หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

รากเหง้าความรุนแรง



ขุดรากเหง้าความรุนแรง-ปัญหาจากอิสลามที่ยังคาใจ


 
ในห้วงเวลาที่เหตุการณ์ระเบิดในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นข่าวตามสื่อชนิดต่างๆ แทบจะไม่เว้นวัน คำถามถึงสาเหตุและที่มาของปัญหาก็ดูจะกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งตามสถานการณ์ ในการประชุมสัมมนาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสวนาบทบาทของศาสนากับความสมานฉันท์ ฯ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม และ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น มีประเด็นปัญหาที่ถามกันมากที่สุด ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่ายังเป็นปัญหาคาใจคนอีกเป็นจำนวนมาก จึงขอนำเสนอ ดังนี้

1.ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ เกิดจากการติดยึดกับความเป็นชนชาติมลายู (Malay Ethnic) ของคนใน ๓ จังหวัดดังกล่าวใช่หรือไม่ ?

คำตอบ ใช่บางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องเข้าใจถึงรากเหง้าของคนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียก่อน คือ ชนมลายู มี ๒ กลุ่ม ดังนี้
(1) ชนเชื้อชาติมลายู (Malay Ethnic) คือกลุ่มชนที่อยู่บนดินแดนคาบสมุทรมลายู หมู่เกาะมลายู (Archipelago) ที่มีรูปร่างพอประมาณ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์อย่างเดียวกัน พูดภาษามลายู และนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ คนเหล่านี้สำหรับในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลา (เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี) มีจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน
(2) ชนเชื้อสายมลายู (Malay Descendant) คือกลุ่มชนที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันในดินแดนคาบสมุทรมลายู หมู่เกาะมลายู และแปซิฟิค เคยมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมหรือ อัตลักษณ์ ความเชื่อทางศาสนา และภาษาอย่างเดียวกันกับชนเชื้อชาติมลายู(1) แต่ เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง (ผลจากสงคราม) การโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย (Immigration) หรือถูกหล่อหลอม(Assimilation) หรือ การแต่งงาน หรือจากอิทธิพลของชนชาติอื่นที่เหนือกว่า จนมีความแตกต่างไปจากชนเชื้อชาติมลายูเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ภาษาพูด และศาสนา เป็นต้น
กลุ่มชนเหล่านี้ในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล รวมชาวเกาะในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ชาวเล (Orang Laut)และ มอแกน ซึ่งเป็นประชากรรวม 754,672 คน (สำนักงานสถิติ ปี 1990 ปัจจุบันอาจมีจำนวนสูงกว่านี้ ) รวมทั้งในกรุงเทพฯปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ นครนายก ฉะเชิงเทรา และอื่นๆจำนวนประมาณ 3.5 ล้านคน
ดังนั้น ถ้าจะพูดว่าความขัดแย้งเกิดจากคนใน ๓ จังหวัดภาคใต้กับ ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลาที่เป็นคนเชื้อชาติมลายู ก็ไม่ผิด แต่เกิดจากความสำนึกในชนชาติที่เป็นชนส่วนน้อยที่รัฐไทยกำลังจะกลืนชาติของพวกเขา(Assimilation) เสมือนกับกลืนชาติมอญ ล้านนา ขอม ลาว และอื่นๆมาแล้ว พวกเขาจึงแข็งขืนเพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ (Identity) ของชนชาติมลายูของตนไว้ ซึ่งเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐไทย ที่เป็นรัฐเดี่ยว รวมศูนย์ และถือว่าประเทศไทยคือเป็นที่อยู่ของคนไท (รวมทั้งไทดำ ไทลื้อ ฯลฯ) อาจไม่ได้รวมถึงชาวมลายู

2.ปัญหาความรุนแรงเกิดจากการบิดเบือนในหลักศาสนาอิสลามใช่หรือไม่ เพราะเคยถามอุสตาด บางคน บอกว่า “การฆ่าคนนอกศาสนานั้นไม่บาป” จริงหรือไม่ ?

คำตอบ – ไม่จริง ฆ่าคนในศาสนาใดก็ผิดบาปทั้งนั้น ศาสนาอิสลามนั้นไม่เคยถูกบิดเบือนโดยผู้รู้หรือผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด อาจจะเกิดจากความเข้าใจผิดของคนบางคนที่ท่านได้ไปพบและพูดคุยด้วย เพราะเขาอาจจะไม่ใช่อุสตาดหรือผู้รู้ศาสนาที่แท้จริง หรือเขาอาจจะพูดด้วยความรู้สึกที่มีความกดดัน เคียดแค้น หรือการสูญเสียสิ่งที่เขารักบางอย่าง เช่น ถูกชนชาติอื่นที่อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ พลเรือนคนธรรมดา จับกุม ทำร้าย กดขี่ข่มเหง ด้วยความไม่เป็นธรรมมาก่อน เขาจึงตอบไปด้วยความรู้สึกเคียดแค้น ชิงชัง ดังนั้นจึงต้องรู้ประวัติในเชิงลึกของพวกเขาเสียก่อน
เคยมีการประชุมที่ ศอ.บต. มีนักวิชาการจากกรุงเทพฯท่านหนึ่งกล่าวในที่ประชุมว่า “ทำไมคนมุสลิมถึงได้ยกย่องสรรเสริญผู้ที่ถูกฆ่าตายในมัสยิดกรือเซะ (เมื่อ 28 เมษายน 2547) ว่าเป็นการตายชาฮีดหรือตายในการปกป้องศาสนาอิสลาม ความจริงพวกเขาก็คือโจรก่อการร้าย ไม่มีสิทธิที่จะตายในศาสนา นี่เป็นการบิดเบือนในหลักการศาสนา ” ท่านนักวิชาการผู้ที่พูดนี้ ค่อนข้างจะมีอคติ และรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ควรจะให้ท่านได้ศึกษารายละเอียดจากบทสรุปของคณะกรรมการไต่สวนกรณีมัสยิดกรือเซะบ้าง
การศึกษาศาสนาอิสลามในระบบในเอเชียอาคเนย์ เริ่มมีขึ้นในจังหวัดปาตานีเป็นครั้งแรก และแผ่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ปาตานีเสมือนระเบียงของมักกะฮฺ นักการศาสนาหลายท่านที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯเคยเรียนปอเนาะที่ปัตตานีมาก่อน แม้กระทั่งท่านสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรีปัจจุบัน ก็เคยเรียนศาสนาในปอเนาะที่ปัตตานี ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงไม่ได้ถูกบิดเบือน แต่ความขัดแย้งในปัจจุบันทำให้ทุกฝ่าย(ทั้งรัฐและผู้ก่อความไม่สงบ)ต่างฉกฉวยเอาศาสนาอิสลาม มาเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ ทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตน
อดีตนายทหารใหญ่ท่านหนึ่งยอมรับว่าปัญหาภาคใต้เป็นสงครามประชาชน ดังนั้น ประชาชนอยู่ฝ่ายใดฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามเขาก็ต้องเอาศาสนาเป็นเครื่องมือดึงมวลชน เช่น ให้ตำแหน่งทางการเมืองให้ผู้นำศาสนา หรือ นักการศาสนา ให้ทุนไปประกอบพิธีฮัจญ์ ครูสอนศาสนา ผู้นำศาสนา เป็นต้น

3.ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในภาคใต้เกิดจากการที่ คนมุสลิมโดยเฉพาะพวกโต๊ะครู อุสตาด ในโรงเรียนสอนศาสนา ได้บิดเบือนประวัติศาสตร์ ให้เด็กและเยาวชนวัยรุ่น มีความเกลียดชังคนไทย ใช่หรือไม่ ?

คำตอบ เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ประวัติศาสตร์ปาตานีนั้นคนปาตานีเองมักจะไม่ใช่เป็นคนบันทึกหรือนั่งเขียนโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่ประวัติศาสตร์ปัตตานี ส่วนมากจะบันทึกโดยชาวต่างประเทศ เช่น จะพบใน Golden Khersonese ของ Paul Wheatley , Langkasuka and The Early History of Patani ของ Victor Kenedy และแม้กระทั่ง ตำนานปาตานี หรือ Hikayat Patani ก็เขียนโดย A.Teew& DK.Wyatt และอื่นๆอีกมากมาย ชาวมลายูก็นำเอาข้อมูลต่างๆเหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็น “ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปาตานี” โดย อิราฮิม สุกรี

ดังนั้นประวัติมลายูปาตานีนั้น คนปาตานีแทบจะไม่ได้มีส่วนในการบันทึก หรือจินตนาการขึ้นมาเองเลย แต่จะนำเอาบันทึกของชาวต่างประเทศมาเรียบเรียง หนังสือส่วนใหญ่ที่ชาวปาตานีเรียบเรียงเองจะถูกทำลายด้วยการเผาไฟไปมากแล้ว เพราะเกรงเจ้าหน้าที่จะตรวจพบแล้วจะถูกป้ายความผิด แต่เรื่องราวปาตานีนั้นได้มีการบอกเล่าสืบทอดกันมาโดยผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าให้ลูกหลานฟังมาแต่โบราณจนกลายเป็นตำนานหรือนิทาน ไม่แตกต่างไปจากตำนานพื้นบ้านทั่วไปในทุกภูมิภาคประเทศไทย จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อปัญหาภาคใต้แต่อย่างใด

(แนะนำให้อ่านหนังสือ “เล่าขานตำนานใต้” เขียนโดย อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม และคณะ จัดพิมพ์โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล เล่มละ 190 บาท และ “ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมือง” โดย อารีฟิน บินจิ และคณะจัดพิมพ์โดยมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ราคาเล่มละ 380 บาท )

สรุป ปัญหาความขัดแย้งใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คำถามทั้งสามข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เป็นปลายเหตุเท่านั้น ส่วนต้นเหตุที่แท้จริงนั้นน่าจะมาจากปัญหาบางลักษณะที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น การปกปิดความจริง , ความอยุติธรรม, และ การเลือกปฏิบัติ ที่ชนส่วนน้อยได้รับจากรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะพบได้ทั่วไปไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ที่มีพลเมืองมีความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
เราจึงน่าจะศึกษาปัญหาเดียวกันนี้ จากประเทศที่เจริญแล้วว่า เขาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ

อารีฟิน บินจิ

ที่มา http://www.tjanews.org/cms/index.php...=3306&Itemid=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น