วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

อูรังลาโว้ย (Orang Laut)


         อูรังลาโว้ย (Orang Laut) เป็นชาวเลกลุ่มใหญ่ที่มีถิ่นฐานบนเกาะสิเหร่ และที่หาดราไวย์ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต จนถึงทางใต้ของเกาะพีพีดอน เกาะจำ เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่, เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล และบางส่วนอยู่ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย

         ชาวเลกลุ่มอูรังลาโว้ยมีภาษาที่แตกต่างกับกลุ่มมอแกนและมอแกลน แม้จัดอยู่ในตระกูลออสโตรนีเชียน เช่นเดียวกัน พิธีกรรมสำคัญของอูรังลาโว้ยคือ การลอยเรือ "ปลาจั๊ก" เพื่อกำจัดเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชน

      ในปัจจุบัน ชาวเลกลุ่มอูรังลาโว้ยตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร หันมาประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่น ๆ ซึมซับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และเรียกขานตัวเองว่า ไทยใหม่

       อุรังลาโว้ย มีความหมายว่า "คนทะเล" มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตชาวอุรังลาโว้ยอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาฆูนุงฌึไร ในแถบชายฝั่งทะเลในรัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) จากนั้นก็เร่ร่อนเข้ามาสู่ในน่านน้ำไทย แถบทะเลอันดามัน ในช่วงแรกยังมีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน โดยอาศัยเรือไม้ระกำเป็นที่อยู่และพาหนะ พวกเขาใช้กายัก หรือแฝกสำหรับมุงหลังคาเป็นเพิงอาศัยบนเรือ หรือเพิงพักชั่วคราวตามชายหาดในฤดูมรสุม

      ชาวอุรักลาโว้ยยังชีพด้วยการท่องเรือตามหมู่เกาะ กลุ่มละ 5-6 ลำ บางครั้งพวกเขาก็จะขึ้นเกาะมาเพื่อหาของป่า แต่ส่วนใหญ่จะล่าสัตว์ทะเลด้วยเครื่องมือง่ายๆอย่าง ฉมวก สามง่าม เบ็ดพวกเขามีความสามารถในการดำน้ำทะเลลึกเพื่อแทงปลาหรือจับกุ้งมังกรด้วยมือเปล่าและดำน้ำเก็บหอยจากก้นทะเล

      ตามตำนานเล่าว่าชาวอุรังลาโว้ยเคยมีบรรพบุรุษเดียวกับชาวมอแกนและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เร่ร่อนในทะเลมานาน พวกเขาใช้ภาษาอูรังลาโว้ย เป็นภาษาพูด พวกเขาเชื่อกันว่าเกาะลันตาเป็นสถาที่แรกที่ชาวอุรังลาโว้ยตั้งถิ่นฐาน เปรียบเสมือนเมืองหลวงของพวกเขาเลยทีเดียว แต่พวกเขาก็ยังอพยพเร่ร่อนอยู่เรื่อยๆ โดยโยกย้ายไปตามหมู่เกาะต่างๆ และตั้งถิ่นฐานที่เกาะนั้นๆ และกลับมาที่เดิม แต่ทุกกลุ่มยังคงมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ถือว่าเป็นสังคมเครือญาติใหญ่

       ปัจจุบันพวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ แหลมหลาเหนือ และบ้านสะปำ ในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี เกาะจำ เกาะปู เกาะไหว และเกาะลันตาใหญ่ ในจังหวัดกระบี่ ไปจนถึงเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบุโหลน และเกาะราวี จังหวัดสตูล

       ชาวอุรังลาโว้ยใช้ชีวิตครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายชายจะเข้าอยู่กับครัวเรือนฝ่ายหญิงชั่วคราว ก่อนแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวเมื่อถึงเวลาสมควร ชาวอุรักลาโว้ยนั้นนับถือผีบรรพบุรุษ และสิ่งเหนือธรรมชาติว่ามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต "โต๊ะหมอ" จะเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ เช่นพิธีลอยเรือ พิธีแก้บน เป็นต้น

      ทุกครึ่งปีในเดือนหกและเดือนสิบเอ็ด ไม่ว่าชาวอุรังลาโว้ย จะกระจัดกระจายอยู่ที่ใด พวกเขาก็จะกลับมายังถิ่นฐานเดิมเพือ่เข้าร่วมในพิธีลอยเรือ หรือ "เปอลาจั๊ก" ในวันนั้นที่ชายหาดจะมีการบรรเลงรำมะนา เสียงเพลง การร้องรำ การเล่นรองเง็ง ตลอดจนการดื่มฉลองพิธีการในวาระอันสำคัญของชาวอุรังลาโว้ย

ตำนานเกี่ยวกับฆูนุงฌึรัย : ที่มาของชาวเลอูรักลาโว้ย

       มีตำนานเรื่องหนึ่งซึ่ง David Hogan (1972) บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวเลวัย 60-70 ปี ที่อาศัยอยู่บนเกาะอาดังว่า พระเจ้าได้ส่ง นะบีโน๊ะ มาชักชวนให้บรรพบุรุษของเขานับถือพระเจ้า แต่ถูกปฏิเสธจึงสาปแช่งไว้ จนพวกเขาต้องเคลื่อนย้ายลงมายังชายฝั่งเชิงเขา “ฆูนุงฌึรัย” บ้างก็เข้าป่าเป็นคนป่า บ้างก็กลายเป็นลิง บ้างก็เป็นกระรอก บ้างก็เป็นอูรักลาโว้ย คนของทะเล หรือชาวเลไป ผู้ให้ข้อมูลคนเดียวกันเล่าว่า ชาวเลกลุ่มแรกที่อาศัยเรือ “jukok” หรือ “เรือเป็ด” ไหลลอยขึ้นมา บ้างก็ตั้งถิ่นฐานในป่าเคดาห์ บ้างก็ตั้งถิ่นฐานที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ Hogan ได้เน้นย้ำว่า อูรังลาโว้ยผู้สูงอายุส่วนใหญ่กล่าวกันว่า เกาะลันตาเป็นดินแดนแห่งแรกในประเทศไทยที่ชาวเลอูรังลาโว้ยเปลี่ยนวิถีชีวิตขึ้นไปตั้งถิ่นฐาน

       ทว่า David Hogan และผู้วิจัยคนอื่น ๆ ไม่ได้เข้าใจว่า อันที่จริงเรื่องเล่าของชาวเลคนนั้นเป็นเรื่องเล่าจากคัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์ไบเบิล คำว่า นะบีป็นคำในภาษาอาหรับแปลว่า ศาสดาพยากรณ์ ส่วน โน๊ะ ก็คือ นูฮฺ หรือ โนอาห์ ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ เมื่อพระเจ้าบันดาลให้เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ นะบีนูฮฺ ก็พาบรรดาศรัทธาชนลงเรือหนีน้ำที่ท่วมโลก ในที่สุดเรือนั้นก็จอดบนเขา อัลญูดี ส่วนผู้เฒ่าที่เล่าเรื่อง หรือชาวเลอูรังลาโว้ย คิดว่าเป็น ฆูนุงฌึรัย (แปลว่า ภูผาต้นไทร)

      อย่างไรก็ตาม จากความเชื่ออันนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ชาวเลอูรังลาโว้ย ในอดีตเคยได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับชนชาติในตระกูลมาลายิกทั้งหลาย นอกจากนี้ภาษาอูรังลาโว้ยยังใกล้เคียงกับภาษามาเลย์อีกด้วย

       สภาพทั่วไปของพื้นที่ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๒ ตำบลราไวย์ ประมาณ ๓๒๑ หลังคาเรือน ประชากรประมาณ ๑,๓๕๗ คน กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้อาศัยอยู่ในที่ดินเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินเอกชน ซึ่งมีทะเบียนบ้านจำนวน ๒๒๖ หลัง โดยเป็นทะเบียนบ้านถาวรทั้งหมด ๑๑๗ หลัง ไม่มีระบบประปา ใช้น้ำจากการซื้อจากรถบริการและบ่อซึ่งขุดขึ้นใช้เอง(อยู่ในที่ดินเอกสารสิทธิ์เอกชน) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญเพราะเจ้าของที่ดินต้องการพัฒนาพื้นที่ ระบบไฟฟ้าใช้การต่อพ่วง ใช้น้ำและไฟชั่วคราวของเอกชน ไฟฟ้าพ่วง เหมาจ่ายหลังละ ๕๐๐ – ๑,๐๐๐ บาท น้ำยูนิตละ ๒๐ บาท สภาพการอยู่อาศัยมีสภาพบ้านทรุดโทรม แออัด แต่รักษาความสะอาดดี ยกเว้นห้องส้วม ไม่มีระบบถนนภายในชุมชน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหาปลาหาหอย และรับจ้างทั่วไป และอาชีพอิสระ เช่น งมเหล็กในทะเลไปขาย

     เล เป็นคำในภาษาปักษ์ใต้ที่ใช้เรียกกลุ่มชน “ชาวไทยใหม่” ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งใน ๓๕ กลุ่มชาตุพันธ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ประกอบเป็นสังคมไทย และถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามเกาะและชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อก่อนถือเป็นชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเล และทำมาหากินตามทะเลและตามเกาะต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เกาะสุวาเวสี ทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย เกาะซูลในประเทศฟิลิปปินส์ ริมฝั่งเมืองมะริด ประเทศพม่า และถือเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในแหลมมาลายู

    ชาวเล ในประเทศไทยมีอยู่ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มมอแกน กลุ่มมอแกลน กลุ่มอุลักลาโว้ย ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต มีกลุ่มชาวเลอาศัยอยู่ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มมอแกลน อาศัยอยู่บริเวณบ้านหินลูกเดียว บ้านแหลมหลา ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มอุลักลาโว้ย อาศัยอยู่บริเวณเกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ บ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

      ภาษา ชาวเลทั้ง ๓ กลุ่ม จะใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนเหมือนกัน ซึ่งเป็นภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ แต่ทว่าภาษาของแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน ชาวเลกลุ่มมอแกลนและมอแกนจะสามารถสื่อสารกันได้ พูดรู้เรื่อง เพระมีรากศัพท์และคำที่คล้ายกันเป็นจำนวนมาก ชาวมอแกนและชาวมอแกลนจะใช้ภาษาไทยปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับกลุ่มอุลักลาโว้ยนั้นมีความคล้ายคลึงกับภาษามาลายูมาก ทำให้ชาวเลกลุ่มอุลักลาโว้ยสามารถสื่อสารกับชาวมาลายูและอินโดนีเซียได้ แต่กลุ่มมอแกนและกลุ่มมอแกลนไม่สามารถสื่อสารกับชาวอุลักลาโว้ยได้เลย เพราะมีความแตกต่างกันของภาษา

     อาชีพ  ชาวเลทั้ง ๓ กลุ่มในอดีตมีอาชีพเป็นพรานทะเลนักเก็บหาในท้องทะเลและในป่าเหมือนกัน แต่ปัจจุบันความเจริญได้เข้าไปในชุมชน ทำให้ชาวเลมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลมีจำกัด และบางพื้นที่มีเจ้าของจับจอง ครอบครอง ชาวเลไม่สามารถเก็บหาทรัพยากรทางทะเลได้ดังแต่ก่อน มีการปรับเปลี่ยนอาชีพบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพอยู่กับทะเล เช่น การเก็บหากุ้ง หอย ปู ปลา ดำปลิงทะเล จับกุ้งมังกร วางลอบ วางไซ และมีบางส่วนทำสวน รับจ้างทั่วไป และรับจ้างและบริการนำเที่ยวบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม