หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554


อีแร้งภูเขาทอง
อีแร้งภูเขาทอง

พระเจดีย์วัดภูเขาทอง กรุงศรีอยุธยา

พระเจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ กรุงเทพฯ

   
    วันก่อนบรรยายเรื่องการประหารชีวิตด้วยการตัดคอไปแล้ว วันนี้มีอะไรจะให้ดูอีก เป็นภาพที่ต้องเรียกว่า "หาดูได้ยากจริงๆ" เพราะแม้แต่ผู้เขียนแต่ไหนแต่ไรก็เคยได้ยินได้ฟังแต่คนพูด หรืออ่านเจอสำนวนไทยในหนังสือว่า"แร้งภูเขาทอง" บ้าง "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์" บ้าง เด็กสมัยปัจจุบันไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุบนบรมบรรพตหรือภูเขาทองวัดสระเกศ เห็นสถานที่ร่มรื่นชื่นตา ไม่มีวี่แววให้เห็นว่าที่นี่เคยเป็นสุสานหรือป่าช้ามาก่อน
  แร้งภูเขาทองหรือแร้งวัดสระเกศเป็นแร้งกลุ่มเดียวกัน คือภูเขาทองนั้นสร้างไว้ในวัดสระเกศ แต่เวลาคนจะเรียกแล้วบางทีก็เรียกเป็นแร้งวัดสระเกศ หรือถ้าจะเอาให้ชัดเจนก็ชี้ขึ้นไปบนยอดดอยซึ่งมีพวกแร้งจับสุมกันอยู่บนนั้นว่า "แร้งภูเขาทอง" เป็นการกำหนดสถานที่ของแร้งให้แคบเข้า
     วัดสระเกศนั้นแต่เดิมท่านว่าชื่อ "วัดสระแก" มีมาแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น ครั้นถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้บูรณะขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ มีความหมายว่าเป็นที่สรงสนานพระเศียร (มุธาภิเษก) เนื่องในคราวเสด็จจากนอกพระนคร และถือว่าวัดสระเกศเป็นต้นทางการเตรียมเสด็จเข้าสู่พระนครด้วย ถ้าเปรียบกับราชสำนักพระเจ้าเชียงใหม่สมัยโบราณแล้ว วัดสระเกศก็เท่ากับวัดเจ็ดลินที่พระเจ้าเชียงใหม่ทุกพระองค์จะเสด็จมาสรงน้ำมุรธาภิเษก ณ วัดนั้น จากนั้นทรงโปรดให้ขุดคลองขึ้นมาทางด้านเหนือของวัดสระแก แล้วพระราชทานนามว่า "คลองมหานาค" เป็นการถวายเกียรติแก่พระภิกษุรูปหนึ่งในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกว่า
     พ.ศ.2091 พระเจ้าตองอูเกตุมดีตะเบงชะเวตี้ ทรงโปรดให้เกณฑ์ทัพนับจำนวนพลทหาร 30 หมื่น ช้างเครื่อง 700 ม้ารบ 3,000 ให้พระมหาอุปราชเป็นกองหน้า ให้พระเจ้าแปรเป็นเกียกกาย ให้พระยาพสิมเป็นกองหลัง ยกออกในวันอาทิตย์ เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ เพลาอุษาโยค มุ่งหมายจะตีเอาพระนครศรีอยุธยาไว้ในอำนาจ
     ฝ่ายพระมหานาคบวชอยู่วัดภูเขาทอง สึกออกรับศึกพม่า ตั้งค่ายกันทัพเรือตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พวกสมกำลังญาติโยมทาสชายหญิงของมหานาคช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่า คลองมหานาค
    นั่นคือวีรกรรมของพระกู้ชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยา นามของท่านคือ พระมหานาค หรือทิดมหานาค จึงได้รับการจารึกไว้ในชื่อของลำคลองสองสาย ทั้งคลองมหานาคกรุงศรีอยุธยาและคลองมหานาคกรุงเทพมหานคร
    วัดสระเกศนั้นสมัยนั้นเป็นวัดอยู่นอกกำแพงเมือง ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้นรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ขุดคลองมหานาคสำเร็จแล้ว ก็ทรงมีพระราชดำริจะสร้างสะพานช้างตรงใต้ปากคลองมหานาคเพื่อเชื่อมเข้ามายังภายในกรุงเทพมหานคร แต่พระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ได้ถวายพระพรทัดทานว่า "ซึ่งจะทรงสร้างสะพานช้างข้ามคูพระนครนั้นอย่างธรรมเนียมแต่โบราณมาไม่เคยมี แม้มีการสงครามถึงพระนคร ข้าศึกก็จะข้ามมาถึงชานพระนครได้โดยง่าย" ปรากฏว่าทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงโปรดให้ยกเลิกเสีย
    สำหรับประวัติการสร้างสุวรรณบรรพตหรือภูเขาทองขึ้นที่วัดสระเกศนั้นท่านว่าเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หวังจะสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองเหมือนอย่างในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครั้งหนึ่งท่านสุนทรภู่ขณะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดราชบุรณะ เคยเดินทางไปชมและได้แต่งนิราศภูเขาทองขึ้น มีข้อความที่ท่านพรรณนาถึงวัดและพระเจดีย์ภูเขาทอง ดังนี้







ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจสันโดษเด่น
ที่พื้นลานฐานบ้ทม์ถัดบันได
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น
ประทักษิณจินตนาพยายาม
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์
ทั้งองค์ฐานราญร้าวถึงเก้าแสก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น
เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
เผลอแยกสุดยอดก็หลุดหัก
เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น

   นั่นแหละคือพระเจดีย์วัดภูเขาทองกรุงศรีอยุธยาซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแม่แบบของพระเจดีย์ที่วัดสระเกศ แต่ท่านระบุว่า การก่อสร้างยังมิทันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตไปเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสืบสานพระราชปณิธานก่อสร้างต่อมา แต่ว่าก็ไม่ทันสำเร็จอีก ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจดีย์ภูเขาทองจึงสำเร็จ รวมเวลาก่อสร้างนานถึง 3 รัชกาลด้วยกัน



   และทีนี้ก็จะเข้าเรื่องแร้งว่ามายังไงไปยังไงถึงได้จับจองภูเขาทองวัดสระเกศไปเป็นเขาอีแร้งแข่งกับเขาคิชฌกูฏเมืองราชคฤห์ประเทศอินเดีย มูลเหตุนั้นท่านว่าวัดสระเกศในตอนต้นรัตนโกสินทร์มาถึงประมาณ รัชกาลที่ 5 ปลายๆ นั้น เป็นป่าช้าผีดิบ คือนำเอาศพไปทิ้งสดๆ ไว้ในบริเวณนั้น และนั่นเองที่เป็นแรงดึงดูดให้ฝูงแร้งชักชวนกันมากินศพ และเพื่อให้ง่ายต่อการทำมาหากินก็จึงบินขึ้นไปจับเจ่าอยู่บนยอดภูเขาทองคอยเวลาคนจะนำศพมาทิ้ง
    แร้งนั้นเป็นสัตว์ปีกขนาดใหญ่ มีปกติออกหากินในเวลากลางวัน ต่างกับนกฮูกซึ่งนิยมออกหากินในเวลากลางคืน แร้งจึงเป็นสัตว์สายตาดีที่สุดในตอนกลางวัน ส่วนนกฮูกนั้นก็ดีที่สุดในตอนกลางคืน นักดูนกยอมรับว่าแร้งมีสายตาดีกว่ากล้องเทเลสโคปที่ใช้ส่องดูนกเสียอีก แร้งสามารถมองเห็นซากสัตว์ในระยะห่างไกลกว่า 1 ไมล์ หรือ 2 กิโลเมตรโดยประมาณ คนสมัยโบราณเวลาเดินทางกลางป่า ถ้าแหงนขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วเห็นฝูงอีแร้งบินวนอยู่ตรงไหนก็เข้าใจได้ว่า "ตรงนั้นมีซากสัตว์ตาย"
    ส่วนสายพันธุ์ของแร้งนั้นท่านว่ามีหลายสี ทั้งสีดำ สีแดง สีเทา สีน้ำตาล บางชนิดมีสีขาวแซมปีกด้วย และอาศัยอยู่ทุกทวีป เพียงแต่รูปร่างลักษณะอาจจะแตกต่างกันบ้าง หากแต่พฤติกรรม "กินศพ" นั้นเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แร้งพันธุ์ตัวใหญ่ที่สุดนั้นท่านเรียกว่า พญาแร้ง


