วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

3 RKK มายอ-ทุ่งยางแดงจนมุมเชื่อมโยงก่อเหตุคดีสำคัญ



             ในระยะนี้ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะเบาบางลง แต่การปฏิบัติงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ได้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในการติดตามจับกุมบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ก่อเหตุรุนแรงในหลายพื้นที่ด้วยกัน เพื่อนำตัวบุคคลที่กระทำความผิดเหล่านั้นมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง

          การประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อำนวยความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน กรณีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปดำเนินกรรมวิธีซักถามสืบหาความเชื่อมโยงแหล่งซุกซ่อนตัวผู้ก่อเหตุกระทำความผิด และอาวุธปืนอุปกรณ์ประกอบระเบิด เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ให้ลงมือกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์

            ห้วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ติดตามจับกุมและบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวในพื้นที่สำคัญอย่างเช่น ในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ได้ตัวบุคคลเป้าหมายจำนวนหลายราย โดยเฉพาะ RKK ที่มีประวัติในการก่อเหตุคดีสำคัญ อีกทั้งยังได้จับกุมตัวแนวร่วมที่มีหน้าที่ในการส่งกำลังบำรุงให้แก่ผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือ Logistik และแทบทุกครั้งในการติดตามจับกุมเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ประกอบระเบิดได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

            ผลการดำเนินกรรมวิธีซักถามผู้ต้องสงสัยดังกล่าวส่วนใหญ่จะให้การยอมรับสารภาพโดยไม่มีการบีบบังคับและซ้อมทรมานจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีการวิเคราะห์ และพัฒนาเป้าหมายก่อนการเข้าติดตามจับกุม ได้มีการกระทำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่ผิดพลาด “ถูกต้องและแม่นยำ”

         หน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบงานด้านการข่าวได้มีรวบรวมวิเคราะห์และนำไปสู่การจัดทำโครงสร้าง การจัดกำลังฝ่ายทหารของ Compi ของอำเภอยะรัง ซึ่งรับผิดชอบเคลื่อนไหวทำการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดงอีกด้วย

          ซึ่งจากข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งได้จากการซักถามผู้ถูกจับกุมได้มีการพัฒนาสู่เป้าหมายเครือข่าย Logistik ในพื้นที่อำเภอมายอ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 พบว่ามีความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงLogistik ได้เข้ามาพักพิงหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี

          จากนั้นวันที่ 17 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยที่เกี่ยวข้องได้สนธิกำลังเพื่อเข้าทำการพิสูจน์ทราบและติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายในพื้นที่ ตำบลกระเสาะ และตำบลเกาะจัน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีทันที ซึ่งมีการติดตามจับกุมพร้อมๆ กันในพื้นที่จำนวน 3 เป้าหมายด้วยกัน

          ผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลเป้าหมายได้จำนวน 3 ราย คือ นายอับดุลมานะห์ ดือราซอ (มะ/เปาะลี), นายซุลกีฟลี กาซอ (ลัง/ไหล/บาเรน) และนายมะสักรี มะยิ จากการตรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ นำตัวส่งให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 เพื่อดำเนินกรรมวิธีซักถามต่อไป



         เมื่อมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงผู้ก่อเหตุรุนแรงพบว่า นายอับดุลมานะห์ ดือราซอ เคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมพวก รวม 16 คน เมื่อ 22 ตุลาคม 2548 ณ ปอเนาะระดูวอ อำเภอปานาเระจังหวัดปัตตานี เนื่องจากต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วม ก่อเหตุฆ่าพระ และเผาวัดพรหมประสิทธิ์ ผลการซักถามนายอับดุลมานะห์ฯ ได้ให้การปฏิเสธจึงได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

         ย้อนกลับไปช่วงกลางดึกย่างเข้าสู่วันที่ 16 ตุลาคม 2548 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลายคนคงยังจำเหตุการณ์สะเทือนใจต่อความรู้สึกของชาวพุทธทั่วทั้งประเทศได้เป็นอย่างดี เมื่อมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกเข้าไปในวัดพรหมประสิทธิ์ หมู่ 2 บ้านเกาะ ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โดยคนร้ายได้ลงมือ ฆ่าเผาพระ-เด็กวัด ก่อนจุดไฟเผากุฏิทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

         โดยเหยื่อความรุนแรงในครั้งนั้น คือ พระแก้ว โกสโร อายุ 78 ปี ซึ่งถูกคนร้ายใช้ไม้ตี และใช้มีดพร้าฟันจนมรณภาพพร้อมจุดไฟเผา, นายหาญณรงค์ คำอ่อง อายุ 17 ปี และนายสถาพร สุวรรณรัตน์ อายุ 15 ปี ซึ่งทั้งคู่เป็นเด็กวัด ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง ใช้มีดพร้าฟัน รวมถึงใช้ไม้ตีจนเสียชีวิต จากนั้นนำศพไปไว้บนกุฏิ แล้วใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟเผาทำลายกุฏิ และกลุ่มคนร้ายยังใช้ท่อนไม้ ก้อนหิน มีดพร้า และอาวุธปืน ทำลายข้าวของภายในโบสถ์ รวมถึงรูปหล่อหลวงพ่อพรหมที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์จนได้รับความเสียหาย

          หน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่าผู้ที่ถูกจับกุมพร้อมกับนายอับดุลมานะห์ฯ ทั้ง 16 คน และในเวลาต่อมาศาลจังหวัดปัตตานีได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าพระและเผาวัดพรหมประสิทธิ์ 9 คน และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตัดสิน “ประหารชีวิต” จำนวน 5 คน และศาลพิพากษายกฟ้อง 4 คน ซึ่งคาดว่าผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดรวมถึง นายอับดุลมานะห์ฯ มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในการก่อเหตุในครั้งนั้น แต่ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันมัดตัวเอาผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้


        จากผลการซักถามผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อำเภอมายอ 2 คน ซึ่งปัจจุบันฝากขังเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี ได้ให้การซัดทอดว่า นายอับดุลมานะห์ และนายซุลกีฟลี กาซอ ผู้ที่ถูกจับกุมครั้งนี้ อยู่ในเครือข่าย Logistik อำเภอมายอซึ่งเครือข่ายนี้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปแล้ว 2 คน ซึ่งเหตุการณ์ที่ผู้ต้องสงสัยทั้งสองคนให้การสนับสนุน จากผลการซัดทอดมี 2 เหตุการณ์ที่สำคัญ คือ

         เหตุการณ์ที่ 1 เหตุการณ์คนร้ายขว้างระเบิดใส่ร้านขายอาหารมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 5 ราย และได้ทำการลอบวางระเบิดโดยทำการติดตั้งในรถจักรยานยนต์ (เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ไว้ได้) เหตุเกิดบริเวณตลาดมายอ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 5 สิงหาคม 2556 

        ผู้ที่ให้การซัดทอดคือ นายอัสมัน เจ๊ะนิ และนายมาหามะ เจะและ ซึ่งทั้งสองคนให้การยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แต่งกายชุดฮียาฟเลียนแบบผู้หญิงมุสลิม ตามภาพวงจรปิดที่บันทึกไว้ได้ โดยนายมาหามะฯ ทำหน้าที่ขว้างระเบิด และนายอัสมันฯ ทำหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ประกอบระเบิดไปจอดในที่เกิดเหตุ
และหลังจากก่อเหตุตนได้นำชุดฮียาฟที่สวมใส่ ,อาวุธปืน และรถจักรยานยนต์ ส่งคืนให้กับนายอับดุลมานะห์ ฯ และนายซุลกีฟลีฯ เพื่อจัดเก็บบริเวณริมคลองในพื้นที่บ้านถนนตก ตำบลถนน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี


       เหตุการณ์ที่ 2 เหตุลอบวางเพลิงโรงเรียนบ้านกระเสาะ ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 12 ตุลาคม 2558 จากผลการซัดทอดสรุปมีผู้ร่วมก่อเหตุลอบวางเพลิงจำนวน 14 คน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้ว 7 คน ยังคงหลบหนีการจับกุม 7 คน
ซึ่งทั้งสองคนถูกซัดทอดว่าเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คนละคัน ทำหน้าที่รับผู้ก่อเหตุจากที่รวมพลขั้นต้นไปส่งใกล้ที่หมาย และต่อจากนั้นผู้ก่อเหตุจึงได้เดินเข้าไปลอบวางเพลิงโรงเรียนกระเสาะ

        สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมคนที่สาม คือนายมะสักรี มะยิ จากแหล่งข่าวได้เปิดเผยว่ามีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเครือข่ายอำเภอมายอ, อำเภอยะหริ่ง และอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

          ในปัจจุบันจากความเจริญของเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การยืนยันตัวบุคคลด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรม หรือที่เราเรียกว่า “นิติวิทยาศาสตร์” ได้มีบทบาทในการมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก อีกทั้งกล้องวงจรปิดตามสถานที่สำคัญต่างๆ จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการมัดตัวส่งฟ้องศาล หากผู้หลงผิดยังคงก่อเหตุไม่ยอมหันหลังให้กับขบวนการไม่วันใดก็วันหนึ่ง “ประตูเรือนจำ” พร้อมเปิดอ้าต้อนรับคนชั่วได้เข้าไปชดใช้เวรกรรม

         การดำเนินการติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงของเจ้าหน้าที่ได้มีการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐได้เปิดช่องทางและเปิดโอกาสให้กับผู้หลงผิดในการเข้าร่วม “โครงการกลับบ้าน” หันหลังให้กับขบวนการกลับมารายงานตัวแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขไม่ต้องหลบซ่อนตัวหนีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ...

----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม