วงเสวนาในร้านโรตีจี้ทั้ง 'รัฐไทย-BRN' ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน | |
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
วิทยุ Media Selatan จัดวงเสวนาชาวบ้านในร้านโรตียะลา ย้ำการพูดคุยสันติภาพประชาชนต้องมีส่วนร่วม เสนอแนะทั้งรัฐไทยและ BRN ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน รับฟังความต้องการของคนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ที่ร้านโรตีนายอุสมาน ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) จัดเสวนาหัวข้อ “ความคาดหวังของคนยะลาต่อการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการ BRN” มีผู้เข้าร่วม 20 คน โดยมีการถ่ายทอดเสียงผ่านทาง Media Selatan ด้วย
อาจารย์ยูซุฟ ดอเลาะห์ นักจัดรายการวิทยุในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยและ BRN ที่ใช้แนวทางการพูดคุยสันติภาพในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ แต่การพูดคุยสันติภาพจะต้องอยู่บนพื้นฐานเจตนาที่ดีจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด” อาจารย์ยูซุฟ กล่าว
นายมุกตา อาลี ข้าราชการครูจังหวัดยะลา กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ควรที่จะมีธงมาแล้วว่าต้องการอะไรจากการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจของทั้ง 2 ฝ่าย ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
“เมื่อช่วงต้นเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา ประชาชนหวังว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ได้ เนื่องจากมีเหตุความรุนแรงน้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงเบื้องต้นในการลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฏอนและหลังรอมฏอนอีก 10 วัน แต่ความหวังประชาชนก็ล่มสลาย เมื่อมีเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายเดือนรอมฏอน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรอความหวังจากสันติภาพต่อไป”นายมุกตา กล่าว
นายมุกตา กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลรับข้อเสนอของ BRN ด้วย อาจจะ 2 หรือ 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ ไม่จำเป็นต้องรับทั้งหมด เพราะหากรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความหวังต่อการพูดคุยสันติภาพ
“โดยพื้นฐานของการเจรจา ต้องใช้เวลานานอยู่แล้ว คิดว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้นอีก เพราะในฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้เข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้สามารถใช้เวลาได้สั้นที่สุด” นายมุกตา กล่าว
นายมุกตา กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่มีการพูดคุยสันติภาพในแต่ละครั้ง รัฐต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่ก่อน และนำข้อสรุปที่ได้ซึ่งเป็นข้อเสนอของประชาชนส่วนใหญ่ไปเสนอในเวทีพูดคุยสันติภาพ
นายอาฮามะ บากอซัง ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า ไม่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลไทยเท่านั้นที่ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทางฝ่าย BRN ก็ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน เพื่อให้รู้ว่าประชาชนมีความต้องการอย่างไรต่อการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
หมายเหตุ : 5 ข้อเสนอของ BRN
1. นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator)
2.การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาว (bangsa) ปาตานี ที่นำโดย BRN กับนักล่าอานานิคมสยาม
3.ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร OIC และองค์กร NGO
4.นักล่าอานานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข
5.นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กร BRN เป็นขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
| |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น