วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

สารจากการปักธงชาติมาเลเซียในชายแดนใต้


สารจากการปักธงชาติมาเลเซียในชายแดนใต้
สารจากการปักธงชาติมาเลเซียในชายแดนใต้ 

รัฐไทยพร้อมจะได้ยินเสียงที่ไม่อยากได้ยินหรือยัง?


 

             เหตุก่อกวน/ก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ ช่วงวันครบรอบประกาศเอกราชของมาเลเซียที่ผ่านมา สะท้อนนัยสำคัญต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ในภาพใหญ่อยู่ไม่น้อย การก่อเหตุโดยแสดงสัญลักษณ์ออกมาหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการประดับประดาธงชาติมาเลเซีย การทำลายธงชาติไทย หรือการติดป้ายข้อความยั่วยุ ท้าทาย เย้ยหยันเจ้าหน้าที่รัฐไทย ล้วนเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการต่อสู้ที่มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการก่อเหตุหลายครั้งที่เกิดในพื้นที่ช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอมบ์ การลอบยิง การเผาสถานที่ ฯลฯ ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถยืนยันถึงผู้ลงมือก่อเหตุได้อย่างครบถ้วนว่าเป็นฝีมือของนักต่อสู้รุ่นใหม่หรือไม่ แต่ความมีชีวิตชีวาในการก่อเหตุดังกล่าวพิสูจน์ชัดถึงความสดใหม่ในอุดมการณ์/ข้อเรียกร้องที่ยังหนักแน่น ไม่แปรเปลี่ยน ซึ่งผมมองว่านี่คือจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งบนเส้นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่เป็นได้ทั้งวิกฤติและโอกาส อยู่ที่การตอบสนองของฝ่ายรัฐเป็นสำคัญ
     
          ...เป็นวิกฤติ หากรัฐมองเรื่องเหล่านี้เป็นการยั่วยุ แล้วตอบสนองด้วยความโกรธา


          ...เป็นโอกาส หากรัฐเล็งเห็นว่า นี่เป็นไม่กี่ครั้งที่การก่อเหตุร้ายจงใจสื่อสารข้อความมายังรัฐโดยตรง เป็นสัญญาณของการต้องการพูดหรือเปล่งเสียงบางอย่างมายังรัฐโดยไม่อ้อมค้อม ซึ่งเป็นโอกาสดียิ่งที่จะเปิดพื้นที่พูดคุยกับพวกเขาเหล่านั้น ...ไม่ใช่พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยน แต่เป็นพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจใจอย่างจริงจังและละเมียดละไมเกี่ยวกับความหมายที่แฝงฝังอยู่ในการก่อเหตุอันมาจากแรงจูงใจเชิงอุดมการณ์แต่ละครั้งแต่ละหน เพื่อวิเคราะห์และนำไปสู่ทางออกที่ถูกต้องเสียที  

           ภายใต้ภารกิจที่ผมเสนอข้างต้น จะเห็นว่า ที่ผ่านมา รัฐไทยได้ออกนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.  2555 – 2557 ซึ่งมีนโยบายประการหนึ่งเน้นชัดถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ


           ...คำถามสำคัญอยู่ที่การแปลงนโยบายข้อนี้ไปสู่การปฏิบัติว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาจาก “บุคลิก”ของรัฐไทยที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง แต่มีความอดทนต่ำ และภายใต้กรอบนโยบายที่วางไว้แบบดังกล่าว รัฐจะเลือกสื่อสารกลับไปยังกลุ่มนักต่อสู้ที่ลงมือก่อเหตุในช่วงสิ้นเดือนสิงหาที่ผ่านมาอย่างไร ? ผมคงไม่มีคำตอบให้ เพียงแต่ชวนดูความเป็นไปในต่างประเทศสัก 2กรณี คือ ที่ไอร์แลนด์เหนือ กับ ที่สเปน

             ในกรณีความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือ การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงไปสู่ความขัดแย้งโดยสันติเกิดขึ้นได้ เมื่อรัฐบาลอังกฤษเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐมากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ต้องการมีอิสระในการปกครองตนเองหรือมีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ (ซึ่งมีพรรคหลักคือพรรคชินเฟน -Sinn Fein)สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยสันติวิธีได้อย่างเสรี ไม่ปิดกั้น ซึ่งทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐที่ใช้ความรุนแรงเริ่มถูกโดดเดี่ยว และหามวลชนมาร่วมยากขึ้น และส่งผลให้สมาชิกจากกลุ่มต่อต้านรัฐเริ่มหันมาใช้สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องแทนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ต่อต้านรัฐเหล่านี้บางส่วนก็ยังมิได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเขาตระหนักแล้วว่าความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย แต่การใช้สันติวิธีกลับจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

           การเปิดพื้นที่ดังกล่าวถูกขับเคลื่อนพร้อมไปกับริเริ่มการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ Irish Republican Army;IRA อย่างลับๆ เพื่อ “ฟัง” และทำความเข้าใจกลุ่มขบวนการเหล่านี้ว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร ซึ่งเป็นผลให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความขัดแย้ง และหาทางตอบสนองต่อความต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น โดยการพูดคุยสันติภาพนี้ต้องใช้เวลานานและต้องอาศัยความอดทนของทุกฝ่าย กว่าจะตกลงอะไรบางอย่างกันได้ โดยไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นถ่ายโอนอำนาจ (Devolution)ให้แก่คณะผู้บริหารไอร์แลนด์เหนือเพื่อให้ฝ่ายชาตินิยมมีอิสระในการปกครองตนเอง และแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองภายในไอร์แลนด์เหนือด้วยหลักการแบ่งอำนาจ (PowerSharing) ที่ให้ผู้นำของพรรคการเมืองสองขั้วเข้ามาบริหารไอร์แลนด์เหนือ (ขั้วหนึ่ง คือ กลุ่ม Nationalist (คาทอลิก) ซึ่งต้องการแยกตัวจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อไปอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไอร์แลนด์ ส่วนอีกขั้วหนึ่ง คือ กลุ่ม Loyalist/ Unionist (โปรเตสแตนท์)ซึ่งต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษต่อไป)[1] [2]

          ในกรณีของสเปน เราจะเห็นภาพการปะทะทางคำพูด หรือการแสดงออกซึ่งความเกลียดชังต่อกันอย่างเปิดเผย ระหว่างกลุ่มชาวคาตาลันในแคว้นคาตาโลเนียที่ต่อต้านความเป็นสเปน (Catalan Anti-Spanish Sentiment) กับกลุ่มชาวสเปนที่ต่อต้านความเป็นคาตาลัน (Spanish Anti-Catalan Sentiment)โดยที่การแสดงออกทั้งหมดทั้งมวลไม่จำเป็นต้องประกาศผ่านกระบอกปืน ไม่ว่าสารที่แต่ละฝ่ายสื่อออกมานั้นจะทิ่มแทงหัวใจกันขนาดไหน แต่กระบวนการสื่อสารทั้งหมดจำกัดอยู่ในกรอบของการไม่ใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของกลุ่มชาวคาตาลันจำนวนไม่น้อยที่ร้องเพลงชาติของแคว้นตนเองพร้อมไปกับการประกาศเรียกร้องเอกราชแยกจากสเปนอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะในหลายๆ วาระโอกาส [3]


           หรือการที่ชาวสเปนหลายคนก็พูดในเชิงดูถูกเกลียดชังความเป็นคาตาลันหลายครั้ง เช่น นักจัดรายการวิทยุชาวสเปนคนหนึ่งกล่าวว่า “คนวาเลนเซียที่เรียกตัวเองว่าชาวคาตาลันก็ไม่ต่างจากคนยิวที่นิยมฮิตเลอร์” [4]หรือในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมบาเซโลน่าแห่งแคว้นคาตาโลเนีย กับ ทีมรีล มาดริดแห่งสเปน ที่สนามซานติอาโก้ เบอร์นาบิวของมาดริด เมื่อปี 2011 แทนที่กองเชียร์มาดริดจะตะโกนด่าทอทีมบาเซโลน่าเพียงอย่างเดียว พวกเขากลับเลือกที่จะด่าความเป็นคาตาลันด้วย เช่น “Fuck Barça, fuck Catalonia!”และเมื่อรีล มาดริดเอาชนะบาเซโลน่าได้ กองเชียร์บางคนกลับตะโกนเป็นภาษาสเปนในความหมายว่า "Death to Catalans” (แทนที่จะเป็น "Death to Barcelona”) [5] 

           ...แน่นอนว่า สภาพสังคมการเมืองในสเปนหรือในไอร์แลนด์เหนือย่อมไม่เป็นอย่างอุดมคติของคนไทยหลายคน เพราะมันไม่ได้เต็มไปด้วยความสามัคคี รักกันๆๆ รักกันจุงเบยยย แต่เขาก็อยู่กันอย่างขัดแย้ง อยู่อย่างเป็นปฏิปักษ์โดยไม่ฆ่ากัน โดยบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการแสดงจุดยืนของตนอย่างตรงไปตรงมาได้ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการเปิดพื้นที่ของการปะทะแข่งขันและต่อสู้กันโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเปิดโอกาสที่แต่ละฝ่ายจะสามารถ “เอาชนะ”กันได้ตามกติกา (เช่น การแข่งขันกันด้านการพัฒนา การแข่งชิงความยิ่งใหญ่ด้านฟุตบอลระหว่างทีมบาเซโลน่า กับทีมรีล มาดริด) ทำหน้าที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการบริหารจัดการความขัดแย้งไม่ให้แปรเปลี่ยนไปสู่การใช้ความรุนแรง 

          ย้อนกลับมาดูที่รัฐไทยซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ยึดติดกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ให้ความสำคัญกับบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นอย่างมาก เมื่อดำริที่จะลองใช้แนวทางที่ก้าวหน้าในกรอบคิดแบบกระบวนการสันติภาพแล้ว ผมคิดบนฐานของการชำเลืองมองกรณีต่างประเทศอย่างไอร์แลนด์เหนือ หรือสเปนแล้ว อยากถามว่า 

          ...ฝึกความอดทนมาพอไหม? พร้อมหรือยังที่จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่อยากได้ยิน ?

          ...จะกลั้นใจไม่ใช้ปืนไหวไหม ถ้าหากจะต้องได้ยินเสียงเรียกร้อง ...เอกราช ? 

http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม