หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“Deepsouthwatch ศูนย์เฝ้าทำลายสันติสุขในภาคใต้”

“Deepsouthwatch ศูนย์เฝ้าทำลายสันติสุขในภาคใต้”

“Deepsouthwatch ศูนย์เฝ้าทำลายสันติสุขในภาคใต้”


        การขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรงเช่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในหลายมิติในปัจจุบัน รวมถึงความพยายามเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและผู้แทนกลุ่ม BRNซึ่งเป็นกลุ่มที่ถืออาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ที่ปัจจุบันยังไม่มี ทีท่าว่าจะลงตัว แสงสว่างที่ปลายอุโมงไม่เพียงแต่จะหริบหรี่ มิหน่ำซ้ำยังมีแววว่าจะดับลงด้วยข้อเสนอของขบวนการที่เห็นแล้วปวดหัว ด้วยข้อต่อรองมากมายที่ยอมรับไม่ได้ ขณะที่ข้างฝ่ายกองทัพโดยผู้นำกองทัพก็ออกมาทุบโต๊ะเปรี้ยงว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะความไม่พร้อมของพื้นที่ ที่สำคัญอาจเป็นบันไดก้าวไปสู่การแบ่งแยกดินแดนในที่สุด

      ก็คงต้องติดตามกันต่อไปแต่ที่แน่ๆ ชีวิตที่ปลิดปลิวเป็นใบไม้ร่วงของทั้งสองฝ่ายรวมทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์จะยังคงเกิดขึ้นระหว่างเส้นทางของความขัดแย้งจนกว่าทุกอย่างจะจบสิ้นลง

          แต่ในความพยายามของหลายๆ ฝ่ายที่ต้องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนลงให้ได้นั้น ยังมีความพยายามที่จะริดรอนความโหยหาสันติภาพของประชาชนส่วนใหญ่โดยองค์กร ภาคประชาสังคมบางองค์กรโดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อบิดเบือนข้อมูลให้สังคมเกิดความสับสนซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่สำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างที่กล่าวอ้าง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งใช้ชื่อเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org ดูจะเป็นหนึ่งในหลายเว็บไซต์ที่อยากจะยกตัวอย่างการบิดเบือนครั้งล่าสุดให้เห็น

           เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มติดอาวุธที่บ้านสะแนะ อ.รือเสาะ นราธิวาส ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 2 นาย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งและได้วิสามัญฆาตกรรมคนร้ายไป 4 คน หนึ่งในนั้นคือ นายอับดุลรอฮิง ดาอีซอ หรือ “เปเล่ห์ดำ” ผู้ต้องหาที่ก่อเหตุร้ายฆ่าคนตายมาอย่างโชกโชนและมีหมายจับยาวเป็นหางว่าว อีกคนคือนาย ซูเฟียน สาและ ซึ่งกลายมาเป็นตัวละครเด่นในการให้ข่าวสารด้านเดียวของเว็บไซต์ลวงโลกข้างต้น

       การลงพื้นที่ (หรืออาจนั่งเทียนเขียนข่าวอยู่ที่สำนักงาน) ของผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โดยการไปสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสียชีวิตถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ คือการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่สังหารคนที่มอบตัวแล้ว และยังขโมยเงินของผู้เสียชีวิตไปด้วย การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวหากอ่านอย่างพิจารณาให้รอบคอบจะเห็นว่ามีความขัดแย้งกันเองในข้อมูลที่นำเสนอในหลายด้าน

        เนื้อหาการนำเสนอมิได้กล่าวถึงการเสียชีวิตเพราะถูกยิงโดยคนร้ายก่อนเจ้าหน้าที่จึงต้องตอบโต้แต่อย่างใด เหมือนกับว่าการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่สมควร (ตาย) ในขณะที่ให้รายละเอียดการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เหมือนไปเห็นด้วยตาตนเอง

       จุดสังเกตุที่เห็นได้ชัดคือ การกล่าวอ้างของผู้ให้สัมภาษณ์ว่า นายซูเฟียนฯ มอบตัวแล้วถูกมัดมือก่อนนำเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุก่อนถูกสังหารเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะเจ้าหน้าที่รู้ว่าคนร้ายจำนวนหนึ่งอยู่ในบ้านพร้อมอาวุธ คงไม่มีเหตุผลใดที่จะนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงโดยการนำนาย ซูเฟียนฯ เดินเข้าไปในบ้าน

         กับคำกล่าวที่ว่าชาวบ้านทุกคนรู้เห็นนั้นก็อีกเรื่อง เพราะคำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งกล่าวว่าระหว่างการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ไม่ให้ชาวบ้านออกมาทุกคนต้องอยู่ในบ้าน แล้วจะมีชาวบ้านคนไหนเห็นเหตุการณ์ตอนนั้นได้ เหนือสิ่งอื่นใดการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่เท่าที่ผู้เขียนเคยออกไปทำข่าวการปิดล้อมร่วมกับทหารและตำรวจ ต้องมีขั้นตอนการให้ผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาเข้าร่วมเพื่อเกลี้ยกล่อมให้มอบตัวก่อนทุกครั้ง เหตุการณ์ที่นักข่าวคนนั้นกล่าวอ้างคงไม่รอดสายตาของผู้นำชุมชนในพื้นที่อย่างแน่นอน 


        และหากมองด้วยสายตาเป็นธรรม เจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตเขาก็มีลูกเมีย พ่อแม่พี่น้องเช่นกัน จะไม่ให้โอกาสโดยการนำเสนอว่าเขาเสียชีวิตเพราะปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเลยหรือ

        ด้วยเหตุผลเบาะๆ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าการนำเสนอข้อมูลการสัมภาษณ์ครั้งนั้นไม่ถูกต้อง และมีเจตนาแอบแฝงที่จะบิดเบือนให้สังคมสับสน  แถมอีกนิดที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ขโมยเงินจำนวน 490,000 บาทซึ่งเก็บไว้ในบ้านไปนี่ก็ยิ่งน่าขำ ก็เป็นคนบอกเองว่าเป็นบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จแล้วจะมีใครนำเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปเก็บไว้ในบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ
โถ...พ่อคู้ณ จะบิดเบือนทั้งทีเอาให้มันเนียนหน่อย แบบนี้อาจเรียกได้ว่า “ไม่คิดก่อนเขียน” หรือ “เขียนแบบไม่คิด” สุดท้ายก็เข้าตัวเองหมด

        บรรณาธิการของ deepsouthwatch น่าจะได้ลองทบทวนก่อนนำเสนอว่าในความพยายามหลับหูหลับตาโดยใช้อคติของตนเองเพื่อสร้างผลเสียให้คนอื่น แต่กลับมาสร้างผลเสียให้กับตนเองแบบนี้ ในฐานะสื่อด้วยกันแล้วนับว่าเป็นสิ่งน่าอาย

      บทบาทของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้นั้นด้วยเหตุผลการจัดตั้งได้แสดงออกถึงการมีกระบวนการคิดและเจตนาที่ดีมากอยู่แล้ว อย่าให้เหลือบที่แฝงตัวมาในรูปนักข่าวมาทำให้ความตั้งใจดีต้องถูกมองว่าสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่เลย ไม่มีใครอยากเห็นคนตายมากมายแบบนี้หรอก...เชื่อซิ


ซอเก๊าะ นิรนาม
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น