หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มสุดโต่งในบังกลาเทศสังหารต่อเนื่อง-เหยื่อล่าสุดเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย



Thu, 2016-05-05 19:02


ขณะที่ในบังกลาเทศยังคงมีปัญหาการสังหารนักคิดและนักกิจกรรมที่ถูกกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านศาสนาโดยที่ยังมีหลายกรณีที่จับคนร้ายไม่ได้ โดยเหตุล่าสุดมีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชฮีถูกฆ่า ด้านรัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหาเหยื่อว่าไม่ควรพูดในเรื่อง "ทำร้ายความรู้สึก" ผู้นับถือศาสนา แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งและต่างชาติไม่พอใจและเริ่มประท้วงเรียกร้องให้รัฐจริงจังกว่านี้กับการนำตัวผู้สังหารโดยอ้างศาสนามาลงโทษ

โกลบอลวอยซ์ออนไลน์ นำเสนอกรณีการสังหาร เรซัล คาริม ซิดดิค ศาตราจารย์ภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยราชฮี ในบังกลาเทศตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมาใกล้กับบ้านพักของเขาในทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นเหยื่ออีกรายที่ถูกสังหารโดยกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้

เหตุสังหารเกิดขึ้นในตอนที่ซิดดิคกำลังรอรถโดยสารเพื่อเดินทางไปมหาวิทยาลัย มีคน 2-3 คน โจมตีจากข้างหลังแล้วก็แทงที่ลำคอเขาจนเป็นเหตุให้ซิดดิคเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เว็บไซต์ At-Tamkin ซึ่งเป็นเว็บไซต์เป็นพวกเดียวกับสำนักข่าวอามัคของกลุ่มก่อการร้ายไอซิส (ISIS) อ้างว่ากลุ่มดาวัตทุย อิสลาม เป็นกลุ่มที่ก่อเหตุในครั้งนี้เนื่องจากคิดว่าซิดดิคเคย "เรียกร้องให้ผู้คนหันมาหาแนวคิดไม่มีศาสนา"

กลุ่มติดอาวุธศาสนาอิสลามในบังกลาเทศถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตหลายรายตั้งแต่ช่วงปี 2556 โดยกรณีที่เกิดขึ้นไม่นานนี้คือการสังหาร นาซีมอุดดิน ซาหมัด นักกิจกรรมผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนา เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ซิดดิค เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชฮีรายที่ 4 แล้วที่ถูกสังหารในช่วง 12 ปีหลังมานี้ ซิดดิคเป็นนักเขียน คนเล่นซิตาร์ (เครื่องดนตรีดีดสายประเภทหนึ่งในอินเดีย) และมีส่วนร่วมกับองค์กรทางวัฒนธรรมหลายองค์กร เขาเป็นผู้นำกลุ่มทางวัฒนธรรมที่เรียกว่ากลุ่ม โกมล กันดาร์ และเป็นบรรณาธิการของนิตยสารวรรณกรรมที่ออกสองเล่มต่อปี ทั้งนี้เขายังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนดนตรีที่บักมาราซึ่งในอดีตเคยเป็นรังของกลุ่มมูจาฮีดีนเจเอ็มบี

มีบล็อกเกอร์ ปัญญาชนและชาวต่างชาติในบังกลาเทศหลายคนถูกสังหารด้วยวิธีแบบเดียวกัน โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของบังกลาเทศกล่าวว่าผู้ก่อเหตุมักจะใช้มีดมาเชตต์หรือปังตอฟันเหยื่อจนเสียชีวิต มีกลุ่มอย่างอัลกออิดะฮ์สายแถบอนุทวีปอินเดียอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุสังหารบล็อกเกอร์หลายคนและกลุ่มไอซิสอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารชาวต่างชาติ 2 คนที่เป็นคนทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวอิตาลีและชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่บังกลาเทศอ้างว่ากลุ่มอิสลามในประเทศตัวเองเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุสังหารเหล่านี้และคำอ้างจากกลุ่มไอซิสและอัลกออิดะฮ์เป็นไปเพื่อปกปิดร่องรอยและทำให้การสืบสวนไขว้เขวเท่านั้น

โกลบอลวอยซ์รายงานว่าทางการบังกลาเทศยังคงตอบคำถามเรื่องสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ไม่ดีพอ ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยรัฐสภาที่ไม่เป็นรัฐศาสนา บังกลาเทศไม่มีกฎหมายชะรีอะฮ์หรือกฎหมายหมิ่นศาสนาและผู้ที่ไม่นับถือศาสนาก็มีสิทธิแบบเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ โดยที่ส่วนใหญ่แล้วคนในบังกลาเทศจะเป็นชาวมุสลิม แต่บังกลาเทศก็ยังคงมีกฎหมายอาญาที่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ "ทำร้ายความรู้สึกของผู้นับถือศาสนา" อย่าง "จงใจ" หรือ "มีประสงค์ร้าย"

ในเหตุสังหารซาหมัดเมื่อต้นเดือน เม.ย. รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน อะซาดุสมาน ข่าน ตะคอกต่อว่าเหยื่อในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อซีเอ็นเอ็นว่า "บล็อกเกอร์ควรควบคุมการเขียนของตนเอง ประเทศของพวกเราคือประเทศที่ไม่ใช่รัฐศาสนา ...ผมต้องการบอกว่าประชาชนควรจะระวังไม่ทำร้ายความรู้สึกใครด้วยการเขียนอะไรก็ตาม ทำร้ายศาสนา ความเชื่อของใครก็ตาม หรือผู้นำศาสนาใดๆ ก็ตาม"

ทั้งนี้ในช่วงวันก่อนวันขึ้นปีใหม่ของชาวเบงกาลี นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ของบังกลาเทศกล่าวไว้ว่ามันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เลยที่จะมีการเขียนอะไรบางอย่างที่จะทำร้ายความรู้สึกทางศาสนาของอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวบุคคลที่ก่อเหตุได้เพียงบางคนเท่านั้นส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอันซารูลาห์ บังกลา ที่ถูกห้ามจากทางการ เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 เพิ่งมีการตัดสินคดีการสังหารบล็อกเกอร์ชื่อราจีบ ไฮเดอร์ ที่ถูกสังหารเมื่อปี 2556 เขาถูกฟันเสียชีวิตกลางถนนในช่วงที่มีการประท้วงเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตผู้ที่ก่ออาชญากรรมสงครามในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพจากปากีสถานในปี 2514

อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์สังหารผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนากรณีอื่นๆ อีก 6 กรณียังไม่มีการดำเนินคดีผู้ต้องหาแต่อย่างไรถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถจับกุมตัวนักศึกษาผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารซิดดิคได้

การสังหารซิดดิคทำให้เกิดความไม่พอใจทั้งจากคนในประเทศและต่างประเทศ มีกลุ่มด้านสิทธิต่างๆ รวมถึงสมาคมนักเขียนนานาชาติ (PEN International) เรียกร้องให้รัฐบาลบังกาเทศนำตัวผู้ก่อเหตุดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมและให้การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นรวมถึงคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนไม่ว่าจะมีความเชื่อแบบใด

นอกจากนี้ยังมีการประท้วงจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชฮีเพื่อประณามการสังหารอาจารย์มหาวิทยาลัยของพวกเขา รวมถึงมีการเรียกร้องให้บอยคอตต์ชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยโดยสมาคมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชฮีด้วย

อดีตนักศึกษารายหนึ่งที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตสารวรรณกรรมที่ซิดดิคทำอยู่ตั้งสมมติฐานถึงสาเหตุที่ซิดดิคตกเป็นเป้าโจมตี เขาระบุว่าซิดดิคเป็นคนที่เขียนบทกวี เรื่องสั้น วิจารณ์ภาพยนตร์ สิ่งที่เขาเขียนมีความหมายต่อสังคม เขาไม่มีบทความถกเถียงลงในหนังสือพิมพ์หรือมีข้อเขียนใดที่สร้างความเกลียดชังต่อศาสนาเลย แต่ซิดดิคก็เป็นคนที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการกระทำผิดและเป็นบุคคลที่ใฝ่ทางศิลปวัฒนธรรมมาก ทั้งสองอย่างนี้ถูกมองว่าเป็น "ปัญหา" ในสังคมบังกลาเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น