หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กลุ่มด้วยใจ-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มั่วรายงาน

2 คู่หู


โดย ‘ลมใต้ สายบุรี’

           “กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม” มั่วรายงานซ้อมทรมานในห้วงปี 2557-2558 มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือในระบบอำนาจรัฐ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล ดังปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศในห้วงที่ผ่านมานั้น

         การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้ความสำคัญ และตระหนักในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการ และข้อเน้นย้ำในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้การรับรู้ และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และบุคคลในครอบครัวตามแนวทางสันติวิธี ตั้งแต่ขั้นตอนของการจับกุม โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก

          ส่วนขั้นตอนการคุมตัวและซักถาม ที่เปิดโอกาสให้บุคคลในครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยไม่เคยกีดกัน หรือขัดขวางตามที่ถูกกล่าวอ้าง พร้อมกับจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ญาติ เช่น ที่พัก (หากมีความต้องการ) มีกิจกรรมนันทนาการ และการประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา

         นอกจากนี้ ยังคงเปิดโอกาสให้เครือข่ายองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ กาชาดสากล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน รวมทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายองค์กร สามารถเข้าเยี่ยมชมสถานที่ควบคุมตัว และซักถามในหน่วยทหารได้ตลอดเวลา โดยไม่เคยปิดกั้นแต่อย่างใด ซึ่งทุกองค์กรต่างให้การยอมรับในความพยายามปรับปรุงสถานที่ และวิธีการดำเนินการตามคำแนะนำ ทำให้ประเด็นการร้องเรียนจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดีขึ้นโดยลำดับ

        หลายท่านอาจจะสงสัยทำไม? เจ้าหน้าที่จึงมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย แล้วนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการซักถาม หรือมีการตรวจสารพันธุกรรม DNA ซึ่งการควบคุมตัวตามกฎหมายคราวละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน หากไม่มีมูลความผิดจะได้รับการปล่อยตัวในทันที

       จากการซักถามในหลายครั้งได้นำไปสู่ความสำเร็จในการเข้าทลายฐานปฏิบัติการของกลุ่ม ผกร. มีการเปิดเผยที่ซ่อนอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุ ยึดอุปกรณ์ในการประกอบระเบิด และที่สำคัญนำไปสู่การจับกุมสมาชิกแนวร่วมในระดับผู้ปฏิบัติการ และระดับแกนนำ

        ตัวอย่างความสำเร็จจากผลการซักถามผู้ต้องสงสัยเหตุระเบิดถนน ณ นคร จ.นราธิวาสจำนวน 3 จุด ซึ่งในครั้งนั้น นายอัมรีย์ วรรณมาตร ได้ให้การรับสารภาพว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องเหตุลอบวางระเบิด โดยมีผู้ร่วมก่อเหตุที่คือ นายซุลกิปลี มะสะ เป็นผู้สั่งการ นายรีดวน สุหลง เป็นผู้นำรถจักรยานยนต์ซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่องเข้าไปก่อเหตุ และนายอิสมะแอ เจ๊ะโซะ เป็นผู้ดูต้นทางร่วมกับตนเอง

          อีกกรณีหนึ่งคือเหตุการณ์กลุ่ม ผกร.เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ ร้อย.ร.15121 (ฐานพระองค์ดำ) จากการซักถาม นายยาห์ยา บือราเฮง ซึ่งเป็นพลทหารภายในหน่วยฐานพระองค์ดำกระทำตัวเป็นไส้ศึกได้ให้ข้อมูล นำไปสู่การออกหมายจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 15 รายด้วยกัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย.55 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 35 ปี 12 เดือน จำนวน 3 ราย จำคุกตลอดชีวิตจำเลย จำนวน 1 ราย พิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลย 1 ราย

        ส่วนการตรวจสารพันธุกรรม DNA เพื่อความแม่นยำในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษดำเนินคดี ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ ที่ผ่านมาการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของสากล

       หากเราอ่านรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานในพื้นที่ จชต. ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ โดย น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ เคยดำเนินการอย่างเป็นทางการมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ

  • ครั้งที่ 1 เมื่อ 28 พ.ค.55 และ
  • ครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ก.พ.59 
         โดยมีกลุ่มเป้าหมาย และการรายงานรูปแบบการทรมานที่เหมือนๆ กัน อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาเนื้อหาอย่างละเอียดพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2547 มารายงานซ้ำ เป็นลักษณะการกล่าวอ้างจากคำบอกเล่า โดยขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่เมื่อเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมา รัฐจะเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระ และโดยเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ดังที่ปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด

         ทั้งนี้ รูปแบบการซ้อมทรมานที่ระบุในรายงานทั้ง 2 ครั้ง นอกจากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีข้อสังเกตในหลายประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การข่มขืน การผ่าตัดนำอวัยวะภายในออก บังคับให้ทานสารเคมี การเผาไหม้ และประเด็นล่าสุด คือ ให้ทหารพรานหญิงใช้นมปิดใบหน้าให้ขาดอากาศหายใจ หรือการทำร้ายร่างกาย เช่น ใช้ลำกล้องปืนกระแทกจนฟันกรามหัก ศีรษะแตก เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงย่อมมีร่องรอย หรือหลักฐานให้ปรากฏต่อแพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ทั้งก่อน และภายหลังการควบคุมตัว รวมทั้งปรากฏต่อญาติ และครอบครัวที่เข้าเยี่ยมได้ทุกวัน ซึ่งเครือข่ายองค์กรเหล่านี้ต่างก็ทราบดี

         ดังนั้นจากพฤติกรรมของ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ในการเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่ผ่านมา อาจถือได้ว่าเป็นการจงใจพยายามทำลายความน่าเชื่อถือในระบบอำนาจรัฐ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล

        ทั้งนี้หน่วยงานความมั่นคงโดย แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงของทุกเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวอ้างอย่างเร่งด่วน พิสูจน์ความจริงการให้ข้อมูลกับองค์กรดังกล่าวให้ปรากฏว่าเป็นอย่างไร มีมูลความจริงหรือไม่ หากเป็นความจริงก็จะมีการลงโทษทั้งวินัย และอาญาทหารอย่างเด็ดขาด แต่หากไม่เป็นความจริง หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง บุคคลและองค์กรเหล่านี้ก็จะต้องยอมรับความจริงจากสิ่งที่ได้กระทำด้วยเช่นเดียวกัน

        นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เคยถูกกองทัพไทยแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา โดยแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาททำให้กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ต้อง“เสื่อมเสียชื่อเสียง” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จากกรณีที่นางสาวพรเพ็ญฯ บิดเบือนข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว

         องค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวใน จชต. บางองค์กรมีการทำเป็นอาชีพ การจัดกิจกรรมจะต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรต่างประเทศ แต่การบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายประเทศเป็นสิ่งมิบังควร ต้องขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชนให้เสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสมดุล เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

———————

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น