หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สงครามความรู้สึก แนวรบนี้ต้องเท่าทันโจรใต้...


             เกิดมานานจนเกิดการสะสมทับถมของปัญหาที่ซับซ้อน เป็นความเกี่ยวโยงกันจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะแก้ปัญหา คือเรื่องของคน ผมเชื่อมั่นว่าบางครั้งเราอาจชนะได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ถ้าเข้าใจงานปฏิบัติการข่าวสารอย่างลึกซึ้ง แท้จริง“ ...นี่เป็นบางส่วนจากคำนิยม ที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุไว้ในหนังสือ “IOs หลากทรรศนะ 10 เรื่องเด่น การปฏิบัติการ

          ข่าวสาร” จัดพิมพ์โดยโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งชี้ความสำคัญ “ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO)” ยึดโยงกับ ปัญหาไฟใต้

            หนังสือเล่มนี้รวบรวมทรรศนะ สะท้อนข้อคิดเห็น ของบุคคลหลายอาชีพ ที่มีต่องานปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “เครือข่าย พรส.” โดยมี พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ อาจารย์อำนวยการส่วนวิชาการปฏิบัติการพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นบรรณาธิการหนังสือ ซึ่ง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็ได้เคยคัดย่อบางส่วนจากบทความ “สงครามชิงมวลชนบนความโรแมนติก” ที่เขียนโดย ดร.พิสิฐ เหตระกูล มานำเสนอไปแล้ว  ยิ่งมองสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งน่าพิจารณา

             ในหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ เป็นเนื้อหาเชิงวิชาการด้านปฏิบัติการข่าวสาร เกี่ยวกับสถานการณ์ไฟใต้ และอาจสะท้อนถึงสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ในบทความ “IO สมรภูมิสงครามความรู้สึก” โดย พ.อ.บุญรอด ก็ได้สะท้อนถึงความสำคัญของปฏิบัติการข่าวสาร กับสมรภูมิรบรูปแบบใหม่ ในชื่อ ’สงครามความรู้สึก“ โดยยกเหตุการณ์ 9/11 หรือกรณีเหตุระเบิดในการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา มาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ฉายภาพส่วนขยายสงครามความรู้สึก

        ’ไม่มีใครปฏิเสธว่า สงครามการก่อการร้าย และสงครามก่อความไม่สงบทั่วโลก ในปัจจุบัน เป็นสงครามที่สร้างกระแสความรู้สึกได้อย่างชัดเจน“ ...เป็นภาพสะท้อนที่ พ.อ.บุญรอด ระบุไว้

         ทำไมต้องเป็นสงครามความรู้สึก? .

         พ.อ.บุญรอด ระบุว่า ทุกสงครามย่อมมีวิวัฒนาการในตัวของตัวเอง หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น สงครามรูปแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้น เรียกว่าสงครามก่อการร้าย ซึ่งยึดเกาะกับความคิดความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะการบิดเบือนหลักศาสนามาใช้กล่าวอ้าง เปลี่ยนย้ายแนวคิดการทำสงครามจากลัทธิการเมืองมาเป็นความเชื่อความศรัทธา และนำ “ความรู้สึก” มา “ใช้เป็นพลังขับเคลื่อน”

           ยิ่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญ คนในสังคมจึงมีปฏิสัมพันธ์ที่รวดเร็ว กว้างขวาง และลงลึกในโลกสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นฝ่ายต่อต้านรัฐจึงใช้ช่องทางนี้แสวงหาแนวร่วม ด้วยการถ่ายทอดความรู้สึก แรงจูงใจ ความคับแค้นใจ ผ่านช่องทางนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการ ’สร้างความรู้สึกร่วม“ โดยที่มีโซเชียลมีเดีย เป็นตัวเร่งสำคัญ เพื่อเปิดแนวรบ

        “สงครามความรู้สึก” บนโลกสังคมออนไลน์ “เพราะท้ายที่สุดเมื่อฝ่ายใดสามารถปฏิบัติการจนสามารถครอบครองพื้นที่ความรู้สึกได้มากกว่า ย่อมชนะบนแนวรบนี้” ...เป็นบทวิเคราะห์ที่ปรากฏในบทความ “IO สมรภูมิสงครามความรู้สึก”

         ทั้งนี้ ปฏิบัติการข่าวสารหากทำได้ถูกต้องย่อม มีอำนาจไม่ต่างจากอาวุธ!! ซึ่งถามว่า งานปฏิบัติการข่าวสารคืออะไร? ...ในบทความอธิบายไว้ว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ IO มีองค์ประกอบ 5 กิจกรรมหลัก 5 กิจกรรมสนับสนุน และ 2 กิจกรรมเสริม กล่าวคือ... กิจกรรมหลัก รักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการลวงทางทหาร ปฏิบัติการจิตวิทยา สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์, กิจกรรมสนับสนุน ทำลายทางกายภาพ ต่อต้านข่าวกรอง ต่อต้านการลวง ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ รักษาความปลอดภัย และ กิจกรรมเสริม ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติกิจการพลเรือน ซึ่ง ทุกกิจกรรมล้วนแต่ส่งผลต่อความรู้สึกทั้งสิ้น!!

          และยกตัวอย่าง กรณีการโจมตีฐานนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 16 ศพ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่มีการสูญเสียเลย กรณีนี้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินกิจกรรมรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ มีการลวงทางทหารโดยเคลื่อนย้ายชุดรบพิเศษทำลายใต้น้ำเข้าเสริมกำลังในเวลากลางคืน รวมถึงทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ลวงด้วยการรักษาระดับการติดต่อสื่อสารไว้ในสภาพปกติ ไม่ให้ผิดสังเกต จนสามารถปฏิบัติการได้ 100% ไม่มีความสูญเสียในฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าก็กลับมีจุดอ่อนด้านการปฏิบัติการข่าวสาร เพราะกลุ่มก่อเหตุนำเหตุการณ์ไปพลิกสถานการณ์ ด้วยการขยายผลจากการให้สัมภาษณ์ของแม่ผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิต เผยแพร่พิธีฝังศพผ่านสังคมออนไลน์อย่างยูทูบ ใช้เสียงเพลงปลุกใจประกอบ สร้างความฮึกเหิม จนมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก

           “สมรภูมิความรู้สึก เป็นอีกแนวรบสำคัญ ที่นักปฏิบัติการทางทหารพลาดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นชัยชนะระดับยุทธวิธีจะสูญเปล่า ซึ่งชัยชนะการรบครั้งสุดท้าย ไม่อาจยืนยันว่าจะหมายถึงชัยชนะในสงครามครั้งต่อไป ซึ่งกลไกที่สำคัญคือต้องมีปฏิบัติการข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน และมีประสิทธิภาพ” ...เป็นบทสรุปในบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น