วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สรุปสถานการณ์ไฟใต้ในครึ่งศตวรรษ

สรุปสถานการณ์ไฟใต้ในครึ่งศตวรรษ


สรุปสถานการณ์ไฟใต้ในครึ่งศตวรรษ


          นับจากปี พ.ศ.๒๕๐๓ ถึงปัจจุบัน เป็นเวลาครึ่งศตวรรษมาแล้วที่ขบวนการ บีอาร์เอ็น หรือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่ต้องการแยกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นรัฐอิสระ ซึ่งได้วางแผนและจัดตั้งกองกำลังแบบกองโจรสำหรับต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทำการปลุกระดมสร้างมวลชนเป็น แนวร่วมเพื่อก่อเหตุร้ายสร้างสถานการณ์หวังให้เกิดจลาจลถึงขั้นสงครามกลางเมือง จนทำให้องค์กรระหว่างประเทศต้องเข้ามาแก้ปัญหา และนำมาซึ่งการแยกเป็นรัฐอิสระตามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ

         หากย้อนหลังมาศึกษาวิธีการต่อสู้ของขบวนการในห้วง ๔๓ ปีก่อนจะถึงปี พ.ศ.๒๕๔๗ เปรียบเทียบกับห้วง ๑๐ ปีหลังจากนั้น จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีทางทหารและเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด ส่วนด้านยุทธศาสตร์ยังคงใช้วิธีการเดิมคือ การปลูกฝังอุดมการณ์รัฐอิสลาม ปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นเชื้อชาติมลายู โดยอาศัยเงื่อนไขของศาสนา บิดเบือนประวัติศาสตร์ ตลอดจนความอยุติธรรมและอื่นๆ ในการสร้างมวลชนเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติตามเป้าหมาย

           ด้านการทหาร ในอดีตการจัดตั้งกองโจรเป็นลักษณะกองกำลังติดอาวุธ แบ่งเป็นกลุ่มๆ และแยกพื้นที่ปฏิบัติที่ชัดเจน คอยลอบโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะๆ ส่วนด้านมวลชนได้เคลื่อนไหวโดยใช้แกนนำและแนวร่วมปลุกระดมประชาชนในหมู่บ้าน นักเรียนทั้งในและนอกระบบ อีกทั้งมีแกนนำและเครือข่ายนักศึกษาเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตลอดจนชักนำนักศึกษาในต่างประเทศให้เข้าเป็นแนวร่วม

          เหตุการณ์สำคัญที่แสดงถึงความพยายามในการสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากองค์กรระหว่างประเทศเมื่อครั้งอดีตได้แก่ เหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี และย้ายมาที่มัสยิดกลางปัตตานี โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชน รวมทั้งผู้นำศาสนาตลอดจนโต๊ะครูจากสถาบันปอเนาะต่างๆ เข้าร่วมการประท้วงจนยืดเยื้อนานนับเดือน และเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ เกิดเหตุการณ์ประท้วงในลักษณะเดียวกันที่มัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโล๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ทั้งสองเหตุการณ์นี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ออกสู่สายตาประชาคมโลก ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยถูกจับตาโดยองค์กรระหว่างประเทศนับตั้งแต่นั้นมา ส่วนสถานการณ์ทางทหารในระยะนั้นมีการปะทะบนเทือกเขาเป็นระยะๆ อันเนื่องจากการกวาดล้างของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย และเหตุการณ์ค่อยๆ เงียบสงบลงในเวลาต่อมา

          จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๗ เหตุการณ์ครั้งใหญ่ก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยเริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส ต่อจากนั้นเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ก็ลุกลามตามมา ครั้งนี้ขบวนการได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารจากที่เคยตั้งฐานในป่าเขา มาเป็นการแอบจัดตั้งกำลังเยาวชนคอมมานโด ฝังตัวตามหมู่บ้านที่เป็นเขตอิทธิพล และปฏิบัติการด้วยยุทธวิธีของกองโจรรูปแบบใหม่ รวมกลุ่มปฏิบัติการขนาดเล็กชั่วคราว (กลุ่มอาร์เคเค) และสลายตัวหลบซ่อนอย่างรวดเร็วหลังก่อเหตุ และพร้อมที่จะรวมตัวเพื่อโจมตีเป้าหมายต่อไปกับกลุ่มใหม่ที่ไม่ซ้ำกัน ทำให้ยากต่อการติดตาม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาวุธด้วยการผลิตระเบิดแสวงเครื่องจุดระเบิดด้วยสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และมีอำนาจทำลายล้างสูง และยากต่อการควบคุม

          ส่วนการปฏิบัติด้านมวลชน ได้จัดตั้งหมู่บ้านเขตอิทธิพลพร้อมระบบการปกครองตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ซ้อนอำนาจรัฐในพื้นที่ตามโครงสร้างขององค์กรปฏิวัติ ซึ่งมีหลายหมู่บ้านตกอยู่ในสภาพดังกล่าว

        ขณะเดียวกันได้ทำการปลุกระดมมวลชนมาร่วมขบวนการด้วยเนื้อหาที่มีลักษณะเดียวกัน และครั้งนี้ได้พบเอกสารสำคัญ “เบอร์ญิฮาดดิปัตตานี” เป็นเอกสารที่ชี้นำว่า การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น รัฐอิสระเป็นการต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า อันเป็นประเด็นสำคัญที่สามารถชักนำคนให้เข้าร่วมขบวนการได้อย่างมีพลัง นอกจากนี้ยังค้นพบเอกสารที่แสดงแผนปฏิวัติรัฐปัตตานี หรือแผนบันไดเจ็ดขั้น อันเป็นคำตอบถึงที่มาของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งขณะนี้ล้มเหลวไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากฝ่ายรัฐสามารถแยกมวลชนออกจากขบวนการได้สำเร็จ เป็นการตัดวงจรการปฏิวัติประชาชนได้ทันเวลาก่อนถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งกำหนดในปี ๒๕๕๐ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่ให้ความสำคัญกับผู้นำศาสนา และสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงเพื่อลบล้างการบิดเบือนต่างๆ จนสำเร็จ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถยุติสถานการณ์การก่อเหตุได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะของขบวนการ และไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอันเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะของสงครามมวลชนอย่างแท้จริง

         อย่างไรก็ตามกลุ่มขบวนการยังคงดำรงการปฏิบัติทั้งด้านการทหารและมวลชนต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามสภาพกาลต่างๆ อย่างปัจจุบันปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวขององค์กรนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนรวมเป็นเครือข่าย ทำการเคลื่อนไหวแสดงออกถึงความเห็นต่างด้านความคิดเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยอาศัยช่องทางการสื่อสารในระบบโซเซียลเน็ตเวิร์ค และได้ตั้งองค์กรสื่อสารในนามสื่อทางเลือกใหม่สำหรับชายแดนใต้ โดยสอดแทรกเนื้อหาที่ส่งผลในทางลบต่อเจ้าหน้าที่รัฐและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเนื้อหาที่เป็นไฮไลท์ในปัจจุบันคือ การเบี่ยงเบนเหตุการณ์ความรุนแรงว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้ารัฐ และโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขาดความชอบธรรม และยังมีการนำเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติมาเกี่ยวโยงกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน อีกทั้งสร้างกระแสต่อต้านการตั้งฐานทหารในพื้นที่ ซึ่งสวนทางกับนโยบายป้องกันการก่อเหตุร้ายที่จำเป็นต้องสร้างกำลังทหารประจำพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งกำลังทหารพรานให้เป็นทหารประจำถิ่น สิ่งเหล่านี้เสมือนแนวรบใหม่ที่เคลื่อนไหวอยู่ใต้ดิน ซึ่งจำเป็นต้องติดตามและไม่อาจมองข้ามไปได้

          ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาที่ยึดหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจที่ได้มุ่งเน้นด้วยการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ออกสู่สาธารณะ และปฏิบัติการข่าวสารด้วยการหักล้างการบิดเบือนเรื่องศาสนา ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าประเด็นที่ขบวนการนำมาใช้ปลุกระดมในปัจจุบันไม่ปรากฏเรื่อง “การญิฮาด”และ“ปัตตานีเมอร์เดกา”อีกเลย แต่ยังคงเหลือประเด็นเรื่องเชื้อชาติ และประเด็นอื่นๆ เช่นความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ ในอดีต
          สำหรับสถานการณ์ด้านการทหาร ล่าสุดได้รับการแจ้งเบาะแสและมีการตรวจพบแหล่งหลบซ่อนของกลุ่มอาร์เคเค ในป่าเขาหลายแห่ง ทำให้สามารถติดตามและเกิดการต่อสู้ จนถูกวิสามัญฆาตกรรมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มปฏิบัติการอาร์เคเค ไม่สามารถอาศัยหมู่บ้านเป็นที่หลบซ่อนเช่นเดิมอีกต่อไป ซึ่งหมายถึงทางฝ่ายรัฐสามารถยึดพื้นที่จัดตั้งของขบวนการกลับคืนมา หรือสลายเขตอิทธิพลของขบวนการได้สำเร็จ แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบยังคงเกิดขึ้นต่อไปและมีการปรับเปลี่ยนทางยุทธวิธีอยู่ตลอดเวลา แต่ “การรู้เขา รู้เรา” ทำให้สามารถเตรียมการวางแผนในการแก้ปัญหาในระยะต่อไปได้อย่างถูกทาง

          ครึ่งศตวรรษผ่านมาแล้วกับความพยายามของขบวนการบีอาร์เอ็น ในการแยกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรัฐอิสระ ซึ่งนับวันความหวังวันยิ่งเลือนลาง เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) หรือองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) มีความเข้าใจถึงสถานการณ์ข้อเท็จจริงมากขึ้น อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ได้แสดงออกถึงการปฏิเสธและไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่กระทำโดยขบวนการ เพราะฉะนั้นการก่อเหตุร้ายสร้างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เสมือนความพยายามที่จะต่อลมหายใจให้คงอยู่ ทั้งที่รู้ดีว่าเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นนั้นถูกปิดไปนานแล้ว
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม