หน้าเว็บ

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีมือที่สาม

ทฤษฎีมือที่สาม


‘ทฤษฎีมือที่สาม’ กับการก่อการร้าย


พลันที่เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงมัสยิดอัลกุรกอนที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะชาวบ้านกำลังทำพิธีละหมาด เมื่อวันที่ ๘ มิ.ย.๒๕๕๒ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพื่อนมุสลิมผู้รู้ในพื้นที่ให้คำอธิบายทันทีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นฝีมือของ ‘มือที่สาม’
 มือที่สามที่ว่า ก็น่าจะเป็นผลพวงจากการปะทะระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม หรือไม่ก็กลุ่มผลประโยชน์ที่แอบอิงอาศัยหากินอยู่กับปัญหาไฟใต้ โดยกลุ่มที่ลงมือปฏิบัติการเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ หรือ ‘ผู้รับจ้าง’ ซึ่งอาจเป็นคนไทยพุทธ (ทหาร-ตำรวจ นอกแถว) หรือเป็นคนไทยมุสลิม (พวกติดยาเสพติด-สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน) และยังทำนายต่อไปว่า “คอยติดตามดูภายในวันสองวันนี้จะต้องมีการฆ่าทำร้ายพระสงฆ์ ทำลายศาสนสถาน หรือมีการทำร้ายพี่น้องไทยพุทธแน่นอน”
 

 

ถัดมาจากนั้น มหกรรมการก่อการร้ายชุดใหญ่ก็เกิดขึ้นไล่เลียงกัน ตั้งแต่คนร้ายควงอาวุธสงครามยิงถล่มรถขายอาหารเร่บนถนนสายจะแนะ-สุคิริน ท้องที่บ้านกูมุง หมู่ ๒ ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ สองสามีภรรยาเสียชีวิตทันที โดยฝ่ายหญิงกำลังตั้งท้อง ๔ เดือน, คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่พระสงฆ์ขณะออกบิณฑบาต บนทางหลวงสาย ๔๑๘ คลองขุด-ท่าสาป ท้องที่หมู่ ๕ ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้มีพระสงฆ์มรณภาพ ๑ รูป บาดเจ็บสาหัสอีก ๑ รูป
 คนร้ายขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงเข้าไปในรถโดยสารประจำทางสายบ้านนิคมกือลอง-นครยะลา บนถนนทางลัดสายมลายูบางกอก-พงยือไร ท้องที่หมู่ ๒ ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย และบาดเจ็บอีก ๑๓ คน, คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงสองสามีภรรยาอาชีพคนงานก่อสร้างที่บ้านปงยามู หมู่ ๓ ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิตทั้งคู่, คนร้ายลอบนำระเบิดชนิดแสวงเครื่องเข้าไปซุกไว้ในตู้แช่เครื่องดื่มในร้านขายของชำชื่อ หล่วนดง ในเขตเทศบาลตำบลบาเจาะ แรงระเบิดทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ ๖ ราย และ ฯลฯ อีกมากมาย
 จากเหตุการณ์ร้ายรอบใหม่ที่เกิดขึ้นไม่กี่วันนี้ หน่วยงานภาครัฐเองให้เหตุผลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามของผู้ก่อการที่ต้องการเสี้ยมให้พี่น้องพุทธ-มุสลิม ขัดแย้งกัน นำมาซึ่งการปะทะล้างแค้น เกิดความรุนแรง เพื่อยกระดับเหตุการณ์หวังผลให้แปรเป็น ‘เสียง’ ที่ฟ้องไปยังองค์กรระหว่างประเทศ
 นั่นทำให้หลายฝ่ายต้องหันกลับมาทบทวนประเด็นวิกฤตไฟใต้กันใหม่ เพราะกลับกลายเป็นว่าทุกอย่างเหมือนย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่ ‘ศูนย์’ แม้นช่วงที่ผ่านมาต่อประเด็นการจัดการปัญหาภาคใต้ กล่าวกันว่าทหารมีบทบาทเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่ามาถูกทางและได้ผลในทางปฏิบัติ โดยยกเอาสถิติตัวเลขการก่อเหตุที่ลดลง แต่พอเกิดเหตุรุนแรงขึ้นแต่ละครั้ง ผู้ตกเป็นจำเลยก็ย่อมไม่พ้นทหารหรือบรรดานักการเมืองที่มักจะออกมาลอยหน้าลอยตาพูดทุกครั้งไปว่า “เรามาถูกทางแล้วๆ”
 ตลอดการเกิดไฟใต้รอบใหม่นี้ เป็นอีกครั้งที่มีความพยายามหยิบยกทฤษฎีต่างๆ มากมายมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทฤษฎีความรุนแรงของฝ่ายรัฐ ทฤษฎีกบฏชาวนาอันลือลั่นของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และที่สำคัญ ณ เวลานี้คือเรื่องของ ‘ทฤษฎีมือที่สาม’
 ผู้ที่หยิบยกทฤษฎีมือที่สามขึ้นมาพยายามอธิบายว่า ปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยตรง แต่เบื้องหลังของการกระทำทั้งหมดเป็นเรื่องของ ‘ผลประโยชน์และอำนาจ’ ซึ่งเกิดจากฝีมือบุคคลหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้ายาเสพติด พ่อค้าอาวุธ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ นักการเมืองทั้งระดับประเทศ-ท้องถิ่น หรือพ่วงไปถึงเรื่องงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐที่ลงสู่พื้นที่อย่างมโหฬาร  
 ทั้งหลายทั้งมวลเพียงได้อาศัยโครงข่ายจัดตั้งของผู้ก่อการซึ่งมีความคับแค้นจากความ ‘อยุติธรรม’ ที่ได้รับจากภาครัฐหรือเยาวชนผู้ติดยาเสพติดเป็นตัวจุดชนวน ดังเช่นการหยิบยกบาดแผลจาก ‘กรณีตากใบ’ เป็นต้น เนื่องเพราะผู้ปฏิบัติการเป็นเพียงหน่วยงานย่อยหรือเซลส์ (Cells) แต่มีลักษณะการบังคับบัญชากกระจัดกระจาย เหมือนเป็นเครือข่าย หรืออีกทีก็เหมือนแยกส่วนกัน ทำให้นอกจากการปฏิบัติงานจะแยกส่วนกันไปแล้ว การจะ ‘เรียกใช้’ แต่ละเซลส์พลอยแยกส่วนกันไปด้วย
 ปัญหาคือ ‘ไอ้โม่ง’ จอมบงการที่เรียกใช้งานบรรดาเซลส์เหล่านี้คือใครกันแน่?
 

 
 



 

 ผู้นำศาสนาในพื้นที่หยิบยกข้อความในหนังสือ ‘อิสลาม ความจริงที่ต้องเปิดเผย’ เอกสารที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดโดยคณะที่ปรึกษาฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม (อูลามะฮฺ) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในประเด็นเรื่อง “ปัญหาการอยู่ร่วมกับศาสนิกอื่น” กรณีสาเหตุที่ว่า “คนส่วนหนึ่งถูกสอนให้เชื่อว่า การคบค้าสมาคมกับคนต่างศาสนาเป็นบาป ไม่สามารถอยู่ร่วมกับกาฟิร และผู้ที่ไม่เป็นมุสลิมบางส่วนก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน” พร้อมกับอรรถาธิบายข้อพิจารณาอย่างชัดเจนว่า ศาสนาอิสลามเรียกร้องสันติภาพและยึดมั่นในหลักการแห่งความเข้าใจ ความรัก และเอื้ออาทรระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อิสลามปฏิเสธความคิดพฤติกรรมสุดโต่งและความรุนแรงโดยสิ้นเชิง
 การประชุมใหญ่ระดับโลก เรื่องมุสลิมกับเพื่อนต่างศาสนิก (We&The other) ซึ่งจัดโดยกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ร่วมกับสภาสูงสุดเพื่อการธำรงสายกลาง ณ โรงแรมเชอราตัน ประเทศคูเวต เมื่อ ๖-๘ มีนาคม ๒๕๔๙ ที่ประชุมมีมติร่วมกันพอสรุปได้ ดังนี้
 “ความหลากหลายทางศาสนา ภาษา และเผ่าพันธุ์ ถือเป็นพื้นฐานทางธรรมชาติและข้อเท็จจริงของสังคมมนุษย์ โดยที่ความหลากหลายในเรื่องดังกล่าว ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างที่จะสร้างความบาดหมางและเป็นศัตรูระหว่างกัน และขอประกาศเจตนารมณ์แห่งการยึดมั่นหลักสายกลาง และต่อต้านพฤติกรรมอันนำไปสู่ความรุนแรงและความบาดหมางระหว่างผู้คนในสังคม”
 

 
 

 “เช่นเดียวกับหลักปฏิบัติของทุกศาสนาที่มุ่งสอนให้คนเป็นคนดี ศาสนาพุทธเองก็มีหลักยึดเรื่องทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา การไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ถามว่าหากมีคนไปทำร้ายพระสงฆ์ขณะสวดมนต์อยู่ในโบสถ์ ชาวพุทธจะคิดอย่างไร ก็เหมือนกับที่มีคนไปทำร้ายคนมุสลิมขณะละหมาด เหล่านี้แน่นอนว่าไม่ใช่คนที่ยึดมั่นในหลักศาสนาที่แท้จริงแน่เป็นคนกระทำ” ผู้รู้ในทางศาสนาอธิบาย
 นักการศาสนาจึงเชื่อว่า เป็นไปได้ไม่ได้ว่า เหตุการณ์รุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะกระทำโดยคนที่ยึดมั่นในหลักการศาสนา ใช้ชีวิตอยู่ในอาณาจักรแห่งศรัทธา ไม่ว่าเป็นศาสนิกของศาสนาใดก็ตาม
 แต่จะเป็นใครนั้น? คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเร่งหาคำตอบ เพื่อไขปมปริศนาของ ‘ทฤษฎีมือที่สาม’ ให้จงได้ ก่อนที่ชาวบ้านในพื้นที่จะรู้สึกว่า ‘พึ่งพิงอำนาจรัฐ’ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว !!
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น