ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี ตอนที่ 2
| |
ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี
ตอนที่ 2 “กระบวนการเข้าสู่การต่อสู้เพื่อ Merdeka”
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช และ
บนพื้นฐานบริบททางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรปา ตานีแห่งนี้ ชาวมลายูมุสลิมเรือนพันเรือนหมื่นได้เดินเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อ เอกราชของดินแดนที่พวกเขามองว่าถูกสยามยึดครองไป ในตอนนี้ DSJ จะเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของเด็กหนุ่ม 2 คนที่ถูกชักชวนเข้าสู่ขบวนการและอธิบายถึงขั้นตอนการสร้าง “นักปฏิวัติ” ผ่านการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องและเอกสารที่เขียนโดยคนที่เคยอยู่ในขบวน การ
ชารีฟ : จาก “เด็กติดยา” สู่ “RKK”
ชารีฟ (นามสมมุติ)
เรียนจบสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง แต่ในทางศาสนา เขาเรียนจบชั้น
10 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของการเรียนในสายศาสนาแบบทั่วไป หลังเรียนจบแล้ว
เขาทำอาชีพกรีดยางซึ่งเป็นวิถีการหาเลี้ยงชีพหลักของคนในจังหวัดชายแดนภาค
ใต้
เด็กหนุ่มผิวเข้มร่างกายกำยำคนนี้ยอมรับว่าเขาเคยติดกัญชาและเที่ยวผู้หญิง
ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเข้าร่วมจับอาวุธในช่วงพ.ศ. 2547
ชารีฟถูกชักชวนโดยเพื่อนในหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งบอกกับเขาว่า
“เราต้องบริสุทธิ์จริงจึงจะเข้าขบวนการได้ ต้องเลิกสิ่งที่ไม่ดี”
ชารีฟเลิกอบายมุข
เหล่านั้นและได้ผ่านการ “ซุมเปาะ” หรือ
การสาบานตนเข้าร่วมขบวนการต่อหน้าคำภีร์อัล-กุรอ่าน
คนที่มาเป็นผู้อบรมชารีฟเป็นคนที่มีความรู้ทางศาสนาซึ่งเขาให้ความเคารพและ
เชื่อถือ เขาไปฟังการบรรยายที่ปอเนาะทุกๆ สัปดาห์ ในกลุ่มก็จะมีประมาณ 6 – 7
คน ชารีฟเล่าว่าคนที่มาอบรมบอกกับเขาว่าการ “ญิฮาด”กับรัฐสยามนี้เป็น
“ฟัรดูอีน” (fardu 'ain- ข้อกำหนดที่คนมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ)
ถ้าหากว่าเขาไม่ปฏิบัติก็จะบาป
ชารีฟเข้ารับการฝึกในขั้นต้นที่เรียกว่าระดับ “เปอมูดอ” (pemuda - เยาวชน)
อยู่ประมาณครึ่งปี ก่อนหน้าที่จะได้เข้าไปฝึกต่อทางด้านการทหาร
“ในช่วงแรกๆ เขา
[ครูฝึก] ให้ไปขโมยของในร้านของคนไทยพุทธ เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจ”
ชารีฟเล่าย้อนความหลัง
เขากับเพื่อนไปหยิบสินค้าในร้านขายของชำเพื่อเอามาแสดงให้กับครูฝึกดูเพื่อ
พิสูจน์ความกล้า
บททดสอบเช่นนี้ก็
เพื่อทำให้คนที่อยู่ในขบวนการสร้างกำแพงแห่งความรู้สึกระหว่าง “พวกเรา” และ
“คนอื่น” ให้แข็งแรงขึ้น
ครูฝึกบอกว่าคนไทยพุทธเป็นผู้อพยพมาอยู่ในดินแดนของคนมลายูมุสลิมและพวกเขา
เป็น “เครื่องมือของรัฐสยาม” ชารีฟบอกว่าช่วงที่เคลื่อนไหวอยู่นั้น
เขาไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนพุทธเลย
เมื่อฝึกเสร็จ ชารีฟก็เริ่มปฏิบัติการในฝ่ายกองกำลังในระดับ RKK เคลื่อนไหวในพื้นที่ในปัตตานี
มะแอ : “แผ่นดินนี้เป็น ดารุลฮัรบี”
มะแอ (นามสมมุติ)
เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในอ.เมือง
จ.ยะลาซึ่งมีนักเรียนหลายพันคน ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
มีอุสตาซมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ฟังหลายครั้งว่าดินแดนแถบนี้เดิมเป็น
ของคนมลายูมุสลิม แต่ว่าถูกรัฐสยามเข้ามายึดครอง
“อุสตาซสอนว่าเป็น วาญิบ [wayib – ข้อบังคับ] ที่จะต้องต่อสู้ เพราะแผ่นดินนี้เป็น ดารุลฮัรบี ” มะแอกล่าว
ตามหลักการของศาสนาอิสลาม คำว่า ดารุลฮัรบี (Dar-ul-Harb)
หมายถึง “ดินแดนแห่งสงคราม” (Abode of War)
ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ปกครองโดยคนมุสลิมและไม่ได้ใช้ชารีอะห์เป็นกฎหมาย
หลักในการปกครอง คำถามที่ว่าดินแดนปาตานีนี้เป็น ดารุลฮัรบี หรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน
สิ่งที่มะแอได้รับ
การบอกเล่าคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของอีกหลายๆ คนที่เข้าไปสู่ขบวนการ
เรื่องเล่านี้เริ่มต้นจากว่าแผ่นดินปาตานีนี้เคยเป็นอาณาจักรอิสลาม
หรือเป็นดารุลอิสลาม (Dar-ul-Islam) ต่อมาถูกสยามยึดครองจึงได้กลายเป็น ดารุลฮัรบี ฉะนั้น การญิฮาดเพื่อกอบกู้เอกราชจึงเป็นฟัรดูอีน สำหรับคนมุสลิมทุกคน ว่ากันว่าอูลามา (ผู้รู้ทางศาสนา) ของขบวนการได้ประกาศฟัตวา (fatwa
- คำตัดสินในทางหลักการศาสนาอิสลาม) ให้มีการญิฮาดเพื่อเอกราชของปาตานี
แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใครมีบทบาทในการออกฟัตวานี้
คนที่อยู่ในระดับปฏิบัติการรู้แต่เพียงว่าเป็น ออแฆตูวอ (หรือเขียนแบบมาเลย์กลางว่า orang tua) ซึ่งหมายถึงผู้อาวุโสของขบวนการ
มะแอเล่าว่าในตอน
แรกๆ ก็ยังไม่ทราบว่าขบวนการที่ตนเองตัดสินใจเข้าไปร่วมนี้ชื่ออะไร
เขารู้แต่ว่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขาคือ “นักรบฟาตอนี”
เมื่อเขาจบการฝึกเปอมูดอแล้วก็ได้รับการบอกว่าขบวนการที่เขาเข้าร่วมนี้คือ
BRN – Coordinate
เขาเริ่มฝึกความกล้าในการปฏิบัติการด้วยการโปรยตะปูเรือใบ ป้ายสีบนป้ายถนน
ก่อนเข้าฝึกเพื่อเป็น RKK
รงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
บางแห่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นที่่บ่มเพาะเยาวชนให้เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่น
คงเรียกว่า "ผู้ก่อเหตุรุนแรง"
ภาพการเข้าไปพบปะครูโดยหน่วยทหารจึงเป็นภาพที่คุ้นชินในหลายโรงเรียน
หลักสูตร “เปอมูดอ”
กระบวนการที่ชารีฟและมะแอได้ผ่านก็คล้ายกับหลายๆ
คนเพราะขบวนการวางแผนการฝึกเยาวชนอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ
“อาร์เคเคเป็นใคร ทำไมต้องเป็น RKK”
ซึ่งเขียนโดยผู้ที่เคยมีบทบาทในการฝึกเยาวชนของขบวนการและเผยแพร่โดยกลุ่ม
นายทหารที่ทำงานในภาคใต้ได้อธิบายว่าขบวนการมีคนที่ทำงาน “ฝ่ายเปอมูดอ”
ซึ่งทำหน้าที่ในการหาสมาชิกใหม่โดยเฉพาะ โดยจะทำงานสองส่วนหลักๆ คือ
กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนและกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้าน
เมื่อผ่านการซุมเปาะแล้วก็จะเข้ารับการฝึกตามลำดับขั้นที่เรียกเป็นภาษา
มลายูถิ่นว่า ตือกัซ ตือปอ ตารัฟ ตาแย และ วาฏอน
ในชั้น ตือกัซ ซึ่งมีความหมายว่ายืนให้มั่นคง
ผู้สอนจะเน้นในเรื่องประวัติศาสตร์ “บาดแผล” โดยการเล่าถึง
ความรุ่งเรืองของอาณาจักรปาตานีในอดีตซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามใน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นเมืองท่าที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
และพูดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงหลังจากถูกสยามยึดครองและรัฐสยามได้ดำเนิน
นโยบายในการ “กลืนวัฒนธรรม”
ดังนั้นเองจึงมีความจำเป็นที่คนมลายูมุสลิมจะต้องต่อสู้เพื่อนำอิสรภาพและ
เอกราชกลับคืนมา
มีการนำเอากรอบคิดทางศาสนาเรื่องดารุลฮัรบีมาสนับสนุนการต่อสู้
โดยย้ำว่าเป็นวาญิบที่คนมุสลิมจะต้องญิฮาดกับผู้รุกราน
ในบางกรณีมีการใช้คำว่าฟัรดูอีนแทน ในขั้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน
ในชั้น ตือปอ ซึ่งแปลว่าสร้างเป็นช่วงของการสร้าง
“นักปฏิวัติ”
ที่มีจิตใจต่อสู้และเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
โดยเชื่อมโยงการกระทำดังกล่าวกับการทำความดีตามหลักของศาสนาอิสลาม
โดยจะมีการสอนเรื่องกฎบัญญัติ 10 ประการ คือ 1) ประกอบศาสนกิจ (อีบาดะห์)
แด่องค์อัลเลาะห์และละเว้นอบายมุขทั้งปวง 2) ไม่เปิดเผยความลับให้กับข้าศึก
ศัตรู ถึงแม้ว่าจะถูกข่มขู่คุกคาม 3)
จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ปฏิวัติและเชื่อฟังผู้นำของขบวนการ 4)
เห็นแก่ประโยชน์ในการต่อสู้ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว 5)
ต้องมอบทรัพย์สินและร่างกายให้กับงานต่อสู้ เมื่อต้องการ 6)
ปฏิบัติงานตามความสามารถของแต่ละคนด้วยความซื่อสัตย์และบริสุทธิ์ใจ 7)
ให้การตักเตือนและน้อมรับการตักเตือนด้วยความยินดีและจริงใจ 8)
ต้องเข้ารับการอบรมและพบปะประชุมเมื่อถูกเรียกเชิญ 9)
ยึดมั่นในคำพูดและคำสัญญา 10) ไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับขบวนการต่อสู้
จากหลักฐานเอกสารที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงค้นพบ กฎบัญญัติ
10 ประการนี้อาจมีการใช้คำพูดที่แตกต่างหรือเรียงลำดับข้อไม่เหมือนกัน
แต่เนื้อหาใจความโดยรวมตรงกัน
เอกสารด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารยึดได้จาก
เหตุการณ์ทหารพรานปะทะกับขบวนการที่ค่ายฝึกบนเทือกเขาตะเว บ้านกูตง ม.3
ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550
การปะทะกันทำให้ฝ่ายขบวนการเสียชีวิต 5 ศพ
(เอกสารของกอ.รมน.)
ต่อจากนั้น ในชั้น ตือปอ จะ
มีการฝึกความแข็งแรงของร่างกาย เช่น การวิ่ง วิดพื้น ซิทอัพ กระโดดตบ
ปั่นจักรยาน ขี่ม้า ฯลฯ โดยการฝึกมักจะทำในเวลากลางคืน
และจะมีการย้ำในเรื่องการญิฮาดเพื่อเอกราช ในขั้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 4
เดือน
ขั้นต่อไป คือ ตารัฟ ซึ่ง
แปลว่าขึ้นชั้น จะมีการเน้นในเรื่องอัตลักษณ์มลายู เช่น
การแต่งกายด้วยเสื้อบงาลอ (เสื้อคอกลม แขนยาว
เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย) ผ้าโสร่งสก๊อตดำ
การสอนในเรื่องนี้เพื่อต้องการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นมลายู
สำหรับขั้น ตาแย(แหลมคม) จะเป็นการทดสอบความแข็งแรงของร่างกาย
โดยจะมีการออกกำลังกายในท่าที่ได้สอนไปแล้ว แต่จะมีระยะเวลาที่นานขึ้น
มีการทดสอบความกล้าหาญด้วยการให้ไปพ่นสีที่ป้ายถนน ทำลายหลักกิโลเมตร
หรือโปรยใบปลิว สุดท้ายคือขั้น วาฏอน มีความหมายว่าแผ่นดินของเรา
จะเป็นการจับคู่ฝึก โดยเน้นให้สมาชิกใหม่เกิดความมุ่งมั่น
มีวินัยและความรับผิดชอบ โดยจะมีการฝึกออกกำลังกายเป็นคู่
ฝึกศิลปะการป้องกันตัว การปฐมพยาบาล เช่น การฉีดยา ให้น้ำเกลือ ห้ามเลือด
และดูหนังสงครามและการต่อสู้ในประเทศอื่นๆ
ขั้น
ตอนในการฝึกเปอมูดอทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ปี
หลังจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการคัดเลือกเปอมูดอ โดยจะให้เลือก 3 สาย คือ
ฝ่ายทหาร (MAY) ฝ่ายมวลชน (MASA) และ ฝ่ายเปอมูดอ
ซึ่งทำหน้าที่ในการหาและฝึกสมาชิกใหม่
การฝึก RKK
หลังจากจบหลักสูตรเปอมูดอแล้ว คนที่เลือกฝ่าย MAY
จะต้องเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมอีก 2 ขั้นที่เรียกเป็นรหัสว่า “ตาดีกา” และ
“ปอเนาะ” โดยการฝึกจะเน้นเรื่องการรบแบบกองโจรและการใช้อาวุธ
หน่วยปฏิบัติการที่สำคัญของ MAY คือ
ชุดปฏิบัติการในระดับหมู่บ้านที่เรียกว่า RKK
ซึ่งเป็นตัวย่อของคำภาษาอินโดนีเซียว่า Runda Kumpulan Kecil แปลว่า
“ชุดลาดตระเวนขนาดเล็ก” RKK หนึ่งชุดประกอบด้วยสมาชิก 6 คน คือ
หัวหน้าชุด-รองหัวหน้าชุด-คนนำทาง-ประสานงานและสื่อสาร-รักษา
พยาบาล-ยุทธวิธี
หนังสือ “อาร์เคเคเป็นใคร ทำไมต้องเป็น RKK” ได้อธิบายว่าการฝึกในขั้น
“ตาดีกา” จะเน้นในเรื่องของการวางหน่วยและป้องกันตัว
การหลบหนีและการใช้อาวุธในการต่อสู้ ในขั้น “ปอเนาะ”
จะสอนเรื่องการรบแบบกองโจร
ซึ่งขบวนการซึ่งมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของรัฐจำเป็นต้องเลือกใช้ยุทธวิธีการ
ต่อสู้แบบนี้ RKK
อาศัยมวลชนเป็นฐานสนับสนุนและเคลื่อนไหวในภูมิประเทศที่ตนเองมีความคุ้นเคย
ในการต่อสู้จะแบ่งเป็นหน่วยขนาดเล็กเพื่อให้ง่ายต่อการพรางตัวและปฏิบัติการ
ได้อย่างรวดเร็ว การรบจะไม่รบแบบแตกหัก หากคู่ต่อสู้เข้มแข็ง
ต้องถอยและเลือกเข้าโจมตีขณะคู่ต่อสู้อ่อนแอ ต้องเก็บความลับให้ดีที่สุด
และการรบต้องสร้างความได้เปรียบคู่ต่อสู้ควบคู่ไปด้วย เช่น
พรางตัวด้วยการใส่ชุดทหารในการปฏิบัติการ
ในการฝึกขั้นตาดีกานั้นจะใช้เวลา 1
ปีซึ่งไม่ได้เป็นการฝึกแบบเข้มข้นทุกวัน
แต่ว่าการฝึกในขั้นปอเนาะนั้นจะเป็นหลักสูตรเข้มข้นระยะเวลา 1 เดือน
การจบหลักสูตร RKK นั้น จะต้องมีการปฏิบัติการจริง 1 ครั้ง RKK
ที่มีฝีมือจะได้รับการคัดเลือกให้ไปฝึกขั้นสูงต่อไป โดยจะแบ่งเป็นสองส่วน
หนึ่ง “ฮารีเมา” (harimau) เป็นคำในภาษามลายูแปลว่า “เสือ”
ขบวนการใช้ในการเรียก “หน่วยจู่โจม”
ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีฝีมือทางการทหารระดับสูงและมีความชำนาญในพื้นที่ป่า
เขา และ สอง “ลือตุปัน” (letupan) ซึ่งแปลว่า “ระเบิด” ในภาษามลายู
เป็รคำที่ใช้เรียกฝ่ายที่ทำหน้าที่ผลิตระเบิด
สมาชิกที่ผ่านการฝึกแล้วก็จะได้ถูกมอบหมายให้เรื่มปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ
ที่มีการวางโครงสร้างในสองปีกหลักๆ คือ MAY และ MASA
ในตอนต่อไปจะได้เล่าถึงการปฏิบัติการของเหล่านักรบอิสลามที่เรียกตัวเองว่า ญูแว(juwae) เหล่านี้
หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International
Crisis Group ปัจจุบัน
เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s
College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี”
ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่านตอนที่ 3
"โครงสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี" ได้ในวันจันทร์ที่ 19
พฤศจิกายน 2555
** สถานที่ที่ปรากฎในภาพประกอบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาของรายงานฉบับนี้แต่อย่างใด
ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3690 | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น