สารจาก BRN: ตัวบทและนัยยะในข้อเรียกร้อง 5 ข้อ (ตอน 1) | |
สารจาก BRN: ตัวบทและนัยยะในข้อเรียกร้อง 5 ข้อ (ตอน 1)
บทแปลภาษาไทยของบทความเรื่อง TUNTUTAN AWAL 5 PERKARA (Bahgian 1) ของ อาบูฮาฟิซ อัล-ฮากีม จากบล็อกของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) เกาะติดการพูดคุยสันติภาพปาตานีจากคนใน: ประเมินข้อเรียกร้องเบื้องต้นห้าประการ (ตอน 1)
เป็นที่รับรู้กันมาแล้วว่า วินาทีนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่ที่เริ่มเดินมาได้เพียง 6 เดือน และนี่คืออุปสรรคแรกที่ได้ประสบกับกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ หลังจากที่การริเริ่มเพื่อสันติภาพในห้วงเดือนรอมฏอนไม่ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้แต่อย่างใด
ขณะนี้ฝ่ายขบวนการต่อสู้นั้น อยากจะย้อนกลับไปข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในการพูดคุยครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2013 ที่ผ่านมา
ในการประชุมครั้งนั้น ทางฝ่ายขบวนการต่อสู้ก็ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว และตามด้วยการยื่นรายละเอียดข้อมูลอย่างเป็นทางการให้กับฝ่ายไทยในภายหลัง และทางคณะผู้แทนของฝ่ายไทยเองก็รับปากที่จะกลับไปหารือกับทางรัฐบาล และอาจให้คำตอบกลับมาในระยะเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม 4 เดือนผ่านไปแล้วก็ยังไม่มีคำตอบจากทางฝ่ายไทยเลย ซ้ำร้ายฝ่ายไทยเองยังคงต้องการให้มีคำอธิบายที่กระจ่างชัดยิ่งกว่าเดิม ในสถานการณ์ที่กระบวนการพูดคุย “ถูกแขวน” เอาไว้ ในระหว่างนี้การสื่อสารทั้งหมดจะกระทำโดยผ่านทางฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น โดยจะไม่มีการเผชิญหน้าบนโต๊ะเจรจาอีกต่อไป
ข้อเรียกร้องทั้งห้า มีความสำคัญขนาดไหนกัน สำคัญจนแทบจะต้องกล่าวซ้ำหลายต่อหลายครั้งในการออกแถลงการณ์จากฝ่ายบีอาร์เอ็น จนมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามมติจากสภาชูรอของบีอาร์เอ็นด้วยการออกแถลงการณ์โดยฝ่ายทหารทางเว็บไซต์ยูทูปว่า “กระบวนการพูดคุยสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป จนกว่าจะได้รับคำตอบดังกล่าว”?
ตามทัศนะของเรา หากว่าได้ใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วนและบริสุทธิ์ใจแล้ว ข้อเรียกร้องในเบื้องต้นทั้ง 5 ประการนั้น ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่แท้จริงอย่างที่ควรจะเกิดขึ้นในการเจรจาต่อรองที่ใดๆ ก็ตาม พึงสำเหนียกด้วยว่า กระบวนการสันติภาพปาตานี ณ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพูดคุย (dialog) เท่านั้น มิได้อยู่ในขั้นของการเจรจาต่อรอง (rundingan) แต่อย่างใด ฉะนั้นจึงไม่เกิดข้อคำถามที่ว่า ฝ่ายขบวนการต่อสู้ได้กระทำการยื่นเรื่อง “ก่อนถึงเวลาที่เหมาะสม” อย่างที่บางฝ่ายเข้าใจกัน
ความจริงแล้วข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อนั้นเป็นเหมือนการรับประกันความจริงใจของฝ่ายขบวนการต่อสู้ต่อฝ่ายรัฐไทยมากกว่า การที่เราได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะแสวงหาหนทางในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งปาตานีด้วยแนวทางการเมืองที่มีทั้งความยุติธรรม ความยั่งยืน และความครอบคลุมรอบด้าน
ในทางกลับกันทางฝ่ายไทยเองก็เหมือนว่า ยังกระตือรือร้นอยู่กับการเรียกร้องให้ลดเหตุรุนแรงหรือยุติการปฏิบัติการทางการทหารอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นที่สมควรแล้วที่ทางฝ่ายไทยจะต้องเปลี่ยนทัศนคติและแสดงออกถึงความตั้งใจและความจริงใจ ด้วยการตอบสนองที่เป็นไปในทางบวก เพื่อเป็นหลักประกันความจริงใจตามที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไข 5 ข้อดังกล่าว
เราลองมาไตร่ตรองดูเป็นรายข้อถึงเนื้อหาในตัวบทและนัยยะที่แฝงอยู่ในเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อดังกล่าว เพื่อที่ว่าเราจักได้เข้าใจอย่างถ่องแท้โดยปราศจากอคติ
1.การเจรจาดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นระหว่างขบวนการต่อสู้ชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นกับทางรัฐบาลไทย
สิ่งที่เรียกร้องในที่นี้นั้น ก็เพื่อให้มีการยอมรับว่าบีอาร์เอ็นมีสถานะเป็นกลุ่มหลักในนามนักต่อสู้ปาตานีทั้งมวล และเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวมลายูปาตานี ที่สนับสนุนพันธกิจและความต้องการของประชาชนในการทวงคืนสิทธิของพวกเขา
ข้อเรียกดังกล่าวถือว่าได้ผ่านการยินยอมจากคณะผู้แทนที่มีความชอบธรรม (Recognition of Legitimate Representative) ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ถือว่าเกิดขึ้นโดยปริยายไปแล้วจากที่มีการลงนามในฉันทามติทั่วไป ว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ทางฝ่ายขบวนการต่อสู้หรือในฐานะฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ (ในฐานะฝ่ายบี) อยู่ในสถานะที่ได้รับการรับรองเช่นกัน นั่นหมายความว่านับจากนี้ไป ทางฝ่ายไทยจะต้อง “ปฏิบัติต่อ” แนวร่วมของฝ่ายขบวนการต่อสู้ที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากพวกที่ฉวยโอกาสหรือพวกที่เป็นตัวสร้างความปั่นป่วน (spoiler)
กลุ่มใดก็ตามที่คิดว่าตนเองเป็น ”ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (Stakeholder) อยู่ก็ควรที่จะทำเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นผ่านผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) อย่างเป็นทางการ เพื่อที่ว่าจะได้ทำการพิจารณาและเห็นพ้องต้องกันจากทั้งสองฝ่าย (ระหว่างตัวแทนของบีอาร์เอ็นกับตัวแทนของไทย) และเป็นการสื่อให้รัฐไทยได้รับรู้ด้วยว่า ทางฝ่ายไทยเองมิควรที่จะ “เปิดช่องทางการพูดคุย” กับกลุ่มอื่นไปพร้อมกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพื่อที่ว่ากระบวนการสันติภาพนี้จะไม่หยุดชะงักในที่สุด
2. บีอาร์เอ็นเห็นพ้องต้องกันที่ให้มาเลเซียเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง (Mediator) ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อกระบวนการเจรจาในครั้งนี้
ณ ตอนนี้สถานะของกระบวนการสันติภาพยังอยู่ในขั้นของการพูดคุย (Dialog) ระหว่างทั้งสองฝ่าย (รัฐไทยกับขบวนการต่อสู้) และยังอยู่ในขั้นของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน (confidence building) เท่านั้น การเข้ามาข้องเกี่ยวของรัฐบาลมาเลเซียในช่วงนี้จึงเป็นเพียงในฐานะบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ที่ต้องสงวนท่าทีเท่านั้น ดังเช่นที่ดำรงสถานะความเป็นเจ้าภาพและเป็นผู้คอยทำหน้าที่ส่งสาร (postman)
แต่เมื่อกระบวนการสันติภาพดังกล่าวนี้ได้ยกระดับขึ้นไปอยู่ในขั้นของการเจรจาต่อรอง (Rundingan) ในอนาคต บทบาทในฐานะผู้ส่งสารก็คงจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป การเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงของทางมาเลเซียจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงกันมิได้ เมื่ออยู่ในขั้นนั้นแล้ว บางประเด็นที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนอาจถูกหยิบยกขึ้นมาโดยทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าหากเกิด “การก่อกวน” หรือ “การสร้างอุปสรรค” ที่อาจกระทบต่อกระบวนการสันติภาพได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางฝ่ายตัวกลางอาจเข้ามามีบทบาทโดยตรงเพื่อทำการปลดเงื่อนไขบางประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้น ในสักวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในอนาคตอาจมีตัวแสดงหลัก 3 ฝ่าย (Three Parties)
3. การเจรจาสันติภาพต้องมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน สมาชิกโอไอซี และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่ายมาเป็นสักขีพยาน
เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเรื่องปรกติทั่วไปในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง มิใช่เพียงแค่ว่าต้องอาศัยบทบาทของตัวกลางที่ดีและน่าเชื่อถือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การได้รับรู้โดยคนนอกที่เป็นกลางก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนนอกที่สนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนที่ปรารถนาในสันติภาพและความสงบสุข
ด้วยเหตุนี้เพื่อว่าประเด็นใดก็ตามที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยและได้ตกลงกันจะได้รับการติดตาม เคารพยอมรับ และสังเกตการณ์จากทุกฝ่าย
ความกังวลใจของรัฐไทยที่ยังคงยืนกรานมาโดยตลอดว่า ความขัดแย้งที่ปาตานีเป็นเพียงเรื่องภายในประเทศ (domestic) เท่านั้น ถึงตอนนี้จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป กระบวนการทำให้กลายเป็นเรื่องสากล (internationalisation) นั้นจะทำให้กระบวนการสันติภาพปาตานีมีความง่ายดายมากยิ่งขึ้น จะทำให้กระบวนการสันติภาพปาตานีจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น และคงได้รับแรงหนุนจากทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
4. ทางรัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานี
ในจำนวนข้อเรียกร้องทั้ง 5 ประการนั้น ข้อเรียกร้องประการที่ 4 นี่เองที่ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ก่อให้เกิดคำถามในการพูดคุยด้วยฐานะที่เป็นประเด็นใจกลาง (core issue) ด้วยเหตุนี้ ข้อเรียกร้องประการนี้จึงมีความสำคัญยิ่งยวด และจำเป็นที่จะต้องอธิบายอย่างยืดยาวและละเอียดรอบคอบ ตลอดจนต้องคาบเกี่ยวเนื้อหาไปถึงประวัติศาสตร์และกฎหมายด้วย ผมใคร่ขอทำความเข้าใจในบทความต่อไป (ตอนที่สอง) ที่จะตามมาในภายหลัง
5. ฝ่ายบีอาร์เอ็นขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษการเมืองและยกเลิกหมายจับให้แก่นักต่อสู้ปาตานีทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
อีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ (หรือจงใจที่จะไม่รับสนอง) โดยรัฐไทย นั่นก็คือเรื่องความยุติธรรม โดยที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ (กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ) ที่ได้ลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและจำกัดเสรีภาพของประชาชน โดยทางการไทยได้จับกุมชาวมลายูปาตานีไปมิใช่น้อย อาศัยเพียงการแจ้งเบาะแสบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรง เป็นแนวร่วม หรือเคยก่อเหตุใดๆ โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน
ใครก็ตามที่มีความเห็นที่แตกต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจะถูกขึ้นบัญชีในฐานะ “ฝ่ายตรงข้าม” หรือกบฏ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวมิได้เกินเลยแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่ของผู้ถูกขังล้วนมาจากคดีทางการเมือง
ถ้าหากเนื้อหาในการลงนามใน “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ที่ได้ให้การยอมรับแล้วว่า พวกเขาคือคนที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่ต่างจากรัฐ และการจับกุมดังกล่าวเข้าข่ายในคดีทางการเมืองเช่นกัน และพวกเขาสมควรที่จะถูกปล่อยตัวหรือได้รับการนิรโทษกรรม (amnesty) โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่นเดียวกับหมายจับที่ออกโดยเพราะข้อกล่าวหาในทางการเมืองดังกล่าวควรที่จะยกเลิกทั้งหมด
ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ประการนั้นเสมือนเป็นหลักประกันความจริงใจตามที่ทางฝ่ายขบวนการได้ร้องขอ เพื่อเป็นการปูทางให้กับกระบวนการสันติภาพในขั้นต่อไป
ถ้าหากว่ากระบวนการสันติภาพนี้มิได้วางอยู่บนลู่ทางที่ดีและฐานที่แข็งแกร่ง อาจเกิดความคลางแคลงใจกัน นั่นคือกระบวนการสันติภาพปาตานีที่มีความยาวนานและซับซ้อนยิ่งนี้ จะไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับทุกฝ่ายได้ หากซึ่งสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริงถือเป็นความโชคร้ายของประชาชนชาวปาตานีทั้งมวลทุกเชื้อชาติและสายตระกูลที่จะยังคงหมุนเวียนอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีวันจบสิ้น ในขณะที่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจะตกอยู่ภายในวังวนแห่งความโกลาหลนับร้อยพันปัญหาที่คอยรังควานความสงบอยู่ร่ำไป
**ความคืบหน้าล่าสุด: เป็นที่ทราบกันมาแล้วว่าเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2013 ทางการไทยได้ให้การตอบรับต่อข้อเสนอของบีอาร์เอ็นดังกล่าว ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางการไทยเองก็พร้อมที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว นอกจากเงื่อนไขข้อ 4 เท่านั้น (ที่เกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของ) ที่ยังต้องการความกระจ่างชัดจากบีอาร์เอ็น ในข้อมูลที่เป็นรายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งในอีกไม่ช้านี้ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นจะยื่นให้กับฝ่ายไทยผ่านผู้อำนวยความสะดวก แต่คงไม่เกินสิ้นเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน และหลังจากนี้การพูดคุยอย่างเป็นทางการ (ในทางเปิด) จะเริ่มใหม่อีกครั้ง หลังจากที่มีกำหนดการออกมาอย่างชัดเจน โปรดติดตาม
น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง – จากนอกรั้วที่ล้อมปาตานี
เดือนซุลเกาะดะห์ / กันยายน 2013 | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น