วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วัฏจักรไฟใต้ กับการก่อเหตุซ้ำซาก จำเจ ไม่มีวันสิ้นสุด



นักรัก ปัตตานี

จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นับ 10 ปี จนสร้างความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชนพื้นที่อย่างไม่อาจประเมินค่าได้ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบรายวันอย่างชนิดที่เรียกว่า “ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก - เกิดแล้ว เกิดอีก - สูญเสียแล้ว สูญเสียอีก”และ “ตายแล้ว ตายอีก” ไม่ว่าประกบยิงบ้าง ซุ่มโจมตีบ้าง วางระเบิดลอบสังหารเจ้าหน้าที่ ขณะลาดตระเวนบ้าง และความรุนแรงล่าสุด ซึ่งถือเป็นวิธีก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง อย่างมากมายมหาศาล ทำลายเศรษฐกิจอย่างย่อยยับไม่เหลือชิ้นดี สร้างความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินอย่างมหาศาลจนมิอาจประเมินค่าได้ วิธีการดังกล่าวคือ “คาร์บอมบ์”

ซึ่งเหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมืองเบตง จ.ยะลา ที่บริเวณหน้าโรงแรมฮอลิเดย์ ฮิลล์ โดยคนร้ายใช้ระเบิดถังแก๊สหนัก 30 กก. ซุกมาในรถกระบะมาสด้านำมาจอดไว้ในที่เกิดเหตุ จุดชนวนระเบิดด้วยวิธีตั้งเวลา จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 52 ราย

ก่อนหน้านี้ คาร์บอมบ์ เป็นวิธีการที่คนร้ายได้ใช้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ อย่างเช่น เมืองหาดใหญ่ ยังเคยถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยวิธีคาร์บอมบ์มาแล้วถึง 2 ครั้งเช่นกัน

ครั้งแรกที่บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้าลีการ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 500 คน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตผู้คน และทำลายเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่อย่างไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้


จากเหตุการณ์คาร์บอมบ์สนั่นเมืองเบตงในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 2 ประการคือ ประการหนึ่ง เป็นผลกระทบด้านความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่ อ.เบตง ได้รับการขนานนามว่าเป็นเขตพื้นที่ที่มีจำนวนการเกิดความรุนแรงน้อยที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองแห่งความสงบ ท่ามกลางพื้นที่ที่ลุกโชนด้วยความรุนแรงจากสถานการณ์ไฟใต้

แต่จากเหตุคาร์บอมบ์ใจกลางเมืองเบตงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า นับจากนี้เป็นต้นไปพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกตารางนิ้ว มีโอกาสเกิดสถานการณ์ความรุนแรงได้หมด และส่งผลให้เมืองที่ในอดีตเคยมีแต่ความสงบสุข มีธรรมชาติที่สวยงามท่ามกลางหุบเข้าล้อมรอบ จะต้องตกเป็นพื้นที่ที่จะต้องมีการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร

ผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั่นคือ นับต่อจากนี้เป็นต้นไปประชาชนชาวเบตงจะต้องใช้วิถีชีวิตเฉกเช่นประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ของสามจังหวัดชายแดนใต้

ผลกระทบประการที่สอง เป็นผลกระทบที่สำคัญคือ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพื้นที่ อ.เบตง อยู่ติดกับด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ทำให้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นเมืองที่สงบ ปลอดภัย มีอัตราการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงน้อย ประกอบกับเป็นเมืองที่ยังคงธรรมชาติที่สวยงาม ประชาชนท้องถิ่นใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จึงทำให้ อ.เบตง ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่

แต่หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พ่อค้า-แม่ค้าในพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะชาวต่างประเทศที่รู้สึกอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ความรุนแรง แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยเช่นเดียวกัน อันนำมาซึ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และคงจะต้องใช้ยุทธวิธีประชาสัมพันธ์ฟื้นฟูการท่องเที่ยวกันอีกระลอกใหญ่

คาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เบตง นอกจากจะส่งผลในแง่ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของประชาชน และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หลายครั้งส่อให้เห็นถึงปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชนิดที่เรียกว่า “ซ้ำซาก” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเหตุการณ์ความรุนแรงจนชินชา

ปรากฏการณ์ไฟใต้ที่ซ้ำซากในที่นี้หมายถึง ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ในพื้นที่ และเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล เช่น เหตุคาร์บอมบ์ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ หรือเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรอย่าง “ซ้ำซาก” และ “จำเจ”


วัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราเห็นกันจนชินตา ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต่างพยายามหาช่องว่างและความผิดพลาดในการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการก่อเหตุ ฝ่ายความมั่นคงในยามที่เผอเรอ หย่อนยานในการรักษาพื้นที่ก็จะโดนโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงดั่งเช่นกรณีเบตง จ.ยะลา และกรณีคาร์บอมบ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

จากการปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในรอบหลายๆ ปี ที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงแนวทางของการใช้กำลังทางทหารเพื่อสร้างผลกระทบที่เสียหายในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม มุ่งก่อเกิดความแตกแยกทางความคิดความรู้สึกของผู้คนในชุมชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ การเฝ้าติดตามสถานการณ์พอจะประมวลวงรอบการปฏิบัติที่ซ้ำซาก จำเจ “ความรุนแรงเกิด - หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ - จับกุมคนร้ายได้ - เยียวยาผู้เสียหาย - เกิดเหตุรุนแรงรอบใหม่”

หากสถานการณ์ไฟใต้ได้กลายเป็นวัฏจักรแห่งความรุนแรง จนอาจกล่าวได้ว่าไม่แม้แต่คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานเองที่รู้สึกชินชาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะรู้สึกชินชาด้วยความหมดหวังในสถานการณ์ หรือความชินชาต่อการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มขบวนการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความรุนแรงของคนในพื้นที่ไปแล้ว แล้วเราไม่คิดที่จะร่วมมือกันแก้ที่ต้นเหตุในการระงับ หรือยับยั้งไม่ให้กลุ่มขบวนการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงกันเลยหรือ?

ประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานคงได้แต่ทำใจยอมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปลงตกตามหลักทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “มันก็เป็นของมันเช่นนั้นเอง” หรือปล่อยให้เกิดการสูญเสียรายวันแล้วมานั่งประณามการกระทำที่สุดโต่ง เสียงก่นด่าเหล่านี้โจรใต้ไร้ศาสนาจะสำนึกหรือปรับเปลี่ยนยุทธวิธีแนวทางในการปฏิบัติได้กระนั้นหรือ?


เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เกิดมานานนับ 10 ปี และในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้อันอาจส่อให้เห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลง หรือจะยุติลงได้ในเร็ววัน จนกระทั่งกลายเป็นปรากฏการณ์วัฏจักรความรุนแรงที่ซ้ำซาก และจำเจดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ดังนั้นแนวทางในการพูดคุยสันติภาพที่ได้หยุดชะงักไปเนื่องจากพิษภัยทางการเมืองของประเทศไทยเองต่อจากนี้ไปอยากเห็นแนวทางที่ชัดเจน จับต้องได้ให้เป็นความหวังของผู้คนในพื้นที่ต้องการเห็นสันติสุข การร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน หยุดเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว รู้รักสามัคคี หาทางออกของปัญหาร่วมกันไม่ใช่หมักหมมปัญหาเหมือนดินพอกหางหมู ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ไฟใต้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ “ไม่มีวันสิ้นสุด” จึงเป็นบทที่จะต้องพิสูจน์กันต่อไปถึงของฝ่ายความมั่นคงกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำสี่เสาหลัก ร่วมมือกันจัดการกับปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็น “วัฏจักรไฟใต้” หรือ เราจะปล่อยให้วัฏจักรความรุนแรงดังกล่าวยังคงอยู่คู่พื้นที่ปลายด้ามขวานต่อไป...เราเลือกเอง

******************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม