วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

นิยามการก่อการร้าย

การก่อการร้ายในนิยามของกองทัพ

โดย มติชน วัน ศุกร์ ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 02:03 น.
โดย เกษียร เตชะพีระ


จากการยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 ทำให้พวกเขามีเสรีในการปฏิบัติงาน ขณะนี้เข้ามาเต็มหมดแล้ว จนเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทำตรงไหนอะไรอย่างไร เหมือนกับเราป่วย ถ้าเราไปหาหมอมันก็หาย แต่หากป่วยและไม่ยอมไปหาหมอ มันก็แย่ รักษายากต้องใช้เวลา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะที่ค่อนข้างไปในทางการก่อการร้าย เมื่อก่อนไม่เต็มรูปแบบ แต่ปัจจุบันค่อนข้างเต็มรูปแบบ


พลเอก มนตรี สังขทรัพย์ เสนาธิการทหารบกและเลขาธิการ กอ.รมน.
แถลงผลการประชุม กอ.รมน.กรณีวินาศกรรม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คืนวันตรุษจีนที่ 18 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2550


ถึงจะล่าช้ากว่าการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์จริงไปบ้าง แต่อย่างน้อยฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็ประกาศยอมรับแล้วว่ากำลังเผชิญกับ การก่อการร้ายเต็มรูปแบบ ในเขตชายแดนใต้และกระทั่งไกลกว่านั้นออกมา


เพียงแต่ที่น่าสนเท่ห์คือเอาเข้าจริงฝ่ายความมั่นคงเข้าใจ การก่อการร้าย ว่าอย่างไร? ตรงกันหรือไม่, รึว่าแตกต่างกันตรงไหน, กับความเข้าใจในวงวิชาการทั่วไป?


ความสนเท่ห์ดังกล่าวเกิดจากเมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาปริญญาโทที่มาเรียนวิชาสัมมนาการเมืองเปรียบเทียบกับผมคนหนึ่งได้หยิบยกคำนิยาม การก่อการร้าย ของทางราชการทหารมาอ้างอิง ผมซักไซ้ไล่เลียงดูก็ปรากฏว่าเขาได้มาจากเว็บไซต์ของ ศูนย์ศึกษาการก่อการร้าย (Terrorism Studies Center) ซึ่งระบุว่า จัดทำโดยส่วนวิชาสงครามพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง


หน่วยงานวิชาการ-เสนาธิการของกองทัพบกที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงแห่งนี้ได้นิยาม การก่อการร้าย โดยอนุวัตตามเอกสาร Countering Terrorism on US Army Installations 1983 (TC 19-16) ของกองทัพบกอเมริกันว่า


หมายถึง:-
การกระทำหรือขู่จะกระทำการรุนแรงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ โดยมุ่งต่อผลทางจิตใจและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ศาสนา หรือลัทธิอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง


ซึ่งหากลองเทียบเคียงดูกับคำนิยาม การก่อการร้าย ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ที่ผมเคยประมวลไว้ว่า


หมายถึง:-
การจงใจใช้ความรุนแรงหรือคุกคามจะใช้ความรุนแรง ต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน อันส่งผลสร้างบรรยากาศความกลัวและความไม่มั่นคงทั่วไป เพื่อเป้าหมายทางการเมือง แล้ว (เกษียร เตชะพีระ, ขั้นใหม่ของสงครามทรัพยากร: ใช้การก่อการร้ายทำลายการเมืองภาคประชาชน (1), มติชนรายวัน, 24 มิ.ย. 2548, น.6) ก็จะเห็นความเหมือน/แตกต่างขององค์ประกอบในนิยามดังนี้ 


นิยามการก่อการร้ายของทางราชการทหาร
1) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ (Unauthorized Individual or Group)
2) กระทำการหรือขู่จะกระทำการรุนแรง (Violence Action or Threat)
3) มุ่งโดยตรงต่อผลทางจิตใจและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายหลัก (Interded to influence the attitudes and behavior of the target groups)
4) เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง (Political Purpose) ศาสนา (Religious Purpose) หรือลัทธิอุดมการณ์ (Ideological Purpose)


นิยามการก่อการร้ายทางวิชาการ
1) จงใจใช้ความรุนแรงหรือคุกคามจะใช้ความรุนแรง (The Use of Violence or Threat of Violence)
2) ต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน (against Civilians or Civilian Targets)
3) ส่งผลสร้างบรรยากาศความกลัวและความไม่มั่นคงทั่วไป (to Inspire Fear & a General Sense of Insecurity)
4) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง (for Political Ends)


จะเห็นได้ว่าขณะที่องค์ประกอบข้อ 2, 3, 4 ของนิยามของทางราชการทหาร ค่อนข้างสอดคล้องกับองค์ประกอบข้อ 1, 3, 4 ของนิยามทางวิชาการ 


ทว่า องค์ประกอบที่เหลือได้แก่ ข้อ 1 ของทางราชการทหารกับข้อ 2 ของทางวิชาการ กลับลักลั่นผิดแผกกัน


ผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความแตกต่างในนิยาม การก่อการร้าย ข้างต้นดังนี้:-
ก) การใส่องค์ประกอบข้อ 1 (การกระทำหรือขู่จะกระทำการรุนแรงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่) เป็นเงื่อนไขกำกับสำทับเข้าไปในนิยามของทางราชการทหาร ทำให้มิติของการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) หรือนัยหนึ่งการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐ เช่น


-กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกัน อุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายสาบสูญไปจนทุกวันนี้,
-กรณีนายทหารทำร้ายผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ตายคาที่ระหว่างสอบสวนแล้วเผาศพทิ้งในถังแดงเพื่อทำลายหลักฐานที่ภาคใต้,
-กรณีหน่วยล่าสังหารผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ในบัญชีดำของกองทัพ เป็นต้น (ดูการเปิดเผยกรณีทำนองนี้อย่างตรงไปตรงมาใน พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี, ผมผิดหรือ? ที่ยึดกรือเซะ!, 2547, น.166-172)


ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ถูกนิยามหายไปจากคำว่า การก่อการร้าย ของทางราชการทหารดังกล่าวจนเกลี้ยงเกลา, หรือนัยหนึ่งสิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำต่อพลเรือนผู้ต้องสงสัยโดยผิดกฎหมายและออกนอกกระบวนการยุติธรรม (จะเรียกว่า วิสามัญฆาตกรรม หรือ ศาลเตี้ย ก็ตามที) นั้นไม่นับเป็น การก่อการร้าย ในกรณีที่ผู้กระทำเป็น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ที่อำนาจหน้าที่ นั่นเอง


แม้คำนิยามนี้จะอำนวยความสะดวกง่ายดายแก่การปฏิบัติราชการในด้านตรีลักษณ์แห่ง [ความมั่นคงแห่งชาติ-สืบราชการลับ-ข่าวกรอง] (the triad of national security, secrecy, and intelligence) อันเป็นเหตุผลข้ออ้างแบบฉบับของรัฐทั้งหลายในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทว่า ปัญหาคือการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ที่ถูกนิยามจนหายไปนั้นเอาเข้าจริงเป็นกรณีที่ก่อความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายขนานใหญ่ที่สุดของการก่อการร้ายในโลกทั้งโดยกำเนิด, ประวัติความเป็นมา, และความจริงในปัจจุบัน ขณะที่การก่อการร้ายโดยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่รัฐ (group terrorism) กลับเป็นกรณีที่ก่อความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายน้อยกว่ามากโดยเปรียบเทียบ


ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐนั้นกุมอาวุธ งบประมาณ กำลังพลและหน่วยงานกลไกสำหรับปฏิบัติการรุนแรงต่างๆ ของรัฐอยู่พร้อมสรรพในมือ, ต่างจากกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐซึ่งปกติทั่วไปไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่และต้องไปแสวงหามาด้วยความยากลำบาก
ดังนั้น มันจึงง่ายดายกว่าและมีโอกาสมากกว่าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เหล่านี้จะบิดเบนฉวยใช้อำนาจหน้าที่และชักนำอาวุธ งบประมาณกำลังพลและหน่วยงานกลไกความรุนแรงของรัฐในมือตนไปก่อการร้ายได้อย่างร้ายกาจรุนแรงใหญ่โตกว่านั่นเอง ดังปรากฏการประเมินเมื่อปี ค.ศ.1986 ว่ารัฐบาลประเทศโลกที่สามถึง 52 จาก 114 ประเทศทั่วโลกอาจถูกกล่าวหาได้ว่าก่อการร้ายโดยรัฐบ่อยครั้ง


(ดูข้อถกเถียงและข้อมูลประกอบใน Terrorism - THE FACTS, New Internationalist, 161 (July 1986); และ โจนาธาน บาร์เกอร์ เขียน, เกษียร เตชะพีระ แปล, คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า, 2548, บทที่ 1 ตั้งคำถามกับการก่อการร้าย และบทที่ 3 การก่อการร้ายโดยรัฐ)


ที่สำคัญ การปฏิเสธไม่ยอมรับรู้นับรวมการก่อการร้ายโดยรัฐเข้ามาในความเข้าใจเรื่อง การก่อการร้าย - จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม - ยังเป็นการมองข้ามละเลยเหตุปัจจัยหลักประการหนึ่งซึ่งถูกพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเป็นตัวกระตุ้นให้การก่อร้ายต่อต้านรัฐกำเริบร้ายแรงขึ้นและลุกลามขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากความเจ็บแค้นของชาวบ้านญาติมิตรของกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐข่มเหงรังแกเอาอย่างไม่เป็นธรรมด้วยอารมณ์ บ้ามาก็บ้าไป


ผลลัพธ์เป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะที่ปาเลสไตน์, ศรีลังกา, ไอร์แลนด์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัย 6 ตุลาคม 2519, หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุครัฐบาลทักษิณก็ตาม (เกษียร เตชะพีระ, บทความชุด ปริทัศน์การก่อการร้าย 4 ตอนใน มติชนรายวัน, มกราคม-กุมภาพันธ์, 2548)


องค์ประกอบข้อ 1 ของนิยามของทางราชการทหารนี้จึงทำให้การณ์กลับกลายเป็นดังที่อดีตเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำแถบอเมริกากลางคนหนึ่งเคยกล่าวว่า:-


If they do it, its terrorism; if we do it, its fighting for freedom, (ถ้าพวกมันทำละก็ถือเป็นการก่อการร้าย, ถ้าพวกเราทำละก็ถือเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ)


ข) ในทำนองกลับกัน การที่นิยาม การก่อการร้าย ของทางราชการทหารไม่ปรากฏเนื้อหาในองค์ประกอบข้อ 2 ของนิยามทางวิชาการ (มุ่งเป้า ต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน) ก็มีนัยทางการเมืองที่เด่นชัด กล่าวคือ:-


มันเปิดขยายคำนิยาม การก่อการร้าย ของทางราชการทหารไปครอบคลุมการใช้ความรุนแรงหรือคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรงที่มุ่งเป้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจผู้ถืออาวุธที่ไม่ใช่พลเรือนด้วย - ซึ่งในฐานะที่นี่เป็นคำนิยามของทางราชการทหาร ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
นั่นย่อมส่งผลต่อเนื่องให้คำนิยาม การก่อการร้าย ของทางราชการทหารครอบคลุมเหมาราบเอาสงครามจรยุทธ์ในชนบทและการลุกขึ้นสู้ในเมือง (rural guerrilla warfare & urban insurrection) ที่มุ่งเป้ารบพุ่งต่อต้านเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจผู้ถืออาวุธโดยตรง หากมิใช่พลเรือน ว่าก็พลอยถูกถือเป็น การก่อการร้าย ไปด้วย อาทิ สงครามประชาชนใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต (พ.ศ. 2508 - 2528) หรือการลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้น


ราวกับว่ากรณีเหล่านี้ไม่แตกต่างจากกรณีเครือข่ายอัลเคด้าโจมตีอเมริกาเมื่อ 11 กันยายน ค.ศ.2001 และกรณีวางระเบิด-ยิงสังหารชาวบ้านรายวันของผู้ก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้นับแต่มกราคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมาเอาเลย


ทั้งที่หากพิจารณาตรงลักษณะทางการเมืองของปฏิบัติการเหล่านี้แล้ว มันแตกต่างกัน กล่าวคือ


กรณีสงครามประชาชนของ พคท.และการลุกขึ้นสู้ 14 ตุลา นั้นมุ่งช่วงชิงประชาชนให้หันมาเห็นอกเห็นใจสนับสนุน จึงจำแนกแยกแยะพลเรือนออกจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ และโดยทั่วไปจะไม่โจมตีพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือไม่เป็นศัตรู เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลสะเทือนด้านลบทางการเมืองต่อตนเอง


ทว่า กรณีการโจมตีของอัลเคด้าและการก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้นั้นมุ่งสร้างความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคงในสวัสดิภาพทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินให้เกิดขึ้นทั่วไปในสังคม ทำอย่างไรก็ได้ให้บ้านเมืองสับสนปั่นป่วนวุ่นวายจนปกครองไม่ได้โดยไม่คำนึงถึงผลสะเทือนด้านลบทางการเมืองต่อตนเอง จึงไม่จำแนกพลเรือนออกจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจในการโจมตี


ตราบเท่าที่ลักษณะทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่าง การก่อการร้าย กับสงครามจรยุทธ์ในชนบทและการลุกขึ้นสู้ในเมืองที่กล่าวมาข้างต้นมีนัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์และวางมาตรการทางการเมืองการทหารเพื่อรับมือมัน


การที่ทางราชการทหารนิยามเหมารวมพวกมันเข้าด้วยกันเป็น การก่อการร้าย เหมือนๆ กันหมดโดยไม่จำแนกก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการวิเคราะห์เข้าใจและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเที่ยงตรงแม่นยำในแต่ละกรณีแต่อย่างใด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม