วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กติกาเมือง


สถานการณ์ชายแดนภาคใต้

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ ยากที่จะจบลงในระยะเวลาอันสั้น เดิมผู้เขียนเคยมีความคิดว่า ผู้พิพากษาเป็นคนกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีคดีความ มาสู่ศาล ถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอก็จะยกฟ้อง ปล่อยตัวจำเลยไป ถ้าพยานหลักเพียงพอก็จะลงโทษ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่ความฝ่ายใด ไม่ว่ารัฐหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐ น่าจะไม่อยู่ในข่าย ที่จะถูก ปองร้าย แต่เมื่อต่อมามี ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีถูกยิงด้วยอาวุธปืนถึงแก่ความตาย และปรากฏว่า ผู้พิพากษาท่าน ดังกล่าวนั้น ไม่มีมีเหตุโกรธเคืองกับบุคคลใด หรือมีสาเหตุอื่น ที่จะถูกปองร้าย และต่อมา เมื่อจับผู้ร่วม กระทำความผิดได้ ก็ให้การรับสารภาพว่า มีการปองร้าย ผู้พิพากษา และข้าราชการระดับสูง ของจังหวัด เพียงเพื่อสร้างสถานการณ์ ก่อความไม่สงบของกลุ่ม แบ่งแยกดินแดน ทำให้ผู้เขียน และ ผู้พิพากษาอีกจำนวนมากที่คิดเช่นเดียวกับผู้เขียน เปลี่ยนแนวความคิด ว่าทุกคน ที่อยู่ในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด มีสิทธิจะถูกปองร้ายทั้งสิ้น

ต่อมาหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการประชุมผู้พิพากษาในภาค ๙ ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษา ในภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส ผู้เขียน ได้แสดงความคิดเห็นถึงวิธีการแก้ไขปัญหา โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นปัญหาที่พิเศษ การบริหารกิจการของสำนักงานศาลยุติธรรมเขตดังกล่าวนี้ น่าจะใช้วิธีพิเศษ แตกต่างจากเขตอื่น การบริหารทรัพยากร ไม่ว่าบุคคลหรืองบประมาณก็น่าจะแตกต่างกับจังหวัดอื่น ไม่ควรใช้ หลักเกณฑ์เดียวกัน เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ต่อมาเมื่อมีการประชุมผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันทำพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผู้พิพากษา ที่ถูกยิงถึงแก่ความตาย ผู้เขียน ในฐานะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ก็ได้แสดง ความคิดเห็น พร้อมกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๗ ศาล อีกครั้งหนึ่ง ได้ชี้ให้ผู้ที่บริหารงานศาล ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ตุลาการ คณะกรรมการบริหาร ศาลยุติธรรม หรือ คณะกรรมการ ข้าราชการศาลยุติธรรม เพื่อให้ตระหนักถึงวิธีการแก้ปัญหา ในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ว่า จะใช้บรรทัดฐานเดียวกับการบริหารงานศาล ในจังหวัดอื่นๆนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะแตกต่างกัน ในด้านประเพณี วัฒนธรรมภาษา ตลอดจนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ หลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์ ปะทุรุนแรงขึ้นมาเป็นลำดับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ

ขณะเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดฝันได้อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ มีประชาชน จำนวนหนึ่ง ปิดล้อมสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดเหตุจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุม ผู้ต้องหารวม ๖ คน เป็นราษฎรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน บ้านโคกกูแว หมู่ที่ ๕ ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แจ้งข้อกล่าวหาว่า บุคคลดังกล่าวแจ้งความเท็จ ยักยอกทรัพย์และซ่องโจร คดีดังกล่าวนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ ๑๒ ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ๖ คนได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีคนร้าย จำนวนหนึ่ง บุกเข้าปล้นปืนลูกซอง ๕ นัด ที่ทางอำเภอแจกจ่ายให้พวกเขาจำนวน ๖ กระบอก แต่ต่อมา กองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าพบว่าทั้ง ๖ คนไม่ได้ถูกปล้น แต่ได้นำอาวุธปืนไปมอบให้ขบวนการ โจรแบ่งแยก ดินแดน ที่สถานที่แห่งหนึ่ง ทั้งหมดอ้างว่าถูกข่มขู่ว่าถ้าไม่นำอาวุธปืนไปให้คนร้าย คนร้ายจะทำร้าย พวกเขา และบุคคล ในครอบครัวของบุคคลทั้ง ๖ ด้วย ผู้ต้องหาทั้ง ๖ ให้การรับสารภาพ ทางกองทัพ ภาคที่ ๔ ส่วนหน้า ได้นำตัวไปสอบสวนปากคำ ก่อนที่จะส่งกลับมาให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดำเนินการ ตามกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความไม่พอใจของชาวบ้าน

วันที่ ๒๕ ต.ค. ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่สถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เห็นประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้ทยอยเดินทางมายังสถานีตำรวจ และในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงต่อจากนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนมา ประมาณ ๕๐๐ คน และปิดล้อมสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบไว้ทุกด้าน และยังมีบุคคลเดินทางมาสมทบ อีกจำนวนมาก และในไม่ช้าก็มีบุคคลร่วมประมาณ ๑,๐๐๐ คน หลังจากประเมินสถานการณ์แล้ว จึงได้รายงาน ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทั้งในสายตำรวจและแจ้งต่อทางฝ่ายทหาร และประสานงานกับ เทศบาล เพื่อสนับสนุนรถดับเพลิง เพื่อเตรียมสลายกลุ่มผู้ชุมนุม และนำผู้ต้องหาทั้ง ๖ คน ไปควบคุม ที่สถานีตำรวจภูธร อ.เมืองนราธิวาส ต่อมามีประชาชนจากอำเภอต่างๆ ของ จ.นราธิวาส, ปัตตานี และ ยะลา เดินทางมาสมทบ พร้อมกับตะโกน ขอให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้ง ๖ คน

หลังจากนั้นได้มีการประชุมระหว่างฝ่ายตำรวจและทหารรวมทั้งฝ่ายปกครอง และได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจา กับ ฝ่ายผู้ชุมนุม แต่ไม่สามารถเจรจาได้ สุดท้ายจึงได้มีการสลายผู้ชุมนุมดังที่ปรากฏ และผลการสลาย การชุมนุมครั้งแรก มีข่าวว่าผู้ที่ร่วมชุมนุม ถึงแก่ความตายรวม ๖ คน และมีการจับกุมผู้ร่วมประท้วง ทั้งหมด ประมาณ ๑,๓๐๐ คน ได้นำตัวไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี โดยให้ผู้ต้องหาทั้งหมด ขึ้นรถ ของฝ่ายทหาร เพื่อทำการสอบสวนบุคคลที่ถูกจับกุมทั้งหมด

ต่อมาวันรุ่งขึ้นได้มีการประกาศว่า มีผู้เสียชีวิต ทั้งหมดรวม ๘๔ คน ส่วนผู้ที่เสียชีวิตเพิ่มเติมนั้น เกิดจาก ขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวไป จ.ปัตตานี เพราะอยู่ในระหว่างช่วงถือศีลอด บุคคล ดังกล่าว อ่อนเพลีย เพราะได้ทำการประท้วงตลอดเกือบทั้งวัน โดยไม่ได้รับประทานอาหารและน้ำ และการ ควบคุมตัว ดังกล่าวนั้น ยานพาหนะไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการแออัด ในระหว่างขนส่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยแก่ประชาชนจำนวนมากว่า เหตุใดไม่ประกาศ รายชื่อ ผู้ถึงแก่ความตาย ตั้งแต่เริ่มต้น เพิ่งมาประกาศในภายหลัง และก่อให้เกิดข่าวลือ ที่แตกต่างกัน มากมายในพื้นที่ จนไม่สามารถ หยุดยั้งได้ อันเป็นการกระพือโหมความไม่พอใจ ให้แก่ญาติผู้ตาย และ ผู้ถูกจับกุม

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ผู้ใดจะเป็นฝ่าย ผิดถูกอย่างไรนั้น ผู้เขียนไม่อาจคาดการณ์ได้ และไม่มีพยาน หลักฐานเพียงพอ และก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะไปวินิจฉัยด้วย ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนกังวลมากประการหนึ่งก็คือ ความสงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถ ที่จะสงบได้ ภายในระยะเวลาอันสั้นแน่นอน บุคคลที่ถูกจับกุมทั้งหมดก็ดี ญาติของผู้ตายก็ดี ล้วนมี ความเคียดแค้น ชิงชังเจ้าหน้าที่รัฐ การทำความเข้าใจกับบุคคลดังกล่าวนี้ ต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งเห็นได้ ชัดเจนว่า หลังจากคืนดังกล่าว มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่อเนื่องหลายจุด ในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าการ ลอบวางระเบิด การทำร้ายเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ อันเป็นการบ่งบอกได้ว่า มีบุคคลหลายคน พยายามจะกระพือ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ให้รุนแรงขึ้น จะเป็นเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายใดนั้น ไม่สามารถ ตอบได้ในขณะนี้

การปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา นับได้ว่าฝ่ายราชการเป็นฝ่ายชนะ แต่ใช้ระยะเวลา อันนาน เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ชนะคอมมิวนิสต์ได้ในครั้งก่อนนั้น ไม่ใช่การใช้กำลังเข้าไปปราบปราม หรือการฆ่า ซึ่งกันและกัน แต่โดยใช้นโยบายเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก การทำความเข้าใจ และ ให้อภัยกัน การแก้ปัญหาพื้นฐานของแต่ละฝ่าย การยอมรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน ซึ่งเชื่อว่า ทางฝ่าย ผู้มีอำนาจ ในขณะนี้ ก็ได้พยายามอยู่ แต่ด้วยปัจจัยหลายประการ ที่ไม่สามารถจะดำเนินการ ได้เสร็จสิ้น ในระยะเวลาอันสั้น ทุกฝ่ายต้องอดทนรอคอย และพยายามมุ่งให้เกิดสิ่งนี้ ถ้าทุกคน ไม่ผนึกกำลัง และคิดไปในทิศทางเดียวกันแล้ว การแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่จะเกิด ความไม่สงบ แบบเดิมๆ นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น และถึงวันหนึ่ง สถานการณ์โลกจะเปลี่ยนผัน ดึงเอาปัญหา ภายใน ประเทศ เป็นปัญหาร่วมของโลกไป จะทำให้การแก้ปัญหายิ่งยุ่งยากซับซ้อน และมีองค์ประกอบ มากขึ้น

ปัญหาดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสำนักงานศาลยุติธรรมเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของหน่วยราชการ ทุกหน่วย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารบุคลากร การบริหารงบประมาณ ตลอดจน แนวนโยบาย ในแต่ละหน่วยงาน ก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะ ต้องมีคณะกรรมการ ประเมินผล ขึ้นมาดำเนินการ เพื่อให้สถานการณ์ในแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนิน ไปได้เช่นเดียวกับ จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย แม้วิธีการดำเนินการจะต่างกัน แต่ต้องมุ่งบรรเทาความโกลาหล วุ่นวาย หรือ ความไม่ปกติให้สู่ระดับปกติโดยเร็ว

บทเรียนจากเพื่อนบ้านของเราที่แก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน นับว่าเป็นประโยชน์มาก ถ้านำมา วิเคราะห์ว่า วิธีการของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร กระทำแล้วสามารถแก้ปัญหาได้มากน้อย เป็นไปตาม วัตถุประสงค์หรือไม่

ฟิลิปปินส์ก็มีปัญหาการกบฏแบ่งแยกดินแดน ที่เกาะทางภาคใต้ของประเทศ ต่อสู้และปราบปราม กันมา นานหลายสิบปี และยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้

ประเทศอินโดนีเซียมีปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมด้วยกันหลายกลุ่ม และที่รู้จักกันมาก ก็คือ กบฏแบ่งแยกดินแดนอาเจ๊ะห์

ลาวและพม่ามีปัญหาชนกลุ่มน้อยที่พยายามแบ่งแยกดินแดนเช่นเดียวกัน

ส่วนศรีลังกานั้นก็สู้รบกับกบฏแบ่งแยกดินแดนทมิฬมาหลายสิบปี แล้วใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน มีบุคคล ล้มตาย เป็นจำนวนหลายหมื่นคน

ส่วนที่อินเดียนั้นมีกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสานติดกับพม่า สู้รับกันมาประมาณสามสิบปี
จีนเองก็มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นมุสลิมและทิเบต ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศ
หลายประเทศที่กล่าวมา เริ่มหันมาเจรจา ประนีประนอม ปรองดองกันมากขึ้น เพราะรบกันไป มีแต่ ความรุนแรงไม่จบสิ้น และสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ศรีลังกาเริ่มเจรจากับกบฏทมิฬแล้วหลายครั้ง บางครั้ง ยังใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่เจรจาด้วยซ้ำไป อินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน มีการเจรจากับกบฏ อาเจ๊ะห์ ฟิลิปปินส์มีการเจรจากับกบฏมูโร ส่วนอินเดียนั้น มีการเจรจาหย่าศึกกับ กบฏแบ่งแยก ดินแดน ของเขาเช่นเดียวกัน บรรทัดฐานของประเทศเหล่านี้ ยืนยันในหลักเดียวกันก็คือ ไม่ยอมให้มีการแบ่งแยก ดินแดน
ดังนั้นการต่อรองก็คือเจรจาในเรื่องของอำนาจทางการเมือง ต่อรองถึงขอบเขตของสิทธิในการปกครองตน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากในการที่จะต่อรองให้บรรลุกันทั้งสองฝ่าย ปัญหาการเจรจาต้องคาราคาซัง และเปิด การเจรจาหลายรอบ แต่กระนั้นก็ตามหลักการเจรจาและปรองดองกัน เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะวิธีการทหาร ไม่ว่าของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้ก่อการร้าย มีแต่จะทำให้เกิดการฆ่าล้างแค้นกันไม่มีวันจบสิ้น ผู้บริสุทธิ์ ของทั้งสองฝ่ายต่างถูกลากเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ และตกเป็นเหยื่อ ได้รับความเดือดร้อน และสร้าง ความเคียดแค้นแก่ญาติของทั้งสองฝ่าย และมีการผนึกกำลังเป็นศัตรูทับถมกันไม่จบสิ้น

เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สุดของเราก็เช่นเดียวกัน ความจริงที่ประจักษ์ก็คือ การใช้ ความรุนแรงด้วยกันทั้งฝ่ายปราบและฝ่ายก่อการร้าย วิธีทั้งสองฝ่ายมีแต่จะทำให้เกิดการสูญเสีย เช่นเดียวกับ ประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรมีการรอมชอม เปิดการเจรจากัน เพื่อหาข้อยุติ เหมือนอย่างที่นานาประเทศกำลังใช้อยู่ในขณะนี้ หน่วยงานของทางราชการต่างๆ ที่กระจายอยู่ใน สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ก็จะได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ทุกศาสนา

กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร -
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม