หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เรื่องเล่า‘RKK’กลับใจกับประสบการณ์หลงผิด


เรื่องเล่า‘RKK’กลับใจกับประสบการณ์หลงผิด

         สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ก่อเกิดนับร่วมสิบกว่าปี ผู้ที่คิดต่างจากรัฐยังคงมุ่งกระทำต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ และส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องได้รับความเดือดร้อน ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีทางเลือก ไม่อาจหลีกหนีปัญหาเนื่องจากเป็นมาตุภูมิบ้านเกิดเมืองนอน ที่ได้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

        กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสมาชิกแนวร่วมขบวนการจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในการก่อเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจจะเป็นผู้หลงผิด หรือมีบางส่วนถูกกดดันจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จากแกนนำ ผกร.ที่ทำหน้าที่คุมกำลังอยู่ในหมู่บ้าน ได้ข่มขู่คุกคามไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ บีบบังคับให้สนับสนุนขบวนการ จนในที่สุดบุคคลเหล่านี้ต้องเข้าร่วมเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์เพียงเพื่อให้ตนเองและบุคคลในครอบครัวได้รับความปลอดภัยในชีวิตไม่ถูกระรานจากกลุ่มขบวนการ

         ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุย และรับฟังคำบอกเล่าจากการเปิดใจของสมาชิก RKK ท่านหนึ่งที่เคยหลงผิดเข้าสู่วังวนของความชั่วร้าย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งดีที่ข้อมูลเหล่านี้จะได้ทำการเผยแพร่เพื่อสื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ว่ายังมีสมาชิกแนวร่วมอีกหลายชีวิตที่ถูกแกนนำ ผกร.บีบบังคับให้เข้าร่วมขบวนการ และยังบังคับขู่เข็ญทำการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ หากไม่กระทำตามจะไม่รับรองความปลอดภัยบุคคลในครอบครัว

          “ตั้งแต่เกิดเหตุคนร้ายปล้นปืนค่ายทหารที่ปิเหล็ง เมื่อต้นปี 47 ผมจำได้ว่าในหมู่บ้านของผมจากที่ผู้คนเคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข กลับได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน วิถีชีวิตได้แปรเปลี่ยนไปจากเดิม มีหลายครอบครัวจำใจต้องละทิ้งถิ่นฐานอพยพย้ายหนีไปปักหลักอาศัยอยู่ที่อื่น แต่ครอบครัวของผมไม่ได้ย้ายตามเพื่อนบ้านเหล่านั้นไป ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ต้องทนอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงจาการกระทำของผู้ที่มีความคิดต่างจากรัฐ และยังคิดอยู่เสมอว่าผู้ก่อเหตุอย่าได้มาทำร้ายคนในครอบครัวของผมเลย”

          เปิดฉากแรกในการสนทนาระหว่างตัวผู้เขียนกับอดีต RKK ผู้หลงผิดท่านหนึ่งที่อดีตเคยเข้าร่วมทำการเคลื่อนไหวกับกลุ่มขบวนการ ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลง หลังจากได้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารที่ปิเหล็ง เมื่อต้นปี 47 ซึ่งเหตุการณ์หลังจากวันนั้นมาความรุนแรงได้ขยายเป็นวงกว้างสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนกันถ้วนหน้า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำลายสถาบันครอบครัว และชุมชนที่เคยอยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีความสุข จากน้ำมือการกระทำของ RKK ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมขบวนการ BRN ซึ่งในขณะนั้นได้ใช้วิธีความรุนแรงทุกรูปแบบ ทำการลอบยิง ลอบวางระเบิด อย่างไร้ความปราณี และไร้มนุษยธรรม อีกทั้งยังข่มขู่ประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่ให้การสนับสนุน จนต้องย้ายหนีละทิ้งถิ่นฐาน หรือแม้กระทั่งโดนลอบทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็ยังมีอีกบางส่วนที่โดนบีบบังคับจนต้องจำยอมเข้าสู่ขบวนการ

        อดีตผู้หลงผิดได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วังวนของความชั่วร้ายในการเข้าร่วมขบวนการ เป็นสมาชิก RKK ทั้งที่ในส่วนลึกแล้วไม่อยากจะเข้าร่วมแต่ต้องจำใจ จำยอม เพื่อเหตุผลบางอย่าง 
          “ผมย้ายไปอยู่ที่อื่นเหมือนหลาย ๆ ครอบครัวที่ได้ย้ายหนีจากการคุกคามของกลุ่มขบวนการไม่ได้ เนื่องจากลูกสาวทั้งสองของผมยังเล็กอยู่ โดยเฉพาะคนโตกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนคนเล็กเพิ่งคลอดได้แค่ 10 กว่าวันเอง ครอบครัวผมถึงแม้ว่าไม่ได้ร่ำรวยเงินทองเป็นแค่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งแต่อยู่กันอย่างมีความสุข พร้อมหน้าพร้อมตาตามประสาพ่อแม่ลูก”

        “ผมต้องเข้าร่วมขบวนการ เป็นความคิดของผมที่โลดแล่นเข้ามาในสมอง ณ ตอนนั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นทางออกหนทางเดียวเท่านั้น ในเมื่อผมเป็นสมาชิกแนวร่วมแล้วจะสามารถคุ้มครองให้สมาชิกในครอบครัวของผมปลอดภัยไม่ถูกข่มขู่ คุกคาม และถูกหมายเอาชีวิตจาก RKK ที่เคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้านได้อีก”

        จากจุดเริ่มต้นปล้นปืนต้นปี 47 ย่างเข้าสู่ปี 48 ผู้หลงผิดท่านนี้ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก RKK อย่างเต็มตัว แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมขบวนการนานถึง 8 ปีเต็ม กลับพบว่าไม่มีสิ่งดีๆ ใดเลยที่เข้ามาสู่ชีวิตของเขาและครอบครัว แถมสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ย่ำแย่ มิหนำซ้ำสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนานั่นคือเป็นบุคคลตามหมายจับของศาล มีทั้งหมาย ป.วิ.อาญา และหมาย พ.ร.ก.ฯ ชีวิตถึงทางตันอนาคตดับมืดไร้แสงสว่างคลำหาทางออกไม่เจอ อีกทั้งปัญหาสุขภาพประดังเข้ามารุมเร้า พื้นที่รับผิดชอบที่ทำการเคลื่อนไหวอยู่ไม่มีแม้ยารักษา อยู่อย่างอนาถาอดๆ อยากๆ ขบวนการไม่ได้ให้การช่วยเหลือใดๆ เลย อีกทั้งไม่ได้ให้การเหลียวแล อย่างเช่นที่แกนนำเคยพูดไว้อย่างสวยหรูในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกให้ผู้คนเข้าร่วมขบวนการ ณ เวลานั้นอยากกลับไปหาลูกเมียเพื่อทำการรักษาตัวที่บ้านเกิด แต่ก็กลัวเจ้าหน้าที่มาจับกุม จะเข้ามอบตัวกับทางการก็ไม่มีเงินทองในการต่อสู้คดีความในชั้นศาล

       “ผมเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการ เริ่มต้นงานแรกด้วยการพ่นสี ทำลายป้ายจราจร ป้ายบอกทาง เผายางรถยนต์สร้างความปั่นป่วน ใช้รถจักรยานยนต์ในการลาดตระเวนเส้นทางในเขตรับผิดชอบที่แกนนำมอบหมาย เพื่อทำการหาเป้าหมายในการก่อเหตุ และศึกษาเส้นทางในการหลบหนี หลังจากนั้นได้รับสั่งการให้ทำการก่อเหตุด้วยการลอบยิง โดยเลือกเป้าหมายที่อ่อนแอไร้ทางต่อสู้ เด็ก ผู้หญิง หรือคนชรา ไม่มีการแยกแยะชาวไทยพุทธ-มุสลิม”

         อดีตผู้หลงผิด ยังได้กล่าวถึงหน้าที่รับผิดชอบอีกอย่างหนึ่ง คือ การหาสมาชิกแนวร่วมที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงที่จะทำการก่อเหตุ ให้มาร่วมประชุม วางแผนเตรียมการกับแกนนำ โดยให้รับผิดชอบในการเตรียมการในการสนับสนุนเรื่องอาหารการกิน รวมทั้งที่ซ่อนตัวทั้งก่อนก่อเหตุ และหลังจากการก่อเหตุเสร็จสิ้นแล้ว

เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน จุดพลิกผันของชีวิต


      “ผมได้รับฟังข่าวสารว่าหน่วยงานภาครัฐ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดต่างจากรัฐ สามารถเข้ามารายงานตัว แสดงตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมายกับโครงการพาคนกลับบ้าน”

        อดีตผู้หลงผิดได้กล่าวพร้อมกับสีหน้า แววตายิ้มแย้มอย่างเปี่ยมสุขเมื่อได้ทำการเล่าเรื่องราวของตนมาถึง ณ ตรงนี้ ซึ่งได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญของตนเองและครอบครัว แสงสว่างรำไรรออยู่เบื้องหน้านำพาไปสู่ทางออกทั้งที่ก่อนหน้านี้มืดมิดเหมือนคนที่สิ้นอนาคต หลังจากนั้นได้หาโอกาสกลับมาบ้านพูดคุยกับครอบครัว และตัดสินใจเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นยังไม่มีความมั่นใจในวิธีการและกระบวนการขั้นตอนสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้รับการแนะนำ และช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงใจ ในการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทุกขั้นตอนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สุดท้ายศาลสั่งไม่ลงโทษปล่อยตัวให้เป็นอิสระ

        “ชีวิตของผมเหมือนตายแล้วเกิดใหม่จริงๆ ผมไม่ต้องใช้จ่ายค่าดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้เงินสักบาท แต่ที่สำคัญที่สุดคือทุกวันนี้ผมมีความสุข อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ- แม่-ลูก ดำเนินชีวิตตามปกติเหมือนกับคนทั่วๆ ไปในหมู่บ้าน ผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนได้เล็งเห็นว่า โครงการพาคนกลับบ้าน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นโครงการที่ดี จึงอยากเชิญชวนไปยังผู้ที่หลงผิด มีความเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ หนีหมายศาล หลบหนีการจับกุม และกลัวการถูกดำเนินคดีความ ได้มีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวหันหลังให้กับขบวนการ แล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ประตูสู่การกระทำความดีได้เปิดกว้างไว้สำหรับพวกเราทุกคน”

       ชีวิตที่ต้องให้ใครต่อใครตราหน้าว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มขบวนการ มีแต่สร้างรอยบาปให้กับตัวเองและครอบครัว อีกทั้งการเข่นฆ่าผู้คนผิดต่อหลักคำสอนศาสนา ผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง จะต้องมีคดีความติดตัว หลบหนีการติดตามจับกุมใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ได้อยู่กับครอบครัวเชื่อได้ว่ายังมีผู้ที่คิดต่างจากรัฐอีกหลายคนที่ต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ ตัวอย่างเรื่องราวของอดีตผู้ที่เคยหลงผิดที่ได้รับโอกาสจาก “โครงการพาคนกลับบ้าน” จนนำมาสู่การมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัว สังคมไทย และภาครัฐยังเปิดโอกาสให้สำหรับคนที่กล้ากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีเสมอ…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น