โดย : ‘ลมใต้ สายบุรี’ เมื่อกล่าวถึง
“โรงเรียนปอเนาะ” รวมไปถึง
“โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนในพื้นที่ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีเนื่องจากส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาจากสถาบันเหล่านั้นซึ่งมีอยู่มากมายหลายพันโรง แต่สำหรับคนทั่วไปแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐกลับมองว่า
“โรงเรียนปอเนาะ” หรือ “โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน” เป็นแหล่งบ่มเพาะ ซ่องสุมกำลัง ซุกซ่อนอาวุธของกลุ่มขบวนการที่สู้รบปรบมืออยู่กับรัฐ อะไร? คือสาเหตุที่คนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ มอง “โรงเรียนปอเนาะ” หรือ“ โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน” เหล่านั้นในแง่ลบ ซึ่งจะต้องมีเหตุและผลถึงความเป็นมาจะต้องมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้มีความเชื่อแบบนั้น
เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของ “โรงเรียนปอเนาะ” เหมือนกับโรงเรียนประจำ กินอยู่หลับนอนอยู่ภายในโรงเรียน การควบคุมดูแลของสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง อีกทั้งที่ผ่านมาการเข้าไปตรวจสอบดูแลกระทำได้ยากเพราะ
มีบุคคลบางกลุ่มพยายามกล่าวอ้างว่า “โรงเรียนปอเนาะ”เป็นสถานที่สอนศาสนา การเข้าไปทำการตรวจสอบเป็นการคุกคามและไม่ให้เกียรติสถานที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปสอดส่อง
กลุ่มขบวนการได้ฉวยโอกาสใช้ “โรงเรียนปอเนาะ” บางแห่งใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะ ซ่องสุมกำลังทำการก่อเหตุในพื้นที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา “โรงเรียนปอเนาะ” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการและได้มีการสั่งปิดกิจการและเพิกถอนใบอนุญาต ที่รู้จักกันดีคือ โรงเรียนญีฮาดวิทยา (ปอเนาะญีฮาด) และโรงเรียนอิสลามบูรพา“ปอเนาะสะปอม” “ปอเนาะญีฮาด” ถูกศาลแพ่งพิพากษายึดที่ดินเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนให้ตกเป็นของแผ่นดินเมื่อที่ 15 ธันวาคม 2558 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำการก่อการร้าย
ส่วน
โรงเรียนอิสลามบูรพา“ปอเนาะสะปอม”มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ เนื่องจากมีการใช้บริเวณโรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกอาวุธและเป็นแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อเหตุร้ายหลังปฏิบัติการ จึงมีเหตุอันควรเพิกถอนใบอนุญาต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2550 แต่คณะผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพา และ
ผู้บริหารมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ชุดใหม่ ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์”
ย้อนรอย“โรงเรียนอิสลามบูรพา” “โรงเรียนอิสลามบูรพา” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า
“ปอเนาะกาปงบารู, ปอเนาะสะปอม หรือ ปอเนาะบูเกะตันหยง” ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ถูกสั่งปิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ภายหลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้า
ตรวจค้นภายในโรงเรียนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกัน และสามารถจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยรวมทั้งสิ้น 7 คน พร้อมด้วยของกลางวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากจากบ้านร้างซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงเรียน หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้คือ นายมะนาเซ ยา แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อวงจรระเบิด และยังเป็นครูฝึกให้กับแนวร่วมรุ่นใหม่“โรงเรียนอิสลามบูรพา”กับความเชื่อมโยงกลุ่มขบวนการ จากข้อมูลเชิงลึก “โรงเรียนอิสลามบูรพา” มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายกลุ่มขบวนการ B.R.N.Coordinate เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างโรงเรียนโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการ B.R.N. โดย
เมื่อเดือนธันวาคม 2533 แกนนำกลุ่ม B.R.N.Coordinate ในพื้นที่ จชต.จำนวน 12 คน ได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่ม BKPP ที่“โรงเรียนอิสลามบูรพา”เนื่องจากได้รับการร้องขอ ให้ นายฮาซัน ตอยิบ แกนนำ B.R.N.Coordinate ที่หลบหนีอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ให้เข้าร่วมกับกลุ่ม BKPP ซึ่งผลการประชุมปรากฏว่ามีมติไม่เข้าร่วม
เหตุระเบิดนำไปสู่การเข้าตรวจสอบ“โรงเรียนอิสลามบูรพา” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 00.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดบริเวณสวนยางพาราของ นายสุข คงจันทร์ ริมถนนสาย บ้านสะปอม – บ้านจาเราะสะโตร์ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังร่วมกับตำรวจ, ฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบรอยเลือดที่คาดว่ากลุ่มคนร้ายได้รับบาดเจ็บ จากการลอบวางระเบิด โดยระเบิดของกลุ่มคนร้ายเอง และพบว่าต้นยางพารา ของ นายสุข คงจันทร์ ถูกตัดโค่นได้รับความเสียหาย ประมาณ 300-400 ต้น โดยคนร้ายได้ลอบวางระเบิดไว้ที่บริเวณทางเข้าแต่ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นก่อน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตรวจสอบขยายผลพิสูจน์ทราบ บริเวณพื้นที่โรงเรียนอิสลามบูรพา และจับกุมผู้ต้องหาคดีก่อเหตุความไม่สงบพร้อมอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัว
นายอุเซ็ง ปุโรง เจ้าของ/ผู้จัดการโรงเรียนอิสลามบูรพา ไปให้ข้อมูลโดย
นายอุเซ็งฯ ยอมรับว่า ตนเองมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายอูลามา(ผู้รู้ทางศาสนา)ในสภาองค์การนำ (DPP) ของ BRN และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายอูลามา ของคณะกรรมการเขต (กัส) จ.นราธิวาส ตามโครงสร้างของ DPP
ผลการตรวจค้น“โรงเรียนอิสลามบูรพา”นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจค้น “โรงเรียนอิสลามบูรพา ”นายอุเซ็ง ปุโรง เจ้าของ/ผู้จัดการโรงเรียนอิสลามบูรพา ยอมรับมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ ในเวลาต่อมาได้มีการประชุมด่วนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งที่ประชุมมีมติลงความเห็นว่าทาง
“โรงเรียนอิสลามบูรพา” เป็นแหล่งที่มีการประชุมวางแผนการก่อการร้าย การปลูกฝังอุดมการณ์ที่เป็นภัยต่อประเทศชาติ หรือมีการใช้บริเวณโรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกอาวุธและเป็นแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อเหตุร้ายหลังปฏิบัติการ จึงมีเหตุอันควรเพิกถอนใบอนุญาต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ทั้งนี้ คณะผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพา และผู้บริหารมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ ชุดใหม่ ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า
“โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์” และได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนราธิวาส เขต 1 แต่ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สั่งระงับ และให้ปิดการเรียนการสอนไว้ก่อน เพื่อขอเวลาพิจารณาในเรื่องคดีความมั่นคง โดยพยายามชี้แจงให้เห็นว่า
“โรงเรียนอิสลามบูรพา” ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้าย ในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากผลการปิดล้อมตรวจค้น และการตรวจสอบของชุดนิติวิทยาศาสตร์ ของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ด้วยเครื่องมือพิเศษ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 และ วันที่ 5 พฤษภาคม 2551 เนื่องจากได้รับเบาะแสจากประชาชนว่ามีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าไปซุกซ่อนในโรงเรียน และมีการใช้สถานที่ป่ายางด้านหลังเป็นที่ฝึกซ้อมในการผลิตระเบิด
ผลการตรวจสอบ พบสารปนเปื้อนในการประกอบวัตถุระเบิดในระดับเกี่ยวข้องและสัมผัส จากสิ่งของในห้องพักภายในโรงเรียนอิสลามบูรพา ซึ่งสารปนเปื้อนที่ตรวจพบครั้งนี้ เป็นสารใหม่ที่เพิ่งตรวจพบจากโรงเรียนอิสลามบูรพา จึงเชื่อว่า โรงเรียนแห่งนี้ยังมีผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาเคลื่อนไหวอยู่ความพยายามในการเปิด“โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์”หลังถูกสั่งปิดไป 4 ปี
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 ได้มีหนังสืออนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน “โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์” หรือ “โรงเรียนอิสลามบูรพา” โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 โรงเรียนอิสลามบูรพาได้จัดงานพบปะผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และศิษย์เก่าโรงเรียนอิสลามบูรพา ก่อนจะถูกคำสั่งปิดไปตั้งแต่เมื่อปี 2550 โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ในขณะนั้นเดินทางมาเป็นประธานมอบใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนอิสลามบูรพาด้วยตนเอง
ศาลจังหวัดนราธิวาสตัดสินประหารชีวิตอุสตาสโรงเรียนอิสลามบูรพา พร้อมพวก 5 คน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาตัดสินประหารชีวิตอุสตาสโรงเรียนอิสลามบูรพา พร้อมพวก 5 คน ในข้อหาคดีความมั่นคง เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดที่อุกอาจ ร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนักด้วยการประหารชีวิต
- นายมะนาเซ ยา,
- นายแวอัสมิง แวมะ,
- นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา,
- นายมะฟารีส บือราเฮง,
- นายฮารงหรืออารง บาเกาะ
- ส่วนนายรุสลี ดอเลาะ ศาลสั่งให้จำคุก มีกำหนด 27 ปี และ
- นายมามะคอรี สือแม ได้ทำการหลบหนีในระหว่างการปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว)
“โรงเรียนอิสลามบูรพา” ยังไม่พ้นพงหนามเสียทีเดียว เพราะวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ที่จะถึงนี้ ศาลแพ่งจะมีการพิจารณาในส่วนของคดีความ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่งอายัดทรัพย์ตามมติคณะกรรมการธุรกรรม ที่ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะมีผลคำสั่งเป็นเช่นไร? น่าติดตามอย่างยิ่ง..
———————–