วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“สันติภาพใต้” จะเดินหน้าหรือถอยหลัง?

“สันติภาพใต้” จะเดินหน้าหรือถอยหลัง?



         มาถึงวันนี้การสับเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)จาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร มาเป็น นายถวิล เปลี่ยนศรี ว่าที่เลขาธิการสมช.ตามคำสั่งศาลปกครอง เพื่อคืนความเป็นธรรมให้นั้น

          หลายคนกำลังหวาดหวั่นว่าเมื่อพล.ท.ภราดร ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนเป็นเลขาธิการสมช.แล้ว นโยบายกระบวนการพูดคุยสันติภาพใต้ จะเดินหน้าหรือถอยหลังอย่างไร

          เพราะ "ถวิล"แสดง ท่าทีชัดเจนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยแบบเปิดเผยเช่นที่ผ่านมา
         แต่ความคิดอาจต่างจาก พล.ท.ภราดร ที่กลับเห็นว่า การเจรจาสันติภาพใต้ไม่ได้มีความกังวลใดๆเลย เพราะเขาเชื่อว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะมอบให้ใครรับผิดชอบการทำงานดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นเลขาฯสมช. เนื่องจากกระบวนการพูดคุยเจรจาสันติภาพนั้นต้องเดินหน้าต่อ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอาจจะการเจรจาจะลดน้อยถอยลง เป็นเพียงแค่หยุด ไม่ได้เลิก เพราะรัฐบาลจะมอบให้ใครเป็นหัวหน้าคณะ ก็เป็นอำนาจของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ก็ได้

          เรื่อง นี้"ถวิล"ไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นไร เพราะการพูดคุยเป็นอำนาจและเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงไม่มีปัญหา รัฐบาลอาจไม่ใช้เลขาฯสมช.ก็ได้"

          พล.ท.ภราดร เห็นว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมายังมีการประสานงานและสื่อสารกัน ตลอด การพูดคุยครั้งต่อไปจะมีกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมด้วย และได้สื่อสารกันว่าเมื่อสถานการณ์การเมืองในประเทศเบาลง คงต้องเคลื่อนการทำงานต่อ เพราะนโยบายชัดเจน ฉะนั้นเดินหน้าต่อเนื่องแน่นอน เขาก็เชื่อใจ มีสัญญาณตอบรับมาตลอด แม้ยังไม่ชัดว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่จะเพิ่มเข้ามา แต่ก็ขอให้เริ่มด้วยกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจมาจากทางมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการ เจรจาลงนามกับ"บีอาร์เอ็น"

         พล.ท.ภราดร แจงถึงกรณีบีอาร์เอ็นออกมาแถลงการณ์เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะไม่ร่วม กระบวนการพูดคุยอีกต่อไปนั้น ต้องยอมรับว่า"บีอาร์เอ็น"ยังไม่เป็นเอกภาพ กลุ่มที่เห็นต่างจึงต้องทำไอโอ หรือ"ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร"กัน

         แต่ เมื่อมีการถามถึง "ฮัสซัน ตอยิบ" หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นที่หายตัวไปอย่างลึกลับ น่าจะเกี่ยวโยงกับการที่บีอาร์เอ็นมีแถลงการณ์ไม่ร่วมกระบวนการพูดคุยแล้ว นั้น พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า"ฮัสซัน"กลับมาแล้ว โดยได้รับข้อมูลนี้จากทางการมาเลเซีย

         ส่วนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ให้รวมกลุ่มและภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยโดยใช้ชื่อเดียว คล้ายๆ สมัชชาประชาชนมลายูปาตานี เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงมองว่า คงต้องพยายามใช้ชื่อเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น ยังไม่มีเอกภาพ แม้แต่พูโลเองก็มี 3 กลุ่ม แต่ให้เพียง 2 เก้าอี้ ก็ต้องไปคุยกันมาให้ได้ว่าจะส่งใครเป็นตัวแทน

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงนี้ค่อนข้างรุนแรง ถือเพียงว่าความรุนแรงที่ยังปรากฏอยู่เป็นกลุ่มที่พึงประสงค์ไม่ให้เกิดกา รพูดคย จึงต้องฉวยโอกาสนี้แสดงศักยภาพเท่านั้น

        ต้องย้อนกลับมามอง ระหว่าง "พล.ท.ภราดร" กับ"ถวิล"นั้น ถือว่าอยู่คนละขั้วทางการเมือง พล.อ.ภราดร นั้นทำงานสอดรับกับรัฐบาลเพื่อไทยเป็นอย่างดี ตัวเขาบอกว่า"หากเปรียบกับการร้องเพลง ก็ต้องบอกว่าเป็นการร้องประสานในคีย์เดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลย่อมได้ประโยชน์ แต่ความมั่นคงของรัฐจะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

         แต่ สำหรับ"ถวิล"แล้ว ต้องถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล ตั้งแต่สมัยทำหน้าที่สำคัญในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และปัจจุบันยังขึ้นเวทีกปปส.ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลอีกด้วย

        ดังนั้น หาก"ถวิล"กลับเข้าไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช.ด้วยแล้ว การทำงานกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยย่อมไม่ต่างจาก"ขมิ้นกับปูน"คงจะลักลั่นพิกล แน่นอน

         ยิ่งการทำงานยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ให้บทบาทสมช.ในการเป็น "เจ้าภาพ" กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคงผ่านทางนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกรอบนโยบาย 3 ปี หมายถึงต้องมีการทบทวนและยกร่างใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทุกๆ 3 ปี

         สำหรับ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับปัจจุบันที่กำลังใช้อยู่ เป็นนโยบายฉบับปี 2555-2557 นั่นหมายถึงว่านโยบายจะหมดอายุภายในปีนี้ จึงต้องมีการยกร่างนโยบายฉบับใหม่ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบ และเสนอให้รัฐสภาทราบ เพื่อให้ทุกหน่วยนำไปปฏิบัติ

          สมช.ได้ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ แต่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาไม่มีอะไรคืบหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ส่งรายงานหรือสรุปประเมินสถานการณ์มาให้ เพื่อสังเคราะห์และกำหนดนโยบายที่จะใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการชุมนุมการเมือง และสถานะของรัฐบาลรักษาการ ทำให้การทำงานของส่วนราชการหยุดชะงัก

         โดยที่"ถวิล"รับทราบถึงความ จำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับใหม่ แต่ในเมื่อยังไม่ได้หวนคืนเก้าอี้เลขาธิการ สมช.อย่างเป็นทางการ จึงยังขยับอะไรไม่ได้

        สำหรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่าง จากรัฐ ถือเป็นงานสำคัญของ สมช.ในปี 2556 เพราะ พล.ท.ภราดร ในฐานะเลขาธิการ สมช. ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้ เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556 โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และการพบปะพูดคุย 3 ครั้งต่อเนื่องมา พล.ท.ภราดร ก็อยู่ในฐานะ "หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย"

        ปัญหาคือว่าเมื่อ"ถวิล"ได้เก้าอี้เลขาธิการ สมช.คืน การทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยจะเป็นตัวเขาด้วยหรือไม่ เพราะเขาเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยแบบเปิด เพราะมีจุดอ่อนหลายประการ ทั้งยังเป็นการพูดคุยในแบบเร่งรีบ รวบรัด เหมือนสนองความต้องการของใครบางคน

          จากการพูดคุยกับ พล.ท.ภราดร ได้รับคำยืนยันว่าการทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุย เพราะได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นการเฉพาะตัว ไม่ใช่ด้วยตำแหน่งเลขาธิการสมช. ฉะนั้นถึงแม้จะต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่หากรัฐบาลยังมองว่าทำประโยชน์ได้ ก็ยังสามารถทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยต่อไปได้เหมือนที่ผ่านมา
การมอง ต่างกันในการเจรจาสันติภาพใต้ จากปรากฏการณ์ "ถวิลมา-ภราดรไป" จะบานปลายกลายเป็นปัญหาหนักขึ้นหรือไม่ต้องคอยจับตากันอย่ากระพริบทีเดียว

          เพราะนี่คือสันติภาพชายแดนใต้จะเดินหน้าหรือถอยหลัง หรือย่ำอยู่กับที่กันแน่!!
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม