หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อับดุลฮากิม ดาราเซะ ผู้ชายธรรมดา ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้โจรฟาตอนี



        ขอเชิดชูในความกล้าหาญของ อส.ฮากิมจุดแตกหัก...เมื่อ ผกร.บันนังกูแว สั่งให้ อส.ฮากิม ฆ่าพ่อตัวเองเพราะไม่ยอมเข้าร่วมขบวนการ

        "เขาถือว่าผมสกปรกแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นก็มาโยนใส่ กล่าวหาว่าผมเป็นคนทำทั้งหมด" นี่คือคำกล่าวของ อส.ฮากิม หรือ นายอับดุลฮากิม ดาราเซะ อดีต อส.บันนังสตา จ.ยะลา ถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดของเขา และถูกโยงมาถึงตัวเขา ในอำเภอซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแดนสนธยาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

        ชื่อของ อส.ฮากิม ปรากฏเป็นข่าวหลายครั้งหลังเกิดเหตุรุนแรงในหลายพื้นที่ของ จ.ยะลา ช่วงเดือน มี.ค.ถึง เม.ย.2557 เพราะผู้ก่อเหตุได้ทิ้งใบปลิวเอาไว้ เขียนข้อความคล้ายๆ กันว่า เป็นการแก้แค้นตอบโต้ที่รัฐปล่อยให้ อส.ฮากิม ระรานชาวบ้าน

        ภาพของ อส.ฮากิม ถูกวาดไว้ประหนึ่งเป็นยักษ์มาร เขาถูกระบุว่าเกี่ยวพันกับเหตุคนร้ายบุกยิง นายดอเลาะ ผดุง อายุ 66 ปี และ นางมารีแย ผดุง อายุ 60 ปี สองสามีภรรยาจนเสียชีวิตในบ้านเลขที่ 67/1 หมู่ 4 บ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา ซึ่งหลังก่อเหตุได้มีการจุดไฟเผาบ้านซ้ำ

       บ้านบันนังกูแวเป็นบ้านเกิดของ อส.ฮากิม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสองสามีภรรยามุสลิมวัยชราเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่รับไม่ได้ และหลังจากนั้นชื่อของเขาก็ไปปรากฏในใบปลิวใบแล้วใบเล่า เช่น เหตุขว้างระเบิดเข้าไปในร้านขายก๋วยจั๊บ อ.เมืองยะลา เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มี.ค.แต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน, เหตุสังหาร ด.ต.เอกพงษ์ ศักดายุทธ อดีตตำรวจสันติบาลวัย 65 ปี เสียชีวิตคาปั๊มน้ำมันใน อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มี.ค.

        รวมถึงเหตุสังหารหมู่ 3 ศพคณะผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นำโดย นายเอียะ ศรีทอง อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านกาสังใน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา เมื่อบ่ายวันพุธที่ 2 เม.ย. โดยหนึ่งในสามเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิง ถูกคนร้ายตัดคออย่างโหดเหี้ยม

       ทั้งหมดไม่ได้กล่าวหาว่า อส.ฮากิม เป็นคนทำ แต่อ้างว่าเป็นการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์อีกศาสนาหนึ่ง เพื่อแก้แค้นตอบโต้พฤติกรรมของ อส.ฮากิม ที่ถูกอ้างว่ากระทำต่อผู้บริสุทธิ์ในศาสนาอิสลาม...ศาสนาเดียวกับเขา

        อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง อส.ฮากิม เองก็ถูกกระทำเช่นกัน แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิดหวังสังหารเขากับน้องชายและเพื่อน ขณะขับรถยนต์อยู่ในพื้นที่บ้านบันนังกูแว เมื่อ 16 ก.พ. แต่เขารอดชีวิตมาได้ ถัดจากนั้น 7 วันสองสามีภรรยาตระกูลผดุงก็ถูกสังหาร และมีกระแสข่าวว่าเป็นการกระทำของเขาเพื่อแก้แค้นที่ลูกลอบวางระเบิด

        กระทั่ง 20 เม.ย. ครอบครัวของ อส.ฮากิม คือ นายดอรอแม ดาราเซะ พ่อวัย 54 ปี นางอาอีเสาะ เฮงดาดา แม่วัย 49 ปี และ เด็กหญิงนูรอีมาน ดาราเซะ หลานสาววัยเพียง 2 ขวบ ก็ถูกคนร้ายยิงตายคารถทั้ง 3 คน บนถนนสาย 410 ที่เชื่อมระหว่างบันนังสตากับเมืองยะลา

       หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งให้ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งภายในท้องถิ่น และออกมาตรการควบคุมอาวุธปืนทุกประเภท กระทั่งนำมาสู่บทสรุปเบื้องต้นว่า เหตุรุนแรงดังกล่าวเป็นการแก้แค้นกันของ "คนสองตระกูล" ในบันนังสตา

แต่หลายคนเชื่อว่าน่าจะมีอะไรที่สลับซับซ้อนมากกว่านั้น!

      ที่ผ่านมา "ทีมข่าวอิศรา" ได้พยายามเสาะหาเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับ อส.ฮากิม ผ่านการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ แต่ยังไม่เคยได้ยินเรื่องราวจากปาก อส.ฮากิม เลย

       กระทั่งล่าสุด "ทีมข่าวอิศรา" ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับ อส.ฮากิม ในสถานที่ปิดลับแห่งหนึ่ง และได้ขอสัมภาษณ์ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ซึ่งอดีต อส.บันนังสตา รายนี้ก็ยอมเปิดเผยทุกเรื่องอย่างหมดเปลือก

       และนี่คือบทสัมภาษณ์ของ อส.ฮากิม ที่ไม่เพียงสะท้อนตัวตนของเขาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนภาพอีกด้านหนึ่งของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดกว่า 10 ปีที่ถูกปกคลุมด้วยสถานการณ์ความไม่สงบและอิทธิพลของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน!

ถูกชวนเข้าขบวนการ

       ฮากิมเป็นชายหนุ่มวัย 26 ปี รูปร่างสมส่วน สูงราวๆ 170 เซนติเมตร หน้าตาคมเข้ม ผมหยิกฟู เขาเริ่มเล่าเรื่องราวของตัวเองสมัยเรียนศาสนาและถูกชักชวนเข้าร่วมขบวนการเอกราชปัตตานี

       "ช่วงปี 2546 ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้น 8 ที่โรงเรียนอาลาวียะห์วิทยา (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน อ.บันนังสตา ) ผมเป็นลูกอุสตาซ (ครูสอนศาสนา) พ่อผมเป็นอุสตาซสอนอยู่ที่โรงเรียนคัมภีร์วิทยา ตัวผมเองชอบศึกษาศาสนา ชอบฟังบรรยายและชอบฟังธรรม อะไรที่เกี่ยวกับศาสนาชอบฟังหมด หากรู้ว่าที่ไหนมีบรรยายศาสนาจะชอบไปฟัง จนมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นเพื่อนต่างโรงเรียนได้ชวนไปที่บ้านกาสัง (หมู่บ้านหนึ่งใน อ.บันนังสตา) บอกว่าที่นั่นมีบรรยายศาสนาผมก็ไปกับเขา ตามไปฟังทุกวัน ชอบมาก เขาเปลี่ยนสถานที่ไปที่อื่น ผมก็ตามไปฟัง"

      "สุดท้ายไปอยู่ที่บาตูกอ (อ.กรงปินัง รอยต่อกับ อ.บันนังสตา) วันนั้นพอไปแล้วกลับไม่ได้ เริ่มมีการปลุกระดมให้เข้าร่วมขบวนการ ตอนนั้นผมคิดว่าเมื่อกลับไม่ได้แล้ว ก็ทำตามที่เขาบอกก็แล้วกัน ก็เลยตัดสินใจอยู่กับเขา เรียนไปเรียนมาตามที่เขาสอนจนครบ ก็ได้เข้าหลักสูตรฝึกปฏิบัติการ รุ่นผมที่ได้ฝึกมีทั้งหมด 12 คน ผมเป็นคนแรกที่ได้ยศฆอรี (ลำดับชั้นหนึ่งในฝ่ายทหารของกลุ่มขบวนการ) จากการฝึกจบหลักสูตรคอมมานโด"

      เมื่อ ฮากิม ฝึกจนจบหลักสูตรคอมมานโดแล้ว ก็ถึงเวลาออกปฏิบัติการจริง งานแรกของเขา คือ บุกโจมตีโรงพักบันนังสตา เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 พ.ย.2548

      "การถล่มโรงพักบันนังสตาคืองานแรกที่ผมได้ออกปฏิบัติการหลังฝึกหลักสูตรคอมมานโด การออกปฏิบัติการของผมกับพวกกว่าสิบคนในครั้งนั้น มี แบมิง (นาย หาสือมิง จารง) เป็นหัวหน้ากลุ่ม เขาเป็นแกนนำและสั่งการในการออกมาก่อเหตุ หลังจากแบมิงถูกยิงเสียชีวิต ผมเป็นคนพาปืนของแบมิงหนี ซึ่งก็หลบหนีรอดมาได้"

เปลี่ยนฝ่ายไปอยู่กับรัฐ
       ฮากิม เล่าว่า จากเหตุการณ์โจมตีโรงพักบันนังสตา ทำให้รู้สึกกลัวมาก จนเขาไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวด้วย จึงตัดสินใจหันหลังให้ขบวนการ

       "ผมทิ้งปืนทิ้งอะไรที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นทั้งหมด แล้วไปหลบซ่อนอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เป็นบ้านของโต๊ะครูที่สนิทกับพ่อ ผมอยู่บ้านเขา เขาสอนผมทุกอย่าง ทั้งอ่านอัลฮาดิษ (คำสอนของท่านนบี) อ่านอัลกุรอาน เขาจะแปลและสอนอธิบายทุกอย่างที่ถูกต้อง ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ผมเรียนและรับรู้มาในอดีตเป็นสิ่งที่ผิด ผมมุ่งสนใจเรียนศาสนาต่อจนจบชั้น 10 (ในอดีตเป็นชั้นสูงสุดของการเรียนศาสนา)"
         "ต่อมาในช่วงปี 2550 ผมตัดสินใจเข้ามอบตัวกับทางราชการ และได้พูดคุยกับปลัดอำเภอบันนังสตาเพื่อขอสมัครเข้าเป็น อส. (อาสารักษาดินแดน) และได้เป็น อส.ใน อ.บันนังสตา โดยเป็น อส.อยู่บนอำเภอ ทำงานฝ่ายทะเบียนและบัตร สมัยนั้นผู้กำกับสมเพียร (พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) เป็นผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา"

        ฮากิม บอกว่า หลังเข้าเป็น อส.ใหม่ๆ ได้ทำงานบนที่ว่าการอำเภอบันนังสตา ช่วงนั้นการติดต่อระหว่างเขากับขบวนการก็ยังมีอยู่ แต่เป็นลักษณะช่วยบริจาค เพราะเขาไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการอีกแล้ว

       "ตอนนั้นก็ยังติดต่อกับพวกเขาบ้าง เพราะผมไม่อยากมีปัญหา ผมต้องแบ่งเงินเดือน อส.ที่ได้รับทุกๆ เดือนออกมาส่วนหนึ่งเพื่อซื้อข้าวสารบริจาคให้พวกเขาทุก ๆ เดือน ผมออกมาแล้ว ไม่อยากกลับเข้าไปอีก ผมขอแค่ช่วยในแบบนี้ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ว่าอะไรผม และไม่เคยมายุ่งเกี่ยวอะไรกับผมและครอบครัว เป็นอย่างนี้มานานหลายปี"

ความขัดแย้งก่อตัว

       ฮากิม เชื่ออยู่ในใจตลอดมาว่า แม้เขาจะช่วยเหลือบริจาคข้าวสารให้ขบวนการมาตลอด แต่ลึก ๆ แล้วคนของขบวนการคงไม่ไว้ใจเขาเหมือนในอดีต เพียงแต่ว่าวันนั้นเขาไม่ได้สร้างปัญหาหรือความไม่พอใจอะไรให้กับคนในขบวนการ

       กระทั่งวันที่ 26 เม.ย.2556 มีการยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับคนของขบวนการ ในพื้นที่บ้านเจาะปันตัง หมู่ 9 (ใกล้กับบ้านบันนังกูแว) ทำให้คนของขบวนการเสียชีวิต 3 คน หลังเหตุการณ์ปะทะจบลง ปัญหาความขัดแย้งกับบคนในขบวนการจากความไม่ไว้ใจในตัวฮากิมก็เกิดขึ้น

       "เหตุการณ์คนของพวกเขายิงปะทะกับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 ศพ ผมได้ไปในที่เกิดเหตุด้วย แต่ไปในฐานะของ อส.บันนังสตา ที่เป็นชุดเยียวยา หัวหน้าสั่งให้ผมไปถ่ายรูปคนตายเพื่อจะเอารูปไปเดินเรื่องเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของอำเภอให้กับครอบครัวผู้ตาย แต่วันนั้นมีนักข่าวทีวีช่องหนึ่งไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ นักข่าวเป็นผู้หญิง แล้วมีภาพของผมติดไปในข่าวเหตุการณ์วันนั้นออกไปด้วย ยิ่งหนึ่งในคนที่เสียชีวิตเป็นน้องชายของโต๊ะอิหม่ามคนหนึ่งในบันนังกูแวบ้านเดียวกับผม จึงทำให้คนในขบวนการเข้าใจผิดคิดว่าผมเป็นหนึ่งในกำลังเจ้าหน้าที่ อส.ที่ยิงปะทะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาระหว่างผมกับขบวนการ"

       "หลังจากเหตุปะทะในครั้งนั้น ผมไม่สบาย เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 สัปดาห์ ระหว่างนั้นได้มีโทรศัพท์จากคนที่ผมไม่รู้จักโทรเข้ามาบอกว่า ผมอยู่ร่วมกับพวกเขาไม่ได้แล้ว และบอกให้ผมไปหากุโบร์ (สุสาน) เลือก 2 แห่งที่มีอยู่ในบันนังกูแว ให้ผมไปเลือกว่าจะอยู่กุโบร์ไหน หลังจากนั้นผมก็ปิดเครื่อง ไม่อยากคุยต่อ"

ประกาศแตกหัก
        "จนกระทั่งวันศุกร์ ผมออกจากโรงพยาบาลพอดี ผมได้ไปละหมาดที่มัสยิดบันนังกูแว มีอุสตาซวันรุดี (นาย มาวาดี ดอเลาะ ปัจจุบันหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่) ดึงตัวผมไปคุยที่หลังมัสยิดแล้วถามผมว่า หากุโบร์ได้หรือยัง ผมก็บอกไปว่าผมไม่อยากตายนะ ผมมีเมียมีลูกที่ต้องดูแล พวกเขาบอกผมว่าให้เวลา 3 วันนะ ผมพยายามขอร้องพวกเขา แต่พวกเขาไม่ฟังและยืนยันว่าอย่างไรเสียผมกับพวกเขาจะอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้อีกแล้ว"

       เมื่อเห็นว่าคำร้องขอของตัวเองไม่เป็นผล ฮากิมจึงเดินตามหลังอุสตาซคนนั้นไปถึงร้านน้ำชาในหมู่บ้าน ซึ่งกำลังมีชาวบ้นหลายคนนั่งชมรายการถ่ายทอดชกมวยทางโทรทัศน์ เขาเดินไปปิดทีวี แล้วประกาศแตกหักกับขบวนการต่อหน้าชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมด

        "หากต้องการอย่างนั้นก็ได้ ทุกคนไม่ว่าใครก็รักชีวิตของตัวเอง คุณก็รักชีวิตคุณ ผมก็รักชีวิตผม หากใครอยากได้ชีวิตผมก็เข้ามา ถ้าพวกคุณได้พวกคุณก็ชนะ ถ้าผมได้ผมก็ชนะ" เป็นคำประกาศของ อส.ฮากิม ต่อหน้าชาวบ้าน

ถูกตามไล่ล่า

         หลังจากนั้นเป็นต้นมา ฮากิมก็ถูกคนของขบวนการติดตามทำร้ายมาตลอด ทั้งไล่ยิงรถ ซึ่งเกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง และลอบวางระเบิดรถยนต์ เกิดขึ้น 2 ครั้ง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวตามที่ปรากฏเป็นข่าว

         "พวกเขาส่งคนติดตามความเคลื่อนไหวและประกบยิงผมขณะขับรถยนต์ถึง 4 ครั้ง โชคดีที่ผมเป็นคนขับรถเร็ว จึงปลอดภัยจากกระสุนปืนของพวกเขา แต่ก็มีร่องรอยกระสุนที่รถ และผมไม่ได้แจ้งความ เพียงแต่นำเรื่องไปบอกตำรวจที่อยู่กับผู้กำกับสมเพียร และปลัดอำเภอที่เป็นหัวหน้าผมว่าผมถูกตามยิง ทางตำรวจและหัวหน้าก็ให้ผมระมัดระวังตัวมากขึ้น"

       เมื่อส่งการส่งคนตามลอบยิงไม่เป็นผล และฮากิมก็ระมัดระวังตัวมากขึ้น ทำให้ขบวนการหันมาใช้วิธีวางระเบิดรถยนต์ของฮากิมแทน โดยครั้งแรกไม่สำเร็จ เพราะเขาสามารถขับรถหลบไปได้ แต่ครั้งที่สอง (16 ก.พ.2557) รถยนต์เก๋งของฮากิมถูกระเบิดจนเสียหาย และเกิดการยิงปะทะกันระหว่าง ฮากิมกับคนร้ายที่มาซุ่มโจมตีด้วย

       "วันนั้น ผม น้องชาย และเพื่อนกำลังเดินทางกลับเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายก อบต.ผมเป็นคนขับ เมื่อถึงจุดเกิดเหตุได้เกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดอัดเข้าที่หน้าห้องเครื่องของรถ น้องชายและเพื่อนสลบติดอยู่ในตัวรถ ตัวผมกระเด็นออกมานอกรถ แต่ยังพอมีสติ จึงได้เอาปืนยิงสวนออกไปข้างทางริมถนน จนพวกเขาหลบหนีไป ทราบภายหลังว่าจุดที่พวกเขาซ่อนอยู่ระหว่างก่อเหตุระเบิดรถผม มีแกลลอนน้ำมัน 20 ลิตรทิ้งเอาไว้ด้วย หากวันนั้นผมไม่สามารถยิงตอบโต้ได้ คงถูกพวกเขาลงมาเผาซ้ำอย่างแน่นอน"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น