หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โจรสลัด โจรช่องแคบ .....ไอ้โจรช่องคล......




     คำว่า "โจรสลัด" หรือ Pirate จะเป็นคำค่อนข้างใหม่ในภาษาอังกฤษ (เพิ่งมีการบัญญัติ ความหมายของศัพท์คำนี้อย่างเป็นทางการเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี่เอง) แต่อาชีพปล้นเขากิน นี้มีมาแต่โบราณ จะเรียกว่าเป็นอาชีพแรกๆ ของโลก ก็คงได้

       หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่บนจารึกดินเผาในรัชสมัยของ ฟาโรห์อัคเคนาเตน ของอียิปต์ เมื่อ 1,350 ปีก่อนคริสตกาล ว่ามีกลุ่มโจรไม่ปรากฏสัญชาติเที่ยวไล่ปล้นสะดมเรือ ตามชายฝั่งแอฟริกาเหนือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พ่อค้าวาณิชชาวกรีกที่ค้าขายกับพวกฟีนิเชียนและอนาโตเลีย ล้วนยอมรับว่าการถูกปล้นเป็นความเสี่ยงที่มากับอาชีพ

     นายโจรรายแรกที่ได้รับเกียรติบันทึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์คือ โพลีเครเตส เจ้าเมืองซาโมสในช่วงทศวรรษ ที่ 510 ก่อนคริสตกาล ผู้มีบัญชาให้กองทัพเรือของตัวออกไปชิงทรัพย์ชาวบ้านเขาอยู่เป็นนิจ ตามมาด้วย ราชินีอาร์เทมีเซีย แห่งเฮลิคาร์นาสซุส ของกรีก ในทศวรรษที่ 480 ก่อนคริสตกาล ซึ่งว่ากันว่าลงเรือไปบัญชาการปล้นด้วยตัวเองทีเดียว เลยกลายเป็นแบบอย่างให้สตรีมีฐานันดรในสมัยโบราณ หนีชีวิตอันแสนน่าเบื่อในรั้วในวังออกมาท่องทะเลกันเป็นแถว

     ที่ประสบความสำเร็จก็มีตัวอย่างเช่น แม่เอลิสซ่า หรือ "ดิโด้" ผู้ได้เครดิตเป็นถึงคนก่อตั้งเมืองคาร์เธจ แต่โจรที่พวกกรีกผูกใจเจ็บที่สุดน่าจะเป็น เคลโอมิส สมญา "ทรราชแห่งเมธีมน่าบน (เกาะ) เลสบอส" ซึ่งไม่ได้เป็นโจรสลัดโดยตรง แต่ประกอบสัมมาอาชีพด้วยการเป็นนายหน้าเรียกค่าไถ่ตัวชาวเอเธนส์ ที่ถูกโจรสลัดจับตัวไป (คงมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์กันตามสมควร)

        อาชีพโจรสลัดในสมัยโรมันรุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลโรมันประมาท ไม่ยอมตัดไฟเสียแต่ต้นลม ปล่อยให้กองโจรย่อยๆ มีพลพรรคมากขึ้นจนกลายเป็นกองเรือขนาดใหญ่ ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ชาวโรมันหันไปเป็นโจรสลัด (และไม่สลัด) กันเยอะ เพราะรายได้ดี ทรัพย์สินที่ได้มาก็เอาไปใช้ คนก็จับไปเรียกค่าไถ่ หรือขาย เป็นทาส 


      จูเลียส ซีซ่าร์ เอง เมื่อตอนเป็นเด็กหนุ่มก็เคยถูกโจรสลัดจับมาแล้ว (เหล่าโจรเรียกค่าไถ่ตัวซีซ่าร์เพียง 20 ทาเล้นท์ หน่วยชั่งน้ำหนักเงินโบราณ) ทำให้ซีซ่าร์ฮึดฮัด หาว่าตั้งค่าไถ่ถูกเหมือนไม่ให้เกียรติกัน ในที่สุดพวกโจรเลยต้องเพิ่มค่าตัวเป็น 50 ทาเล้นท์ แถมปฏิบัติต่อซีซ่าร์ อย่างดีเหมือนแขกผู้มีเกียรติมากกว่านักโทษ แต่พอรอดกลับไปได้ ซีซ่าร์ก็คุมทัพมาลุยจับโจรพวกนี้ไปเชือดคอ เสียสิ้น

     แม้รัฐบาลโรมันจะพยายามหามาตรการต่างๆมาปราบปราม ถึงขึ้นออกกฎข้อบังคับหัวเมืองชายทะเลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไซปรัส อเล็กซานเดรีย อียิปต์ หรือซีเรีย ไม่ให้ให้ที่พักพิงหรือหลบซ่อนกับโจรสลัดเป็นอันขาด ไม่งั้นจะถูกปรับอย่างหนัก ซึ่งก็คงได้ผลพอสมควร เพราะเมื่อเข้าสู่ยุคกลาง บันทึกเกี่ยวกับโจรสลัดในน่านนํ้าโรมันก็มีน้อยลง

     ที่ดังไต่อันดับขึ้นมา คือ โจรไวกิ้ง จอมโหดทั้งหญิงชายที่ออกมาล่าเหยื่อกันแถวๆ ทะเลเหนือและยุโรปช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 800-1,100 นั้น พวกไวกิ้งขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปจดรัสเซีย และกรุงคอนสแตน-ติโนเปิล (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) เล่นเอาข้าวของแพง เดือดร้อนไปตามๆ กัน น่าแปลกที่โจรไวกิ้งที่ฝากชื่อมาถึงสมัยปัจจุบันล้วนเป็นสตรีทั้งนั้น ตระกูลสูงเสียด้วย (อาจเป็นเพราะไม่มีใครจำชื่อนายโจร เนื่องจากไม่ใช่ของแปลกและน่าดู)

     ที่ดังที่สุดคือมหาโจรี อัลวีดา เจ้าหญิงแห่งก็อทแลนด์ (ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสวีเดน) ผู้หนีออกมาจากตำหนักเพราะไม่อยากแต่งงาน และเบื่อพระบิดาที่แสนจะหวงลูกสาว จนต้อง กักตัวไว้แต่ในวัง ไม่ให้เจอใครหน้าไหน เธอปลอมเป็นชายแล้วโจนขึ้นเรือไปเป็นสลัดทะเลเอาดื้อๆ เจ้าหญิงอัลวีดานี้ค่อนข้างดัง เพราะนอกจากจะสวยจัดแล้ว ยังดุขนาดได้เลื่อนขั้นเป็นกัปตันคุมลูกน้องออกปล้น ร้อนถึงเจ้าผู้ครองเมืองท่าแถวๆ นั้นต้องรวมหัว กันส่งเจ้าชายนักรบชาวเดนมาร์กคนหนึ่ง ออกมาปราบ แล้วเลยเกิดเรื่องรักหลังรบ จนอัลวีดาทิ้งอาชีพจอมโจรไปเป็นจอมใจของเจ้าชายเดนมาร์กองค์นั้นแทน



แล้วทำไมมาเรียกกันว่า โจรสลัด 

    คำว่าโจรสลัด ไทยมีใช้มานานแล้ว ในเอกสารเก่าสมัยอยุธยาก็มี ต้นรัตนโกสินทร์ก็มี เป็นคำที่รับมาจากภาษามลายู ว่า salat หรือ selat ถ้า salat หมายถึง โจรซึ่งปล้นเรือกลางทะเล ถ้า selat หมายถึง ช่องแคบ

        ในหนังสือ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) มีข้อความว่า "ถ้าถึงเทศกาล สลัดศัตรูและอ้ายญวนเหล่าร้ายจะเข้ามากระทำเบียดเบียนจับกุมผู้คนและลูกค้าวาณิช...ก็ให้แต่งเรือรบเรือไล่..ออกลาดตระเวนจงทุกอ่าว"

       ในเอกสารชาวต่างประเทศที่เข้ามาสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เคยอ่านเจอว่าที่นิยมเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยธยา ก็เพราะทะเลแถบนี้ไม่มีสลัด 



        คำว่า สลัด หรือ โจรสลัด นั้น ก่อนนี้บางครั้งจะใช้เรียกเฉพาะโจรที่มาปล้นเรือกลางทะเลและยกพลขึ้นปล้นบนบกในหัวเมืองชายทะเลทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น โดยมาจากพวกนี้จะตั้งรกราก หรือมาจกดินแดนทั้งสองฟากของช่องแคบมะละกา จึงเรียกโจรพวกนี้ ว่า "สลัด" คือโจรที่มาจากช่องแคบ 

       ชาวอังกฤษในสมัยก่อนจะเรียกชนที่อยู่ตามเกาะแก่งในช่องแคบมะละกา ว่า Cellattes ซึ่งชนพวกนี้จะมีนิสัยชอบปล้นชิงของจากเรือที่ผ่านทางเข้ามา โดยคำที่อังกฤษตั้งขึ้นมาใช้เรียกนี้ ก็แปลงเสียงแปลงคำมาจาก salat หรือselat ในภาษามลายูนั่นเอง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น