วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ใครเป็นใครในขบวนการฯร่วมวงพูดคุยกับรัฐไทย

ใครเป็นใครในขบวนการฯร่วมวงพูดคุยกับรัฐไทย



       ยังคงเป็นปริศนาและตรวจสอบกันวุ่นวายแม้แต่ในหน่วยงานความมั่นคงเอง เกี่ยวกับรายชื่อและประวัติของผู้แทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ไปร่วมโต๊ะ พูดคุยสันติภาพกับผู้แทนของรัฐบาลไทย เมื่อ 28 มี.ค.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

       ว่ากันว่าเที่ยวนี้ ซึ่งเป็นการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 (ครั้งแรกวันที่ 28 ก.พ.2556) มีทั้งตัวแทนจากขบวนการบีอาร์เอ็นและพูโล ไม่ใช่บีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวเหมือนครั้งแรก

       อย่างไรก็ดี การพบปะกันรอบ 2 (แต่นับเป็นการริเริ่มกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการนัดแรก) แตกต่างจากเมื่อ 28 ก.พ. เพราะในครั้งนั้น หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการพูดคุยและลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุย สันติภาพได้ไม่นาน ก็มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งฝั่งตัวแทนรัฐบาลไทย ฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งฝ่ายมาเลเซียผู้ที่ร่วมเป็นสักขีพยาน ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊คของพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยที่ไปลงนามด้วย

      แม้คนที่โพสต์ข้อมูลจะไม่ใช่ตัว พล.ท.ภราดร เอง แต่ข้อมูลก็ไปปรากฏอยู่บนหน้าแฟนเพจของเลขาธิการ สมช. โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ลบทิ้งหรือปฏิเสธข่าวแต่อย่างใด และรายชื่อบางส่วนก็ตรงกับข่าวที่เล็ดรอดออกมาก่อนหน้านั้น



เปิดชื่อคณะพูดคุยฝั่งบีอาร์เอ็น 28 ก.พ.

สำหรับรายชื่อผู้ที่พบปะพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย และร่วมลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ศูนย์ฝึกตำรวจ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ประกอบด้วย
  • 1.นายฮัสซัน ตอยิบ (ในเอกสารใช้ นายฮาซัน ตอยิบ) หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศ ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต
  • 2.นายอาวัง ยาบะ ฝ่ายประสานงานขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต กับเจ้าหน้าที่มาเลเซีย
  • 3.นายอับดุลเลาะห์ หัวหน้าอูลามา จ.นราธิวาส
  • 4.นายอับดุลเราะห์มาน ยาบะ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต
นอกจากนั้นยังมีแกนนำบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่ร่วมเป็นสักขีพยาน คือ

  • 1.นายมูฮัมหมัดฮัมดัน สะนิ หัวหน้าฝ่ายการเงิน
  • 2.นางกลือซม บิน ดีอิสอัค หัวหน้าฝ่ายสตรี
6 บีอาร์เอ็น-พูโลจากวงพูดคุย 28 มี.ค.

          ส่วนในการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการเมื่อ 28 มี.ค.2556 ที่เซฟเฮาส์ของสันติบาลมาเลเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์นั้น ผู้เข้าร่วมพูดคุยทางฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 6 คน ประกอบด้วย

  • 1.นายฮัสซัน ตอยิบเป็นแกนหลักคนเดิม โดยคราวนี้ พล.ท.ภราดร บอกว่า นายฮัสซัน ขอให้ใช้ชื่อขบวนการของพวกเขาว่า"บีอาร์เอ็น"เฉยๆ เพราะบีอาร์เอ็นทุกปีกรวมตัวกันแล้ว
  • 2.อุสตาซมะ สุหลงหรือ อุสตาซมะ โฉลง อายุมากกว่า 60 ปี ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นชาว อ.กรงปินัง จ.ยะลา และเป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส (ฝ่ายทหาร) รุ่นเก่า
  • 3.นายฟาเดล อาหามะวัยใกล้เคียงกับอุสตาซมะ เป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส (ฝ่ายทหาร) เช่นกัน
  • 4.นายอาบูลการีม ตอและหรืออับดุลรอนิง อายุราว 40 ปลายๆ ถึง 50 ปี เป็นสมาชิกระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็นในกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ยุคปัจจุบันด้วย ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นชาว ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
  • 5.นายมะสุกรี (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปลายๆ เป็นลูกผู้นำศาสนาชื่อดังในพื้นที่ และเป็นหนึ่งใน 8 อุสตาซที่ถูกจับกุมในคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน และเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 (หนึ่งใน 8 คนคือ นายแวยูโซะ แวดือราแม อดีตครูฝ่ายปกครองโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ภายหลังเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่) แต่ต่อมามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปประกันตัวให้เมื่อ 9 ม.ค.2550 ในยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในแนวนโยบายที่รัฐบาลใช้ในการคลี่คลายเหตุรุนแรงใน พื้นที่และลดความหวาดระแวง ทว่าภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนได้หลบหนีประกัน รวมทั้งนายมะสุกรีด้วย
  • 6.ผู้แทนองค์การพูโล ซึ่งยังไม่ชัดว่าชื่อ นายรอซี ลุโบะโตะเบ็ง หรือไม่

       แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูง กล่าวว่า ชื่อของผู้ที่ร่วมวงพูดคุยสันติภาพส่วนใหญ่เป็นชื่อจัดตั้ง ไม่ใช่ชื่อจริง แต่ตรวจสอบประวัติแล้วเป็นตัวจริงที่ร่วมอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง สิ้น

       "กลุ่มนี้ถือเป็นรุ่นใหญ่ เคยเป็นเยาวชนบีอาร์เอ็นในยุคที่เริ่มปลุกระดมใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน และปัจจุบันกลายเป็นแกนหลักขององค์กรนำ หรือ ดีพีพี (Dewan Pimpinan Parti) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของบีอาร์เอ็น จึงเชื่อว่ากลุ่มที่มาพูดคุยนี้เป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นจริงๆ และเชื่อมกับขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ขณะนี้ได้ เพราะมีบางคนที่มีความเชื่อมโยงชัดเจน" แหล่งข่าว ระบุ

       เขายังแสดงความเชื่อมั่นว่า การพูดคุยเจรจาครั้งนี้จะนำไปสู่สันติภาพที่ปลายทางได้ เพราะเป็นการ"คุยถูกตัว"และเชื่อว่าแกนนำดังกล่าวสามารถประสานงานกับฝ่ายกองกำลังในพื้นที่ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา และเหตุรุนแรงจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่รัฐเองก็ต้องควบคุมสถานการณ์ด้านอื่นให้ดีๆ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่หวังล้มโต๊ะเจรจา!

http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม