วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ข้าราชการเรียกรับ “ส่วย” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสียเอง

ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ข้าราชการรับ “ส่วย” อยู่เบื้องหลังง

เปิดศึกขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน มหันตภัยร้ายบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ โดยมีข้าราชการตัวดีเรียกรับ “ส่วย” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสียเอง




          ปัญหาการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยละเลยมาอย่างยาวนานกว่า 2 ปี ที่ไม่มีการเข้มงวดจับกุม ทั้งที่ฝ่ายความมั่นคง คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจการค้าน้ำมันเถื่อน คือ ปัญหาทับซ้อนของการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเงินจากกำไรของการค้าน้ำมันเถื่อนถูกนำไปเป็นเงินทุนให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบ

        แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีนโยบายในการปราบปรามขบวนการลักลอบการค้าน้ำมันเถื่อนในภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้สนับสนุนนักการเมือง และกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจในพื้นที่ จนในที่สุดน้ำมันเถื่อนได้แพร่ขยายวงจาก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถึง จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำมันเถื่อนที่ถูกนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย และ สิงคโปร์ ผ่านทางชายแดน จ.นราธิวาส-สงขลา-สตูล วันละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านลิตร ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินภาษีอย่างต่ำวันละ 21 ล้านบาท จากขบวนการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน

          และในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีความเห็นว่า หากหน่วยงานของรัฐยังปล่อยให้ขบวนการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนเติบโตต่อไป จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างหนัก เพราะ การค้าน้ำมันเถื่อนก่อให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

  1. สนับสนุนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
  2. สร้างความสูญเสียเงินรายได้จากภาษีน้ำมันของประเทศ 
  3. ทำลายนิติรัฐ เพราะ ประชาชนเห็นว่า กฎหมายไม่มีความหมาย 
  4. ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันที่สุจริต และ 
  5. เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม 
         สภาที่ปรึกษาฯจึงเรียกร้องให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

          นอกจากนั้นสภาที่ปรึกษาฯยังเรียกร้องให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดกับข้าราชการในพื้นที่ 4 หน่วยงานด้วยกัน ประกอบด้วย
  1. เจ้าหน้าที่ศุลกากร 
  2. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 
  3. เจ้าหน้าที่สรรพสามิต และ 
  4. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 
          เนื่องจากการที่ขบวนการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนนั้น สามารถนำรถยนต์ดัดแปลงบรรทุกน้ำมันผ่านจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้โดยไม่มีการจับกุม สามารถขับรถบรรทุกน้ำมันจากชายแดนไทยผ่านไปยังจังหวัดต่างๆ จนถึง จ.เพชรบุรี โดยที่ไม่มีการตรวจค้น จับกุม และ ผู้ค้าน้ำมันเถื่อนสามารถนำน้ำมันเถื่อนขายปลีกในทุกชุมชน ทั้งในรูปแบบปั้มหลอดแก้ว และบรรจุแกลลอน และ ขวด โดยไม่มีการจับกุม และการที่ปั้มน้ำมัน โรงงาน และ กิจการต่างๆ สามารถขาย และ ใช้น้ำมันเถื่อนได้ เป็นเพราะ เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 4 หน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามน้ำมันเถื่อนโดยตรง ไม่ได้ทำหน้าที่ และอาจจะมีผลประโยชน์รวมกับขบวนการผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          โดย นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. ตรวจสอบข้อเท็จจริง วิธีการ และ ขบวนการ ของกลุ่มผู้ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน โดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามน้ำมันเถื่อนมาชี้แจงต่อสภาที่ปรึกษาฯ ถึงสาเหตุการปล่อยให้ขบวนการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนเติบโตจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ว่า เป็นเพราะสาเหตุใด และทำไม่จึงไม่มีการป้องกันและจับกุม รวมทั้งในประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์จากขบวนการ ตามที่มีการตั้งข้อสงสัยจากประชาชน

        โดยข้อเท็จจริง ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนประกอบด้วยคน 4 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มของนักการเมืองในพื้นที่ ตั้งแต่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส โดยมีนักการเมืองระดับชาติบางคนอยู่เบื้องหลัง และให้นักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุนร่วมกับผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นพ่อค้านักธุรกิจ 
  • กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ 
  • กลุ่มที่ 3 เป็นข้าราชการในพื้นที่ และกลุ่มที่ 4 เป็นชาวบ้านทั่วไปที่อยู่ตามอำเภอชายแดน

            เหตุผลที่จูงใจให้คนจำนวนมากหันมาลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนเนื่องมาจากราคาที่แตกต่างกันของน้ำมันเบนซิน และ ดีเซล โดยน้ำมันเบนซินในประเทศมาเลเซียขายที่ลิตรละ 18 บาท ส่วนดีเซลลิตรละ 17 บาท และถึงแม้ว่า รัฐบาลจะลดราคาน้ำมันในประเทศลงแล้ว แต่ช่องว่างของราคายังห่างกันที่ เบนซินลิตรละ 17 บาท ส่วนดีเซลลิตรละ 10 บาท และหากซื้อมาจากประเทศสิงคโปร์ โดยลักลอบน้ำเข้าทางทะเล ราคาจะถูกกว่าการนำเข้าจากประเทศมาเลเซียลิตรละ 3 บาทกว่าๆ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า การลดราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินของรัฐบาลที่มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคอื่นๆต่างได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐ ยกเว้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และกลุ่มผู้ขายปลีกน้ำมันเถื่อน ยังคงดำเนินการขนและขายได้เช่นเดิม

          การลักลอบของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในขณะนี้มีอยู่ 2 ช่องทาง

         ช่องทางที่ 1 คือ ลักลอบน้ำเข้าทางบก โดยการใช้รถกระบะดัดแปลงติดตั้งถังเก็บน้ำมัน ซึ่งการดัดแปลงมี 3 รูปแบบ
  • รูปแบบที่ 1 ติดตั้งแท็งค์น้ำมันบนรถกระบะจำนวน 2000-3000 ลิตร โดยสร้างตัวถังเหล็กปิดแท็งค์ มีบานประตูเปิดปิดที่ท้ายรถ 
  • แบบที่ 2 ดัดแปลงถังเก็บน้ำมันในท้องรถ และตามช่องว่างต่างๆ ในตัวรถกระบะ ซึ่งสามารถบรรทุกน้ำมันได้ตั้งแต่ 1200-1500 ลิตร แล้วแต่ประเภทรถยนต์ และความชำนาญของอู่รถยนต์ที่เป็นผู้ดัดแปลง โดยมีรถที่ถูกดัดแปลงเพื่อบรรทุกน้ำมันใน จ.สงขลา จ.นราธิวาส และ จ.สตูล กว่า 1,500 คัน 
  • และแบบที่ 3 คือ ใช้ถังเดิมๆและแกลลอนน้ำมันขนาด 20-40 ลิตร ไปซื้อน้ำมันจากฝั่งมาเลเซีย แล้วนำมาถ่ายใส่ถังใหญ่ โดยวิ่งเข้า-ออก เพื่อลักลอบขนน้ำมันวันละนับ 10 เที่ยว ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีของกองทัพมด
        ช่องทางที่ 2 คือ การค้าทางทะเล โดยจะมีเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งจากมาเลเซีย และ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุกิจการเมืองในภาคใต้ ร่วมมือกับนักธุรกิจประเทศมาเลเซีย และ สิงคโปร์ นำเรือบรรทุกน้ำมันมาจอดในน่านน้ำสากล และจะมีเรือประมงดัดแปลงเป็นเรือขนถ่ายน้ำมันเข้ามาสู่ชายฝั่ง โดยมีเรือประมงดัดแปลงกว่า 200 ลำ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นทะเลฝั่งอ่าวไทย


          โดยพื้นที่ซึ่งมีการลักลอบขนถ่ายน้ำมันมากที่สุด คือ ชายฝั่ง จ.สงขลา ตั้งแต่ อ.เทพา อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ อ.ระโนด จนถึง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช แต่ที่มีการขนถ่ายน้ำมันมากที่สุด คือ ท่าเทียบเรือต่างๆที่เป็นของเอกชนในเขตเทศบาลนครสงขลา โดยมีสำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ 4 ตั้งอยู่ตรงกลางของท่าเรือที่ใช้ในการขนถ่ายน้ำมัน และการขนถ่ายที่ท่าเรือดังกล่าว รถบรรทุกที่มารับน้ำมันจะเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งใช้บรรทุกน้ำมันได้ 15,000 ลิตร ต่อคัน โดยน้ำมันเถื่อนเหล่านี้จะถูกส่งขายไปทั่วภาคใต้

         และสิ่งที่น่าสังเกตของการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านทางบก คือ มีการนำเข้าน้ำมันเถื่อนผ่านด่านศุลกากร อ.สุไหงโก-ลก โดยมีรถดัดแปลงและรถของกองทัพมดประมาณ 300 คัน และมีการวิ่ง เข้า-ออก คันละ 2 ถึง 3 เที่ยว เช่นเดียวกับที่ จ.สงขลา มีรถดัดแปลงวิ่ง เข้า-ออก ผ่านมาศุลกากรชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา กว่า 250 คัน วันละ 2 ถึง 3 เที่ยว ต่อคัน และที่ จ.สตูล มีรถดัดแปลงกว่า 300 คัน ที่วิ่งนำน้ำมันเถื่อนจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรบ้านวังประจัน อ.ควนโดน โดยที่ไม่เคยมีการจับกุม หรือตรวจค้นรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนเหล่านี้ที่จุดตรวจหน้าด่านตรวจแต่อย่างใด ทั้งที่ประตูด่านสามารถให้รถผ่าน เข้า-ออก ได้ช่องทางละ 1 คัน เท่านั้น และในขณะที่รถยนต์บรรทุกน้ำมันเถื่อนวิ่งผ่านจุดตรวจกลับไม่ต้องตรวจหนังสือเดินทาง แต่ถ้าเป็นรถยนต์ทั่วไปต้องตรวจและลงตราหนังสือเดินทางตามพิธีการ เข้า-ออก ระหว่างประเทศ

           ด้วยความผิดปกติที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบการค้าน้ำมันเถื่อนที่เกิดขึ้น รวมทั้งเห็นว่า การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนเป็นภัยต่อความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้ประเทศชาติขาดเงินภาษีปีละกว่า 7 พันล้าน ซึ่งผู้สื่อข่าวจะเกาะติดสถานการณ์ เพื่อตรวจสอบขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรายงานข่าวให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความเป็นมาของขบวนการบ่อนทำลายชาติ รวมทั้งเปิดโปงถึง “ส่วย” น้ำมันเถื่อน ที่เชื่อว่า มีข้าราชการจำนวนหนึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการบ่อนทำลายชาติในครั้งนี้

โดย ไชยยงค์ มณีพิลึก

ที่มา http://www.pastnews.org
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม