ญิฮาด : ความหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
| |
ญิฮาด : ความหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
คำถาม : อัสลามูอาลัยกุม ท่านช่วยกรุณาอธิบายแนวคิดที่แท้จริงและเจตนารมณ์ ของการญิฮาดในอิสลามได้หรือไม่? ญะซากุมุลลอฮูฆอยร็อน คำตอบ : อัลลอฮฺกล่าวว่า
((وَجَاهِدُوْا فِىْ اللّٰهِ حَقَّ جِهَادِهؕ هُوَ اجْتَبٰٮكُمْ وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِىْ الدِّيْنِ
مِنْ حَرَجٍؕ مِلَّةَ اَبِيْكُمْ اِبْرٰهِيْمَؕ هُوَ سَمّٰٮكُمُ الْمُسْلِمِيْنَ ۙ مِنْ قَبْلُ وَفِىْ هٰذَا لِيَكُوْنَ الرَّسُوْلُ شَهِيْدًا عَلَيْكُمْ وَتَكُوْنُوْا شُهَدَآءَ عَلَى النَّاسِۖۚ فَاَقِيْمُوْا الصَّلٰوةَ وَاٰتُوْا الزَّكٰوةَ وَاعْتَصِمُوْا بِاللّٰهِؕ هُوَ مَوْلٰٮكُمْۚ فَنِعْمَ الْمَوْلٰى وَنِعْمَ النَّصِيْرُ)) “และ จงต่อสู้เพื่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่แท้จริงเพื่อพระองค์ พระองค์ทรงคัดเลือกพวกเจ้า และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา(ที่ไม่ ลำบาก) คือศาสนาของอิบรอฮีม บรรพบุรุษของพวกเจ้า พระองค์ทรงเรียกชื่อพวกเจ้าว่ามุสลิมีน ในคัมภีร์ก่อน ๆ และในอัล กุรอานเพื่อร่อซู้ลจะได้เป็นพยานต่อพวกเจ้า และพวกเจ้าจะได้เป็นพยานต่อมนุษย์ทั่วไป ดังนั้นพวกเจ้าจงดำรงการละหมาด และบริจาคซะกาต และจงยึดมั่นต่ออัลลอฮ์ พระองค์เป็นผู้คุ้มครองพวกเจ้า เพราะพระองค์คือผู้คุ้มครองที่ดีเลิศ และผู้ทรงช่วยเหลือที่ดีเยี่ยม” (อัลฮัจญ์ 22: 78)
การญิฮาดเป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดและเป็นแง่มุมที่ถูกกล่าวหามากที่สุดของอิสลาม มุสลิมบางคนได้ใช้ประโยชน์และใช้แนวคิดนี้ในทางที่ผิด โดยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตัวเอง ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากซึ่งไม่เข้าใจสิ่งนี้ได้ตีความเรื่องนี้ผิดๆโดย หวังทำลายเกียรติของอิสลามและมุสลิม
การญิฮาดคืออะไร?
