วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

นักบิดเบือนประวัติศาสตร์


นักวิชาการจอมดัดจริต ที่มีแนวคิดฝรั่งจ๋ามองโลกแบบดัดจริต อ้างแต่สิทธิมนุษยชนเขียนเอาไว้


คนตานี:มลายูมุสลิมที่ถูกลืม


คนตานี: มลายูมุสลิมที่ถูกลืม (อานุภาพการทำลายชาติพันธุ์)
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : เขียน
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามที่จะสะท้อนภาพความเข้าใจที่สับสนของคนไทย
ต่อภาพพจน์ของชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่ถูกกักขังหรือมองอย่างเป็นภาพนิ่ง
จนอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทย
คืออัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็งไว้ (Frozen Identity) มายาวนาน
ทั้งนี้เนื่องมาจากอุดมการณ์ในการสร้างชาติไทย
(midnightuniv@gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คนตานี: มลายูมุสลิมที่ถูกลืม
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
ความนำ: คนตานี
ในขณะที่บทความและงานวิจัยหลายชิ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อมูลทางชาติพันธุ์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ปัจจุบัน คุ้นเคยกับคำว่า “ออแฆนายู” หรือ “ออแฆซีแย” เมื่อต้องการแยกแยะคนมลายูมุสลิมและคนไทยพุทธในพื้นที่ดังกล่าว มีการอภิปรายกันมากถึงรากฐานที่มาของ “คำ” เรียกชื่อกลุ่มคนในคาบสมุทรมลายูในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสมัยหลังอาณานิคม ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา (1)
แต่ในบทความต่อ ไปนี้ เนื่องจากผู้เขียนเป็น “คนนอก” ทั้งอาศัยอยู่นอกพื้นที่ ไม่ได้เป็นคนในวัฒนธรรมมลายู และไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม มี “คำเก่า” สำหรับเรียกคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับพื้นที่ ของกรุงเทพฯ ในยุคต้น เมื่อกวาดต้อนเอาผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ มาอยู่อาศัยทั้งในกรุงและรอบกรุง หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นถูกเรียกว่า “แขกตานี” หรือเรียกตัวเองว่า “คนตานี” ดังพบในพื้นที่ใจกลางเมืองเก่าย่านบางลำพู ถนนทั้งสาย ตรงสี่แยกคอกวัวเรียกว่า “ถนนตานี” และมีชุมชนมุสลิมที่อยู่ในตรอกแคบๆ หลบเร้นแฝงตัวห่างจากสายตาผู้คน ทั้งที่มัสยิดตึกดินและมัสยิดจักรพงศ์ (2)
ในความคุ้นเคยของคนกรุงเทพฯ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ในเมืองเนื่องจากสงครามสมัยต้นกรุงเทพฯ และนับถือศาสนาอิสลามคือ “คนตานี” และเนื่องจากอัตลักษณ์ [Identity] เป็นเรื่องค่อนข้างกำกวมมีหลายนัย หรือเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ บทความนี้จึงใช้คำว่า “คนตานี” สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเชื้อสายมลายู และมีที่มาจากพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณเมืองปาตานีเก่า [Patani] (3) ที่ปัจจุบันคือบ้านเมืองชายฝั่งในจังหวัดปัตตานี มากกว่าจะใช้เรียกกลุ่มคนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในกรุงเทพฯ ที่มีสำนึกของ “ความเป็นคนกรุงเทพฯ มากกว่าความเป็นคนตานี” แม้จะมีบรรพบุรุษเป็นคนตานีที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งต้นกรุงเทพฯ ก็ตาม
คนตานีในที่นี้ คือ คนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งสามจังหวัด ที่ไม่นับสตูลทั้งที่มีชาวมลายูผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ไม่น้อย เพราะว่าถูกตัดขาดทางวัฒนธรรมและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ จากลักษณะภูมิประเทศที่มีเทือกเขาขวางกั้น ทั้งนี้การขยายบ้านเมืองตั้งแต่สมัยต้นกรุงเทพฯ ที่แยกรัฐปาตานีดั้งเดิมออกเป็น ๗ หัวเมือง กระจายไปสู่เขตภายในที่เคยมีชุมชนเก่าอยู่แล้ว และปรับการปกครองจนกลายเป็นพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้ โดยผู้คนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในเขตภายในเหล่านี้ส่วนใหญ่ขยายตัวมาจากชายฝั่ง ทางปัตตานีแทบทั้งสิ้น (ดังนั้น การเรียกชื่อ “คนตานี” ในบทความนี้ จึงเป็นการให้ความหมายจากภายนอกเท่านั้น)
ในฐานะที่ผู้ เขียนมีบรรพบุรุษอย่างน้อยหนึ่งท่านเป็น “คนตานี” แต่ไม่มีความเป็นคนตานีหลงเหลืออยู่ในตัวเอง คงเหมือนคนไทยพุทธในภาคกลางอีกไม่น้อยที่มีร่องรอยในสายเลือดเช่นเดียวกัน ทว่าถูกทำให้กลายเป็น “คนไทย” ที่ขาดประสบการณ์และไม่มีความเข้าใจต่อ “คนอื่น” เป็นพื้นฐาน เหล่านี้คือเหตุให้พยายามเข้าใจความเป็น “คนตานี” ที่มีเลือดเนื้อ ความรู้สึก ความคิด ความเปลี่ยนแปลง และความใฝ่ฝัน ให้มากเท่าที่ประเทศไทยในยุคแห่งความหวาดกลัวและรังเกียจความแตกต่างทุก วันนี้ควรจะต้องการ
สำหรับคนใน ภูมิภาคอื่น ชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไกลตัว อาจเป็นมรดกของแผ่นดินจากยุคประเทศราชที่ผู้ปกครองสมัยใหม่ทุกวันนี้ไม่อยาก ได้ เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลาย อุโมงค์ ก็เริ่มมีเสียงดังขึ้นไม่น้อยอย่างต่อเนื่องว่า “ให้ตัดพื้นที่ของผู้มีปัญหาเหล่านั้นคืนไป”
ทว่า การแบ่งแยกดินแดนไม่ใช่สูตรสำเร็จของปัญหาในโลกแห่งความรุนแรงยุคปัจจุบัน เสียแล้ว เพราะพื้นที่หรืออาณาเขตนั้นไม่ใช่เป้าหมาย แต่การใช้ศาสนาเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่กลายเป็น หนทางสู่ความเสมอภาคที่กลุ่มคนใดๆ ก็ตามแสวงหา (4)
บทความนี้พยายามสะท้อนภาพความเข้าใจที่สับสนของคนไทย ต่อภาพพจน์ของชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่ถูกกักขังหรือมองอย่างเป็นภาพ นิ่ง จนอาจกล่าวได้ว่า “ความเป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทย” คืออัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็งไว้ [Frozen Identity] ยาวนานนับศตวรรษ
การสร้างชาติและอานุภาพทำลายความหลากหลายทางชาติพันธุ์
คำว่า “คนตานี” คือการแสดงอัตลักษณ์ในเชิงพื้นที่ [Territorial Identity] โดยมีนัยแฝงของการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาตานีที่เคยรุ่งเรือง มักกล่าวกันว่า เมื่อคนตานีเข้าไปทำงานหรือท่องเที่ยวในมาเลเซีย โดยเฉพาะในแถบรัฐทางเหนือใกล้เคียงกับฝั่งชายแดนไทย แสดงตนเองว่าเป็น “คนตานี” (ออแฆ ตานี) จะรู้สึกได้รับการยอมรับว่า เป็นคนที่มีรากเหง้าอยู่ในแผ่นดินที่เคยเป็นบ้านเมืองสำคัญและมีความเป็น เพื่อนพี่น้องพวกพ้องเดียวกัน
ไม่น่าแปลกใจแต่ อย่างใด เพราะในพื้นที่ดังกล่าวรัฐปาตานีที่ดูห่างไกลจากความรับรู้ของ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เพราะตัดเรื่องราวเหล่านี้ออกไป จะมีอยู่และกล่าวถึงก็เฉพาะการเรียบเรียงเหตุการณ์ในสมัยเสียดินแดนบางส่วน เพื่อรักษาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเสียสละแก่ “ประเทศ-ชาติ” ที่ต้องสูญเสียดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้นไปเพื่อรักษาส่วนรวมไว้ ดังถูกตอกย้ำไว้ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์หลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของชาติ ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรู้สึกในระดับลึกกว่านโยบายเพื่อปฏิรูปการปกครองส่วน ท้องถิ่น และต่อมาคือการปกป้องการล่าเมืองขึ้น (5) เพราะการแยกรัฐมลายูที่มีความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมเดียวกันออกจากกัน ทำให้พี่น้องญาติมิตรทั้งที่มีเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามและคนเชื้อสาย ไทยนับถือพุทธศาสนา และผู้คนอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยเดินทางไปมาหาสู่ในรัฐแบบเดิม ต่างตกค้างอยู่ในกรอบของเส้นแบ่งแยกดินแดนของรัฐสมัยใหม่ทั้งสองฝั่ง
คนตานีจากปาตานีซึ่งเคยเป็นเมืองท่า และโดยธรรมชาติของเมืองท่าไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็คือ สถานที่รวบรวมกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์มาร่วมอยู่อาศัยด้วยกัน เมืองท่าในคาบสมุทรมลายูทางฝั่งตะวันตกที่รุ่งเรืองในช่วงเวลาร่วมสมัย เช่น มะละกา ยังเป็นสังคมพหุลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้ “คนตานี” ในความหมายแต่อดีตก็คือ ผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อสายมลายู จีน สยาม ดัชต์ ชวา ฯลฯ ต่างก็ถูกเรียกรวมๆ ว่าเป็น “คนตานี” โดยมีคนกลุ่มใหญ่เชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม และวัฒนธรรมหลักในวัฒนธรรมอันหลากหลายก็คือ วัฒนธรรมของชาวมลายูที่หยิบยืมเอาภาษาและวัฒนธรรมของคนในกลุ่มอื่นๆ มาร่วมใช้ ซึ่งยังเห็นร่องรอยของภาษาที่ผสมทั้งอารบิค สันสกฤต โปรตุเกส ดัชต์ อังกฤษ จีน และไทย อีกทั้งคนเชื้อสายจีนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในปัตตานีปัจจุบันที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีธรรมเนียมแบบมลายู
น่าสังเกตว่า อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ [Territorial Identity] สัมพันธ์กับการแสดงตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อรัฐก่อนสมัยใหม่ [Pre-Modern State] หรือ รัฐแบบจารีต” [Traditional State] ที่มีมาก่อนการเกิดขึ้นของ รัฐชาติ” [Modern State] ซึ่งมี ขอบเขต” แน่นอน และเส้นแบ่งเขตแดนและสถานภาพทางการเมืองที่รัฐกระทำต่อพลเมืองเหล่านี้ ส่งผลเชิงบังคับให้เกิดการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ [Ethnic Identity] ตามมา (6)
ความเป็นรัฐสมัยใหม่คือ การสร้างอาณาเขตของพื้นที่ซึ่งถูกแบ่งแยกอย่างแน่นอนและ “รัฐ-ชาติ” [Nation-State] ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการวัฒนธรรมที่เป็นแกนกลาง [National Culture]โดยการยกวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจทางการเมืองขึ้นมาเป็นตัวแทน
แต่ธรรมชาติของ ดินแดนแถบนี้ซึ่งประกอบไปด้วยการอยู่อาศัยท่ามกลางกลุ่มคนหลากหลาย การยกวัฒนธรรมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาครอบงำ เช่น การใช้ชื่อ ภาษา อาหาร การแต่งกายประจำชาติ ประวัติศาสตร์ของชาติ ฯลฯ รวมไปถึงการให้สถานภาพทางการเมือง [Political Status] ที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มต่อการเบียดขับให้คนในกลุ่มอื่นออกไปอยู่ชายขอบ เพื่อแลกกับบูรณาการหลอมรวมความเป็น “ชาติ” ให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในระยะแรกลัทธิชาตินิยม [Nationalism] ดังกล่าวคือการต่อต้านระบอบอาณานิคม [Anti-Colonial Movement] โดยตรง หากต่อมาความเสี่ยงนี้ทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “อาณานิคมภายใน” [Internal Colonialism] (7) ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนใน พื้นที่ต่างกัน
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสยามประเทศมาตั้งแต่ปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากรัฐยุคเก่าที่คุ้นเคย กับรูปแบบการแบ่งการปกครองออกเป็น หัวเมืองประเทศราช, หัวเมืองชั้นนอก, หัวเมืองชั้นกลาง, และหัวเมืองชั้นใน, มีผู้ปกครองในท้องถิ่นของตนเองอย่างเป็นเอกเทศ ไม่มีอาณาเขตบนแผนที่อย่างชัดเจนแต่ไม่ใช่ไม่มีเขตแดน หากเป็นที่รับรู้กันเฉพาะท้องถิ่นที่คนนอกคงไม่เข้าใจหรือรับรู้ได้ง่ายๆ โดยคงไม่เคยคาดว่า ในวันหนึ่งการกำหนดขอบเขตของดินแดนจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของเจ้าอาณานิคม เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือทรัพย์สินเหนือแผ่นดินนั้นๆ
ประวัติศาสตร์ แห่งชาติ คือเรื่องราวที่ถูกยกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลักดังกล่าว เป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าจากศูนย์กลางโดยปราศจากการให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่น อื่น โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งอยู่ชายแดนหรือชายขอบ [Peripheral]ของศูนย์กลางที่วัฒนธรรมหลักของคนกลุ่มใหญ่ดำรงอยู่
ประวัติศาสตร์ แห่งชาติที่คนไทยคุ้นเคย เพราะกลายเป็นหลักสูตรทางการศึกษาและนโยบายของรัฐหลายประการ ซึ่งถูกสร้างขึ้นหลังจากการเกิดการรวมศูนย์เพื่อสร้าง “รัฐชาติสมัยใหม่” ที่เกิดขึ้นในโลกเมื่อไม่เกินสามร้อยปี และเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หากจะนำข้อเสนอของ ธงชัย วินิจจะกูล ( 8) มาตีความและนำเสนออีกครั้งก็จะเห็นว่า ตรรกะของประวัติศาสตร์แห่งชาติกำหนดว่า “พรมแดนของประเทศไทยทุกวันนี้ กำหนดความเป็นพรมแดนของประวัติศาสตร์ปัจจุบัน” คนไทยจึงขาดการทำความเข้าใจกับพื้นที่หรือประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางประวัติศาสตร์แบบรัฐจารีตหรือตำนานพงศาวดาร แบบโบราณ
รัฐแบบสมัยใหม่นี้มี ภูมิ-การเมือง [Geo-politics] แบบสมัยใหม่ที่กำหนดความเป็นเอกภาพทางภูมิศาสตร์ด้วย ประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบนี้มีโครงเรื่อง [Plot] แบบเรียงตามลำดับและมีศูนย์กลางอยู่แห่งเดียว ไม่เห็นความหลากหลายของศูนย์รวมอำนาจซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของรัฐแบบโบราณ ส่วนความสัมพันธ์ของบ้านเมืองเหล่านี้ก็ถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางมาโดยตลอดทั้งๆ ที่ความเป็นจริง อำนาจเหล่านั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์ทางการเมือง
ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ การสร้างแผนที่ตามจินตนาการที่มีลักษณะเกินจริง ใหญ่โต และกว้างขวางตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เป็นการเพ้อฝันที่กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาติ ดังนั้น การเสียดินแดนในประวัติศาสตร์ทั้งการเสียกรุงแก่พม่า และการเสียดินแดนในยุคอาณานิคม จึงกลายเป็นความเจ็บปวดและความทุกข์แห่งชาติทีเดียว ทำให้เกิดการมองประเทศคู่สงครามว่าเป็นศัตรูอย่างถาวร




เค้าโครงประวัติ ศาสตร์แห่งชาติแบบนี้คือการนำเอาศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก เมืองประเทศราชหรือหัวเมืองชั้นนอกที่ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ถูกผนวกเข้าเป็นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ ที่ไม่มีบทบาทสำคัญอยู่ในเค้าโครงหลักของประวัติศาสตร์ชาติไทย กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสร้างอำนาจรัฐให้ควบคุมการบริหารการปกครอง ระบบการศึกษา เชื่อมโยงด้วยระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการสื่อสารอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือในการบูรณาการทางวัฒนธรรมเป็นลำดับ สิ่งเหล่าคือการสร้าง “ความเป็นไทย” ซึ่งมีพื้นที่น้อยมากที่จะเปิดให้สำหรับประวัติศาสตร์จากชายแดน
สิ่งที่รัฐไทย กระทำอย่างต่อเนื่องแก่วัฒนธรรม และสถานภาพทางการเมืองของผู้คนในกลุ่มย่อยตั้งแต่ราวร้อยกว่าปีผ่านมาคือ การสร้างบูรณาการเพื่อลดความแตกต่างทั้งหลายทางชาติพันธุ์เหล่านี้ นับเป็นมรดกของการต่อต้านลัทธิอาณานิคม [Colonialism] แบบไทยๆ ด้วยการปกครองแบบรวมศูนย์ สร้างระบบราชการให้กลายเป็นกลไกหลักของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึงการครอบงำวัฒนธรรมย่อยอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในล้านนาและอีสานที่เคยมีปัญหาการแข็งข้อและต่อต้านเช่นเดียวกับหัว เมืองประเทศราชเช่นปาตานี (9) แต่อำนาจเหล่านี้แปลกปลอมเกินไปที่จะใช้กับบ้านเมืองในวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง กว่า และกลายมาเป็นปัญหาอิหลักอิเหลื่อจากการไม่สามารถรวมศูนย์อย่างสมบูรณ์ได้ เหมือนที่อื่นๆ ในดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์ของชาติแบบนี้ สร้างความกดดันให้กับผู้คนในวัฒนธรรมย่อยหนักหนาขึ้นไปอีกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะได้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่นโยบายเพื่อสร้างความเป็น “ชาตินิยม” หรือ“สร้างความเป็นไทย” ใน พ.ศ.๒๔๘๒ คือการทำลายความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างรุนแรงที่สุดและไม่ได้ตั้งตัว
การตีความว่าทุก คนที่มีสัญชาติไทยถือว่าเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ เช่น จะต้องพูดภาษาไทย, แต่งกายแบบไทย, มีขนบธรรมเนียมแบบไทย, โดยมีสภาวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นโยบายรัฐนิยมเมื่อถูกนำไปปฏิบัติด้วยระบบราชการที่มีผู้มีอำนาจมาจากส่วน กลาง หรือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลัก ก็กลายเป็นการครอบงำซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างชัดเจน (10)
หลังการขึ้นครอบ ครองอำนาจทั้งสองครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้นโยบายชาตินิยมและการสร้างความเป็นไทย ซึ่งเป็นรูปธรรมเด่นชัดกว่านโยบายการกลืนกลายทางวัฒนธรรมในยุคสมัยอื่นๆ จะสิ้นสุดตามไปด้วยก็ตาม แต่ได้ทิ้งมรดกที่สำคัญจนถึงปัจจุบันคือ การคลั่งไคล้ความเป็นชาติ, ความเป็นคนไทย, ความเป็นเอกภาพ, และไม่สามารถยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง, วิธีคิด, วิถีชีวิตที่ต่างไปจาก “มาตรฐานแบบไทย” ได้ นับเป็นการใช้แนวคิดแบบอาณานิคมภายในที่ใช้เพื่อปกครองและครอบงำดินแดนต่างๆ ภายในรัฐสมัยใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรง การดิ้นรนต่อรองของคนที่แตกต่างทางกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกมองว่าเป็นการแบ่ง แยกดินแดน แม้คำเรียกร้องนั้นจะเป็นการต่อรองเพื่อร้องขอความเสมอภาคตามสิทธิที่ควรจะ ได้รับ ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม
กรณีการจับตัวหะยี สุหรง บิน อับดุลกาเดร์ ผู้เป็นปราชญ์ทางศาสนาและผู้นำตามธรรมชาติของชาวมลายูจากปัตตานี ซึ่งถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและการล้อมปราบที่ดุซงญอในปีต่อมา กลายเป็นการผลักดันอย่างเป็น “สัญลักษณ์” ให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเพื่อการปลดปล่อยรัฐปาตานีต่างๆ และและถือเอา “การแบ่งแยกดินแดน” เป็นคำตอบสำเร็จรูปสำหรับรัฐไทยมาจนถึงปัจจุบัน (11)
ตะกอนแห่งลัทธิชาตินิยมดังกล่าว ทำให้ความสามารถโดยธรรมชาติของคนสยามที่เคยอยู่ร่วมกับผู้คนอันหลากหลาย ที่ค้นหาหลักฐานได้ไม่ยากจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ถูกทำลายอย่างรุนแรงทีเดียว เพราะผลจากนโยบายชาตินิยมแบบไทยนั้นสะท้อนให้เห็นวิธีคิด และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปัจจุบันได้อย่างชัดแจ้ง
หลายประเทศเผชิญปัญหาการเชิดชู เพื่อการครอบงำของวัฒนธรรมหลักแบบเดียวกัน แต่มีนโยบายในการแก้ปัญหาแตกต่างกัน. พม่าเปลี่ยนมาเป็นเมียนมาร์ อย่างน้อยก็แสดงนัยทางการเมืองว่า ชาตินั้นไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนเพียงกลุ่มเดียวแต่เป็นมาตุภูมิสำหรับคนหลาก หลายชาติพันธุ์. เวียดนามรวมและสร้างชาติโดยการให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ๕๔ กลุ่ม ในฐานะวีรบุรุษอย่างเสมอภาค, คนกิง [Kinh] หรือคนเวียดที่มีอยู่กว่า ๙๐ % ไม่ใช่เจ้าของประเทศแต่เพียงกลุ่มเดียว. ในโลกของมาเลย์ [Malay World] ตัวอย่างที่อินโดนีเซียหรือมาเลเซียซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ เป็นสังคมแบบพหุลักษณ์ [Plural Society] ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าสังคมไทยหลายเท่า ถึงแม้ไม่สามารถกล่าวได้ว่านโยบายที่เกิดขึ้นสามารถจัดการให้เกิดความเท่า เทียมกันอย่างแท้จริงก็ตาม แต่ทุกประเทศที่กล่าวมามักมีประสบการณ์สูงในการสร้างความสมานฉันท์ และต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกัน มากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุปัจจัยของแต่ประเทศ เป็นตัวอย่างของการจัดการและนโยบายการอยู่ร่วมกันของความสัมพันธ์อันหลาก หลายของผู้คน ที่เป็นลักษณะเฉพาะโดยธรรมชาติของภูมิภาคนี้
สำหรับประเทศไทย ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นมาก่อน ประสบการณ์การสร้างรัฐชาติแตกต่างไปจากประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม ความยืดหยุ่นและการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมนั้น ผู้คนในบ้านเมืองของเราทำได้ไม่ดีนัก การรับรู้ต่อปัญหายังอยู่ในแว่นสายตาแบบเดิมๆ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุด นิ่ง โดยมีตรรกะของโครงร่างในการเขียนงานประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เน้นหนักใน เรื่องความเป็น “คนไทย” และอาณาเขตของชาติที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้เป็นพื้นฐาน ซึ่งจะพิจารณาถึงประสบการณ์เหล่านี้ต่อไป
เชิงอรรถ
(1) งานของ Anthony Reid. Understanding Melayu (Malay) as a Source of Diverse Modern Identities. Journal of Southeast Asian Studies. Vol 32: 3, 2001. ที่สืบสวนถึงที่มาในทางประวัติศาสตร์ของคำว่ามลายูหรือมาเลย์ในเขตคาบสมุทร และหมู่เกาะ และ Pierre Le Roux. To Be or Not to Be … the Cultural Identity of the Jawi. Asian Folklore Studies. Vol 57: 2, 1999. ที่กล่าวถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนยาวีในประเทศไทย
(2) ในเอกสารเก่าเช่น เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเขียนขึ้นในราวรัชกาลที่ ๓-๔ เช่น สะท้อนความรู้เกี่ยวกับคนต่างชาติต่างภาษาแบบรวมๆ เช่น เรียกชาวมุสลิมส่วนใหญ่ว่า แขก” และเรียกชาวมลายูในคาบสมุทรตอนใต้ ว่าแขกมลายู” ซึ่งเป็นการเรียกแบบกลุ่มชาติพันธุ์ [Ethnic Identification] แต่ถ้าเจาะจงว่ามาจากที่ใดจึงจะเรียกเฉพาะลงไป ดังเช่น แขกตานี” นี้
(3) Patani ใช้เรียกรัฐบริเวณคาบสมุทรในยุคที่รุ่งเรืองเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ส่วนคำว่าปัตตานี หรือ Pattani ที่มีตัวอักษร สองตัว ใช้เรียกพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยใน ปัจจุบัน
(4) บทความของศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง ศาสนาของผู้ถูกกดขี่ [Religion of the Oppressed]” จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๔๙ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๔๗) กล่าวถึงเหตุการณ์ที่กรือเซะ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ว่าเป็นความเชื่อทางศาสนาที่เปลี่ยนไปของคนกลุ่มใหม่ในสังคมมุสลิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแก่การทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไปในสังคมไทยในขณะนี้
(5) ดูงานเขียนที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากหัวเมืองประเทศราช และหัวเมืองชั้นนอกไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นในระบบมณฑลเทศาภิบาลของ เตช บุนนาค เรื่อง การปกครองเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.๒๔๓๕-๒๔๕๘” สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์๒๕๔๘.และงานเขียนทางประวัติศาสตร์ข้อมูลในสมัยรัชกาลที่ ๕ การเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตอนยกหรือแยกดินแดนให้กับอังกฤษเพื่อแลกการ กู้เงินสร้างทางรถไฟ ซึ่งมองเห็นว่าเป็นเรื่องรุงรังของรัฐชาติแบบสมัยใหม่ ดังข้อความของที่ปรึกษาราชการทั่วไป เอ็ดเวิร์ด เฮนรี สโตรเบล” ชาวอเมริกัน (พ.ศ.๒๔๔๗-๒๔๕๑) เห็นว่า
ไทยควรเสียสละ รัฐมลายูเพื่อเป็นอิสระจากอนุสัญญาลับฉบับปี พ.ศ.๒๔๔๐ เพื่อผ่อนคลายปัญหาเกี่ยวกับการให้สัมปทานแก่ชาวต่างชาติ เพราะประเทศราชหัวเมืองมลายู “.. เป็นบ่อเกิดแห่งความยุ่งยากทั้งมวลของไทย และยังปราศจากคุณค่า โดยเหตุที่มิได้ทำรายได้ที่น่าพอใจให้แก่ท้องพระคลังในกรุงเทพฯ” โดยการยินยอมยกกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรีให้ โดยอังกฤษต้องยกเลิกอำนาจศาลกงสุลและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นการตอบแทน โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เรื่อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ๒๕๔๗ ที่จัดพิมพ์โดยทายาทแห่งราชสกุลเทวกุล
(6) ตัวอย่างคือ ชาวตะวันตกบันทึกไว้ว่า ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันถูกเรียกอย่างกลางๆ โดยไม่ระบุความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ว่า สยาม” ขณะที่เรียกคนที่มาจากสยามตามชื่อเมือง เช่น คนกรุงเทพ (อยุธยา) โดยจะเพิ่มเติมว่าเป็นไท ลาว โยน พะกัน เมื่อระบุถึงรายละเอียด การแสดงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่ใช่ความสำคัญอันดับแรกในการบ่งบอกอัต ลักษณ์ของรัฐก่อนสมัยใหม่แต่อย่างใด
(7) สุเทพ สุนทรเภสัช ระบบอาณานิคมภายในกับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ตัวแบบเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของอีสานกับรัฐบาลกลางของประเทศไทย” มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์: รวมความเรียงว่าด้วยการประยุกต์ใช้แนวความคิด และทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์๒๕๔๐. ดูเพิ่มเติมDavid Brown, THE STATE AND ETHNIC POLITICS IN SOUTH EAST ASIA, Routledge, London and New York, 1994. Chapter 5 “Internal colonialism and ethnic rebellion in Thailand” การเป็นอาณานิคมภายในเห็นได้ชัดจากการยกตัวอย่างกรณีภาคอีสานในประเทศไทย
(8) ธงชัย วินิจจะกูล เรื่องราวจากชายแดน สิ่งแปลกปลอมต่อตรรกะทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย” เสนอต่อการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับภาคใต้เรื่อง ประสบการณ์ถิ่นไทยทักษิณ: การปริวรรตทางสังคมในทัศนะประชาชนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ๑๓-๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ พิมพ์ซ้ำในชื่อ เรื่องเล่าจากชายแดน” ใน ประวัติศาสตร์ปกปิดของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐปัตตานีใน ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม๒๕๔๗
(9) เรื่องราวการต่อต้านในยุคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เขียนขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
(10) เรื่องราวที่สะท้อนความคับแค้นจากนโยบายดังกล่าวของชาวมลายูปัตตานี แม้จะเป็นการเล่าเรื่องของผู้ถูกกระทำก็ตาม พิจารณาได้จากงานเขียนที่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์อย่างยิ่งของ อิบรอฮิม ชุกรี เรื่อง ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี” เขียนเป็นภาษามลายู อักษรยาวี คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองราว ๑๗ ปีหมายถึงในราว พ.ศ. ๒๔๙๒ มีทั้งฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย Conner Bailey, John n. Miksic ปี ค.ศ. ๑๙๘๕ และแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ และพิมพ์ล่าสุด แปลโดย ดร.หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ ซิลค์เวอร์ม บุ๊ค,๒๕๔๙ (หน้า ๗๕-๘๐)
(11) หะยี สุหรง บิน อับดุลกาเดร์ ในฐานะประธานกรรมการประจำจังหวัดปัตตานี ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเรียกร้องความต้องการพื้นฐานของชาวมลายู ๗ ข้อ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งไม่มีข้อใดบ่งบอกถึงความต้องการแบ่งแยกดินแดน นอกจากจะเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์แก่ชาวมลายูโดยมีกรอบของธรรมเนียมแบบ มุสลิมเป็นบรรทัดฐาน และเรียกร้องในกรณีข้าราชการรังแกประชาชน อาจจะพิจารณาว่านี่คือคำขอร้องการจัดตั้งเขตปกครองตนเอง [Autonomous Region] ที่ยุคสมัยนั้นมองว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากแต่รัฐไทยระแวงในกรณีของการแบ่งแยกดินแดนมากกว่า
ประเด็นนี้ถูก นำมาถกเถียงเมื่อเกิดเหตุรุนแรงในปี ๒๕๔๗ แม้แต่ในกรรมการ กอส. ก็ไม่สามารถผลักดันแนวคิดเรื่องเขตปกครองตนเองให้เป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากการติดกรอบใน Plot ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย แท้จริงแล้วรัฐสามารถเจรจาต่อรองเพื่อสร้างทางออกได้ดีกว่าการจัดการโดยความ รุนแรง อันนำมาซึ่งความรุนแรงตอบโตอย่างไม่สิ้นสุดตามมา
ที่มา http://www.midnightuniv.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม