วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

6 ปี ไฟใต้

ตาย-เจ็บ ไปเป็นหมื่น '6 ปี...ไฟใต้' 'ก่อการร้าย' ของจริง!

"ในช่วงเวลา 73 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความไม่สงบรวม 9,446 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,100 ราย บาดเจ็บ 6,509 ราย รวมเหยื่อของเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ทั้งตายและบาดเจ็บรวมกันจำนวน 10,609 ราย หากนับว่าผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียดังกล่าวด้วย ประมาณว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียโดยตรงอีกประมาณ 53,045 คน” ...นี่เป็นตัวเลขความสูญเสียจากเหตุการณ์ “ไฟใต้”

และผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วยภูมิหลังแตกต่างกัน มีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ โดยจากเหตุการณ์ไฟใต้ในช่วง 73 เดือนที่ผ่านมา ในกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 58.95 เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 38.02 ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 32.17 เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 59.82

เหล่านี้เป็นตัวเลขจากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือดีพ เซาท์ วอช (Deep South Watch) ในเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org/node/728 จากชุดข้อมูล “สรุปหกปีไฟใต้ : พลวัตการก่อความไม่สงบกับการสร้างจินตกรรมของการก่อความรุนแรง” ซึ่งเป็นการรวบรวมเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ เดือน ม.ค. 2547 - ม.ค. 2553 โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตอกย้ำว่าสถานการณ์ยังเลวร้าย แม้คนไทยเริ่ม “ชาชิน”

“ไฟใต้” ยังคงเป็น “ปัญหาความมั่นคงของจริง”

มี “ผู้ก่อการร้ายจริง” แฝงตัวอยู่กับประชาชน !!!

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่สูญเสีย ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ จากสถานการณ์ไฟใต้นั้น นอกจากประชาชนพลเรือนแล้ว ก็ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งการป้องกันมิให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐต้องสูญเสียก็ถือว่ายังคงต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป และก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่-หน่วยงานรัฐในพื้นที่เท่านั้น ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ และส่วนร่วมดังกล่าวนี้ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นในรูปแบบ “ผลงานวิจัย” ไม่ว่าจะเป็นกรณี “เสื้อเกราะ” จากวัสดุรีไซเคิลฝีมือไทย ที่เพิ่งมีข่าวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และรวมถึงงานวิจัยที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้การสนับสนุน

“วางระเบิด” เป็นหนึ่งในรูปแบบการก่อเหตุโหมไฟใต้

บึ้มขึ้นแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียมากกว่าใช้ปืนเยอะ...

ความพยายามในการลดความสูญเสียจากเหตุระเบิด ทั้งในส่วนของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จำเป็นต้องมีการระดมความร่วมมือจากส่วนต่าง ๆ รวมถึงนำเทคโนโลยี เครื่องมือที่ทันสมัย เข้าไปช่วยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง บางช่วงอาจต้องรองบประมาณ ซึ่งอาจไม่พอเพียง หรือไม่ทันการ ในขณะที่การรักษาชีวิตผู้คนจากเหตุระเบิดเป็นความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทาง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้เคยนำนักวิจัยลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอแนวทางเสริมในการแก้ปัญหา ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใน 3 มิติ ทั้ง มิติด้านความมั่นคง, มิติด้านสังคม, มิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีแง่มุมที่น่าพิจารณา โดยที่ผ่านมานักวิจัยทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้มีการร่วมมือด้านการวิจัยกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอ นิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความเกี่ยวข้องและเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
 
ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้น ก็เช่น.. เครื่องมือรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันการจุดระเบิดโดยใช้โทรศัพท์มือถือ โดยตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในระยะ 100-150 เมตร มีขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่พกพาไปใช้งานได้สะดวก ซึ่งเป็นฝีมือของคนไทยล้วน ๆ โดย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมไร้สายและความมั่นคง เนคเทค เป็นหัวหน้าทีมวิจัยค้นคว้าทดสอบจนกระทั่งนำไปใช้งานจริงในพื้นที่ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ เครื่องมือนี้หากซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตในไทย 3-4 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ เช่น... เครื่องแปลภาษามลายู, ภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสและระบบโทรมาตรในการวัดปริมาณน้ำฝน เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร, เทคโนโลยีการผลิตอาหารฮาลาลช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ก็สามารถมีส่วนเสริมในการแก้ไข “ปัญหาไฟใต้”

“ไฟใต้” ยังคงเป็นปัญหาของประเทศไทยที่รุนแรง

เป็นปัญหาจริง “ของจริง” ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ไข

เพื่อยุติ “ฆ่ารายวัน” ที่อาจนำไปสู่จุดที่ยิ่งร้ายแรง ??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม