บูรณาการสางไฟใต้เพียงแค่ “คำพูด” คืนความสงบสุขด้ามขวานยังล้มเหลว | |
บูรณาการสางไฟใต้เพียงแค่ “คำพูด” คืนความสงบสุขด้ามขวานยังล้มเหลว2013-10-24
ยังมีคำถามมากมายสำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ "รวมดารา" เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแนวร่วม หรือโจรก่อการร้ายหรือกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งสุดที่ใครจะเรียก ได้ก่อเหตุวางระเบิดสัญลักษณ์ทางการเงินคือ ตู้เอทีเอ็ม เผาสถานที่ราชการ เช่น อบต. ปล้น จี้ รถดับเพลิง ฆ่าครู และเผาบ้านพัก ขว้างระเบิดใส่แขวงการทาง และวางระเบิดร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นการ ทำลายเศรษฐกิจ การค้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการก่อการร้ายครั้งนี้เป็นการทำงานของขบวนการที่ปฏิบัติการมาตั้งแต่ ปี 2547
แต่..ที่มี คำถาม จากประชาชนในพื้นที่คือ ทำไมเมื่อมีการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพกันแล้ว ระหว่าง สมช. ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐไทยกับตัวแทนของบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็น "พี่ใหญ่"ของขบวนการ "ปลดปล่อยมลายูปัตตานี" ทำไมจึง ยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีคำถามว่าถ้ากลุ่มผู้ปฏิบัติการไม่ใช่ บีอาร์เอ็น, พูโล และบีไอพีพี ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต่างอยู่ในระบบของการพูดคุย และการพูดคุยยังไม่เกิดการแตกหักจึงไม่น่าจะสั่งการให้แนวร่วมปฏิบัติการรุนแรง เพราะจะให้เกิดกระทบกระเทือนกับเวทีของการพูดคุย เมื่อเป็นเช่นว่านี้ประชาชนก็มีคำถามต่อไปว่า ถ้ากลุ่มผู้ปฏิบัติการในวันที่ 9 ต.ค. ไม่ใช่กลุ่มก้อนของบีอาร์เอ็นฯแล้วเป็นการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มไหน มีใครเป็นผู้สั่งการ และคำถามสุดท้ายคือถ้าพูดคุยกับบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพีรู้เรื่อง แต่ไม่สามารถทำให้การก่อเหตุร้ายลดลง และยังมีกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ปฏิบัติการต่อไป การพูดคุย กับบีอาร์เอ็น, พูโล และ บีไอพีพี จะเกิดมรรคผลหรือได้ประโยชน์ตรงไหน ทั้งหมดคือคำถามของคนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลโดย สมช.จะต้องตอบให้ชัด ทั้งนี้ข้อเท็จจริงนั้นสิ่งที่ดำรงอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ กลุ่มก่อการร้ายไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของบีอาร์เอ็น, พูโล หรือบีไอพีพีเท่านั้น กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นผลผลิตจากบีอาร์เอ็นฯที่ถูกปลูกฝังให้เป็น "ปรปักษ์" กับรัฐไทยกับเจ้าหน้าที่รัฐ และให้ปฏิบัติการเพื่อสร้างความสูญเสียให้กับรัฐไทยเป็นจำนวนมาก ที่วันนี้อยู่นอกเหนือการสั่งการของบีอาร์เอ็นฯ และวันนี้กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เห็นต่างจากบีอาร์เอ็นฯที่พร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อปฏิบัติการด้วยความรุนแรงต่อไป และมีอีก หลายกลุ่มที่ประกาศแยกตัว จากบีอาร์เอ็นฯ เพื่อตั้งกลุ่มของตนเอง เพื่อปฏิบัติการ ต่อเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย และที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และ อื่น ๆ ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 9 ต.ค.นั้น ไม่อยากเชื่อตามที่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ว่า ตรงกับวันก่อตั้ง หรือครบรอบวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ของขบวนการ เพราะโดยข้อเท็จจริงกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ไม่ได้รอโอกาสให้ตรงกับวันนั้น วันนี้ หรือวันที่เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ และของรัฐไทย แต่กลุ่มก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะปฏิบัติการทันทีที่มีโอกาส เช่น เจ้าหน้าที่เปิดช่องว่าง เจ้าหน้าที่ประมาท หรือเผลอ เพราะกลุ่มก่อการร้ายมีสายข่าวที่เกาะติดหลัง หน่วยกำลังต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ และที่สำคัญกลุ่มก่อการร้ายมี "หนอนบ่อนไส้" ในหน่วยงานของรัฐจำนวนไม่น้อยที่คอยรายงานความเคลื่อนไหวให้กลุ่มก่อการร้ายได้ทราบเพื่อปฏิบัติการสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้น ประเด็นเหตุป่วนใต้ทั้ง 4 จังหวัด เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา จึงเป็นการออกมา แก้แค้นตอบโต้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการปิดล้อมกวาดล้างโดยการ "จับตาย" 4 แกนนำ ระดับ ผบ.ร้อย และ ผบ.หมวดที่มี "เปเล่ดำ" เป็นผู้นำ และ "จับเป็น" อีก 7 คน ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีการประโคมข่าวถึงความสูญเสียของกลุ่มก่อการร้าย การปฏิบัติการเอาคืนของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้นอกจากเป็นการแก้แค้นให้กับผู้สูญเสียฝ่ายตนแล้วยังเป็นการ สร้างขวัญกำลังใจให้กับแนวร่วมและเป็นการข่มขู่มวลชนในพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสูญผู้นำหน่วยอย่าง "เปเล่ดำ" อย่าง "อุสมาน เด็งสาแม" ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อศักยภาพในการก่อการร้ายของขบวนการ และขบวนการยังมีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ ที่ต้องการ และผลที่ออกมาคือเจ้าหน้าที่ไร้หนทางในการป้องกัน ดังนั้นจึงเห็นชัดเจนว่าเหตุป่วนใต้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการพูดคุย ครั้งที่ 4 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประสานงาน แต่อย่างไรก็ตามเหตุป่วนใต้ครั้งล่าสุดก็ทำให้การพูดคุยครั้งที่ 4 ต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย เพราะต้องมีการ "สืบสภาพ" ให้ชัดเจนว่ามีแนวร่วมของ บีอาร์เอ็น, พูโล และ บีไอพีพีเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ...สิ่งสำคัญที่สุดที่ประชาชนในพื้นที่ข้องใจคือ ปฏิบัติการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็น "เจ้าภาพ" เหตุผลของความข้องใจคือ จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรจะมีการป้องกันอย่างเข้มข้น และโดยข้อเท็จจริงการวางระเบิดตู้เอทีเอ็ม วางระเบิดร้านสะดวกซื้อ และการเผากล้องวงจรปิด เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว จึงน่าจะมีแผนป้องกัน เช่น การจัดชุดลาดตระเวนในพื้นที่เหล่านี้ สิ่งที่ผู้นำท้องถิ่นอย่างนายกเทศบาล นายก อบต. หลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุสะท้อนออกมาคือ ช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มก่อการร้ายออกปฏิบัติการไม่มีกำลังของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรืออาสาสมัครของฝ่ายปกครองออกลาดตระเวนรักษาความสงบแต่อย่างใด ดังนั้นปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายจึงทำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กลางวันเป็นของเจ้าหน้าที่ ส่วนกลางคืนเป็นของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งหากพิจารณาให้ชัดจะพบว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีการปรับแผน การลาดตระเวนในเวลากลางวันให้กระชับ และมีวงรอบที่สั้นลง เช่น 3 ชั่วโมง จึงจะลาดตระเวน 1 วงรอบ เปลี่ยนเป็นวงรอบละ 1 ชั่วโมง การปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายก็จะสะดวกทั้งในการ ปฏิบัติการ และในการหลบหนี การประกบยิง การวางระเบิดแสวงเครื่องในเวลากลางวันก็อาจจะลดน้อยลง เช่นเดียวกับในเวลากลางคืน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องสนธิกำลังระหว่าง ตำรวจ ทหาร และกำลังของพลเรือน รวมทั้ง รปภ.ของบริษัท ห้างร้าน และกำลัง รปภ.ของท้องถิ่น เพื่อร่วมกันจัดเป็น ชุดสายตรวจ และ ชุดลาดตระเวน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รถยนต์สายตรวจ รถจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว ชุดสายตรวจเดินเท้า ชุดแจ้งข่าว ซึ่งในแต่ละเขตเมือง หรือแต่ละเทศบาลมีพื้นที่ไม่มากนักถ้ามีการเอาจริงจากทหาร ตำรวจ ปกครอง และท้องถิ่น สามารถที่จะคุ้มครองพื้นที่ เพื่อให้ยากต่อการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการได้อย่างแน่นอน แต่...ที่กลุ่มก่อการร้ายยังมี "ศักยภาพ" ในการก่อเหตุ ทั้งแบบ "รายวัน" และแบบ "รวมดารา" เป็นเพราะตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบบูรณาการด้วยเพียงคำพูด. เขียนโดย ไชยยงค์ มณีพิลึก ที่มา เดลินิวส์ | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น