คำว่าญิฮาดไม่ได้แปลว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์” แต่หมายถึง “พยายามอย่างหนัก” หรือ “ดิ้นรนโดยสุดกำลัง” ส่วนคำว่าสงครามอัลกุรอานใช้คำว่า ฮัรบฺ หรือ กิตาล การ
ญิฮาดหมายถึง
ความจริงจังและต่อสู้อย่างบริสุทธิ์ใจในระดับตัวเองเช่นเดียวกับระดับสังคม
ญิฮาดคือความพยายามทำในสิ่งที่ดีและขจัดความอยุติธรรม,การถูกกดขี่และความ ชั่วร้ายออกจากสังคม การต่อสู้นี้ควรต่อสู้ในด้านจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับด้านสังคม เศรษกิจ และการเมือง การญิฮาดนั้นเป็นการทำงานหนักเพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ในอัลกุรอานคำนี้นั้นถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่ต่างกัน 33 ครั้ง โดยมักจะมาพร้อมกับแนวคิดต่างๆของอัลกุรอาน เช่น การศรัทธา การเตาบัตตัว การงานที่ดีและการอพยพ การญิฮาดคือการปกป้องความศรัทธาและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ การญิฮาดนั้นไม่ใช่การทำสงครามเสมอไป แม้ว่ามันสามารถทำในรูปแบบของสงคราม อิสลามป็นศาสนาแห่งสันติภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอิสลามจะยอมรับการถูกกดขี่ อิสลามสอนให้เราดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างสุดความสามารถเพื่อขจัดความ ตึงเครียดและความขัดแย้ง อิสลามส่งเสริมวิธีการที่ไม่รุนแรงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป แท้ที่จริงแล้ว อิสลามเรียกร้องให้แต่ละคนขจัดความชั่วด้วยสันติวิธีโดยปราศจากการใช้ความ รุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประวัติศาสตร์อิสลามนับจากท่านนบี(ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม)ยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มุสลิมส่วนใหญ่ได้ต่อต้านการกดขี่และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในวิธีที่ไม่รุนแรงและท่าทีที่สมานฉันท์ อิสลามสอนจริยธรรมที่เหมาะสมในสภาวะของสงครามอีกด้วย การทำสงครามเป็นที่อนุญาตในอิสลามก็ต่อเมื่อสันติวิธีอื่นๆ เช่น การสนทนา การเจรจาและการทำสนธิสัญญานั้นไม่เป็นผล การทำสงครามคือสิ่งสุดท้ายและควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ วัตถุประสงค์ของการญิฮาดนั้นไม่ใช่เพื่อการเปลี่ยนศาสนาคนด้วยการใช้แรง บังคับ หรือเพื่อตั้งอาณานิคม หรือเพื่อเข้ายึดครองที่ดินหรือทรัพย์สิน หรือสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง วัตถุ ประสงค์ของญิฮาดเป็นเรื่องพื้นฐานนั่นคือ ปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน ดินแดน เกียรติยศและเสรีภาพของคนคนหนึ่ง เช่นเดียวกับการป้องกันผู้อื่นจากความอยุติธรรมและการกดขี่
กฎพื้นฐานของการทำสงครามในอิสลาม คือ
อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า :
((وَقَاتِلُوْا فِىْ سَبِيْلِ اللّٰهِ الَّذِيْنَ يُقَاتِلُوْنَكُمْ وَلَا تَعْتَدُوْاؕ اِنَّ اللّٰهَ لَا يُحِبُّ
الْمُعْتَدِيْنَ)) “และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ ต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 190)
((الشَّهْرُ الْحَـرَامُ بِالشَّهْرِ الْحَـرَامِ وَالْحُرُمٰتُ قِصَاصٌؕ فَمَنِ اعْتَدٰى عَلَيْكُمْ فَاعْتَدُوْا عَلَيْهِ بِمِثْلِ مَا اعْتَدٰى عَلَيْكُمْ وَاتَّقُوْا اللّٰهَ وَاعْلَمُوْٓا اَنَّ اللّٰهَ مَعَ الْمُتَّقِيْنَ))
“เดือน
ที่ต้องห้ามนั้น ก็ด้วยเดือนที่ต้องห้าม และบรรดาสิ่งจำเป็นต้องเคารพนั้น
ก็ย่อม มีการตอบโต้เยี่ยงเดียวกัน ดังนั้นผู้ใดละเมิดต่อพวกเจ้า
ก็จงละเมิดต่อเขา เยี่ยงที่เขาละเมิดต่อพวกเจ้า และพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด
และจงรู้ไว้ด้วยว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้น ทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลาย” ( อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 194)
ญิฮาดนั้นไม่ใช่การก่อการร้าย
จำเป็นต้องตอกย้ำว่าการก่อการร้ายที่กระทำต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์
ไม่ว่าจะผ่านการรุกรานหรือวิธีการพลีชีพ
สิ่งเหล่านี้นั้นไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลาม
อิสลามส่งเสริมให้ผู้ที่กดขี่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของตน และ
สั่งใช้มุสลิมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่และเผชิญความเจ็บปวด
แต่กระนั้นอิสลามไม่อนุญาต ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆก็ตาม
กระทำกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ การก่อการร้ายไม่ใช่การญิฮาดแต่มันคือ ฟะสาด (ความเสียหาย) เป็น
สิ่งตรงข้ามกับคำสอนของศาสนาอิสลาม
มีบางคนที่ใช้การอ้างเหตุผลที่บิดเบี้ยวเพื่อแสดงเหตุผลของการก่อการ้ายต่อ
ต้นเหตุที่มาจากพวกเขา แต่มันหาใช่เหตุผลไม่ อัลลอฮฺกล่าวว่า
((وَاِذَا قِيْلَ لَهُمْ لَا تُفْسِدُوْا فِىْ الْاَرْضِۙ قَالُوْٓا اِنَّمَا نَحْنُ مُصْلِحُوْنَ ، اَلَآ اِنَّهُمْ هُمُ الْمُفْسِدُوْنَ وَلٰـكِنْ لَّا يَشْعُرُوْنَ))
“เมื่อใดก็ตามที่ได้มีการบอกกับพวกเขาว่า จงอย่าสร้างความเสียหาย ขึ้นในแผ่นดิน พวกเขาจะตอบว่า แท้จริงแล้ว เราเป็นผู้ฟื้นฟูต่างหาก จงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริง พวกเขาเป็นผู้ก่อความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 11-12)
อิสลามต้องการสถาปนาความเป็นระเบียบของสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมสามารถดำรงชีวิตอยู่ในความยุติธรรมในสันติภาพ
ความสามัคคีและความมุ่งหมายที่ดี
อิสลามได้มอบแนวทางแก่ผู้ดำเนินตามเพื่อค้นหาความสงบสุขในการดำรงชีวิตส่วน
ตัวและสังคมของพวกเขา
แต่คำสั่งนั้นยังได้กล่าวแก่พวกเขาถึงวิธีการแผ่ขยายความตั้งใจดีบนพื้นฐาน
ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
มุสลิมทำงานภายใต้หลักการเหล่านี้มานานหลายศตวรรษ
ผู้คนที่มีศรัทธาหลากหลายอาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเขา สังคมอิสลามเป็นที่รู้จักในเรื่องความอดทน ความเอื้อเฟื้อและมีมนุษยธรรม
ในสังคมสมัยใหม่ของเรา เราอาศัยอยู่ในหมู่สังคมโลกาภิวัฒน์ ซึ่ง
ผู้ไม่ใช่มุสลิมอยู่ร่วมกับมุสลิมในประเทศมุสลิม
และมุสลิมอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมซึ่ง
ประกอบด้วยผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเป็นส่วนใหญ่
เป็นหน้าที่ของเราที่จะนำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่พวกเราด้วยกัน
เอง ทำงานเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมแก่ทุกคน และร่วมมือกับผู้อื่นในเรื่องของความดีและคุณธรรมเพื่อหยุดยั้งการก่อการร้าย ความก้าวร้าวและความรุนแรงที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ นี่คือการญิฮาดของเราในวันนี้
................................... อาลี ฮาซีม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องญิฮาด
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
ประเด็นที่หนึ่ง
: นิยามและความหมาย
ในด้านภาษา "ญิฮาด" เป็นภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า "ญะฮฺดุน" ซึ่งหมายถึง "การทำอย่างยากลำบาก, การปฏิบัติย่างเต็มที่ด้วยความเหนื่อยล้า" หรือมาจากคำว่า "ญุฮฺดุน" ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจังเพื่อบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ คำว่า “มุญาฮิด” หรือ “ มุญาฮิดีน “ ก็คือคนที่ดิ้นรนต่อสู้ในหนทางของพระเจ้าและทุ่มเทความพยายามที่ทำให้เขา ต้องเหนื่อยล้าเพื่อการนั้น ในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลายเพื่อเทิดทูนคำสั่งแห่งอัลลอฮฺ หรือการใช้ความพยายามในหนทางของอัลลอฮฺเพื่อบรรลุถึงความดี และการป้องกันความชั่ว ญิฮาดสามารถ ปฏิบัติได้ในหลายๆ ด้าน โดยวิธีการต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย ความยากจน การไม่รู้หนังสือ โรคภัยไข้เจ็บ และการต่อสู้กับพลังความชั่วในโลกทั้งหมด
นักวิชาการมุสลิมแบ่งการญิฮาดออกเป็น
4 ระดับด้วยกัน
1. ญิฮาดโดยหัวใจ
หมายถึง การต่อสู้กับตัณหาราคะในตัวเอง หรือการทำจิตใจของตัวเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
2. ญิฮาดโดยวาจา
หมาย ถึง การชักชวนคนให้หันมายอมรับแนวทางที่ถูกต้องและให้เขาหลีกเลี่ยงจากการกระทำ
ความชั่ว แบบฉบับของท่านศาสนทูตได้แสดงให้เห็นว่าท่านชอบวิธีนี้มากกว่าวิธีการใช้
กำลังหรือการบังคับ
3. ญิฮาดโดยมือ
หมายถึง การสนับสนุนความถูกต้อง และแก้ไขสิ่งที่ผิดโดยใช้กำลังทางร่างกาย
4. ญิฮาดโดยอาวุธ
ในฐานะที่สงครามเป็นวิธีการสุดท้ายในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างมนุษย์
อิสลามจึงอนุญาตให้มุสลิมตอบโต้การกดขี่ได้
ในกรอบที่กว้างไปอีก
อาจแบ่งการญิฮาดออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ :
1) ญิฮาดน้อย คือ การต่อสู้กับศัตรู และ 2) ญิฮาดใหญ่ คือ การปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ ด้วยการทำความดีและละเว้นความชั่ว
แม้กระนั้นก็ตาม
ในส่วนของญิฮาดน้อย หรือการต่อสู้กับศัตรู อัล-กุรอานก็มักจะใช้คำว่า
“กิตาล” และ “ หัรบฺ “ ซึ่ง หมายถึง การสู้รบ เพื่อบ่งบอกถึงการทำศึกสงคราม
ท่านอิบนุลก็อยยิมได้แบ่งการญิฮาดออกเป็น 5 ประเภทคือ
1. การญิฮาดกับอารมณ์ของตนเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการญิฮาดอื่นๆทั้งหมด มี 4 ระดับคือ
ก. ญิฮาดเพื่อการศึกษาและเรียนรู้
ข. ญิฮาดเพื่อปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้
ค. ญิฮาดเพื่อเผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้ยังผู้อื่น
ง. ญิฮาดเพื่อให้อดทนต่อความยากลำบากต่างๆในหนทางดังกล่าว
2. การญิฮาดกับชัยตอน
3. การญิฮาดกับผู้ปฏิเสธ
4. การญิฮาดกับมุนาฟิก
5. การญิฮาดกับมุสลิมผู้ประพฤติผิดหลักศาสนา
ในกรณีการญิฮาดกับผู้ปฏิเสธนั้นสามารถทำได้หลายระดับ
และหลายวิธี เช่น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิสลาม
การตอบโต้ และชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน การเชิญชวนด้วยวิทยปัญญา
และการทำสงครามต่อสู้กับการถูกกดขี่ข่มเหง
ประเด็นที่สอง
: ญิฮาดกับสงคราม
จาก คำอธิบายข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าการทำสงครามเป็นรูปแบบหนึ่งในหลายรูปแบบของ การญิฮาดซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การดำรงไว้ซึ่งหลักธรรมแห่งอัลลอฮฺใน สังคม และวิถีชีวิตมุสลิม และการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวอาจสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการทำ สงครามแต่อย่างใด คำ ญิฮาด จึงมีความหมายกว้างกว่าสงครามมาก ญิฮาดไม่จำเป็นจะต้องเป็นสงคราม และสงครามก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นญิฮาด เพราะสงครามในอิสลามต้องอยู่ภายใต้จุดประสงค์ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และจรรยาบรรณอันสูงส่ง
ประเด็นที่สาม
: การบัญญัติเรื่องการทำสงคราม
ท่านนบี (ซล.) ได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนสู่อิสลามตลอดระยะเวลา13ปี ที่นครมักกะฮฺด้วยสันติวิธี ท่านไม่เคยตอบโต้ และไม่เคยใช้ความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น ครั้นเมื่อท่านอพยพมายังนครมะดีนะฮฺ การทำสงครามจึงได้ถูกบัญญัติขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง ทำสงครามเพื่อป้องกันการรุกรานดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า
“สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกโจมตีนั้นได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้
เพราะพวกเขาถูกข่มเหง” (22/39)
และอีกโองการหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสไว้
ความว่า
“จงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺต่อบรรดาผู้ที่ต่อสู้สูเจ้า
แต่จงอย่ารุกราน เพราะอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน” (2/190)
ขั้นตอนที่สอง
ทำสงครามกับศัตรู ผู้รุกรานได้ทุกเมื่อ ยกเว้นเดือนที่ฮะรอมดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า
“ครั้นเมื่อบรรดาเดือนต้องห้ามเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ก็จงทำสงครามกับมุชริกีนเหล่านั้น ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบเขา”
(9/5)
ขั้นตอนที่สาม
ทำสงครามกับศัตรูผู้รุกรานโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า
“และ
จงประหัตประหารพวกเขา ณ
ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา
และจงขับไล่พวกเขาออกจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออก
และการก่อความวุ่นวายนั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการประหัตประหารเสียอีก”
(2/191)
ประเด็นที่สี่
:จุดประสงค์ของการทำสงคราม
สงคราม เป็นที่อนุมัติในอิสลามแต่เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการสันติอย่างเช่น การพูดคุย การเจรจาและการทำสัญญาได้แล้วเท่านั้น สงครามจะต้องเป็นวิธีการสุดท้ายและจะต้องหาทางหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
สงคราม
ในอิสลามมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อบังคับคนให้เปลี่ยนศาสนาหรือล่าอาณานิคม
หรือแสวงหาดินแดน ความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่ แต่มันมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อป้องกันชีวิต
ทรัพย์สิน ดินแดน เกียรติยศและเสรีภาพของตนเช่นเดียวกับการป้องกันคนอื่นให้พ้นจากความไม่เป็น
ธรรมและการกดขี่
การทำสงครามในอิสลามจะต้องทำเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1. ตอบโต้ความอยุติธรรม และการรุกราน ปกป้อง และพิทักษ์ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน ศาสนา และมาตุภูมิ 2. ปกป้องเสรีภาพในด้านการศรัทธา และปฏิบัติตามหลักศาสนา ที่บรรดาผู้รุกรานพยายามใส่ร้าย หรือกีดขวางมิให้มีเสรีภาพด้านความคิด และการนับถือศาสนา 3. พิทักษ์การเผยแผ่อิสลามที่ค้ำชูความเมตตา ความสงบสันติแก่มนุษยชาติ ให้แพร่กระจายอย่างทั่วถึงแก่มนุษย์ทั้งมวล 4. ให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิดสัญญาหรือศรัทธา หรือผู้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับคำสั่งของอัลลอฮฺ และปฏิเสธความยุติธรรม การประนีประนอม 5. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกกดขี่ ไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่แห่งใด ปลดปล่อย และปกป้องเขาจากการรุกรานของเหล่าผู้ถูกกดขี่
จากวัตถุประสงค์ข้างต้นนั้นสามารถแยกประเภทของสงครามในอิสลามออกเป็น
3 ประเภทด้วยกัน คือ
1) สงครามป้องกัน
ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อศัตรูของมุสลิมโจมตีศาสนา เกียรติยศ
ทรัพย์สินและดินแดน เป็นต้น
2) สงครามปลดปล่อย
ซึ่งทำเพื่อปลดปล่อยบรรดาผู้ถูกกดขี่ เช่น ทาส สงครามประเภทนี้เป็นสิ่งปกติในยุคแรกของอิสลาม
3) สงคราม
ที่เริ่มต้นบุกก่อน ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมุสลิมรู้แน่ชัดว่ามีการทรยศต่อสัญญาสันติภาพที่ทำไว้
กับศัตรู เมื่อศัตรูมีแผนที่จะโจมตีมุสลิมอย่างจริงจัง
ประเด็นที่ห้า
:เงื่อนไขของการทำสงคราม
ญิฮาดที่หมายถึงการต่อสู้และการทำสงคราม จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. ถูกกดขี่และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม
2. ถูกลิดรอนสิทธิด้านศาสนา
3. จะต้องญิฮาดเพื่อนำสิทธิในข้อหนึ่งและสองกลับคืน
4. จะต้องไม่ทำสงครามกับกลุ่มผู้ปฏิเสธ 3 ประเภทคือ
ก. อัลมุสตะอฺมัน
ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำธุระในรัฐอิสลามชั่วคราว
เช่น นักการทูต พ่อค้า นักธุรกิจ และนักศึกษา เป็นต้น
ข. อัลมุอาฮัด
ได้แก่ กลุ่มผู้ปฏิเสธที่มีสัญญาสงบศึก หรือมีสัญญาผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ค. อัซซิมมี่
ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม และจ่ายยิซยะฮฺให้แก่รัฐอิสลาม
5. อยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม
เช่น ต่อสู้กับบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่ไม่เป็นฝ่ายเริ่มการเป็นศัตรูก่อน
แท้จริง
"อัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน"(ดูอัลกุรอาน
2:190)
ไม่ทำลายศพ
ไม่ฆ่าเด็กๆ คนแก่ ผู้หญิง และนักบวช ไม่ตัด หรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล
ไม่ฆ่าสัตว์ เช่น แกะ วัว หรืออูฐ นอกจากเพื่อเป็นอาหาร และปฏิบัติต่อเชลยสงครามด้วยดี
ประเด็นที่หก
: ญิฮาดกับการก่อการร้าย
เพราะฉะนั้นสงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศ หากไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข และกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือการก่อการร้าย(ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ) ญิฮาดจึงมิใช่การก่อการร้าย อิสลามไม่อนุมัติการก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะโดยการรุกรานหรือโดยวิธีการพลีชีพ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม อิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่ และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาด" การก่อความเสียหาย และความหายนะต่อสังคมโลก ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม
ประเด็นที่เจ็ด
: กฎพื้นฐานของการทำสงคราม
กฎพื้นฐานของสงครามในอิสลามมีดังนี้ :
1) จะต้องเข้มแข็งเพื่อที่ศัตรูของสูเจ้าจะได้เกรงกลัวสูเจ้าและไม่โจมตีสูเจ้า
2) จงอย่าเริ่มต้นการเป็นศัตรูก่อน
แต่จงทำงานเพื่อสันติภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
3) จงต่อสู้กับคนที่ต่อสู้สูเจ้า
ไม่มีการลงโทษแบบเหมารวม จะต้องไม่ทำร้ายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามและจะต้องไม่ใช้อาวุธทำลายร้ายแรง
4) ยุติการเป็นศัตรูทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งมีแนวโน้มที่จะยอมรับสันติภาพ
5) รักษาสัญญาและข้อตกลงตราบใดที่ศัตรูยังปฏิบัติตามสัญญา
ประเด็นที่แปด
:การแบ่งประเภทของดินแดน
นักนิติศาสตร์อิสลามได้แบ่งดินแดนในโลกออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน 1) “แดนสันติ” หมายถึงดินแดนที่ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม และมีระบอบการปกครองและกฎหมายอิสลามเป็นบรรทัดฐาน 2) “แดนข้าศึก” หมายถึงดินแดนที่มีการประกาศสงครามและการต่อสู้ระหว่างมุสลิมกับศัตรู 3) “แดนสัญญาพันธไมตรี” คือ ดินแดนของรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม แต่มีสนธิสัญญาผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การจัดประเภทดังกล่าวไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในอิสลามตั้งแต่ต้น
แต่เกิดขึ้นจากสภาพการณ์ในสมัยนั้นเป็นปัจจัยหลัก
กล่าวคือ
ในขณะที่อาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายออกไป โลกอิสลาม
ต้องเผชิญกับการสู้รบกับข้าศึกผู้รุกรานเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ในขณะเดียวกันก็จะต้องปลดแอกดินแดนที่ประชากรได้รับการกดขี่ข่มเหงโดยผู้ใช้
อำนาจไม่เป็นธรรม ต่อเงื่อนไขดังกล่าว
เจ้าเมืองต่างๆ ที่นิยมใช้อำนาจเผด็จการ
จึงจัดเตรียมกำลังรบเพื่อทำศึกกับรัฐอิสลาม
โดยหวังจะบดขยี้อิสลามให้สิ้นไป
ทั้งนี้เป็นเพราะมุสลิมมีนโยบายที่จะปลดแอกประชากรที่ถูกกดขี่ข่มเหง
โดยจะธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพแห่งมนุษย์
และวางรากฐานแห่งความเสมอภาคระหว่างบุคคล
ซึ่งนโยบายดังกล่าวย่อมขัดกับนโยบายแสวงหาอำนาจเพื่อความยิ่งใหญ่ของบุคคล
และของนครรัฐ
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของระเบียบโลกในยุคกลาง
บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายในยุคนั้นจึงได้โจมตีดินแดนมุสลิมจากทุกสารทิศ
และมุสลิมก็ต้องต่อต้านป้องกันตนเองในขอบข่ายแห่งบทบัญญัติอิสลาม
อย่างไรก็ตาม
การป้องกันตัวได้เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง แทนที่ฝ่ายมุสลิมจะเป็นฝ่ายตั้งรับเฉยๆ
ก็เปลี่ยนเป็นยกกำลังออกไปปราบปรามรัฐที่ฝักใฝ่ในการขยายอำนาจแบบไม่หยุด
หย่อน ตามนัยที่นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของคำว่า
“แดนสันติ” และ “แดนข้าศึก” นั้น ท่านอบูหะนีฟะฮฺ (d.150/767)
ได้ให้นิยามคำว่า “กลุ่มชนที่ไม่ใช่มุสลิม” ไว้ว่า จะต้องประกอบด้วยลักษณะ
3 ประการอย่างครบถ้วน หากยังขาดลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดินแดนแห่งกลุ่มชนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็น
“แดนข้าศึก” ลักษณะดังกล่าว ได้แก่
1. มีการฝักใฝ่หมกมุ่นในพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหลักการแห่งอิสลามได้โดยเสรี
เช่น การค้าประเวณี การดื่มสุรา การพนัน และการกระทำที่ต้องห้ามอื่น
ๆ
2. มีพรมแดนติดต่อกับรัฐอิสลาม
และมีท่าทีหรือพฤติกรรมที่ส่อว่าอาจโจมตีรุกรานรัฐอิสลามได้ทุกขณะ
หรือมีการปิดกั้นทางสัญจรมิให้มุสลิมใช้ผ่าน ตามความหมายของอบุหะนีฟะฮฺ
เขตทะเลทรายที่ประชิดพรมแดนรัฐมุสลิมจะต้องเป็นแดนสงบด้วย
ในทำนองเดียวกัน น่านน้ำนอกชายฝั่งทะเลของรัฐอิสลามออกไปเท่าที่จะใช้สัญจรไปมาได้ก็จะต้อง
ไม่อยู่ใน “แดนข้าศึก” ด้วย
3. สภาพการณ์ที่ทำให้มุสลิมหรือผู้อยู่ในปกครองไม่อาจอยู่ได้โดยมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
(เว้นแต่ฝ่ายปกครองแห่งดินแดนนั้นจะให้หลักประกันความปลอดภัยอย่างเป็นทางการและเชื่อถือได้)
ลักษณะทั้ง
3 ประการจะต้องปรากฏอย่างครบถ้วน จึงจะถือว่าแดนนั้นเป็น “แดนข้าศึก”
ได้ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ เช่นในกรณีที่รัฐใดไม่ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แห่งอิสลาม
แต่มิได้สั่งห้ามมุสลิมให้เปลี่ยนความศรัทธา รัฐนั้นก็ยังไม่นับว่าเป็น
“แดนข้าศึก”
อัล-กัสซานี
ได้ขยายความในข้ออธิบายของอบูหะนีฟะฮฺเกี่ยวกับคุณลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมว่า
ในกรณีที่จะกำหนดให้รัฐใดเป็นแดนข้าศึกนั้น
ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของความปลอดภัยต่อพลเมืองมุสลิมด้วย กล่าวคือ
หากรัฐใดที่ให้ความปลอดภัยแก่พลเมืองที่มิใช่มุสลิม
แต่ไม่ให้ความปลอดภัยแก่มุสลิม
รัฐนั้นถือว่าเป็นรัฐที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม
ทั้งนี้โดยถือเกณฑ์แห่งความไม่ปลอดภัยและความหวาดผวาเป็นเกณฑ์สำคัญ
ไม่ใช่ถือความแตกต่างทางศาสนาแต่อย่างใด ในทางกลับ
กัน หากกรณีที่พลเมืองมุสลิมได้รับการคุ้มครอง
โดยไม่มีความหวาดกลัวใดๆ
และมีการรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรม
ก็ไม่ถือว่ารัฐนั้นเป็น “แดนข้าศึก” อย่างไรก็ตาม
ก็ต้องคำนึงถึงอีกว่ารัฐนั้นจะยังคงรักษาอธิปไตยไว้ให้รอดพ้นจากรัฐอันธพาล
(Rogue State)
ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันได้มั่นคงเพียงใดด้วย
คำจำกัดความดังกล่าวได้เน้นถึงภัยจากการรุกรานข่มเหงเป็นข้อใหญ่
ทั้งนี้เป็นเพราะในดินแดนเช่นนี้ มุสลิมย่อมรู้สึกหวั่นวิตกต่อภัยที่จะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นหากมีสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐที่จะประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองได้เท่า
เทียมกัน ถึงแม้หลักประกันนี้จะมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
อบูหะนีฟะฮฺก็ไม่ถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนข้าศึก อัล-กัสซานี ได้ย้ำถึงข้อนี้ว่า
“เพียงแต่สงสัยหรือคิดว่าอาจเป็นไปได้ ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนข้าศึก”
ดังนั้น จากคำนิยามข้างต้นพอจะสรุปความเห็นของนักนิติศาสตร์อิสลามได้เป็นสองนัย
ในกรณีที่จะวินิจฉัยว่ารัฐใดเป็นแดนข้าศึก
1. หากกฎหมายข้อบังคับต่าง
ๆ เป็นไปตามหลักการแห่งอิสลาม รัฐนั้นก็ถือเป็นแดนสันติ มิฉะนั้นก็ถือว่าไม่ใช่แดนสันติ
แม้รัฐนั้นจะเรียกตนเองว่าเป็นรัฐอิสลามก็ตาม
2. หากความเป็นมุสลิมของผู้ใดดำรงอยู่ได้ด้วยความปลอดภัยในรัฐใด
ก็ถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนสันติ มิเช่นนั้นจะถือเป็นแดนศัตรู
อย่างไรก็ตาม
มาญิด คาดูรี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิมได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ
สงครามและสันติภาพในอิสลาม หน้า 214 ว่า อิสลามได้เปลี่ยนแนวคิดแบบเก่าของชาวอาหรับในเรื่อง
ดารุล-ฮัรบฺ หรือ แดนข้าศึก มาเป็น ดารุล-อิสลาม หรือ แดนแห่งสันติ
แล้ว ซึ่งพยายามที่จะนำเสนอศาสนาอิสลามให้แก่ทุกคนในโลก
ความสำเร็จอันดับแรกสุดคือ
การรวมเอาชาติต่างๆ ที่ยอมรับนับถืออิสลามมาอยู่ภายในกลุ่มของตนเอง
เพื่อว่าจะได้เลิกมีสงครามกลางเมืองเสียที และยังดำเนินต่อไปเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างประชาชาติอิสลามต่างๆ
อิสลามมุ่งที่จะนำเอาความสงบเช่นนั้นมาสู่โลก ดังนั้น ความมุ่งหมายของญิฮาด
ก็คือ สันติภาพในโลก และนั่นก็คือผลของมันในขั้นสุดท้าย
| |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น