“พระคัมภีร์โบราณ” มรดกล้ำค่าจากอัฟกานิสถาน“พระคัมภีร์โบราณ” มรดกล้ำค่าจากอัฟกานิสถาน นักวิชาการสันนิษฐานว่า พระคัมภีร์โบราณเป็นผลงานการจดจารของบรรดานักแสวงบุญ ภิกษุสงฆ์พื้นเมือง และภิกษุสงฆ์ต่างชาติที่เข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนสนทนาข้อธรรมในอัฟกานิสถาน หลังจากพุทธศาสนาถูกทำลายลง ชาวอัฟกันพุทธที่เหลืออยู่ได้พยายามรวบรวมพระคัมภีร์เหล่านนี้ไปซุกซ่อนไว้ในภาชนะดินเผาปิดผนึกอย่างดี แล้วนำไปเก็บไว้ในถ้ำห่างจากพระพุทธรูปยืนแห่งบามิยันเพียง ๒ กิโลเมตร กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึง พ.ศ.๒๕๓๙ ความลับนี้ก็ถูกเปิดเผย เมื่อมีผู้ลักลอบน้ำคัมภีร์ส่วนหนึ่งออกขายทอดตลาดและได้ตกไปถึงมือของ มาร์ติน สเคอยัน (Martin scheyen) ชายชาวนอร์เวย์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณที่ใหญ่ที่สุดในโลก นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า คัมภีร์เหล่านี้ทรงคุณค่าต่อพุทธศาสนิกชนและชาวโลกเป็นอย่างยิ่งเพราะ “คัมภีร์เหล่านั้นเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาภาษาสันสกฤตที่จารึกด้วยอักษร Brahmi และอักษร kharosthi ในช่วง พ.ศ.๕๔๐-๙๔๐ มีเนื้อความเกี่ยวกับพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม รวมถึงมีเรื่องราวประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย ชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งบางเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน” เมื่อทราบ มาร์ตินได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะขนย้ายพระคัมภีร์ที่เหลือออกมาไห้หมด ในที่สุดก็สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนที่กลุ่มตอลีบานจะทำลายพระพุทธรูปแห่งบามิยันสำเร็จแค่เพียง ๒ ปี นับว่ารอดมาได้อย่างฉิวเฉียดทีเดียว ไม่เช่นนั้นแล้วพระคัมภีร์อาจถูกทำลายไปพร้อมๆกับพุทธศิลป์ล้ำค่านี้ด้วยก็เป็นได้ เป็นที่น่ายินดีที่ทางพิพิธภัณฑ์สามารถรวบรวมพระคัมภีร์ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ได้มากถึง ๕,๐๐๐ ชิ้น รวมถึงที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกราว ๘,๐๐๐ ชิ้น ทั้งหมดถูกจารึกบนวัสดุกลายประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังแกะ ใบลาน แผ่นดินเหนียว หรือแผ่นทองแดง โดยมีขนาดกว้างและยาวเป็นฟุตๆไปจนถึงขนาดเล็กที่สุดซึ่งกว้างและยาวเพียงแค่ ๒ เซนติเมตร จากนั้นมาร์ตินและ ศาสตราจารย์เจนส์ บราร์วิก แห่งศูนย์ศึกษาก้าวหน้านอร์เวย์ ได้ร่วมกันตั้งทีมนักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณจากญี่ปุ่น จีน อเมริกา อังกฤษ ฯลฯ มาทำความสะอาดและจัดเก็บรักษาพระคัมภีร์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาอนุรักษ์ ปิดท้ายด้วยการศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียด แม้จะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่างานชำระแปลความพระคัมภีร์จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อไร แต่มาร์ตินและคณะต่างเห็นชอบตรงกันว่าทางพิพิธภัณฑ์จะทยอยตีพิมพ์ผลงานอันยิ่งใหญ่นี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นลำดับๆไป ซึ่งตลอด ๑๒ ปีที่ผ่านมาทางพิพิธภัณฑ์ได้มีผลงานที่ตีพิมพ์แล้วถึง ๓ เล่ม ด้วยความเก่าแก่ของพระคัมภีร์ที่มีอายุมากกว่า ๑,๖๐๐ ปี และสารพันความรู้ที่บรรจุไว้ พระคัมภีร์จากอัฟกานิสถานจึงเป็นสิ่งทรงคุณค่าต่อวงการพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์โลกอย่างที่สุด เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ อรรถกานต์ ปาละกูล |
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น