หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

กลยุทธ์!! ขบวนการยาเสพติด เกี่ยวโยงกับเยาวชน เหตุความรุนแรงอย่างไร?





        ยาเสพติด...นับว่าเป็นปัญหาหนึ่ง จากหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ภาครัฐจะมีนโยบาย มาตรการ และการปฏิบัติในการตรวจจับอย่างเข้มงวด แต่ปัญหายาเสพติดก็ยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึ่งในบางพื้นที่ยังคงปรากฏสถานการณ์รุนแรง แม้ข้อมูลความเกี่ยวพันโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด กับกลุ่มขบวนการจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็สามารถจะสรุปในขั้นต้นได้ว่า ปัญหายาเสพติดเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวพันกันกับสถานการณ์ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม


         การค้าและการจับกุมยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีการจับกุมทั้งในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ตามลำดับ โดยอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีการจับกุมคดีค้าและเป็นภูมิลำเนาของนักค้าที่ถูกจับกุมนอกพื้นที่สูงสุด การลำเลียงยาเสพติดทั้งกัญชา ยาบ้า ใบกระท่อม ส่วนใหญ่ จะมาจากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนเล็ดลอดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยวิธีการนำรถยนต์ที่มีช่องลับซุกซ่อนยาเสพติดขับไปรับ หรือซุกซ่อนมากับสินค้าเกษตร หรือแลกเปลี่ยนรถยนต์โดยซื้อรถจากนราธิวาสหรือพื้นที่ใกล้เคียงไปแลกกับรถของนักค้าที่ซุกซ่อนยาเสพติดไว้ และทำโอนลอยกัน ทั้งยังเป็นพื้นที่พักและกระจายยาเสพติดไปยังจังหวัดอื่นในภาคใต้ 


            มีกลุ่มผู้ค้าทั้งใหม่และเก่า กลุ่มผู้ค้าสำคัญมักมีเจ้าหน้าที่รัฐและนักค้ายาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะเก็บซุกซ่อนยาเสพติดไว้ตามบ้านเช่า ป่าละเมาะแนวชายแดน และบ้านญาติในประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุสถานการณ์ความรุนแรงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ จำเป็นต้องลำดับความเร่งด่วนในการป้องกันเหตุความรุนแรง ส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่เกิดช่องว่าง ในส่วนของจังหวัดยะลา มีกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ส่วนรายย่อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความเกี่ยวข้องกับนักค้ายาเสพติดในจังหวัดนราธิวาสและสงขลา และที่จังหวัดปัตตานี ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยเกี่ยวข้องกับนักค้ายาเสพติดจากจังหวัดนราธิวาสและยะลา พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ประกอบอาชีพประมงที่มีแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีพฤติการณ์ร่วมกับนักค้ายาเสพติดในพื้นที่


          การแพร่ระบาดของยาเสพติด จำนวนผู้เสพยาเสพติดให้โทษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 20,000 -30,000 คน ที่ผ่านมาพื้นที่ที่มีการจับกุมคดีเสพสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อำเภอเมืองนราธิวาส สุไหงโก-ลก และเมืองปัตตานี กลุ่มผู้ใช้ยา ได้แก่ กลุ่มแรงงานทางการเกษตร รับจ้าง ประมง ว่างงาน นักเรียนนักศึกษา วัยรุ่น และที่สำคัญแนวโน้มผู้เข้ารับการบำบัดรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น มีอัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ในแต่ละปี และเกือบครึ่งเป็นผู้ติดยาบ้า กัญชา และเฮโรอีน กลุ่มอายุของผู้เข้ารับการบำบัดสูงสุด คือ 20-25 ปี 15-19 ปี และ 25-29 ปี กลุ่มผู้เข้ารับบำบัดสูงสุดคือ กรรมกร ว่างงาน และนักเรียน และที่น่าเป็นห่วงโดยผู้เสพที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


         หากเราเฝ้าสังเกตและติดตามเรื่องราวของปัญหายาเสพติดในบ้านเราบรรดานักค้ายาเสพติดรายสำคัญๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ทั้งกลุ่มผู้ค้าของหนีภาษี การพนัน ค้ามนุษย์ ฯลฯ คนกลุ่มนี้บางส่วนคาดว่าเป็นแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่มขบวนการผู้ก่อเหตุ สำหรับในด้านของกลุ่มผู้เสพ ซึ่งอายุอยู่ในช่วง 15-24 ปี เป็นเยาวชนว่างงาน ขาดการศึกษา ทางบ้านมีฐานะยากจน 

         ผู้หลงผิดบางส่วนถูกหลอกให้เชื่อในสิ่งที่ผิดตกเป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ เยาวชนเหล่านี้จะ มีความเกลียดชังเจ้าหน้าที่และภาครัฐ พร้อมที่จะถูกชักจูงให้ก่อความปั่นป่วนในสังคมได้ตลอดเวลา เพื่อให้ภาครัฐเกิดความซับสนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

         จากสถานการณ์และปัญหาที่เกิดจากยาเสพติดดังกล่าว ภาครัฐทั้งฝ่ายบ้านเมือง และฝ่ายความมั่นคง ได้ เฝ้าระวังทั้งในพื้นที่และตามแนวชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อตัดวงจรของขบวนการขนส่งลำเลียงยาเสพติด การเฝ้าระวังป้องกันมิให้กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดเข้าไปสนับสนุน หรือเป็นน้ำเลี้ยงการก่อความไม่สงบทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยฝึกอบรมให้ความรู้ นำผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ทางศาลยุติธรรมตักสินแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนเข้ารับการอบรม สร้างการรับรู้ สู่การตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อต้านยาเสพติด และร่วมมือกับภาครัฐในการเฝ้าระวังให้ข่าวสาร เพื่อพัฒนาความร่วมมือไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น