   การกินศพของแร้งนั้นถ้ามองด้วยสายตาธรรมดาๆ ก็เห็นว่า "เป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจ" เพราะศพหรือซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นของเน่าเหม็น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า "แร้งเป็นสัตว์มีคุณธรรม" จะไม่กินสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือถ้าไม่ตายแล้วแร้งจะไม่แตะ แต่พฤติกรรมของสัตว์อื่นๆ นั้นจะฆ่าสัตว์อื่นเพื่อกิน แต่แร้งไม่เคยฆ่าใคร เพียงแต่ว่าพฤติกรรมการกินของแร้งค่อนข้างจะมูมมามหน่อยเท่านั้น จุดที่แร้งจะแย่งกันกินเป็นอันดับแรกนั้นท่านว่าคือ "ตา" ไม่ว่าจะเป็นตาของสัตว์หรือคน ถ้าแร้งตัวไหนไปถึงศพก่อนก็จะจิกกินลูกกะตาก่อนเพื่อน นับเป็นพฤติกรรมที่แปลก
   มีสำนวนไทยเกี่ยวกับแร้งอยู่มากมาย เช่น เวลาฝูงแร้งลงแย่งศพนั้นท่านว่าเป็นมหกรรมที่สนุกสนานมาก เพราะแร้งจะจิกตีทะเลาะเบาะแว้งแย่งกันกินศพเป็นที่สับสนอลเวง เสียงของแร้งในเวลาแย่งกันนั้นท่านว่าฟังไม่ได้ศัพท์ เอาแม่ค้าเป็นกองทัพมาด่าแข่งกับแร้งแล้วยังสู้ไม่ได้ สำนวนไทยที่ว่า "แร้งทึ้ง" จึงหมายถึงการแก่งแย่งกันจนน่าขยะแขยง ไม่มีกติกาและมารยาทเหมือนการเมืองไทยสมัยปัจจุบัน
     แร้งนั้นไม่ว่าสีอะไรก็สามารถอยู่และหากินร่วมกันได้โดยสันติไม่เอาเป็นเอาตาย ต่างกับคนบางประเทศพอใส่เสื้อต่างสีนิดหน่อยก็แบ่งเป็นมึงเป็นกูถึงกับฆ่ากันตาย ทั้งนี้เพราะเคยมีคนเห็นแร้งต่างพันธุ์ต่างสีอยู่รวมกลุ่มและกินซากศพด้วยกัน แม้ว่าจะทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างเหมือนลิ้นกับฟัน แต่ก็ไม่ถึงกับฆ่ากันตาย เอ๊ะเขียนไปชักจะไม่ใช่เรื่อง "อีแร้ง" เสียแล้ว แต่กลายเป็น "อีเหลือง-อีแดง" แทน



     "สาบแร้งสาบกา" ก็เป็นอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งนำเอากลิ่นของแร้งซึ่งเน่าเหม็นเหมือนศพนั้นมาเปรียบเทียบกับกลิ่นของคน ใครมีกลิ่นตัวระดับ "สาบแร้งสาบกา" ก็หมายถึงว่าเหม็นไม่ต่างจากซากศพ
     มีประวัติเล่าว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม และหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร ก็นิยมมาเจริญอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาศพเป็นมรณานุสติที่ป่าช้าวัดสระเกศแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าท่านต้องเคยเห็นอีแร้งพวกนี้แน่ แต่ถึงปัจจุบันนั้นไม่มีใครเคยเห็น เพราะว่าที่วัดสระเกศนั้นสร้างเมรุเผาศพไว้อย่างดี มิใช่ป่าช้าผีดิบเหมือนสมัยโบราณอีกต่อไปแล้ว

     ภาพที่จะนำเสนอด้านล่างนี้ เป็นภาพศพและแร้งที่มากินศพในวัดสระเกศ สภาพของศพนั้นท่านบรรยายว่าเป็นศพเดียวกัน โดยภาพแรกนั้นเป็นศพสมบูรณ์อยู่ แต่ศพที่สองนั้นมีการเฉือนศพให้แร้งกินเพื่อถ่ายภาพด้วย พวกแร้งในภาพนั้นอาจจะสังเกตยากซักหน่อย เพราะฟิล์มสมัยเก่าเป็นขาวดำ แร้งซึ่งมีโทนสีออกดำอยู่แล้ว เดินเกะกะอยู่รอบๆ กำแพงซึ่งโทนดำด้วยกัน ยิ่งทำให้ดูยากยิ่งขึ้น แต่ถ้าดูให้ดีก็จะเห็นหลายสิบตัวทีเดียว ผู้ชายที่ยืนอยู่ในรูปนั้นต้องถือไม้ไว้กันอีกแร้งไม่ให้แย่งศพในเวลาถ่ายรูป

อีแร้งวัดสระเกศ
บันทึกภาพในปี พ.ศ.2440

ภาพที่ 1


ภาพที่ 2

ภาพจากหนังสือ "เปิดกรุภาพเก่า"
ของ เอนก นาวิกมูล


    
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น