หน้าเว็บ

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อุสมาน สะแลแมง เครือข่ายค้ายาชายแดนใต้


คสช. เรียกตัวพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่แดนใต้ 'อุสมาน' ประวัติเชื่อมโยงก่อการร้ายในสามจังหวัด...


          คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 50/2557 ได้เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติม 12 คน โดยให้เข้ารายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน เวลา 10.00-12.00 น. ซึ่งใน 12 คนนี้มีบางคนเข้ารายงานตัวแล้ว

         คำสั่ง คสช.ที่เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวฉบับหลังๆ เริ่มมีบุคคลที่มีชื่อแปลกๆ หรือชื่อที่ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเหตุผลประกอบคำสั่งของ คสช. ก็ให้ไว้อย่างกว้างๆ คือ เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลายๆ กรณีสังคมจึงไม่ทราบว่าบุคคลที่ต้องเข้ารายงานตัวนั้น ถูกเรียกตัวด้วยสาเหตุอะไร

        อย่างไรก็ดี บางคนที่ปรากฏชื่อในคำสั่งนี้ เคยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเคยถูกดำเนินคดีจากการค้ายาเสพติด นอกจากนั้น ในคำสั่งฉบับที่ 50/2557 ยังมี 2 คนที่มีชื่อเหมือนเป็นชาวไทยมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นายอุสมาน สะแลแมง ซึ่งมีชื่ออยู่ในลำดับ 2 ของคำสั่ง และ นายเจ๊ะอาแว สะมารอเม๊าะ มีชื่ออยู่ในลำดับที่ 11 ด้วย

อุสมาน : เครือข่ายค้ายาชายแดนใต้

         สำหรับ นายอุสมาน หรือ มัง สะแลแมง มีหมายจับอาญาในข้อหาสมคบกับผู้อื่นร่วมกันนำเข้า ครอบครอง และจำหน่ายยาบ้า เป็นเครือข่ายค้ายารายใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายใหญ่อื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ 


            ชื่อของ อุสมาน สะแลแมง ตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อมีการค้นพบเงินสดๆ เกือบ 10 ล้านบาทเมื่อปี 2552 ซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์ของกลาง ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ที่ยึดมาจากเครือข่ายค้ายาเสพติดของเขา  รถคันดังกล่าวสีเทาดำ หมายเลขทะเบียน ศส 9187 กรุงเทพมหานคร ถูกยึดได้เมื่อปี 2548 ที่บ้านหลังหนึ่งพื้นที่แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตสะพานสูง กทม.

         ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้มีคำสั่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ให้นำรถยนต์คันนี้ไปใช้ประโยชน์ของทางราชการที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี

           ต่อจากนั้นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ให้คดี นายอุสมาน สะแลแมง กับพวกซึ่งกระทำความผิดฐานค้ายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายระหว่างประเทศ เป็นคดีพิเศษ

          กระทั่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี เพื่อขอตรวจค้นภายในรถยนต์โดยละเอียด ผลการตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท และ 500 บาท จำนวนทั้งสิ้น 9,998,000 บาท ซุกซ่อนอยู่ภายในแผงประตูหลังฝั่งซ้ายและขวา จึงร่วมกันตรวจยึดไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี

          ศูนย์ข่าวอิศรา ได้เคยนำเสนอสกู๊ปข่าวเรื่อง "เปิดรายงานฝ่ายความมั่นคง (1) แฉเส้นทางลำเลียงยาเสพติดชายแดนใต้" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ระบุตอนหนึ่งว่า กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ส่วนมากเป็นเครือข่ายใหญ่ มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ที่สำคัญได้แก่ 

  • 1.เครือข่ายของ นายมะยากี ยะโก๊ะ มีฐานที่มั่นอยู่ใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เคยถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้านและพบเงินสดจำนวน 30 ล้านบาทซุกอยู่ในท่อพีวีซี เมื่อเดือนตุลาคม 2550 จนกลายเป็นข่าวดังทั้งประเทศ และภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของมาเลเซียจับกุมส่งทางการไทย 
  • 2.เครือข่ายของ นายอุสมาน สะแลแมง มีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ใน จ.นราธิวาส แม้เจ้าหน้าที่จะติดตามจับกุมกวาดล้างเครือข่ายระดับต่างๆ ของนายอุสมานได้บ่อยครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวนายอุสมานได้ มีเพียงการยึดทรัพย์หลายรายการ 

            ล่าสุด สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (ดีอีเอ) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้ออกหมายจับนายอุสมาน ในข้อหาสมคบกับผู้อื่นร่วมกันนำเข้า ครอบครอง และจำหน่ายยาบ้า พร้อมให้ข้อมูลว่า นายอุสมานเคยพำนักอยู่ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แต่ปัจจุบันซ่อนอยู่ในประเทศลาว

ตากใบ : แดนสนธยา-ค้าน้ำมันเถื่อน

         สำหรับ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นอำเภอที่มีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซียด้านรัฐกลันตัน มีด่านศุลกากร ชื่อ ด่านตาบา การจะข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย ต้องลงเรือข้ามแม่น้ำที่ด่านตาบา ซึ่งถัดไปไม่ไกลก็เป็นปากอ่าวที่ออกสู่ทะเลอ่าวไทย

          อ.ตากใบ มีชื่อกระฉ่อนในแง่ลบเกี่ยวกับการค้าน้ำมันหนีภาษี หรือน้ำมันเถื่อน เนื่องจากราคาน้ำมันทางฝั่งมาเลเซียต่ำกว่าฝั่งไทยกว่าครึ่งต่อครึ่ง ทำให้กำไรจากการค้าน้ำมันหนีภาษีเย้ายวนใจใครหลายคนในพื้นที่ อ.ตากใบ บางรายตั้งตนเป็นผู้มีอิทธิพล เกี่ยวโยงทั้งขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนและยาเสพติด มีเครือข่ายเชื่อมกับพ่อค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ใน อ.สิงหนคร จ.สงขลา และหลายรัฐของมาเลเซียที่มีเขตติดต่อกับประเทศไทย เช่น รัฐกลันตัน เกดะห์ ผู้มีอิทธิพลบางคนมีชื่อย่อที่เรียกกันติดปากว่า "แบ ต." (แบ เป็นภาษามลายู แปลว่าพี่ หรือเรียกแบบยกย่อง) มีเครือข่ายทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเปิดกิจการรับเหมาก่อสร้างบังหน้า

อ่านเพิ่มเติม: http://bit.ly/1oxBwus


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น