หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทพิสูจน์ปอเนาะสีเทา กับกรณีญีฮาดวิทยาถูกศาลสั่งริบทรัพย์




โดย ‘แบดิง โกตาบารู’

        “ศาลแพ่ง” สั่งริบที่ดิน 14 ไร่ ที่ตั้งโรงเรียนญีฮาดวิทยา จังหวัดปัตตานี มูลค่าร่วม 6 แสน ให้ตกเป็นของแผ่นดิน หลังอัยการยื่นคำร้องปี 56 ปปง. พบ "ดูนเนาะ แวมะนอ" ครูใหญ่ มีเอี่ยวคดีกบฏ BRN ก่อความไม่สงบชายแดนใต้


          เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.26/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 699 หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ราคาประเมิน 591,090 บาท ของ นายดูนเนาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะวิทยา กับพวก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญีฮาดวิทยา ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำการก่อการร้าย

           กลายเป็นข่าวร้อนแรงส่งท้ายปลายปีอีกครั้งกับกรณีศาลแพ่งสั่งริบที่ดิน 14 ไร่ ที่ตั้งโรงเรียนญีฮาดวิทยา จังหวัดปัตตานี มูลค่าร่วม 6 แสน เมื่อมาถึงจุดนี้ทำให้ผู้เขียนอยากจะย้อนรำลึกถึงบทความ “ปอเนาะสีเทา”เรื่องสั้นรางวัลชมเชยในโครงการ “เรื่องดีๆ ที่บ้านเรา ประจำปี 2557”โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเขียนโดย อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด บล็อก AwanBook ได้นำมาเผยแพร่ในwww.deepsouthwatch.org

         ก่อนอื่นเลยเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ได้มีบุคคลบางกลุ่มพยายามตั้งป้อม ขัดขวาง ปกป้องสถาบันปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนบางแห่ง ที่มีอยู่หลายพันโรงในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเตะ พร้อมอ้างเหตุผลเป็นพื้นที่เฉพาะในการทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถก้าวล่วงพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่เข้าไปเท่ากับว่าเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่เคารพย่ำเกรงศาสนา

         ผู้เขียนทราบดีว่าประเด็นศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุ่มเสี่ยงต่อการนำไปกล่าวอ้างขยายผลของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ให้คนทั่วไปที่เสพข้อมูลข่าวสารอย่าง“เข้าถึง” แต่ “ไม่เข้าใจ” จนหลงเข้าใจผิดกลายเป็นช่องว่างให้ผู้ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือนำไปแอบอ้างว่าสถานที่เหล่านั้นเตะต้องไม่ได้ จนในที่สุดกลุ่มขบวนการโจรใต้ได้โอกาสเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าทำการตรวจสอบ ใช้สถาบันปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนเป็นที่ซ่องสุมกำลัง ใช้เป็นสถานที่ฝึก และซุกซ่อนอาวุธปืนอย่างสบายอุรา

          บทพิสูจน์หลายครั้งจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวได้ตรวจเจอสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในโรงเรียน "ปอเนาะสีเทา" เหล่านั้นถึงขั้นเป็น"กบฏ อั้งยี่ และกองโจร" ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ประกอบระเบิด ชุดวงจรไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

          เอกสารขั้นตอนสู่ความสำเร็จ เป็นแผนผังลักษณะขั้นบันได 7 ขั้น หนังสือประวัติศาสตร์ และการต่อสู้ของรัฐปัตตานีภาษามลายู หนังสือ เจมาห์ อิสลามิยาแผ่นบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การฝึกของกลุ่มก่อการร้าย อัลไคด้า อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญคือ สามารถจับกุมตัวสมาชิกแนวร่วมทั้งจับเป็นและจับตายได้เป็นจำนวนมาก




          และครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเข้าทำการพิสูจน์ทราบ เข้าทำการตรวจค้นโรงเรียนต้องสงสัย มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งตามเสียงร่ำลือกัน กับข้อกล่าวหาของสังคม “ปอเนาะคือแหล่งบ่มเพาะโจรใต้” พยานหลักฐานและการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลสามารถยืนยันชัดเจนมีการใช้สถาบันปอเนาะเป็นแหล่งบ่มเพาะ ฝึกปรือการใช้อาวุธ ซ่องสุมกำลังจริง


          อีกทั้งยังมีการปลุกกระแสความรักชาติปาตานี ในลักษณะบิดเบือนประวัติศาสตร์ หลักศาสนาขึ้นภายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือโรงเรียนปอเนาะ ตาดีกา เพื่อกล่อมเกลาให้เยาวชนมุสลิมเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวไทยพุทธ และรัฐบาลไทยได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน



         ในส่วนของผู้ที่มีเอี่ยวกับที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยา นำโดย นางยาวาฮี แวมะนอ, นางปารีเดาะ เจะมะ, นางหามีย๊ะ สาแลหมัน, นายอาดือนัน เจะอาแซ และนายอับดุลเลาะ เจะอาแซ ซึ่งมีชื่อร่วมในกรรมสิทธิ์ น.ส.3 เป็นผู้คัดค้านที่ 1-5 ในคดีนี้ อ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งห้า ได้รับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญีฮาดวิทยาที่สอนศาสนาและสายสามัญจากบิดามาเป็นมรดกตกทอด และผู้คัดค้านทั้งห้า ประกอบอาชีพสุจริต ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา หรือความผิดเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และผู้คัดค้าน ไม่ได้ใช้ที่ดินสนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำก่อการร้าย ไม่มีการสะสมกำลังพลหรือการฝึก

       ขณะที่คำร้องอัยการ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้ 2 คน ซึ่งให้การยอมรับว่า 
  • เป็นสมาชิกหน่วยคอมมานโดกลุ่มโจร BRN
  • ถูกส่งตัวฝึกหลักสูตรคอมมานโดและชุดรบ ขนาดเล็ก ที่โรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญีฮาด 
  • โดยมีอิสมาแอ หรือจิแอ มะเซ็ง เป็นผู้ควบคุมการฝึก และ
  • นายดูนเนาะ แวมะนอ หรือ เปาะซูเลาะ เป็นครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา 
          โดยพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีผู้ต้องหาก่อเหตุความไม่สงบช่วงวันที่ 4 ม.ค.47 ต่อเนื่อง 4 ม.ค.51 รวม 36 คน และ อัยการจังหวัดปัตตานี ได้สั่งฟ้องนายดูนเนาะ กับพวกรวม 36 คน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานี และนายดูนเนาะ และพวกรวม 11 คนยังถูกดำเนินคดีฐานเป็นกบฏ อั้งยี่




          จากเหตุความไม่สงบ 4 ม.ค.47-30 ม.ค.49 ใน จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ของกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบการทำธุรกรรมของนายดูนเนาะ กับพวกแล้วจึงมีมติว่า ที่ดินตาม น.ส.3 เป็นทรัพย์สิน ที่สนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำการก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ม.3(8) จึงให้ เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้อัยการ ผู้ร้อง ดำเนินการยื่นคำร้องตามขั้นตอนกฎหมาย 

          ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐาน ผู้ร้อง รับฟังได้ว่าเกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ตามคำร้องของอัยการ สำหรับคดีดังกล่าวคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งคิดว่าคงจะมีการต่อสู้ในกระบวนการชั้นศาลต่อไป

           “ปอเนาะสีเทา” หรือจะเปลี่ยนสีเป็น “ปอเนาะสีดำ” จะต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ในนามส่วนตัวผู้เขียนอยากจะให้เป็น “ปอเนาะสีขาว” อยู่ที่องค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนและบังคับวิถี มุ่งไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นต่อคนทั่วไป ที่สำคัญไม่ให้โรงเรียน และสถาบันปอเนาะเหล่านี้ตกเป็นเครื่องมือ เป็นแหล่งบ่มเพาะของกลุ่มขบวนการ 

         นั่นคือคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในแต่ละจังหวัด ผู้ประกอบการรับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งไปสู่โรงเรียน สถาบันปอเนาะสีขาว อย่างเช่น “สถาบันปอเนาะอิสลามศาสน์ดารุสาลาม” (ปอเนาะ ตาเซะ) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมืองยะลา ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.58 และยังเข้าร่วมโครงการพัฒนาปอเนาะต้นแบบ ภายใต้โครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น