วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาในขบวนการป่วนใต้ กับทางสองสายเมื่อเกิดประชาคมอาเซียน

ปัญหาในขบวนการป่วนใต้ กับทางสองสายเมื่อเกิดประชาคมอาเซียน

"อดีตบีอาร์เอ็น" เล่าปัญหาในขบวนการป่วนใต้ กับทางสองสายเมื่อเกิดประชาคมอาเซียน

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายปีของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามักมองปัญหาผ่านสายตาและข้อมูลของภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น แต่แทบจะไม่เคยฟังข้อมูลจากฝ่ายผู้ก่อการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนโดยตรงเลย

ปัญหาในขบวนการป่วนใต้ กับทางสองสายเมื่อเกิดประชาคมอาเซียน

      ประกอบกับองค์กรของผู้ก่อความไม่สงบยังคงเป็น "องค์กรลับ" แม้จะปฏิบัติการก่อความรุนแรงในทางเปิดมากว่า 8 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่ "เสียลับ" ทำให้สังคมไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อความไม่สงบน้อยมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าพวกเขากำลังคิดอะไร มียุทธศาสตร์ในการก้าวไปข้างหน้าอย่างไร จะพาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทางไหน และมีปัญหาภายในองค์กรของพวกเขาบ้างหรือเปล่า

      แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำตัวผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุมหรือกลับใจยอมเข้ามอบตัวมาบอกเล่าข้อมูลต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนอยู่บ้าง แต่หลายๆ ครั้งก็เหมือนเป็นการ "จัดฉาก" ของฝ่ายรัฐ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นมุมมองส่วนตัว เป็นเรื่องของความลำบากในการใช้ชีวิต และความรู้สึกของผู้ก่อความไม่สงบรายนั้นๆ ในแง่ของการ "หลงผิด" เท่านั้นเอง หาได้บอกเล่าถึงแนวคิด ยุทธศาสตร์ และทิศทางของกลุ่มก่อความไม่สงบแต่อย่างใดไม่ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากบุคคลดังกล่าวเป็นเพียงแนวร่วมระดับล่าง หรือกลุ่มติดอาวุธระดับปฏิบัติการ

       แต่สำหรับอดีตคนในขบวนการ "บีอาร์เอ็น" ที่ยอมพูดคุยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ในครั้งนี้ เป็นระดับแกนนำสายศาสนา ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งแล้ว ยืนยันตรงกันว่าอดีตคนในขบวนการรายนี้เป็น "ตัวจริง" และเป็นแกนนำในระดับพื้นที่ แต่สาเหตุที่หันหลังให้ขบวนการก็เพราะความขัดแย้งในเรื่องแนวทางการก้าวเดินต่อไป ทว่าเขาก็ไม่ได้หันหน้าไปอยู่กับฝ่ายรัฐ

      หลายคนอาจจะเข้าใจว่าคนที่เข้าเป็นสมาชิกขบวนการแล้ว หากถอยหลังออกมาย่อมหมายถึงความตาย แต่ในความเป็นจริงขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชายแดนใต้ไม่ได้มีมาตรการถึงขั้นนั้น เพียงแต่เมื่อไม่ร่วมมือกับขบวนการแล้วก็อย่าขัดขวาง และห้ามไปให้ข้อมูลหรือเปลี่ยนข้างไปอยู่กับ "รัฐไทย" อย่างเด็ดขาด ฉะนั้นอดีตสมาชิกหลายระดับที่ถอนตัวออกมาและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐ จึงยังคงอยู่ในพื้นที่ได้ตามปกติ แต่ก็จะถูกจับตาจากคนในขบวนการมากเป็นพิเศษ

      กรณีของแหล่งข่าวรายนี้ก็เช่นกัน เขาออกจากขบวนการและออกจากพื้นที่ไประยะหนึ่ง ก่อนจะกลับเข้ามาใช้ชีวิตตามเดิม เขาเล่าถึงปัญหาภายในขบวนการที่มีอยู่ไม่น้อย พร้อมแสดงทัศนะถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาของ "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของสถานการณ์ชายแดนใต้


รอยร้าวทางความคิด!

      อดีตสมาชิกระดับนำของขบวนการบีอาร์เอ็นวัย 48 ปีที่ขอเรียกตัวเองด้วยนามสมมติว่า "ยูโซะ" บอกว่า สาเหตุสำคัญที่เขาหันหลังให้ขบวนการก็เนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เขา แต่แกนนำในขบวนการมีความเห็นไปคนละทิศละทางอย่างหลากหลายจนกลายเป็นความแตกแยก

     "ภายในขบวนการแตกกัน เนื่องจากระยะหลังคนในระดับนำคิดไปคนละทาง เพราะเห็นแล้วว่าการต่อสู้ของขบวนการอย่างที่ทำอยู่ไม่มีทางชนะ เนื่องจากตอนนี้กลุ่มขบวนการเองก็ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ แล้วเราจะมีโอกาสชนะเพื่อแบ่งแยกประเทศได้จริงหรือ จุดนี้ทำให้แกนนำแต่ละกลุ่มคิดกันไปต่างๆ นานาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ชัยชนะ หรือวางจังหวะทิศทางเพื่อก้าวเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน"

       ยูโซะ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการปฏิวัติรัฐปัตตานีเดินไปไม่ได้ แต่การที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ เพราะยังมีแนวร่วมคอยก่อเหตุ ซึ่งการจะยับยั้งแนวร่วมเหล่านี้ทำได้ยากมาก เพราะพวกเขาถูกใส่ความเชื่อเข้าไปแล้ว ก็จะไม่รับฟังคนอื่น นอกจากคนในขบวนการเท่านั้น

       "ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาความไม่สงบจึงต้องใช้ความละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา และใช้ความจริงใจเข้าหามวลชน แต่หากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ไม้แข็ง ใช้ตาต่อตาฟันต่อฟัน ก็จะเหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟ ปัญหาย่อมไม่มีวันจบ"

ทุนป่วนมาจากไหน?

       การดำรงอยู่ของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น เริ่มจากการหารายได้ขั้นพื้นฐาน ซึ่ง ยูโซะ แจกแจงให้ฟังอย่างละเอียด

      "สมัยก่อนเก็บเงินจากชาวบ้านคนละ 3 บาทหรือครอบครัวละ 3 บาทต่อวัน ซึ่งช่วงแรกๆ เรามีสมาชิกอยู่ทุกหมู่บ้านในพื้นที่สามจังหวัด สมมติว่าในหมู่บ้านหรือตำบลหนึ่งมี 300 ครอบครัว เรามี 230 ครอบครัวที่เป็นสมาชิกแนวร่วม คนที่เป็นสมาชิกทุกคนต้องส่งเงินให้กับขบวนการ โดยเงินที่เราเก็บได้จะนำไปเป็นค่าใช้จ่าย บาทแรกนำไปซื้อกระสุน บาทที่ 2 และ 3 นำไปบริหารเพื่อต่อยอดให้สมาชิก เช่น ให้กลุ่มสตรีนำเงินไปซื้อผ้าถุง หรือเสื้อกุโรง (เสื้อสตรีมุสลิม) แล้วนำมาขายให้กับสมาชิกแนวร่วมตามหมู่บ้านต่างๆ ในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย เพื่อนำส่วนต่างไปใช้ในการทำงาน ซึ่งสมาชิกทุกคนก็เต็มใจซื้อ เพื่อช่วยกันสานฝันอุดมการณ์ให้ประสบความสำเร็จ"

      "ส่วนต่างที่เป็นกำไร เราก็ส่งเข้าขบวนการ ส่วนทุนก็นำไปซื้อของมาขายใหม่ เราทำอยู่อย่างนี้มาตั้งนานแล้วโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้ หรือรู้แต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้นเงินที่ได้ก็จะนำไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเด็กไปเรียนตามสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อกล่อมเกลาจิตใจและฝึกให้ออกมาเป็นนักรบ"

       ยูโซะ ให้ข้อมูลด้วยว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชปัตตานีจากประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 แล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงกลางของการต่อสู้

นี่แหละ...สงครามความคิด

        อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีบรรดาแกนนำถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมไปเป็นจำนวนมาก แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดขบวนการจึงไม่อ่อนกำลังลงเลย ประเด็นนี้ ยูโซะ บอกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า "สงครามความคิด"

      "เมื่อคนถูกใส่ความเชื่อเข้าไปแล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยน และยิ่งยากหากจะให้หยุดความคิดเหล่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเอาเสียเลย แต่มันต้องใช้เวลา สถานการณ์ขณะนี้ผ่านมาแค่เพียง 8 ปี จะให้มันสงบมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากทางกลุ่มขบวนการเขาปลูกฝังอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อมากว่า 20 ปี"

      ยูโซะ ชี้ว่า การจะทำให้แนวร่วมเปลี่ยนความคิด เงื่อนไขสำคัญที่สุดอยู่ที่ท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐ

      "ทุกวันนี้ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า ชาวบ้านหรือกลุ่มขบวนการเองก็นั่งดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ แม้แนวทางการแก้ปัญหาจะผิดบ้างถูกบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของคนทุกกลุ่ม แต่คำถามคือรัฐได้รับฟังจริงๆ แล้วหรือยัง ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งแต่ไม่รู้ว่าวันไหน แกนนำขบวนการจะยอมออกมาพูดคุยด้วยแน่ แต่สาเหตุที่ยังไม่ออก เพราะยังไม่มั่นใจหน่วยงานของรัฐ เพราะรัฐเองก็ไม่เป็นเอกภาพเพียงพอ"

ย้อนรอยอดีต "กรือเซะ"


       เขายังยกตัวอย่างถึงกลวิธีการใส่ความคิดความเชื่อให้กับชาวบ้าน ซึ่งเห็นชัดเจนที่สุดในเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 หรือ "เหตุการณ์กรือเซะ"

      "ในช่วงนั้นมีแกนนำเป็นผู้นำศาสนาหลอกให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนออกมาเพื่อประกาศเอกราช โดยใช้วิธีการทางไสยศาสตร์ ให้ชาวบ้านถือลูกประคำติดตัวไว้โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่จะมองไม่เห็น โชคดีที่วันนั้นชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่เอาด้วย เพราะคิดได้ว่ามือเปล่าจะสู้กับปืนได้อย่างไร"

       "จริงๆ แล้วแกนนำคนที่หลอกชาวบ้านพยายามจะทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งหากเป็นอย่างที่เขาวางแผนไว้วันนั้นจะมีคนตายอีกเยอะ เป้าหมายเพื่อให้ต่างชาติมองว่าที่ปัตตานีมีการต่อสู้ของชาวมลายูเพื่อแบ่งแยกดินแดน แม้สุดท้ายจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่เหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงที่รัฐไทยกระทำต่อชาวมลายู"

       ยูโซะ ยังชี้ด้วยว่า เหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 มีความซับซ้อนจากการวางแผนมาเป็นอย่างดี

     "จะเห็นได้ว่ามีการจัดวางคนไปก่อเหตุสลับพื้นที่กัน เช่น เอาคนปัตตานีไปก่อเหตุที่ จ.ยะลา แล้วนำคนจากอีกอำเภอหนึ่งไปก่อเหตุอีกอำเภอหนึ่ง เหตุผลก็เพื่อให้เกิดความยากที่คนเหล่านั้นจะหาทางกลับหรือหนีกลับเมื่อรู้ว่าถูกหลอก"

      "วันนั้นมีเด็กของผมตายไป 4 คน เราไม่รู้จริงๆ ว่าเด็กเหล่านี้ไปเชื่อคำพูดของคนที่มาหลอกได้อย่างไร และหลังจากเกิดเหตุการณ์ ผู้นำศาสนาคนนั้นก็หายตัวไป จากการที่ไปสำรวจคนเจ็บและตายไม่ปรากฏว่ามีเขาอยู่"

เมื่ออาร์เคเคสังกัด"มาเฟีย"

       ดังที่เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ปัญหาในขบวนการแบ่งแยกดินแดนเองก็มีไม่น้อยเหมือนกัน และไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในกลุ่มแกนระดับนำ แต่ยังมีปัญหาใหม่ในระดับกลุ่มติดอาวุธ หรือ "อาร์เคเค" ด้วย

      "ขณะนี้กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่รู้ช่องทาง จึงสร้างฐานอำนาจโดยนำอาร์เคเคมาเลี้ยงไว้ แล้วต่างฝ่ายต่างก็พึ่งพากัน กลุ่มอิทธิพลได้ใช้อาร์เคเคเป็นกองกำลังส่วนตัว โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง โจมตีปรปักษ์ของตนเองบ้าง ขณะที่อาร์เคเคก็ได้เงิน ได้อาวุธ ได้กระสุน และมีคนคอยปกป้อง ที่แย่ก็คือเมื่อก่อนกลุ่มติดอาวุธมักอยู่ในป่า ปฏิบัติการในเขตป่า แต่วันนี้มาอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะสามารถก่อเหตุก่อวินาศกรรมได้ทุกเวลา"  แต่ถึงกระนั้น ปฏิบัติการเชิงรุกของรัฐก็ทำให้ "อาร์เคเค" ลดจำนวนลงมิใช่น้อย...

      "ตอนนี้ผมคิดว่าขบวนการเริ่มมีปัญหา จากการสังเกตจะเห็นได้ว่าอาร์เคเคต้องออกไปปฏิบัติการต่างพื้นที่ เช่น เด็กจากปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ไปตายที่ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา เด็กจากบังนังสตา (จ.ยะลา) ไปตายที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า อาร์เคเคมีน้อยลง ต้องไปปฏิบัติการนอกพื้นที่รับผิดชอบ แต่เมื่อไปปฏิบัติจริง กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากปีกแนวร่วมเพื่อรับประกันความปลอดภัย 100% เหมือนเมื่อก่อน ทำให้เริ่มมีความสูญเสีย และสะท้อนให้เห็นว่าขบวนการเองก็ไม่สามารถพูดคุยหรือขอความร่วมมือจากชาวบ้านได้มากเหมือนเดิม"


จุดเปลี่ยนที่ "ประชาคมอาเซียน"

       ถึงวันนี้ ยูโซะ มองว่า แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งรุมเร้า และมีกลุ่มอิทธิพลเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอาร์เคเค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินทางถึงจุดเปลี่ยน เพราะภาครัฐยังไม่สามารถเปลี่ยนจาก "ฝ่ายรับ" มาเป็น "ฝ่ายรุก" ได้อย่างมีนัยสำคัญ

     ยูโซะ จึงเห็นว่า การก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" ต่างหากที่น่าจะส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ค่อนข้างรุนแรง

     "ผมเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์เบาบางลง เนื่องจากเยาวชนจะเริ่มให้ความสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น การเกิดประชาคมอาเซียนจะเป็นเหมือนกับการแยกสายน้ำหรือเส้นทางออกเป็น 2 สาย จากเมื่อก่อนมีเพียงสายเดียว ทำอะไรก็ไปในแนวทางเดียวกัน แต่เมื่อแยกเป็นสองแล้วจะทำให้มีตัวเปรียบเทียบว่าฝ่ายไหนจะดำรงอยู่ได้ แม้ฝ่ายที่เลือกแนวทางก่อความไม่สงบจะยังก่อเหตุได้ แต่ก็เชื่อว่าจะค่อย ๆ ลดจำนวนลง"

       ส่วนแนวทางที่บางฝ่ายพยายามรณรงค์ให้เกิดโมเดลปกครองตนเอง หรือ "เขตปกครองพิเศษ" นั้น ยูโซะ บอกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิด แต่ในทางปฏิบัติยังเร็วเกินไป ยังไม่ถึงเวลา เพราะชาวบ้านยังไม่มีความรู้พอ หากตั้งเขตปกครองพิเศษ ประโยชน์จะไปตกอยู่กับคนแค่บางกลุ่ม และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นเบี้ยล่างเหมือนเดิม

         "แต่ผมคิดว่าในอนาคต สังคมชายแดนใต้จะต้องหันมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มขบวนการรู้ว่าสู้ไปอย่างไรก็ไม่มีทางชนะ ทางแกนนำก็คงจะหันมาเลือกแนวทางต่อรองให้ได้เขตปกครองพิเศษ แต่ขณะนี้ทางขบวนการยังถือว่าได้เปรียบรัฐไทยอยู่ จึงยังไม่มีการเปิดเจรจาต่อรอง"

ประโยคสุดท้ายของ ยูโซะ ดูจะอธิบายสถานการณ์ไฟใต้ ณ ปัจจุบันได้ดีที่สุด!


ที่มา: FB Risalah Qomi

"โครงสร้างใหญ่ของขบวนการปฏิวัติปัตตานี" 

       พลโท สำเร็จ ศรีพ่าย ที่ปรีกษากองทัพภาคที่ 4 ได้เก็บข้อมูลมาจากการสอบปากคำจากกลุ่มขบวนการและแนวร่วมที่ถูกจับกุมและกลุ่มที่มามอบตัวในเหตุก่อความไม่สงบ และทีมงาน ของ พลโท สำเร็จ ระบุว่าขบวนการปฏิวัตนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผดกฎหมาย ค้ายาเสพติด แต่ทำงานด้วยศรัทธาทางเชื้อชาติและศาสนา โดยมีเป้าหมายเพื่อ "เอกราชปัตตานี"


Posted Image

ขบวนการปฏิวัติมลายูปัตตานีมีโครงสร้างใหญ่ๆ ประกอบด้วย

  • 1. มวลชน ซึ่งก็คือ ประชาชนชาวมลายูปัตตานี เป็นฐานรากอันสำคัญของขบวนการ
  • 2. ทหาร หรือกลุ่มติดอาวุธ ได้แก่ "อาร์เคเค" (หน่วยรบขนาดเล็กที่ผ่านการฝึกรบแบบจรยุทธ์ 1 ชุดมี 6 คน) "คอมมานโด" ซึ่งผ่านการฝึกและมีตำแหน่งสูงกว่าอาร์เคเค และ "รือตูปัน" เป็นผู้ช่วยอาร์เคเคและคอมมานโดในการประกอบระเบิด
  • 3. เปอร์กาเดส หมายรวมถึง กลุ่มที่ทำงานทางความคิดเพื่อสร้างมวลชนและกลุ่มผู้นำทางจิตวิญญาณ
  • 4. เป้าหมาย คือ การปฏิวัติเพื่อเอกราช



ยุทธศาสตร์ของขบวนการมีอยู่ 5 ข้อ
ทุกฝ่ายที่ร่วมอยู่ในขบวนการต้องยึดหลักการนี้ กล่าวคือ

  • 1. ยุทธศาสตร์ประชากร สร้างมวลชนและเก็บข้อมูลมวลชน ปลูกฝังให้ต่อต้านรัฐไทย
  • 2. ยุทธศาสตร์สังคม ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคคล การศึกษา (เรียนสายศาสนาให้มาก เรียนสายสามัญให้น้อย) และอาชีพ
  • 3. ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ วิธีการคือเก็บเงินสมาชิกวันละ 1 บาท ขอกรีดยางของสมาชิกสวนละ 1 ต้น และทำธุรกิจระดับหมู่บ้าน เช่น ให้มวลชนของขบวนการตัดเสื้อแล้วนำไปขายให้สมาชิกในราคาสูงกว่าท้องตลาด เพื่อนำเงินเข้าขบวนการปฏิวัติ เป็นต้น
  • 4. ยุทธศาสตร์ข่าวสาร ให้สมาชิกหาข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
  • 5. ยุทธศาสตร์ป้องกันมวลชน เพื่อคงสภาพให้เกลียดรัฐไทย และรักขบวนการ ใช้การเข้าถึง พูดคุย แสดงศักยภาพด้วยการก่อเหตุรุนแรงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้


การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีกลไกขับเคลื่อน 2 กลไกใหญ่ ได้แก่


  • 1. องค์กรทหาร เริ่มจากอาร์เคเค ซึ่งเป็นกองกำลังขนาดเล็กมีลักษณะเป็นหน่วยจรยุทธ์ ในอดีตใช้เวลาฝึกเพื่อจัดตั้งนานถึง 2 ปี มีทั้งการฝึกร่างกาย ฝึกยุทธวิธี และปลูกฝังอุดมการณ์ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีอาร์เคเคกระจายกันออกไปทำงาน และมีสายการบังคับบัญชาสูงขึ้นไป ได้แก่ รือกู (หมู่) พลาตง (หมวด) คอมปี (กองร้อย) เกอตัวโคปี (กองพัน) และเปิงลิมา แต่ในระบบการฝึกและปฏิบัติงานจะมีการ "ตัดตอน" ทุกระดับ เพื่อไม่ให้รัฐล่วงรู้ข้อมูลหากสมาชิกบางรายถูกจับกุม
  • 2. องค์กรมวลชน เริ่มจาก "อาเยาะ" ทำงานในระดับหมู่บ้าน ทั้งขยายฐานมวลชน เก็บเงิน และคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้กับอาร์เคเคเวลาก่อเหตุรุนแรงถัดจากอาเยาะ คือ "ลีกาลัน" และ "คอมมิส" เป็นหัวหน้าอาเยาะ คุมพื้นที่ใหญ่กว่าระดับหมู่บ้าน เหนือขึ้นไปจะเป็น "สะกอม" คุมพื้นที่ระดับอำเภอ และ "กัส" คุมพื้นที่ระดับจังหวัดหรือเขต ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เขตหรือ 3 จังหวัด แต่การแบ่งพื้นที่จะแตกต่างจากการแบ่งเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสของทางการไทย โดยพื้นที่ที่ "กัส" ควบคุมจะขยายไปถึง 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย


         องค์กรมวลชนแต่ละระดับจะปฏิบัติงานตามกรอบ 5 ยุทธศาสตร์ มีการส่งข้อมูลจากระดับล่างขึ้นไป และมีการสั่งการจากระดับบนลงมาตลอดเวลา เพื่อปรับแผนไปตามแนวโน้มของสถานการณ์ เช่น ในอดีตเลือกใช้กลุ่มเปอมูดอ (เยาวชน) และสตรี ในการปลุกม็อบต่อต้านทหาร แต่ภายหลังเมื่อเริ่มใช้ไม่ได้ผล ก็ปรับแผนใหม่ อย่างนี้เป็นต้น

        ส่วนการสร้างฐานประชาชนซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญใน "สงครามแย่งชิงมวลชน" ที่ชายแดนใต้ มีอยู่ 3 ข้อ คือ 

  • 1. ให้ประชาชนมลายูเลือกข้างอยู่กับบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต 
  • 2. ให้ประชาชนมลายูหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา และ 
  • 3. ให้มวลชนมลายูสามารถอยู่กับภาวะการต่อสู้ในสงครามประชาชนได้


      พล.ท.สำเร็จ ชี้ว่า เงื่อนไขสำคัญที่สุด ณ วันนี้ คือ การตีความว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดน "ดารุลฮารบี" คือดินแดนที่คนศาสนาอื่นปกครอง และกดขี่พี่น้องมุสลิม ซึ่งจริงๆ แล้ว ตามหลักคำสอนทางศาสนาได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้กว้างๆ เช่น มุสลิมไม่สามารถไปละหมาดได้ เป็นต้น แต่แม้ในพื้นที่จริงไม่ได้มีสภาพเช่นนั้น ทว่ามีการตีความโยงไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิเช่น กรณีกรือเซะ ตากใบ และประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต แล้วสรุปว่าดินแดนแห่งนี้เป็น "ดารุลฮารบี" มุสลิมสามารถทำสงครามและทำญิฮาดได้

       "การจะทำให้สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยุติลงต้องปลดชนวนตรงจุดนี้ แต่ปัญหาคือไม่มีผู้นำศาสนาในพื้นที่กล้าชี้ขาด ส่วนผู้นำศาสนาจากนอกพื้นที่ก็ไม่ได้มีเชื้อชาติมลายู ทำให้คนในพื้นที่ไม่เชื่อถือศรัทธา อีกจุดหนึ่ง คือ การกวดขันตามโรงเรียนสอนศาสนาบางแห่งที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอุดมการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการยังทำงานน้อยเกินไป ทำให้ยังมีแนวร่วมรุ่นใหม่ๆ หลั่งไหลเข้าขบวนการไม่หยุด"

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2555 คอลัมน์ 
"ผ่ายุทธศาสตร์'ปฏิวัติปัตตานี'อีกหนึ่งทฤษฎีสงครามชายแดนใต้"

อันที่จริงแล้วหากผู้รับผิดชอบทั้งนายกฯและรองนายกฯผู้รับผิดชอบจะทำ"การบ้าน" โดยศึกษาเรื่องราวต่างต่าง ปมความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองอย่างถ่องแท้จนเข้าใจอย่างถี่ถ้วนจนตกผลึก อย่างน้อยก็พอจะเข้าใจปัญหาในภาพรวมและค่อยค่อยปะติดปะต่อเรื่องราวและปัญหาต่างต่างและที่สุดก็สามารถกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเข้าใจได้ หากคอยแต่รับฟังรายงานและข้อเสนอของฝ่ายปฏิบัติโดยไม่ศึกษาทำความเข้าใจของปัญหาอย่างจริงจัง จะไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติเช่นทุกวันนี้
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม