วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

แก๊งน้ำมันเถื่อนสยายปีกทั่วใต้...จ่ายส่วยกระจาย-คุกคามนักข่าว

แก๊งน้ำมันเถื่อนสยายปีกทั่วใต้...จ่ายส่วยกระจาย-คุกคามนักข่าว


         แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดั่งสวรรค์ของธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติด สินค้าเถื่อน และน้ำมันเถื่อน อีกทั้งฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อว่าขบวนการประกอบธุรกิจสีดำเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวโยงกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยก็ตาม ทว่าความใหญ่โตของขบวนการธุรกิจเถื่อน แทบไม่เคยมีใครมองเห็นภาพได้ชัดๆ มาก่อน




        กระทั่งฝ่ายความมั่นคงจับมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจค้นแหล่งกักตุนน้ำมันเถื่อนและสินค้าเถื่อนรายใหญ่ที่ จ.ปัตตานี เมื่อกลางเดือน ต.ค.2555 ยึดได้ทั้งรถบรรทุก เรือ ถังน้ำมันดัดแปลงขนาดใหญ่ เงินสด คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารนานาชนิด โดยเฉพาะเอกสารที่ถูกเผาสดๆ ร้อนๆ ปรากฏร่องรอยส่วนหนึ่งเป็นรายชื่อหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในบัญชี"จ่ายส่วย" ของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อน จึงได้รู้ว่าเครือข่ายธุรกิจมืดสาขานี้ใหญ่โตมากมายขนาดไหน

ที่น่าตกใจก็คือ มีรายชื่อ "นักข่าว" อยู่ในบัญชีด้วย!

         ในส่วนของนักข่าวนั้น ค่อนข้างตกที่นั่งลำบาก เพราะหากไม่อยู่ในบัญชีจ่ายส่วย และยังพยายามขุดคุ้ยข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ก็จะถูกข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ

         หนึ่งในนักข่าวที่ถูกกดดันอย่างหนัก เป็นถึงนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเกาะติดข่าวเปิดโปงขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนแบบกัดไม่ปล่อยมานานหลายปี รวมทั้งการทลายแหล่งกักตุนขนาดใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ด้วย

        เมื่อคนระดับนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯยังโดน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักข่าวตัวเล็กๆ อีกหลายคนจะตกเป็นเหยื่อการคุกคามเช่นกัน หลายๆ ครั้งเมื่อมีสื่อมวลชนไปรายงานข่าวการจับกุมน้ำมันเถื่อนของเจ้าหน้าที่ ยังเคยถูกกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนพูดจาข่มขู่ผู้สื่อข่าวต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่มาแล้ว บางรายก็อ้างตัวเป็นเด็กของนักการเมืองคนดัที่เอ่ยชื่อไปใครๆ ก็รู้จัก

นี่คือความอหังการ์ของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายที่สยายปีกทั่วชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมอันตรายที่เสี่ยง "เอาไม่อยู่" ในอนาคต

       ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงสถานการณ์การค้าน้ำมันเถื่อนที่ชายแดนใต้ และผลประโยชน์หลังม่านควันแห่งความรุนแรง

  •  ปัญหาธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขนาดไหน?

ธุรกิจน้ำมันเถื่อนเป็นธุรกิจผิดกฎหมายอีกประเภทหนึ่งที่สร้างรายได้และมีเงินหมุนเวียนเยอะที่สุดรองจากการค้ายาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานด้านความมั่นคงให้ความสำคัญ จัดเป็น"ภัยแทรกซ้อน" ที่มีเม็ดเงินไปสนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ด้วย

ขบวนการดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลทุกระดับ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล และพ่อค้าประชาชน เข้าไปมีส่วนได้เสียกับธุรกิจนี้ เมื่อมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนจึงทำให้ขบวนการเสียผลประโยชน์ และกระทบชิ่งหลายกลุ่ม จึงต้องพยายามตอบโต้นักข่าวที่นำเสนอข่าวทุกวิธี ตั้งแต่ติดต่อขอเข้ามาเจรจา ขับรถติดตาม ข่มขู่ และหนักที่สุดคือการลงขันจ้างมือปืนมาเก็บนักข่าว


  • ทราบว่ามีหลายกรณีที่เจอกับตัวเอง?

         ใช่ครับ อย่างเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจับกุมน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ อ.ควนโดน จ.สตูล ว่า สภ.ควนโดน ทำของกลางน้ำมันเถื่อนที่ทางดีเอสไอ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) ร่วมกันจับกุมหายไปกว่า 3 หมื่นลิตร จากทั้งหมด 50,000 ลิตร ซึ่งล่าสุดมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว

         เมื่อผมได้ติดตามรายงานข่าวนี้ และได้ไปสังเกตการณ์การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากทราบว่ามีการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนออกมาจากชายแดนที่ด่านวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน ซึ่งด่านแห่งนี้มีช่องทางเข้า-ออกกว้างเพียง 5-6 เมตร มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบรถยนต์ทุกคัน และห่างจากจุดตรวจศุลกากรก็เป็นที่ทำการของ ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) ห่างกันเพียงไม่กี่สิบเมตร แต่กลับปล่อยให้รถกระบะดัดแปลงถังน้ำมัน ขนน้ำมันจากประเทศมาเลเซียผ่านออกมาได้

         นอกจากนั้น ห่างจากด่านชายแดนไปประมาณ 3 กิโลเมตร ยังพบศูนย์รวมน้ำมันขนาดใหญ่อยู่ริมถนน มีการขนถ่ายลำเลียงน้ำมันส่งไปให้ลูกค้า และบนถนนสายวังประจัน-ควนโดน มีจุดตรวจของ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ร่วมกับฝ่ายปกครอง 2 แห่ง และมีจุดตรวจของ สภ.ควนโดน 1 แห่ง รวมทั้งจุดตรวจของทหารอีก 1 แห่ง แต่ปรากฏว่าขบวนการค้าน้ำมันยังสามารถผ่านจุดตรวจเหล่านั้นไปได้โดยไม่มีการจับกุม

        ผมก็ตามไปทำข่าว ขณะที่กำลังสังเกตการณ์และถ่ายภาพอยู่นั้น ปรากฏว่ามีรถกระบะโตโยต้า วีโก้ สีดำ ขับติดตามและตรงเข้าประกบเพื่อให้หยุดรถลงมาเจรจา ทีแรกก็ถามว่ามาจากไหน มาทำอะไร เมื่อตอบไปว่ามาถ่ายภาพทำข่าวน้ำมันเถื่อน คนในรถซึ่งมี 2 คนได้แสดงท่าทีไม่พอใจ และพยายามอ้างว่าไม่มีการค้าน้ำมันเถื่อนบริเวณนี้แล้ว ผมจึงขับรถออกมา แต่รถกระบะคันดังกล่าวยังพยายามขับติดตามตลอด และพยายามจะให้หยุดรถ จนเมื่อถึงถนนสายหลัก รถกระบะคันดังกล่าวจึงหยุดติดตาม และขับหายไป

         ผมเชื่อว่ากลุ่มคนในรถกระบะเป็นคนในขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอย่างแน่นอน โดยคนกลุ่มนี้มีหน้าที่เฝ้าและเคลียร์เส้นทางให้กับขบวนการน้ำมันเถื่อนที่เป็นลูกน้องนายทุนและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

  • การคุกคามรูปแบบอื่นๆ มีอีกหรือไม่?

        ที่ผ่านมาก็ยังเคยมีการคุกคามรูปแบบอื่นอีก อย่างกรณีที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ได้ออกคำสั่งด่วนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ดำเนินการปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างเด็ดขาด โดยทางผู้ว่าฯได้ปิดกั้นการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนบริเวณด่านชายแดนด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ทำให้กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่เดือดร้อน จากนั้นก็มีคนในเครือข่ายซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเข้ามาเจรจาและนำเงินมาจ่ายนักข่าวเพื่อไม่ให้ทำข่าว โดยอ้างว่าเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งผมไม่รับและขอให้กลับไป สร้างความไม่พอใจกับกลุ่มขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอย่างมาก ถึงขั้นมีข่าวออกมาว่าได้ลงขันกันเพื่อจ้างมือปืนมายิงผม

  • ระยะหลังฝ่ายความมั่นคงพยายามปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างหนัก มีการจับกุมมากพอสมควร ทำให้ปัญหาลดดีกรีความรุนแรงลงบ้างหรือไม่?

สถิติการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไม่ได้ลดลง สาเหตุสำคัญเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องมีผลประโยชน์จากการเรียกรับส่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน เจ้าหน้าที่ที่พัวพันมีทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตั้งแต่กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และฝ่ายความมั่นคง เช่น ตำรวจ ทหารที่ตั้งด่านตามเส้นทางการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน



  • ตัวเลขผลประโยชน์จากส่วยมากน้อยขนาดไหน?

จากข้อมูลที่ทราบมา ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ จ.สงขลา มีการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยต่างๆ ประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน ยอดเงินนี้สำหรับรถขนน้ำมันเถื่อน 1 คันเท่านั้น แต่รถขนน้ำมันเถื่อนในพื้นที่มีเป็นพันคัน ลองคิดดูว่ายอดเงินส่วยจะมากขนาดไหน และน้ำมันเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนลิตร ตัวเลขนี้เป็นเพียงปริมาณน้ำมันเถื่อนที่ถูกลักลอบนำเข้ามาเฉพาะทางบกโดยผ่านด่านชายแดนเท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมน้ำมันเถื่อนทางทะเลที่มีการลักลอบนำเข้ามาเช่นกัน และมีปริมาณมากกว่าทางบกเสียอีก

  • การนำเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวกับปัญหาน้ำมันเถื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือไม่?

ก็ส่งผลดีทำให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เปิดปฏิบัติการปราบปรามอย่างหนัก ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย พล.ต.ท.พิสิฏฐ์ พิสุทธิศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้มีคำสั่งให้ตำรวจในพื้นที่กวดขันปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างเด็ดขาด ทำให้บางพื้นที่อย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งในอดีตมีจุดขายน้ำมันเถื่อนหลายร้อยแห่ง ตอนนี้ไม่มีพ่อค้าน้ำมันเถื่อนกล้านำน้ำมันเถื่อนออกมาขายแล้ว เพราะมีการตั้งเงินประกันตัวสำหรับผู้ที่ถูกจับกุมสูงถึง 70,000 บาท
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม