หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เพราะคนเลว ใช้ปอเนาะ เป็นสถานที่บ่มเพาะกลุ่มขบวนการ

บ่มเพาะ

เรื่องโดย“บูมีกู สายัง”
         อิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพ และขันติธรรม ดังนั้นผู้ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประพฤติตนขัดแย้ง กับหลักการดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นไม่มีแหล่งกำเนิดใดๆ จาก
อัลกุรอาน และฮะดิษของท่านนบีมุฮัมมัด ที่บ่งชี้ไปในทิศทางดังกล่าว การเรียกร้องในอิสลาม
ที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน ได้เชิญชวนด้วยวิธีการที่เฉลียวฉลาด และนิ่มนวลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะถือได้ว่า เป็นความรุนแรงแต่ประการใด ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะ อัลนะห์ล โองการที่ 125 ความว่า 
        “จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี แจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นพระองค์ทรงรู้ดียิ่ง ถึงผู้ที่หลงจากทางของพระองค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาของผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง”
        อิสลามได้เรียกร้องให้มนุษย์ทุกคน อยู่ด้วยกันฉันท์มิตร แม้จะมีความแตกต่างกันก็ตาม
ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลหุจรอจญ์ โองการ 13 ความว่า 
        “โอ้ มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงข้าได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าพันธุ์และตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์ นั้นคือผู้ที่มีวามยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียด ถี่ถ้วน ”
      เช่นกันอิสลามได้เรียกร้องให้มุสลิม ใช้ชีวิตความเป็นอยู่กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม(ต่างศาสนิก)
ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลมุมตาฮีนะฮ์ โองการที่ 8 ความว่า 
        “อัลลอฮ์ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้า เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีกับพวกเขา และให้ความยุติธรรมกับพวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรักผู้มีความยุติธรรม”
       คำพูดของศาสดานี้มุ่งที่จะละเว้นไม่ให้มีการเกลียดชังซึ่งกันและกัน และดำรงอยู่ในขันติธรรม โดยปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมทั้งการก่อการร้าย โดยอิสลามถือว่าการฆ่าคนเพียงคนเดียวเสมือนกับการฆ่าคนทั้งโลก ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โองการ
ที่ 22 ความว่า 
     “แท้จริงฆ่าชีวิตหนึ่ง โดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เรื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล”
     จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน “ปอเนาะ” มักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน มีคำว่า ปอเนาะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะญิฮาด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
       โรงเรียนญิฮาดวิทยา โดนซัดทอดจากการซักถามผู้ต้องสงสัยว่า เป็นแหล่งซ่องสุมการฝึกฝนการต่อสู้เมื่อปี พ.ศ.2546 ก่อนที่จะเข้าทำการปล้นอาวุธปืนที่ค่ายปิเหล็ง กองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส
      โรงเรียนญิฮาดวิทยา ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ไฟใต้ จากการซักถามผู้ต้องสงสัย ที่ถูกควบคุมตัวซึ่งหนึ่งในนั้นให้การยอมรับว่า มีการฝึกฝนการต่อสู้ในพื้นที่นี้จริง เมื่อปีพ.ศ.2546 ก่อนที่จะเข้าทำการปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 โดยใช้เทคนิคการฝึกแบบเข้มข้น ระยะเวลาในการฝึกเพียงแค่ 26 วันเท่านั้น แต่สามารถเทียบหลักสูตรการใช้อาวุธการต่อสู้ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 6 เดือน
       สำหรับผู้ต้องสงสัยจำนวน 4 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ที่ถูกเชิญตัวไปซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหารอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี คือ 
  • นายอาดือนัน เจะอาแซ ลูกโต๊ะครูเก่า, 
  • นายมาซือลัม ดาแม, 
  • นายอับดุลเลาะ กะเจ และ
  • นายแวฮาฟิซ แกตอง 
    ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยาการ
         เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ.26/2556
ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 699 หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ราคาประเมิน 591,090 บาท ของนายดูนเนาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะวิทยา กับพวก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญีฮาดวิทยา ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำการก่อการร้าย
       ในส่วนของผู้ที่มีเอี่ยวกับที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยา นำโดย 
  • นางยาวาฮี แวมะนอ, 
  • นางปารีเดาะ เจะมะ, 
  • นางหามีย๊ะ สาแลหมัน, 
  • นายอาดือนัน เจะอาแซ และ
  • นายอับดุลเลาะ เจะอาแซ 
         ซึ่งมีชื่อร่วมในกรรมสิทธิ์ น.ส.3 เป็นผู้คัดค้านที่ 1-5 ในคดีนี้ อ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งห้า ได้รับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญีฮาดวิทยาที่สอนศาสนา และสายสามัญจากบิดามาเป็นมรดกตกทอด และผู้คัดค้านทั้งห้า ประกอบอาชีพสุจริต ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา หรือความผิดเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และ ผู้คัดค้าน ไม่ได้ใช้ที่ดินสนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำก่อการร้าย ไม่มีการสะสมกำลังพลหรือการฝึก
        ขณะที่คำร้องอัยการ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้ 2 คน ซึ่งให้การยอมรับว่า เป็นสมาชิกหน่วยคอมมานโดกลุ่มโจร BRN ถูกส่งตัวฝึกหลักสูตรคอมมานโด และชุดรบ ขนาดเล็ก ที่โรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะญีฮาด โดยมี อิสมาแอ หรือจิแอ มะเซ็ง เป็นผู้ควบคุมการฝึก และนายดูนเนาะ แวมะนอ หรือ เปาะซูเลาะ เป็นครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา โดยพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีผู้ต้องหาก่อเหตุความไม่สงบช่วงวันที่ 4 ม.ค.47 ต่อเนื่อง 4 ม.ค.51 รวม 36 คน และอัยการจังหวัดปัตตานี ได้สั่งฟ้องนายดูนเนาะ กับพวกรวม 36 คน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานี และนายดูนเนาะ และพวกรวม 11 คนยังถูกดำเนินคดีฐานเป็นกบฏ อั้งยี่
       จากเหตุความไม่สงบ 4 ม.ค.47-30 ม.ค.49 ใน จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ของกรมสอบสวน
คดีพิเศษด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบการทำธุรกรรมของนายดูนเนาะ กับพวกแล้ว จึงมีมติว่า ที่ดินตาม น.ส.3 เป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำการก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ม.3(8) จึงให้ เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้อัยการ ผู้ร้อง ดำเนินการยื่นคำร้องตามขั้นตอนกฎหมาย
       ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐาน ผู้ร้อง รับฟังได้ว่าเกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ตามคำร้องอัยการผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าวคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย ภายใน 30 วัน
นับจากวันที่ศาลมีคำสั่ง
       ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดิน(วากัฟ) ที่ถูกบริจาค เพื่อสาธารณะ/ศาสนกุศล แต่แท้จริงแล้วเป็นที่ดินที่ได้ถูกออกเอกสารสิทธิ์เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคล ที่มีความสัมพันธ์ รู้เห็น เกี่ยวข้องโดยตรงกับนายดูนเลาะ แวมะนอ ที่กระทำผิด อีกทั้ง ที่ดินดังกล่าวก็ถูกใช้เพื่อการกระทำผิด มีพยาน ซัดทอด/รู้เห็นกว่า 30 คน ศาลจึงยืนยันการยึดทรัพย์สินดังกล่าว
       การยึดทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของแผ่นดิน ก็หมายถึงการที่ทรัพย์สินนั้น จะกลับมาเป็นสมบัติของสาธารณะหรือของส่วนรวมนั่นเอง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ ปชช.ในพื้นที่ ที่ควรจะต้องมีการประชุมประชาคมลงมติ เสนอขอใช้ประโยชน์ เพื่อส่วนรวมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น