หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สายใหม่รายอวันเสาร์-สายเก่ารายอวันอาทิตย์


                พี่น้องมุสลิมจำนวนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมกันประกอบพิธีละหมาดวันอีฎิ้ลอัดฮา หรือรายอฮัจญี ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1435 แล้วเมื่อเช้าของวันเสาร์ที่ 4 ต.ค.57 ซึ่งตรงกับที่ทางการซาอุดิอาระเบียประกาศ แต่ไม่ตรงกับที่สำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศมาก่อนหน้านี้ให้วันอีฎิ้ลอัดฮาในประเทศไทย ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 ต.ค.


           ที่มัสยิดดารุลมูฮายีรีน ตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา มีพี่น้องมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลาและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนกว่า 2,000 คน เดินทางไปร่วมประกอบพิธีละหมาดวันอิฎิ้ลอัดฮา ตามที่คณะกรรมการมัสยิดกำหนดให้วันเสาร์ที่ 4 ต.ค.เป็นวันอีฎิ้ลอัดฮา ทำให้บางพื้นที่ได้ร่วมกันประกอบพิะละหมาด และเริ่มทำกุรบาน (เชือดสัตว์พลีทาน) กันแล้ว

           พิธีละหมาดที่มัสยิดดารุลมูฮายีรีน นายมัสลัน มาหามะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นผู้อ่านคุตบะห์ โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับเหตุผลของการละหมาดก่อนวันที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศ 1 วัน และการรณรงค์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์สงครามในซีเรีย สรุปเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันการรับรู้ข่าวสารของประชาชนนั้น ได้รับผลมาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้การรับรู้ข้อมูลจากทั่วสารทิศในโลกได้รวดเร็ว

         ดังนั้นการที่มีข้อมูลจากหลายประเทศทั่วโลกว่า มีการประกาศกำหนดวันอีด (รายอฮัจญ์) ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 ต.ค. ทำให้มุสลิมส่วนหนึ่งในประเทศไทยได้รับรู้ จึงกำหนดวันเสาร์ที่ 4 ต.ค.เป็นวันอีฎิ้่ลอัดฮา ถึงแม้ว่าการกำหนดวันอีฎิ้ลอัดฮาในประเทศไทยยังไม่เป็นทิศทางเดียวกันทั้งหมดก็ตาม แต่มุสลิมจะไม่มีความแตกแยกอย่างเด็ดขาด

         นอกจากนั้น ยังระบุอีกตอนหนึ่งระหว่างอ่านคุตบะห์ว่า เรื่องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากในโลกเป็นสิ่งจำเป็นที่มุสลิมต้องช่วยกันดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะชาวมุสลิมในประเทศซีเรียที่อยู่ในภาวะสงครามภายในประเทศ ทำให้พี่น้องมุสลิมได้รับผลกระทบ เกิดความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก มุสลิมในประเทศไทยได้รวบรวมเงินทองที่ได้รับบริจาคกว่า 30 ล้านบาท นำไปมอบให้โดยตรงถึงมือผู้ประสบภัยจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับเป็นการบริจาคเงินที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

อดีตเลขาฯนักศึกษาไคโรแนะฟังสำนักจุฬาฯ
         ด้าน นายสมศักดิ์ พระยีเกะ จาก จ.นราธิวาส อดีตเลขาธิการนักศึกษาไคโร ประเทศอียิปต์ กล่าวว่า เขาและครอบครัวเลือกรายอวันอาทิตย์ที่ 5 ต.ค. โดยมีบางกลุ่มเท่านั้นที่จะรายอวันเสาร์ที่ 4 ส่วนข่าวที่บอกว่า จ.นราธิวาส โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ประกาศให้รายอวันเสาร์ที่ 4 ต.ค.นั้น เท่าที่ทราบเป็นเฉพาะบางพื้นที่

         "ดูเหมือนรายอของเราปีนี้แตกหลายกลุ่มชัดเจน อาจเป็นเพราะคนไม่ศรัทธาต่อผู้นำ วันก่อนผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของสำนักจุฬาราชมนตรี เขาบอกว่าสำนักจุฬาฯ ดูดวงจันทร์ทุกเดือน ไม่ใช่ดูเฉพาะวันที่จะอีดเท่านั้น ดังนั้นการดูดวงจันทร์ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศวันเวลาไม่เหมือนกัน ฤดูแต่ละฤดูก็ไม่เหมือน การเชื่อฟังผู้นำที่ดีที่เดินทางถูกต้องตามหลักศาสนา เราต้องศรัทธาและปฏิบัติตาม"

       "คนสมัยนี้เวลาจะตัดสินอะไรไม่ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้ยากที่จะแก้ปัญหาต่างๆ เพราะพวกเราบางทีก็แตกแยกกันเอง ฉะนั้นคงไม่มีใครมาแก้ปัญหาให้พวกเราได้ นอกจากพวกเราเเก้เองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียก่อน แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเชื่อฟังผู้นำ ถ้าคับข้องใจว่าผู้นำถูกหรือผิด ก็ต้องสอบถามหรือศึกษาให้ชัดเจนก่อน เพราะความรู้คนปัจจุบันเรียนไม่ถึงที่จะฟัตวา (ตัดสิน) เองได้ การฟัตวาต้องให้อูลามะฮ์ทั่วโลกยอมรับด้วย ถ้าออกฟัตวาเฉพาะหมู่พวกเราเองคงไม่ใช่ ผิดแน่นอน ส่วนท่านจุฬาราชมนตรีไม่ใช่อยู่ๆ เขาจะตัดสินเลย เขาเชิญอุลามะฮ์มาคุยก่อนที่จะประกาศหรือตัดสินในเรื่องใดๆ จึงขอฝากประชาชนทุกคนให้คิดและไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสิน" นายสมศักดิ์ ระบุ

 


สายใหม่รายอวันเสาร์-สายเก่ารายอวันอาทิตย์

  •  นีรมล สาและ ชาวบ้าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวทำนองเดียวกันว่า เธอเป็นคนตามผู้นำ เมื่อผู้นำบอกให้รายอวันอาทิตย์ที่ 5 ต.ค. ที่บ้านก็จะรายอวันอาทิตย์กัน ขณะที่วันศุกร์ที่ 3 ต.ค. ซึ่งทางการซาอุฯประกาศเป็นวันอาเราะฟะฮ์ และชาวบ้านชายแดนใต้นิยมถือศีลอดกันนั้น เธอบอกว่าเธอเองก็ถือศีลอดเช่นกัน เพราะ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือนที่มีการประกอบพิธีฮัจญ์) สามารถถือศีลอดได้อยู่แล้ว  "ตอนนี้ในพื้นที่เขารายอกันวันที่ 4 ก็มี วันที่ 5 ก็มี เขาแยกกันแบบสายเก่าสายใหม่ สายใหม่รายอวันเสาร์ สายเก่ารายอวันอาทิตย์"
  • บีเดาะ อาบะ ชาวบ้าน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บอกว่า ครอบครัวของงอยู่ทำงานที่มาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียรายอวันอาทิตย์ แต่ที่ อ.โคกโพธิ์ รายอกันวันเสาร์ นางจึงเดินทางกลับประเทศไทย และตั้งใจทำกุรบานในวันอาทิตย์  "สำหรับฉันรายอวันไหนก็ได้ ถ้าคนที่บ้านรายอกัน อย่างปีนี้โทรถามแม่ที่โคกโพธิ์ แม่บอกคนโคกโพธิ์รายอวันเสาร์กันเป็นส่วนใหญ่ ก็คิดว่าจะรายอวันเสาร์ตามที่คนอื่นๆ เขารายอกัน"
  • รอฮานา กามา หญิงสาวจาก ต.ยุโป อ.เมืองยะลา กล่าวว่า ที่ จ.ยะลา ประกาศให้รายอวันอาทิตย์ ก็ต้องวันอาทิตย์ ส่วนตัวไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่อยากมีปัญหา คิดว่าตามผู้นำดีที่สุด เพราะจะผิดหรือถูกผู้นำต้องแบกภาระทั้งหมด  "สำหรับคนที่รายอวันเสาร์ ถ้าเราว่างเราก็แวะไปทานอาหารที่บ้านเพื่อนๆ ที่รายอวันเสาร์ แล้วมาทำพิธีที่บ้านเราวันอาทิตย์" รอฮานา กล่าว

---------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น