ที่คนเชื้อชาติใหญ่ขึ้นมานำได้สำเร็จ ก็จะสามารถคลี่คลายสร้างชาติให้เข้มแข็ง แล้วชนชาติอื่นๆก็จะมีความสุขไปเอง

นอกจากนั้นเมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งกับทางการขึ้น มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง ข้อแรกคือการที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่หวาดระแวงและกระทั่งหวาดกลัวการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครองของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มากนัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด อีกข้อหนึ่งคือลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ผู้นำศาสนาอิสลามมีหน้าที่ต้องให้การช่วยเหลือนำพาชาวบ้านในทุกๆเรื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยมองพฤติการณ์ของบรรดาผู้นำศาสนาต่างๆ (เช่นฮัจญีสุหลงในสมัยโน้นและอุสตาซในสมัยนี้)ว่าล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป ทั้งหมดนี้ทำให้ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการเมืองของทางการและรัฐไทยที่ไม่ละเอียดอ่อนพอ หลีกไม่พ้นที่ไปกระทบและทำลายจิตใจและความเชื่อของคนมุสลิมไป ที่สำคัญคือความเป็นมลายู อันเป็นอัตลักษณ์ทางโลกที่แนบแน่นกับความเป็นมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ศาสนาไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง
สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐแม้โดยส่วนใหญ่อาจมาจากการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกันก็ได้ ในทางเป็นจริงนั้นความขัดแย้งดังกล่าวไม่จำเป็นต้องปะทุลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและเป็นปฏิปักษ์กัน นอกจากว่าอำนาจรัฐเข้ามาจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้นก็ยังขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่าเป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย “การแบ่งแยกดินแดน” ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็นในการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนภาวการณ์ในประเทศการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลางก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ(ส่วนน้อย)และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลางเป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม