หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ก่อการร้ายกับโลกมุสลิม

"ก่อการร้าย" กับโลกมุสลิม
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๖๔


          ผู้คนทั้งสองฝ่าย - คือทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ค้านรัฐบาล - มักแสดงความวิตกกังวลว่า ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้อาจดึงเอาทุน และความช่วยเหลืออย่างอื่น จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายสากลในโลกมุสลิมเข้ามา หรือกลุ่มเหล่านั้นเข้ามาเอง จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป และอาจเกิดการต่อสู้ที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
          ผมไม่แน่ใจว่า ความวิตกเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งหรือมิใช่ ที่ทำให้ความขัดแย้งใดๆ ระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับรัฐหรือราชการ มักจบลงด้วยความรุนแรงเสมอ เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายเกรงว่า หากมีอะไรยืดเยื้อแล้วจะเปิดโอกาสให้ "ภายนอก" เข้ามาแทรกแซง
          ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ในอำเภอตากใบ หรือความขัดแย้งระหว่างบุคคล เช่นโต๊ะครูกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เรื่องจึงมักลงเอยที่การเก็บ, การถูกอุ้มหายไปเฉยๆ, หรือแม้แต่การสังหารหมู่
          แต่ถ้าเราหันกลับไปดูความเคลื่อนไหวในโลกของกลุ่มมุสลิมที่ถูกนิยามว่า "ก่อการร้าย" ดูบ้าง ก็จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ จะมีก็แต่เฉพาะภายใต้เงื่อนไขบางอย่างเท่านั้นและเงื่อนไขนั้น ไม่ค่อยเข้ากับสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทยนัก
          ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวในหมู่ชาวมุสลิมที่ถูกนิยามว่า "ก่อการร้าย" นั้น อาจแบ่งออกได้กว้างๆ เป็นสองประเภท
          ประเภทแรก เกิดขึ้นในบรรดาประชาชนชาวมุสลิมที่ถูกกดขี่โดยชนชาติอื่นหรือศาสนาอื่น กลุ่มหนึ่งของประชาชนเหล่านี้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง หากผู้กดขี่เป็นคนต่างศาสนา ก็มักจะอาศัยอัตลักษณ์ทางศาสนาของตัวเป็นประโยชน์ในการเคลื่อนไหว เช่นดึงดูดความร่วมมือจากประชาชนร่วมเผ่าพันธุ์และศาสนาซึ่งถูกกดขี่อยู่ด้วยกัน
          กรณีเช่นนี้คงทำให้ใครๆ นึกถึงชาวปาเลสไตน์ภายใต้การปกครองที่อยุติธรรมของอิสราเอล, ชาวเชชเนียซึ่งถูกทหารรัสเซียรังคัดรังแกอย่างเหี้ยมโหด, ชาวโมโรในสังคมที่ด้อยพัฒนาอย่างยิ่งภายใต้รัฐคาทอลิกฟิลิปปินส์, ชนเผ่าต่างๆ ในอัฟกานิสถานในสมัยที่โซเวียตยึดครอง ฯลฯ
          ผมคิดว่าจะนับรวมชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของกรณีเช่นนี้ก็น่าจะได้
          การดำเนินงานของกลุ่มเหล่านี้อาจได้รับความอุดหนุน โดยเฉพาะการเงินจากภายนอกบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญนัก และไม่เป็นหนทางนำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง ดังเช่นเมื่อเปรียบเทียบความช่วยเหลือจากภายนอก ที่ชาวโมโรในฟิลิปปินส์ได้รับ กับความช่วยเหลือที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้รับจากสหรัฐแล้ว ก็จะเห็นว่ามันน้อยจนไร้ความหมาย
          ความช่วยเหลือจากภายนอกไม่เป็นสาระสำคัญของความเคลื่อนไหวก็เพราะ เป้าหมายของการดำเนินการทั้งหมดเป็นเรื่องการเมืองภายในท้องถิ่นนั้นเอง ดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอกราชหรือเพื่อการปกครองตนเองในระดับใดระดับหนึ่งก็ตาม
          ถ้าจะมีกรณียกเว้นเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโลกอาหรับกว้างขวางมาก แต่นักรบส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวปาเลสไตน์ ทั้งที่อยู่ภายในปาเลสไตน์และอพยพไปอยู่ภายนอก อาสาสมัครจากประเทศอื่นมีจำนวนน้อยกว่ากันมาก ยิ่งกว่านี้ แม้รัฐบาลอาหรับของชาติต่างๆ เคยให้ความช่วยเหลือขนาดทำสงครามกับอิสราเอลโดยตรง แต่ก็มีเป้าหมายอื่นนอกจากช่วยปลดปล่อยปาเลสไตน์อยู่ในใจด้วย เช่น สร้างสมดุลแห่งอำนาจในตะวันออกกลางใหม่ เป็นต้น จึงเป็นกรณีที่อาจเรียกได้ว่า "ท้องถิ่น" อยู่นั่นเอง
          ในกรณีที่ผู้กดขี่เป็นมุสลิมด้วยกันเช่น ชาวเคิร์ดในอิรัก ความช่วยเหลือมาจากแหล่งที่ไม่เกี่ยวกับอิสลามเลย เช่นสหรัฐเป็นต้น หรือกรณีของกลุ่มมุสลิมปากีสถานที่เข้าไปก่อกวนในแคว้นกัษมิระของอินเดีย ส่วนสำคัญของอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ใช้กลับเป็นของประเทศจีน เพราะความใกล้ชิดกับจีน เป็นต้น
          ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะเน้นในที่นี้ก็คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมุสลิมเหล่านี้ คือการต่อสู้ของกลุ่มชนชาติหนึ่งที่ต้องการปลดปล่อยตนเอง จากการปกครองที่เห็นว่ากดขี่บีฑาจากคนต่างชาติต่างศาสนา อิสลามเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเรียกร้องความร่วมมือจากชนชาติเดียวกันเท่านั้น จึงไม่ต่างอะไรจากความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันของคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม เช่นการเคลื่อนไหวของชาวทมิฬในศรีลังกา หรือชาวอาเจะห์ในอินโดนีเซีย หรือชาวโรฮิงยาในพม่า เป็นต้น
          ผมเชื่อว่า เราจะเข้าใจความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้จากการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ และต่างวัฒนธรรมในรัฐนั้นๆ มากกว่ายกความขัดแย้งทั้งหมดไปกองไว้กับความเป็นอิสลาม

          เช่นเดียวกับในกรณีภาคใต้ ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องศาสนาเป็นหลัก เท่ากับเรื่องของความเป็นมลายู ซึ่งไม่มีพื้นที่ในสังคมการเมืองไทยเอาเลย ฉะนั้น การอ้างความกลมกลืนทางศาสนาของชาวไทยที่นับถืออิสลามในภาคกลาง จึง "ผิดฝาผิดตัว"....ไม่เข้ากับเรื่องที่เกิดขึ้น
          การกระทำทั้งหมดเหล่านี้ มีเป้าหมายทางการเมืองในท้องถิ่นหรือในพื้นที่มากกว่าศาสนา (มุสลิมอาจพูดว่าการเมืองกับศาสนาแยกออกจากกันไม่ได้) และประชาชนชาวมุสลิมเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว ก็ถูกปฏิบัติอย่างเลวทรามจากรัฐที่ปกครองอยู่จริงเสียด้วย ในแง่หนึ่งจึงเป็นการกระทำที่น่าเห็นใจทั้งแก่ชาวมุสลิมด้วยกันและไม่ใช่มุสลิม (เช่นชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์เป็นต้น) แม้ผู้เห็นใจอาจไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการที่พวกเขาใช้ในการต่อสู้ก็ตาม
          (ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การใช้ความรุนแรงในนามของอิสรภาพของชนชาติ จะถูกต้องกว่าการใช้ความรุนแรงในนามของศาสนานะครับ)
          แต่ถึงอย่างไรก็ต้องสรุปว่า "การก่อการร้าย" ประเภทที่หนึ่งของมุสลิมที่เราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ นั้น ที่จริงไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับรัฐที่ปกครองมุสลิมไม่ดีพอที่จะทำให้เขายอมรับได้ว่ายุติธรรม เป็นความขัดแย้งของ "ท้องถิ่น" หนึ่งๆ มากกว่าจะเรียกได้ว่า "สากล" อย่างที่อเมริกันชอบเรียก
          "การก่อการร้าย" ประเภทที่สองของมุสลิมในโลกที่อาจเรียกได้ว่า "สากล" สักหน่อย กระทำกันในนามของศาสนาอิสลาม โดยไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งให้การสนับสนุน แต่เป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนจากหลายรัฐ อาศัยความเป็นมุสลิมด้วยกันเป็นอุดมการณ์เพื่อจะเคลื่อนไหวภายใต้การจัดองค์กรร่วมกัน
          แต่เป้าหมายก็ยังเป็นการเมืองอยู่นั่นเอง แม้ไม่ใช่การเมืองใน "ท้องถิ่น" ใดโดยเฉพาะ แต่ก็เป็นการเมืองระดับโลก พวกเขาวิเคราะห์ว่า สหรัฐ คือต้นตอสำคัญที่ทำให้โลกมุสลิมถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ (ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, วํฒนธรรม และศาสนา) ไปทั่ว ฉะนั้น เป้าหมายทางการเมืองคือทำสงครามกับสหรัฐและก็เหมือนสงครามระหว่างรัฐ คือใช้ความรุนแรงกระทำต่อกันอย่างถึงที่สุด โดยไม่มีการแยกระหว่างเป้าหมายทางทหารกับไม่ใช่ เหมือนสงครามที่รัฐกระทำในความเป็นจริงก็ไม่ได้แยกระหว่างเป้าหมายทางทหารและไม่ใช่เหมือนกัน
          ไม่เชื่อก็ถามชาวอิรักดูก็ได้

          ทุกคนคงนึกถึงกลุ่มอัลกออิดะห์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด แม้ว่ากลุ่มนี้อาจมีเป้าหมายทางการเมืองของ "ท้องถิ่น" คือ ซาอุดีอาระเบียอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่จุดเน้นที่สำคัญเท่ากับการต่อสู้กับสหรัฐ เพราะสหรัฐเป็นกุญแจสำคัญของการเมืองในตะวันออกกลาง หรือทั่วทั้งโลก
          สมัยก่อนประธานาธิบดีกัดดาฟีแห่งลิเบียก็ดำเนินการทำนองเดียวกันอย่างนี้
          พวกนี้อาจให้ความช่วยเหลือแก่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของมุสลิมในที่อื่นๆ บ้าง แต่ล้วนต้องมีเป้าหมายตอบสนองยุทธศาสตร์ใหญ่ คือต่อสู้กับสหรัฐ ไม่ใช่การเมือง "ท้องถิ่น" เพียงอย่างเดียว
          จนถึงนาทีนี้ ผมอยากจะสรุปโต้งๆ ไปเลยว่า ยังมองไม่เห็นกรณีใดที่แสดงว่ากลุ่มนี้ได้คืบคลานไปใกล้ความสำเร็จสักแห่ง การถล่มตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ กลับยิ่งทำให้เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองระดับโลกมากขึ้น แม้แต่กลุ่มผลประโยชน์น้ำมันของอเมริกันที่เคยใกล้ชิดสนิทสนมกับกลุ่มนี้มาก่อน ยังต้องถอยหรืออย่างน้อยก็ไม่กล้าปล่อยให้ความสัมพันธ์นั้นเป็นที่เปิดเผยได้อีก แม้ว่าอเมริกันไม่สามารถตัดรากถอนโคนกลุ่มอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานได้ แต่พันธมิตรของกลุ่มอัลกออิดะห์คือ ตาลิบัน กลับสูญเสียฐานที่มั่นอันปลอดภัยของตัวในอัฟกานิสถานไปหมด มาตรการทางการเงินทำให้การไหลเวียนของทุนอัลกออิดะห์ไม่คล่องตัวอย่างเคย
          ความช่วยเหลือที่กลุ่มนี้ให้แก่ความเคลื่อนไหวของมุสลิมใน "ท้องถิ่น" ต่างๆ ทั่วไป (ตามที่อเมริกันอ้าง) ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มเหล่านั้นประสบชัยชนะตามเป้าหมายของตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในฟิลิปปินส์, กัษมิระในอินเดีย, ปาเลสไตน์, ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ ถึงจะระเบิดโน่นระเบิดนี่ได้ แต่เมื่อมองยุทธศาสตร์โดยรวมแล้ว กลับเป็นฝ่ายถอยมากกว่ารุก
          ว่าเฉพาะกรณีภาคใต้ของไทย ผมคิดว่าค่อนข้างชัดเจนว่าจัดอยู่ในประเภทแรก คือเป็นความขัดแย้งใน "ท้องถิ่น" หนึ่ง ฉะนั้น จึงไม่มีทางที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นชิ้นเป็นอันจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งภายนอก
          ไม่ว่ากลุ่มที่ต่อต้านรัฐไทยอยู่เวลานี้จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็ไม่มีผลแต่อย่างใดต่อดุลย์แห่งอำนาจในโลกระหว่างสหรัฐกับโลกอิสลาม โดยเฉพาะในกลุ่มอาหรับ อีกทั้งกลุ่มที่ต่อต้านรัฐไทยเวลานี้ก็ไม่ได้แสดงความเป็นอริกับสหรัฐอย่างชัดเจนนักด้วย
          ผมจึงเชื่อว่า ความวิตกห่วงใยว่าความเคลื่อนไหวของชาวมลายูมุสลิมบางกลุ่มในภาคใต้เวลานี้ จะแปรเปลี่ยนไปเป็นการ "ก่อการร้าย" ข้ามชาติก็ตาม, สงครามระหว่างชาวมุสลิมทั้งโลกกับไทยก็ตาม ฯลฯ เป็นความวิตกที่เกินเหตุ เพราะโอกาสที่จะแปรเปลี่ยนเป็นเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ยาก
          ผมยังมีความสงสัยอยู่อีกสองอย่างที่เกี่ยวกับโลกมุสลิมและมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องที่วิเคราะห์ข้างต้นด้วย
          ๑. ชาวอาหรับมองมุสลิมที่ไม่ใช่อาหรับอย่างเดียวกันหรือไม่ ? เช่น ห่วงใยต่อชะตากรรมของชาวอาเจะห์เท่ากันกับห่วงใยต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์หรือไม่ เป็นต้น
          ๒. ผมรู้สึกว่ามุสลิมในภาคใต้ใกล้ชิดกับโลกอาหรับมากกว่ามุสลิมภาคกลาง อย่างน้อยก็เพราะเขาไปศึกษาในตะวันออกกลางมากกว่า ตลอดจนความรู้ภาษาอาหรับก็แพร่หลายในหมู่ชาวมุสลิมมากกว่า
          คำถามก็คือโลกอาหรับเชื่อถือข้อมูลจากฝ่ายใดมากกว่ากัน ?.. .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น