หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ปลดพิเชษฐ สถิรชวาล


ปมลึกปลด "พิเชษฐ สถิรชวาล" และเรื่องวุ่นๆ ใน กก.กลางอิสลามแห่งประเทศไทย


มติคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ 29 ก.ย.2553 กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ต้องบันทึกไว้ เพราะเป็นมติที่ปลดเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ จนต้องตกจากเก้าอี้ และนับจากนี้ย่อมหนีเรื่องวุ่นๆ โดยเฉพาะ “การเมือง” ไม่พ้นเป็นแน่

ที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ก.ย.มีมติปลดทุกตำแหน่งในคณะกรรมการฯ คงเหลือไว้แต่ประธาน คือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามฯโดยตำแหน่งอยู่แล้วเพียงคนเดียวเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในคณะกรรมการกลางอิสลามฯเที่ยวนี้ รวมไปถึงตำแหน่งใหญ่ที่สุดคือ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯอย่าง นายพิเชษฐ สถิรชวาล ด้วย และที่ประชุมได้แต่งตั้ง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตข้าราชการตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วัย 62 ปี เข้ารักษาการแทน

ส้นทาง “พิเชษฐ สถิรชวาล”

สำหรับ นายพิเชษฐ นั้น เพิ่งแสดงบทบาทออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5) ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ซึ่งทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียไม่พอใจ และส่งผลถึงการขอวีซ่าของพี่น้องมุสลิมที่ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย กระทั่งสุดท้าย พล.ต.ท.สมคิด ต้องยอมเสียสละ ประกาศไม่รับตำแหน่ง และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องจัดประชุมเพื่อพิจารณาตำแหน่งใหม่ โดยโยก พล.ต.ท.สมคิด ไปดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแทน

ในช่วงที่เมืองไทยกำลังฝุ่นตลบจากปมแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด นายพิเชษฐ เป็นหัวหอกผู้ออกมาให้ข่าวว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเตรียมตัดสินใจปิดสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย และกดดันให้องค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี บอยคอตประเทศไทย หากรัฐบาลไทยยังไม่ยอมแก้ไขปัญหาการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ซาอุอาระเบีย

เส้นทางชีวิตก่อนดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายพิเชษฐ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในโควตาพรรคความหวังใหม่ เมื่อปี 2544 และต่อมาเมื่อมีการยุบพรรคความหวังใหม่ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย รวมทั้งมีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในปี 2545 นายพิเชษฐ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ในปลายปี 2546 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายพิเชษฐ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ รวมถึงห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายพิเชษฐผันตัวเองมาทำงานในองค์กรศาสนาอิสลาม ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นมุสลิมโดยกำเนิด แต่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามภรรยา (นางสุรีย์ สถิรชวาล สกุลเดิม นภากร เป็นน้องสาวของ นายทวี นภากร อิหม่ามศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย)

นายพิเชษฐ สมัครเข้าเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรี และได้รับเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีได้เลือกให้นายพิเชษฐเป็นผู้แทนในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กระทั่งกรรมการเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในปี 2549 ในยุคที่ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นจุฬาราชมนตรี

ตลอดกว่า 4 ปีที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ นายพิเชษฐมีบทบาทอย่างสูงและดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ มากมาย เช่น ประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1427 ประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการไทย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน นายพิเชษฐ ยังเป็นผู้สนับสนุนพรรคสันติภาพไทยที่หวังกวาดเก้าอี้ ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พรรคการเมืองดังกล่าวไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง

การเมือง “ลาม” กรรมการอิสลามฯ

เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการปลดนายพิเชษฐ หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง และตัว นายพิเชษฐ เองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องการเมืองเช่นกัน ทั้งการเมืองภายในคณะกรรมการกลางอิสลามฯเอง และการเมืองในระดับรัฐบาล
นายพิเชษฐ แถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ก.ย. หลังจากถูกปลดได้ 1 วันว่า สาเหตุของการถูกปลดน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่เขาตรวจพบการทุจริตในฝ่ายกิจการฮาลาล ซึ่งมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้ตรวจการ แต่กลับไม่เคยเดินทางไปตรวจสอบโรงงาน ซ้ำยังปลอมแปลงเอกสารเพื่อนำมาเบิกเงินด้วย

นอกจากนั้นยังพบการแอบเปิดบัญชีเพิ่มเติมโดยใช้ชื่อคณะกรรมการกลางฯ โดยมีเงินอยู่ในบัญชีถึง 4 ล้านบาท ทั้งๆ ที่การเปิดบัญชีโดยใช้ชื่อคณะกรรมการกลางฯนั้น ต้องมีเพียงบัญชีเดียว

"แทนที่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 29 ก.ย.จะหารือกันเรื่องการทุจริตที่ผมได้ออกมาเปิดเผย แต่กลับมีการใช้เสียงส่วนใหญ่โละทุกตำแหน่งของคณะกรรมการกลางฯชุดนี้แทน" นายพิเชษฐ ระบุ

นายพิเชษฐ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำไม่ถูกต้อง อาจผิดระเบียบ เพราะที่ผ่านมาเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยไม่เคยมีใครถูกปลดโดยใช้เสียงส่วนใหญ่ ทุกคนจะอยู่ครบวาระ 6 ปี แต่ขณะนี้เขายังเหลือวาระอยู่อีกเกือบ 2 ปี ฉะนั้นคณะกรรมการกลางฯชุดเก่าที่ถูกปลดจึงได้หารือกันและลงความเห็นว่าควรจะต้องไปลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง

"ผมได้ไปลงบันทึกประจำไว้แล้วที่ สน.ลำหิน เขตหนองจอก เมื่อวันที่ 29 ก.ย. และในวันที่ 5 ต.ค.ผมจะให้ทนายความไปยื่นเรื่องต่อกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอให้ตีความด้วย" นายพิเชษฐ ระบุ

นายพิเชษฐ ยังกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เขาถูกปลดมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.การไปตรวจสอบพบปัญหาทุจริต 2.การออกมาพูดให้ทบทวนการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ซึ่งทำให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ จนต้องกลับไปทบทวน และ 3.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯ เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.สงขลา และเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์


"พล.ต.ต.สุรินทร์ เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการกลางอิสลามฯเมื่อวันที่ 17 ก.ย. แต่วันที่ 29 ก.ย.กลับได้รับเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯทันทีโดยไม่เคยผ่านงานมาก่อนเลย ถือเป็นความต้องการจะยึดองค์กรและนำการเมืองเข้ามาแทรก" นายพิเชษฐ กล่าว

ปชป.โต้กลับ “พิเชษฐ” ตัวดีจุ้นการเมือง

คำกล่าวของ นายพิเชษฐ สอดรับกับการวิเคราะห์ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคน ที่เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการเอาคืนจากรัฐบาล หลังจากที่นายพิเชษฐออกมาแสดงท่าทีต่อต้านการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ซึ่งกระทบถึงการขอวีซ่าฮัจญ์ ขณะที่เสียงโหวตในคณะกรรมการกลางอิสลามฯส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์

นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการกลางอิสลามฯมีมติปลดนายพิเชษฐ น่าจะเกิดจากการที่นายพิเชษฐออกมาพูดเรื่องการออกวีซ่าให้กับชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปนครเมกกะ เพราะเป็นการนำองค์กรด้านกิจการศาสนาไปเกี่ยวพันกับการเมือง จนอาจทำให้ผู้นำศาสนาไม่พอใจได้ เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการกลางอิสลามฯไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย

แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายพิเชษฐชอบนำองค์กรไปเกี่ยวพันกับการเมือง ซ้ำยังไม่ยอมแยกบทบาทของตนเองกับการเมือง เพราะปัจจุบันยังไปเป็นผู้คัดสรรผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และที่ผ่านมาก็เป็นผู้สนับสนุนพรรคสันติภาพไทย

"สุรินทร์ ปาลาเร่" อ้างระเบียบ “พิเชษฐ” พ้นวาระ


ด้าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปลดนายพิเชษฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง รวมถึงไม่เกี่ยวกับการวิพาษ์วิจารณ์เรื่อง พล.ต.ท.สมคิด ด้วย เพราะเป็นการปรับโครงสร้างตามปกติของคณะกรรมการกลางอิสลามฯ

"ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯนั้น ตามระเบียบประกอบพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 กำหนดให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่นายพิเชษฐอยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 5 ปี เพราะที่ผ่านมาไม่มีผู้ใดลงสมัครในตำแหน่งนี้ เมื่อผมได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงแจ้งความประสงค์ลงสมัครในการประชุมคณะกรรมการกลางฯเมื่อวันที่ 29 ก.ย. และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนนายพิเชษฐ์ด้วยคะแนนเสียง 37 เสียง จาก 51 เสียงของกรรมการที่เข้าร่วมประชุม" พล.ต.ต.สุรินทร์ ระบุ

พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า ข่าวรัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะปิดสถานทูตในประเทศไทยและไม่ออกวีซ่าให้ผู้แสวงบุญก็ไม่เป็นความจริง เพราะกรณีนี้เขาและ ส.ส.มุสลิมหลายคนเคยเข้าพบอุปทูตซาอุดิอาระเบีย ได้รับการยืนยันว่าหากจะมีการปิดสถานทูตจริง คงปิดไปตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทูตซาอุฯถูกฆาตกรรมและนักธุรกิจถูกอุ้มแล้ว

ขณะที่ นายปรีดา เชื้อผู้ดี ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี ในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภายในคณะกรรมการกลางฯ ปกติจะต้องปรับทุกๆ 2 ปี แต่เหตุที่นายพิเชษฐดำรงตำแหน่งมานานถึง 5 ปี เป็นเพราะที่ผ่านมาอดีตจุฬาราชมนตรีป่วย ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และเมื่อมีจุฬาราชมนตรีคนใหม่ จึงต้องปรับเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ และตามมารยาท

ส่วนของประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตภายในนั้น นายปรีดา กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีมีคำสั่งชัดเจนว่าหากมีการทุจริตจริงให้ดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งกรรมการทุกท่านมีความบริสุทธิ์และพร้อมให้มีการตรวจสอบ แต่ไม่ใช่เป็นสาเหตุของการปลดเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯ

นายปรีชา อนุรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายพิเชษฐถูกถอดออกจากตำแหน่งเลขาธิการเท่านั้น แต่ยังเป็นกรรมการอยู่ ซึ่งที่ผ่านมากรรมการส่วนใหญ่มองว่าบทบาทของนายพิเชษฐมีความพยายามนำองค์กรศาสนาไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไป

ปมลึกปลด “พิเชษฐ”


แหล่งข่าวในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เผยว่า ภายในคณะกรรมการกลางฯ มีความคิดเห็นแตกต่างกันมานานแล้ว โดยเฉพาะกรรมการส่วนหนึ่งกับนายพิเชษฐ แต่ความขัดแย้งมาปรากฏชัดเมื่อมีจุฬาราชมนตรีคนใหม่

“ที่ผ่านมาจุฬาราชมนตรีท่านเก่ามีปัญหาด้านสุขภาพตลอด คุณพิเชษฐจึงเข้าไปทำการแทนในหลายเรื่อง และดำรงตำแหน่งสำคัญๆ จำนวนมาก เช่น ประธานจัดงานเมาลิดกลาง แล้วก็มีปัญหาขัดแย้งกับกรรมการท่านอื่นๆ พอสมควร ต่อมาเมื่อมีจุฬาราชมนตรีคนใหม่ และท่านต้องการปรับโครงสร้างการทำงานภายในคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ทำให้คุณพิเชษฐไม่พอใจ ถึงกับมีการใช้คำพูดรุนแรงในบางครั้ง จนกรรมการท่านอื่นรับไม่ได้ และกลายเป็นเหตุผลในการปลดคุณพิเชษฐในที่สุด” แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามฯ 1 วัน มีการเคลื่อนไหวของกรรมการกลุ่มหนึ่งนัดหารือกันนอกรอบ และเช็คเสียงสนับสนุน เมื่อมั่นใจว่ามีเสียงมากกว่านายพิเชษฐ จึงเดินเกมประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามฯ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งมีกรรมการฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุม 51 คน จากกรรมการทั้งหมด 53 คน (ผู้แทนจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน  รวมเป็น 39 คน บวกกับกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอีก 13 คน) และมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นประธาน แต่ช่วงที่มีการพิจารณาวาระปรับโครงสร้างคณะกรรมการกลางฯใหม่นั้น นายอาศิสไม่อยู่ในห้องประชุม เพราะต้องออกไปต้อนรับและพบปะแขกคนสำคัญ (พอดี)

ทุกอย่างจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีการเตรียมการกันมาอย่างดี และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ร่วมวางหมากและเดินเกม

พลิกกฎหมาย กก.กลางอิสลาม


ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 หมวด 3 ระบุถึงคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเอาไว้ดังนี้

มาตรา 16  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และจากกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีมีจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถ้ามีเศษให้ปัดทิ้ง

การคัดเลือกผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และการคัดเลือกกรรมการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น

มาตรา 18  คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ให้คำปรึกษาหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย

(4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและมัสยิด

(5) ออกระเบียบวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(6) ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ใกล้เคียงปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้

(7) พิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามมาตรา 41

(8) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับรายจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

(9) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม

(10) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนา และการศึกษาศาสนาอิสลาม

(11) ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

(12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 19  กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้มีการคัดเลือกเพื่อดำเนินการแต่งตั้งใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบกำหนดตามวาระ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่

มาตรา 20  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 19 กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17

----------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก www.publicthaionline.com และหนังสือพิมพ์พับลิกโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น