วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไฟใต้..ใครคือผู้ค้าสงครามตัวจริง

ไฟใต้..ใครคือผู้ค้าสงครามตัวจริง

Thu, 2009-06-11 22:40

         เหตุการณ์คนร้ายพร้อมอาวุธสงคราม เข้ากราดยิงโต๊ะอิหม่ามและพี่น้องคนไทยมุสลิม ที่กำลังทำพิธีละหมาดอยู่ในมัสยิด ที่บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส  มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อคืนวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ร้ายแรงที่สุดในเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  
        เหตุการณ์ช็อคความรู้สึกของประชาชนครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่มุมมองใหม่ของการค้นหาสาเหตุแห่ง “ไฟใต้” เพราะด้วยพฤติกรรมการก่อเหตุที่ “ผิดปกติอย่างยิ่ง”
         คำอธิบาย หรือความเข้าใจของหน่วยงานความมั่นคง ที่มองเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งร้ายแรงนี้ ไม่แตกต่างกับเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในช่วงนี้ คือ เป็นความสำเร็จของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สามารถปฏิบัติการ ปิดล้อม ตรวจค้น กดดัน และจับกุมแกนนำ รวมทั้งยึดอาวุธ ของ “กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ” ได้มากขึ้น  ประมาณว่า เป็นยุทธการแย่งมวลชน และพื้นที่สื่อ ของฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ
        ขณะที่นักวิเคราะห์ นักวิชาการ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เอง กลับรู้สึกและรับรู้ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เรียกว่า “ความสำเร็จของเจ้าหน้าที่รัฐ” เพราะหากจะเรียกว่า นี่คือความสำเร็จจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่น่าจะทำให้ขบวนการก่อความไม่สงบ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้มาก หรือไม่สามารถปฏิบัติการตอบโต้ได้  หากจะตอบโต้ได้บ้าง ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญประชาชนได้มากเท่านี้  และต่อเนื่องได้ขนาดนี้
         เพราะหากจะประเมินจากกำลังพลที่ลงมาประจำการอยู่ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ตำรวจ ทหาร และพลเรือน มีจำนวนมากกว่า 6 หมื่นนายแล้ว  ในจำนวนนี้รวมทั้ง กองกำลังติดอาวุธที่รัฐส่งเสริมให้จัดตั้งขึ้นในรูปของ อาสาสมัครทหารพราน  และ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือ ชรบ.
       หากจะประเมินจากจำนวนงบประมาณ ที่ถูกจัดสรรลงมาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ ก็เป็นจำนวนมากกว่า 1.8  แสนล้านบาทแล้ว ในรอบ 4 - 5  ปีที่ผ่านมา 
ด้วยกำลังพลขนาดนี้ และงบประมาณมหาศาลเช่นนี้  จึงอยู่บนสมมุติฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า ฝ่ายรัฐได้ใช้ยุทธวิธี ปิดล้อม ตรวจค้น กดดัน และพัฒนาได้อย่างทั่วถึงเกือบทุกพื้นที่ แม้บางพื้นที่รัฐยังไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ก็สามารถใช้ยุทธศาสตร์เชิงพัฒนา และยุทธศาสตร์ด้านจิตวิทยา เข้าครอบคลุมได้มากขึ้น

        รวมทั้งตลอด  2  ปีที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ นโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ มีเอกภาพอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในการดำเนินการ และควบคุมของฝ่ายกองทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า กองทัพ หน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาล สามารถ จำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่า “ขบวนการก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน” ในพื้นที่ภาคใต้ไว้ได้ค่อนข้างมาก
 
       แต่ทำไมเหตุร้ายรายวัน และความรุนแรงที่อุกอาจสะเทือนขวัญ จึงยังเกิดขึ้นได้อีก หรือมี “ขบวนการก่อความไม่สงบรูปแบบใหม่” ที่ได้ก่อตัวขึ้นในพื้นที่ โดยที่หน่วยงานความมั่นคงไม่อยากจะพูดถึง หรือไม่อยากจะเปิดเผยต่อสาธารณชน
        ก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่ทุกวันนี้  ก็ยังคงมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบจากนักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่อยู่ตลอดเวลาว่า รัฐกำลังสู้อยู่กับใคร  กำลังสู้อยู่กับผู้ก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์เพื่อแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มโจรห้าร้อยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมาย หรือ กลุ่มกลไกรัฐที่กำลังจะสูญเสียประโยชน์ (จากที่เคยได้อยู่) หรือกลุ่มบุคคลที่รู้สึกเกลียดชังโกรธแค้นและต้องการเอาคืน 

       คำถามเหล่านี้ หน่วยงานความมั่นคงและกองทัพจะต้องกล้าที่จะพูดความจริง กล้าที่จะตอบ เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับประชาชน อันจะเป็นการช่วยลดความหวาดระแวงแคลงใจ และสร้างความไว้วางใจมั่นใจต่อรัฐ และหน่วยงานความมั่นคง สอดคล้องกับความพร้อมในการแก้ปัญหาที่กองทัพมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในเวลานี้ 
         ขณะที่ สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่รับรู้จากเหตุสะเทือนขวัญครั้งร้ายแรงที่สุด ที่มัสยิดบ้านไอร์ปาแย ต.จวบ. อ.เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส  กลับเป็นว่า หากเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ ที่ต้องการจะหยิบยกปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ให้กลายเป็นปัญหาระดับสากล ด้วยเป้าหมายต้องการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ทำไมถึงได้โหดเหี้ยม อำมหิตผิดมนุษย์และผิดวิสัยของคนมุสลิมอย่างยิ่ง ขนาดกล้าที่จะฆ่าโต๊ะอิหม่าม และพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง ขณะกำลังละหมาดอยู่ในสุเหร่าได้
        หรือกลุ่มคนที่ก่อเหตุครั้งนี้ เป็นขบวนการโจรก่อการร้าย ที่ไม่มีศาสนา ไม่มีคุณธรรม ไม่มีศีลธรรมอยู่ในหัวใจ ฆ่าได้แม้แต่คนที่อยู่ในศาสนาเดียวกัน 
ใครกันแน่คือ “นักค้าสงครามตัวจริง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
       หากวิเคราะห์เหตุการณ์สะเทือนขวัญก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน คือวันที่ ครูไทยพุทธ ท้องแก่ 8 เดือน ถูกยิงตายพร้อมกับเพื่อนครูอีก 1 คน และอีกเหตุการณ์ที่ดูประหนึ่งว่าจะเป็นปฏิบัติการเอาคืน  ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนและหลัง  เป็นสิ่งที่ชวนให้ประชาชนในพื้นที่คิดวิเคราะห์ไปได้ว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะบอกว่า  เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อต้องการโยนความผิดว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ หรือคนไทยพุทธเป็นคนทำ แต่มันมีอะไรที่ชวนให้คิดลึกลงไปกว่านี้อีกหรือไม่
       เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วนั้น ได้ผ่านการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึก จากหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งก็ได้ผลสรุปที่ตรงกันว่า  ไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งเรื่องของศาสนา และไม่ได้เป็นปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศไทยของเราเอง ด้วยเหตุนี้ ประเทศโลกมุสลิม หรือสังคมนานาชาติ จึงไม่มีใครอยากจะยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง
      คำว่า “ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศไทย” มีขอบเขตและกินความแค่ไหน หากตัดประเด็นเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธ์ ศาสนา และวัฒนธรรมออกไป รวมทั้งสมมติฐานที่ฝ่ายรัฐและหน่วยงานความมั่นคงสามารถจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้มากขึ้นแล้ว 
      ยังคงมีปมปัญหาอะไรอยู่อีก ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงเป็นปมความขัดแย้ง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่พิเศษนี้  
      “ความขัดแย้งภายในประเทศ” กินความมากน้อยแค่ไหน และประกอบขึ้นด้วยอะไร ในความหมายที่ประชาชนคนไทยรับทราบ ความขัดแย้ง มักจะเกี่ยวข้องกับ “อำนาจ และผลประโยชน์”  และ “อำนาจ และผลประโยชน์”  ก็มักจะมาจากมูลเหตุแห่งความไม่ซื่อสัตย์ ไม่จริงใจ คดโกง โกรธแค้นชิงชัง ความไม่ถูกต้องทั้งในแง่ของกฎหมายและศีลธรรม  รวมทั้งการไม่เห็นความสำคัญของประชาชนผู้ยากไร้ด้อยโอกาส
      “อำนาจ และผลประโยชน์” มักจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรื่องการเมืองการปกครอง  ดังนั้น ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่อาจจะปฎิเสธ หรือหลีกเลี่ยงได้ว่า ไม่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ  หากเหตุแห่งปัญหามาจากสมมติฐาน “การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มภายในบ้านเมืองของเราเอง”
       ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานภาครัฐ น่าที่จะลองเปลี่ยนสมมติฐาน หันมาศึกษาวิเคราะห์ ถึงปมเหตุแห่งปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะเช่นนี้บ้าง เผื่อที่จะได้คำตอบเสียทีว่า ใครคือ “นักค้าสงครามตัวจริงในจังหวัดชายแดนใต้”
       หากยังคงมุ่งที่จะแก้หรือมองปัญหาเพียงมิติเดียวคือ กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน นอกจากจะทำให้การมองเหตุแห่งปัญหาผิดพลาด หรือผิดเพี้ยนไปได้แล้ว  ยังอาจจะส่งผลให้ ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นสงครามระหว่างประชาชนขึ้นมาได้เหมือนกัน 
ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลไทย กองทัพ และหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในอดีต และปัจจุบัน  กล้าพอที่จะยอมรับความจริงในความผิดพลาดที่ได้ร่วมกันก่อขึ้นหรือไม่เท่านั้น 
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม