วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

ผ่าคดีความมั่นคงชายแดนใต้

ผ่าคดีความมั่นคงชายแดนใต้

นักรัก ปัตตานี

           นับตั้งแต่ได้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ยอดคดีความมั่นคงจากการรวบรวมสูงถึง 9,563 คดี ความสูญเสียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ยังมีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติการก่อเหตุร้ายได้ตลอดเวลาต้องการสร้างความแตกแยกและความสูญเสียขึ้นในประเทศ ด้วยวิถีทางแห่งความรุนแรง โดยมีเป้าหมายสุดท้าย (End state) เพื่อยกระดับปัญหาความรุนแรงภายในประเทศให้ไปสู่เวทีสากล



                กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ประวัติศาสตร์รัฐปาตานี ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมและมีการบิดเบือนหลักคําสอนศาสนามาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม ปลุกเร้าด้านความคิด ความเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่หลงผิด ถูกชักจูงโดยกลุ่มชี้นําทางความคิดหรือนักปราชญ์ให้ความร่วมมือ หรือตกอยู่ในภาวะจํายอมต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของแกนนําผู้ก่อความไม่สงบ หรือนิ่งเฉยเพื่อความอยู่รอด เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นกองกําลัง (RKK) หรือผู้กระทําผิดได้ในโอกาสต่อไป โดยทำการคัดเลือกมาจากเยาวชนที่มีความประพฤติดี เรียนหนังสือเก่ง เคร่งครัด ศาสนา เป็นที่รักของบิดา-มารดา และกลุ่มเพื่อน

           ผลของการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างสุดขั้วในรูปของการตรวจค้นและจับกุม เมื่อพลิกดูข้อมูลคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปัญหาหลักๆ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ


  • หนึ่ง คือ ความล่าช้าในกระบวนพิจารณา ซึ่งบางคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นใช้เวลานานถึง 3-5 ปี
  • สอง คือ คดีความมั่นคงจำนวนมาก ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามได้นำผลดังกล่าวมากล่าวหาโจมตีการใช้กฎหมายพิเศษ และเรียกร้องให้มีการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สถิตข้อมูล คดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน



ที่มา: สำนักบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนฯ


จำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงแยกตามเรือนจำแต่ละจังหวัด




ที่มา: สำนักบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนฯ

            จากสถิติคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547จนถึงปัจจุบันพบมีมากถึง 9,563 คดี ไม่รู้ตัวคนร้าย 7,343 คดี ที่รู้ตัวคนร้ายในการก่อเหตุ 2,220คดี ไม่สามารถดำเนินจับกุมตัวคนร้ายได้ 614 คดี ดำเนินการจับกุมได้ จำนวน 1,606 คดี



              เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อพนักงานอัยการนำคดีพิจารณาในชั้นศาลแค่ 697 คดีเท่านั้น จากคดีทั้งหมด 9,563 คดี ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อศาลได้ตัดสินอ่านคำพิพากษาแล้วสั่งลงโทษผู้ที่กระทำความผิดได้แค่ 269 คดี ที่ศาลสั่งยกฟ้องเนื่องจากเอกสารหลักฐานไม่เพียงพอมีถึง 428 คดี

             จากคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องการก่อเหตุรุนแรง หลายคดีศาลได้สั่งยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ จึงเปิดช่องให้กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS รวมทั้งมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MUSLIM ATTORNEY CENTRE FOUNDATION) ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมดที่บังคับใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยนำเงื่อนไขของการยกฟ้องของศาลมาทำการปลุกระดมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทั้งหมด



             กลุ่มขบวนการ BRN ได้ฉกฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากเวทีการพูดคุยสันติภาพด้วยการนำเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อรัฐไทย (ข้อ 5 เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง และยกเลิกหมายจับทั้งหมด) ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากข้อเรียกร้องดังกล่าว ขบวนการ BRN ให้ความสำคัญกับ RKK ซึ่งเป็นกองกำลังของตัวเองที่โดนจับกุมดำเนินคดีไม่ให้มีความผิด และลบล้างความผิดทั้งหมดที่กลุ่มโจรใต้เหล่านี้ได้กระทำมา



                สงสารประชาชนผู้ที่จะต้องทนแบกรับกับชะตากรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เด็กกำพร้า หญิงหม้าย อีกหลายชีวิตที่จะต้องหมดอนาคต สูญสิ้นความหวังร่างกายพิการจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะน้ำมือจากการกระทำของโจรใต้ BRN เหล่านี้ แต่กลับมาเรียกร้องสร้างความชอบธรรมในการฆ่าคนให้กับตัวเอง เป็นพวกโจรไร้อุดมการณ์ ไร้ศาสนา และสุดโต่ง

              ก่อนที่ทุกอย่างมันจะสายเกินแก้ และจะยิ่งทำให้อุณหภูมิของไฟใต้ในพื้นที่ร้อนระอุเพิ่มขึ้นไปอีก หน่วยงานด้านความมั่นคงที่รับผิดชอบแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นจะต้องใช้ขบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ การเก็บรวบรวมหลักฐาน พยานวัตถุในที่เกิดเหตุ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวนสอบสวน การเขียนสำนวนส่งฟ้องศาลจะต้องมีความรัดกุมเพิ่มขึ้น เพื่อส่งผลในการพิจารณาคดีความของศาลจะได้ไม่ต้องพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากสำนวนอ่อน ขาดหลักฐาน สร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมของศาลไทยกลับคืนมา และนำตัวผู้กระทำความผิด ผู้ที่มีภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ มาลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม