วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การก่อการร้าย

การก่อการร้าย

Filed under: การก่อการร้าย — admin @ 6:42 am
ไฟล์:Number of Terrorist Incidents.png
คำว่า การก่อการร้าย (อังกฤษ: Terrorism) เป็นคำที่มีการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง และมีนิยามที่หลากหลาย โดยไม่มีความหมายใด ที่ได้รับการยอมรับโดยสมบูรณ์[ต้องการอ้างอิง] วอล์เตอร์ ลาควอร์ แห่งศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies) ได้กล่าวว่า “ลักษณะเฉพาะที่ยอมรับกันทั่วไปคือการก่อการร้ายนั้น เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือการข่มขู่ด้วยความรุนแรง”[ต้องการอ้างอิง]
ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายจำนวนมากมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การก่อการร้ายที่เกิดขึ้น จะแฝงไว้ด้วยยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะกระทำโดย การวางระเบิด การใช้ปืนยิง การจี้ (เครื่องบิน หรือ รถโดยสาร) หรือ การลอบสังหาร ไม่ได้เป็นการลงมืออย่างเลือกสุ่ม ไม่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากความตั้งใจ และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมืดบอด แต่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจที่จะใช้ความรุนแรง มุ่งประสงค์ต่อพลเรือน เพื่อหวังผลทางการเมือง หรือสนองความเชื่อทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ก็ยังคงไม่สามารถจะกำหนดคำจำกัดความที่ตายตัว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความการก่อการร้ายไว้ว่า “เป็นการกระทำที่ผ่านการใคร่ครวญพิจารณา เป็นการก่อความรุนแรงพุ่งเป้าต่อบุคคลที่ไม่ใช่ทหาร และแฝงไว้ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง กระทำขึ้นโดยกลุ่มองค์กรระดับท้องถิ่นของแต่ละประเทศ หรือองค์กรลับ โดยปกติจะกระทำเพื่อให้เกิดผลกระทบขึ้นแก่ผู้พบเห็น” ขณะที่ นายพอล พิลล่าร์ อดีต รองผู้อำนวยศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ให้ความเห็นในเชิงโต้เถียงว่า การก่อการร้ายจะต้องมีองค์ประกอบรวม 4 ประการ คือ
1. ไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจเพียงชั่ววูบ แต่เป็นการกระทำที่ผ่านการใคร่ครวญไตร่ตรอง และวางแผนไว้ล่วงหน้า
2. เป็นการกระทำที่หวังผลทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากรรม ดังเช่นกลุ่มองค์กรที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น กลุ่มมาเฟีย ก่อเหตุรุนแรงเพื่อหวังเงินหรือทรัพย์สินเป็นรายได้ แต่เป็นการกระทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากที่เป็นอย่างในปัจจุบัน ไปสู่แนวทางที่ผู้ก่อการร้ายต้องการ
3. ส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่มุ่งร้ายต่อเป้าหมายพลเรือน ไม่ได้พุ่งเป้าฝ่ายทหาร หรือหน่วยทหารที่พร้อมรบ
4. กระทำโดยกลุ่มองค์กรที่แฝงตัวอยู่ในประเทศ ไม่ใช่กำลังทหารของประเทศต้นกำเนิด
การใช้คำนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มักใช้เพื่อเรียกการโจมตีของ “องค์กรลับหรือองค์กรระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อบังคับรัฐบาล ด้วยการกระทำที่ใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาลนั้น หรือสมาชิกของรัฐนั้น” (ตาม พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด) อย่างไรก็ตาม คำนี้เป็นคำที่ถูกใช้ในทางที่ไม่ดีเสมอ และมีความหมายที่กว้างขึ้นตั้งแต่มีการประกาศสงครามกับการก่อการร้าย จนครอบคลุมไปถึงทุก ๆ กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรงในทางที่ผิดศีลธรรม
คำนี้เป็นคำที่ถูกใช้เฉพาะเพื่อเรียก ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก่อความรุนแรงตามคำนิยามเท่านั้น ไม่มีกลุ่มใด ๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
นิยามของคำนี้มีขอบข่ายที่กว้างมาก โดยมักจะมีเงื่อนไขต่อไปนี้
  • แรงจูงใจ เกี่ยวกับการเมือง หรือศาสนา หรือลัทธิความเชื่อ
  • เป้าหมาย คือพลเมือง
  • จุดประสงค์ เพื่อข่มขู่
  • การข่มขู่มุ่งเป้าไปที่ รัฐบาล หรือ สังคม
  • ผู้กระทำ นั้นไม่ใช่รัฐ
  • การกระทำนั้น ผิดกฎหมาย
แต่ไม่มีเงื่อนไขข้อใดได้รับการยอมรับอย่างสมบูรณ์ว่าจำเป็น หรือพอเพียง ในการจัดว่ากิจกรรมใด ๆ เป็นการก่อการร้าย

“การก่อการร้าย” ต่างจาก “การก่อความไม่สงบ” อย่างไร…?


ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน ก็ยังงง ๆ อยู่ว่า คำทั้งสองคำมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร…? เพราะในอดีต รัฐบาลเคยใช้คำว่า “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ “ขจก.” แทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “โจรก่อการร้าย” (จกร.) และ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ในปัจจุบันตามลำดับ
สุรชาติ บำรุงสุข ได้อธิบายว่า การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมักใช้วิธีการความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป มีการจัดตั้งองค์กร ประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธ อาวุธ ยุทธวิธีและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแบ่ง (การก่อเหตุรุนแรง) ออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
 
1. การก่อการร้าย (Terrorism) เป็นรูปแบบของการสร้างความรุนแรงโดยตรงต่อผู้ที่มิใช่ทหาร หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า/การเข้าปะทะโดยตรงกับกองกำลังตำรวจและทหาร แต่มุ่งใช้ความรุนแรงไปที่เป้าหมายสาธารณะและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ หน่วยปฏิบัติการมีขนาดเล็กกว่าสงครามก่อความไม่สงบ การปฏิบัติการมักใช้วิธีการลอบสังหาร วางระเบิด ขว้างระเบิด ลอบวางเพลิง ใช้การทรมาน จี้เครื่องบิน และลักพาตัว บางครั้งใช้รูปแบบปฏิบัติการเพียงเพื่อสร้างผลสะเทือนทางการเมือง ปฏิบัติการเหล่านี้มักดำเนินการโดยกลุ่มที่ต้องการปกครองตนเอง และกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ (Non – State actors)
ส่วน การก่อการร้ายก่อความไม่สงบ (Insurgency Terrorism) นั้น มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความรุนแรงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการโค่นล้มรัฐบาล พร้อมทั้งสร้างความหวาดกลัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้การก่อการร้ายได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับการปฏิบัติการของแต่ละกลุ่ม
 
2. สงครามก่อความไม่สงบ (Insurgency Warfare) หลักการทำสงครามก่อความไม่สงบก็คือ การโจมตีโฉบฉวย (hit and run) ด้วยกองกำลังติดอาวุธเบาจนถึงขนาดกลาง เพื่อสร้างความหนักใจ และค่อย ๆ ทำลายเจตนารมณ์ และขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ความเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อความไม่สงบจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านความชำนาญภูมิประเทศ ความยืดหยุ่น พลิกแพลง ความรวดเร็ว และการหลอกล่อในการปฏิบัติการ
“เหมาเจ๋อตุง” ได้ให้ข้อสรุปของการทำสงครามก่อความไม่สงบไว้ว่า “ยุทธศาสตร์สูงสุดของฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่บนพื้นฐานของความตื่นตัว เคลื่อนที่เร็วในการเข้าโจมตี แต่จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของฝ่ายศัตรู ภูมิประเทศ การสื่อสารโทรคมนาคม กำลังสนับสนุน สภาพอากาศ และประชาชน”
ทั้งนี้ สงครามก่อความไม่สงบ “แตกต่าง” จากการก่อการร้าย ในแง่ของการเน้นเป้าหมายขั้นต้น กล่าวคือ สงครามก่อความไม่สงบ “เน้น” การโจมตีกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐบาล ตำรวจ ทหาร หน่วยสนับสนุน รวมถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การก่อการร้าย “เน้น” เป้าหมายที่เป็นสาธารณะ ขณะที่การประกอบกำลังของสงครามก่อความไม่สงบมีขนาดใหญ่กว่าการก่อการร้าย มีการส่งกำลังบำรุง และมีฐานที่่มั่นชัดเจน โดยพื้นที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่วนประเด็นที่สงครามก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย “เหมือนกัน” ก็คือ การใช้จุดอ่อนของฝ่ายรัฐที่ไม่สามารถนำทรัพยากรที่พอเหมาะมาใช้แก้ปัญหาในจุดขัดแย้งได้
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ชี้ขาดความสำเร็จของสงครามก่อความไม่สงบ ยังขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงสงครามก่อความไม่สงบเข้ากับการสร้างความรุนแรง หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สงครามตามแบบ
 
3. การใช้กำลังตามแบบ หรือ สงครามตามแบบ (Conventional Warfare) เป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรงของกำลังขนาดใหญ่ในสนามรบ ซึ่งการก่อความไม่สงบส่วนใหญ่มักไม่ใช้สงครามตามแบบ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่เร็วมากกว่า จึงใช้หน่วยขนาดเล็ก (small unit) ในการปฏิบัติการ ทั้งนี้การทำสงครามตามแบบของกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของกลุ่มและการตัดสินใจเกี่ยวกับสมรรถนะในการทำลายกองกำลังติดอาวุธฝ่ายรัฐบาลที่ใช้การรบตามแบบ
บางยุคสมัย “การก่อความไม่สงบ” ก็กลายเป็น “แนวคิด” หรือ “เป้าหมาย” โดยใช้ “การก่อการร้าย” เป็นยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีของ “การปฏิบัติ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการก่อความไม่สงบทางการเมือง การศาสนา เศรษฐกิจ และสังคม
“การก่อการร้าย” ยังเป็นคำที่ใช้ในทางลบและไม่ดีเสมอ และมีความหมายที่กว้างขึ้นตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีการประกาศสงครามกับการก่อการร้ายจนครอบคลุมไปถึงทุก ๆ กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ใช้เฉพาะเพื่อเรียก “ฝ่ายตรงข้าม” เท่านั้น
น่าสังเกตว่า ไม่มีกลุ่มใดเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” เลย (บางกลุ่มลงมือกระทำการอันเป็นการก่อการร้ายสากลเสียด้วยซ้ำ กลับเรียกตัวเองว่า “ผู้ก่อการดี” ????)
 
ข้อเท็จจริง เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งรูปแบบ “การก่อความไม่สงบ” และ “การก่อการร้าย” เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายทั้งทางทหารตำรวจซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจรัฐ” และเป้าหมายที่เป็นพลเรือน แต่เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดกรอบให้เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “การก่อความไม่สงบ” ซึ่งเป็นปัญหาภายในประเทศ
ฉะนั้น รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงทั้งสองรูปแบบ ไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของรัฐบาลผู้ปกครองนั่นเองที่จะเลือกใช้ถ้อยคำใดเรียกฝ่ายต่อต้าน เพราะในอดีต รัฐบาลเคยใช้คำว่า “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ “ขจก.” แทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “โจรก่อการร้าย” (จกร.) และ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ในปัจจุบันตามลำดับ (กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็น “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง”) ในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม