หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รู้ยัง? จุฬาราชมนตรีคนที่ 1 ถึงคนที่ 13 เป็นมุสลิมชีอะห์!!




ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” แห่งราชอาณาจักรไทย

           สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 – 2031 บอกว่า “จุฬาราชมนตรี” บางแห่งเรียกว่า “จุลาราชมนตรี” กรมท่าขวาเป็นหัวหน้าฝ่ายแขก ไม่ปรากฏตัวตนว่าเป็นใครแผ่นดินสมเด็จพระเอกทศรถ พ.ศ. 2148 – 2163 ว่ามีตัวตนปรากฏอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ที่แน่ ๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2163 – 2171 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเฉกอะหะหมัด เข้ารับราชการ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเฉกอะหะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา จึงนับได้ว่าท่านเฉกอะหะหมัด เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งกรุงสยาม ทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ควบคุมเกี่ยวข้องกับชาวต่าง ประเทศ การรับแขกเมือง เก็บภาษีอากร สินค้าขาเข้า สินค้าขาออก เรื่องการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศกับควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการทางด้าน ศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรสยาม

รายนาม “จุฬาราชมนตรี” ในประเทศไทย

          1. เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหะหมัด) เป็นชาวเปอร์เซียเป็นมุสลิมนิกายชีอะต์ อิสนาอะซะรี ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2045 – 2170) และต่อมาถึงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) กรุงศรีอยุธยา

          2. พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เป็นหลานของเจ้าพระยาบวรราชนายก ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2225) กรุงศรีอยุธยา

          3. พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) ในสายสกุลของท่านเฉกอะหมัด ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าอยู่บรมโกศ (พ.ศ.2275 – 2301) กรุงศรีอยุธยา

          4. พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็น บุตรเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) ในสายสกุลของท่านเฉกอะหมัด ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่ง สุริยามรินทร์กรุงศรีอยุธยา

          5. พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว -มุฮัมมัดมะอ์ซูม) เป็นบุตรจุฬาราชมนตรี (เชน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงรัตนโกสินทร์

         6. พระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) เป็นน้องชายของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย กรุงรัตนโกสินทร์

         7. พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน – มุฮัมมัดกาซิม) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

         8. พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย – มุฮัมมัดบาเกร) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

         9. พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม – มุฮัมมัดตะกี) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

         10. พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน – กุลาฮูเซ็น) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

        11.พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล “อหะหมัดจุฬา” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2456

         12.พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          13. พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

           14. จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซัมซุดดีน มุสตาฟา) เป็นมุสลิมนิกายซุนนีคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล (พ.ศ. 2488 – 2490)

          15. จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ (อิสมาแอล ยะห์ยาวี) เป็นมุสลิมนิกายสุนนีคนที่ 2 ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2490 – 2524


        16.จุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัด (อะหมัด บินมะหะหมัด) เป็นมุสลิมนิกายสุนนีคนที่ 3 ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2524 – 2540


         17. จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้รับ คัดเลือก จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จำนวน 29 จังหวัด และได้รับ พระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – 2553


18. จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้รับ พระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ที่มา เว็บไซต์สำนักจุฬาราชมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น