ครู 3 จังหวัดภาคใต้อย่าทอดทิ้งนักเรียน
| |
ย้อนหลังกลับไป 8 ปี ตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์
3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลาบางส่วน
การจากไปด้วยการถูกยิงของครูนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ากำชำ
ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 คือรายที่ 154 ชีวิตของครู 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูญเสียไป เป็นเครื่องมือที่กลุ่มผู้ไม่หวังดี
หรือที่เราเรียกทั่วไปว่าผู้ก่อเหตุรุนแรง ใช้ได้ผลในระดับยุทธศาสตร์
ที่ใช้ต่อสู้กับรัฐ นับตั้งแต่การสูญเสียครูจูหลิน ปงกันมูล
ครูช่วยสอนบ้านกูจิงรือปะ เมื่อปี 2549 ทุกฝ่ายเริ่มตื่นตัว
และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลชีวิตครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
มีเสียงเรียกร้องออกมามากมาย ทั้งฝ่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรครู
และนักการเมือง ซึ่งรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย
ก็ต้องรีบเร่งสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าปฏิบัติทันที
นั่นเองที่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรู้จุดกระทบของฝ่ายรัฐว่า “ครูคือยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐ” และ “ครูคือเหยื่อที่ดีที่สุด”
ด้วยเพราะสังคมไทยผูกพันกับครูอย่างใกล้ชิดตั้งแต่อดีต
ฉะนั้นเองเมื่อมีการสูญเสียครูไม่ว่าเหตุใด
จะนำมาซึ่งความเสียใจกับคนไทยที่ใกล้ชิดครู ซึ่ง 3 จังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน
การปรับเปลี่ยนกลยุทธ
ตั้งแต่ฝ่ายทหารเข้าไปดูแลในโรงเรียน และครู
โดยใช้โรงเรียนบางแห่งที่เป็นพื้นที่สีแดงเป็นฐานที่ตั้ง
ก็ถูกฝ่ายสิทธิมนุษยชนมองว่าเกิดความเสี่ยงต่อครูและนักเรียน
ในการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ฝ่ายทหารจึงจำเป็นต้องย้ายฐานออกห่างโรงเรียนโดยไม่มีองค์กรครู
หรือครูคนไหนออกมาคัดค้านสักคนเดียว
ทุกครั้งที่มีครูเสียชีวิตจำเลยคนแรกคือฝ่ายความมั่นคง และ ทหาร
แม้จะเพิ่มหรือมีวิธีการใดเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ครู
แต่ฝ่ายความมั่นคงรู้ว่านั่นคือการตั้งรับไม่ใช่การรุก
ซึ่งผู้ตั้งรับย่อมมีวันเสียเปรียบไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ทุกครั้งที่มีครูสูญเสีย สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือ “ปิดโรงเรียน”
เป็นวิธีบั่นทอนอำนาจรัฐที่ใช้มาโดยตลอดของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ทั้งภาพข่าว และสถานการณ์ ภาครัฐทุกฝ่ายต่างมีความเห็นใจครู
และตั้งใจจริงที่จะร่วมปกป้องครู
แต่ทุกครั้งเมื่อครูถูกกระทำจากฝ่ายที่ไม่เคยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
และศาสนา ครูจะสั่งปิดโรงเรียนทุกพื้นที่ทันที
และการกระทำเช่นนี้ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือนักเรียน ลูกหลานของพวกเรา
และยิ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้ปกครอง และนักเรียน ต่อเจ้าหน้าที่
และโรงเรียนที่ปิด เสริมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุต้องการอยู่แล้วก็เท่ากับว่า
เมื่อปิดโรงเรียนทุกครั้งที่ครูถูกกระทำ ก็เท่ากับว่า “ขุนหลุมไว้ฝังศพตัวเองหรือไม่”
คงไม่มีฝ่ายไหนกล้าบอกให้ครูลุกขึ้นมาสู้กับโจร
เพราะครูนั้นมีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดี
แต่ก็ยังมีครูใจเด็ดจังหวัดปัตตานีที่กล้าขับรถชนผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มาลอบ
ยิง โจรต้องหลบหนีทิ้งรถมอเตอร์ไซต์เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา
แต่ถ้าวันนี้เมื่อครูถูกคนร้ายกระทำแล้วปิดโรงเรียน
ต้องถามว่านี่คือหนทางที่ถูกต้องหรือไม่
แล้วสุดท้ายก็ต้องมาเปิดเรียนอีกใช่ไหม เพื่ออะไร
หากต้องการให้กำลังฝ่ายความมั่นคงเพิ่มเติมกำลังในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
เพื่อเพิ่มส่วนตั้งรับในการดูแลครู แต่เมื่อองค์กรสิทธิมนุษยชน
องค์กรนักศึกษาบางองค์กรออกมาต่อต้านการเพิ่มเติมกำลังทหารในพื้นที่
การเพิ่มเติมกำลังทหารพรานในพื้นที่
ทำไมไม่เห็นครูสักคนเดียวมาคัดค้านหรือให้กำลังใจทหารแม้แต่คนเดียวหรือแม้แต่แสดงการสนับสนุนให้เพิ่มเติมกำลังทหารพรานในพื้นที่ก็ยังไม่เคยมีสักครั้งเดียว ทุก
ครั้งที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายรุกไล่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจนไม่สามารถ
เคลื่อนไหวก่อเหตุได้ เช่น วางระเบิด เผาโรงเรียน
ตรวจยึดอุปกรณ์เตรียมก่อเหตุระเบิดได้ จับกุมผู้ก่อเหตุได้หลายราย
สิ่งที่ฝ่ายขบวนการจะแก้ยุทธศาสตร์จากการตั้งรับมาเป็นฝ่ายรุก นั่นก็คือ ยิงครูไทย
พุทธ 1 คน ซึ่งก่อนจะยิงครู 1 คน ต้องยิงอุซตาส หรือ โต๊ะอิหม่าม ก่อน 1 คน
เพื่อเป็นข้ออ้างในการโฆษณาชวนเชื่อ
สร้างความชอบธรรมในการแก้แค้นให้ฟาฎอนี ด้วยการยิงครูไทยพุทธ
ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง แล้วเมื่อครูหยุดโรงเรียน ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องกลับมาเป็นฝ่ายเพิ่มมาตรการทุกครั้ง นี่เองจึงเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ใช้ได้ผลดีทุกครั้ง
“เมื่อครูปิดโรงเรียน ครู จึงเป็นเหยื่อที่มุ่งหมายที่สุด ในสงครามนี้” และไม่เคยเห็นองค์กรสิทธิมนุษยชนประเทศไทย องค์กรนักศึกษาทุกระดับออกมาประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของ
กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กระทำต่อครูแม้แต่สักครั้งเดียว
แต่จะโจมตีว่าฝ่ายความมั่นคงมีกำลังทหารตั้งมาก แต่คุ้มครองครูไม่ได้
ใช่ไหม??
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีครูรายที่ 155
หรืออีกกี่รายต่อไป ผลที่ปิดโรงเรียน และส่งผลกระทบโดยตรงที่สุด คือ
เด็กนักเรียน เยาวชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
ซึ่งด้อยในเรื่องการศึกษาที่สุดขณะนี้ในประเทศไทย
เพราะไม่มีครูไทยพุทธคนไหนจะต้องการอยู่ในพื้นที่
แล้วจะหาความตั้งใจในการสอนมาจากไหน
ความผูกพันระหว่างครูกับนักเรียนจะเกิดได้อย่างไร ครูไทยพุทธจำนวนลดน้อยลง
ครูที่เก่งไม่ต้องการมาสอนในพื้นที่ล้วนเป็นเหตุเป็นผลที่องค์กรทางการศึกษา
และครูทุกคนต้องลองไปตรึกตรองดู
ล้วนเป็นสิ่งที่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องการใช่หรือไม่
แล้วเราต้องยอมไปตามทางที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกำหนดเช่นนั้นหรือ
ฉะนั้นจึงต้องขอวิงวอนครูโปรดอย่าหยุดโรงเรียน เด็กนักเรียน เยาวชน
ลูกหลานของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างรอคอยคุณครู
ผู้ที่นำทางสันติสุขให้กับพวกเขาทุกคน นักเรียนเปรียบเสมือนลูก
หลานของครูที่เฝ้ารอคอย ศึกษาหาวิชาความรู้จากครู
ผู้เปรียบประดุจแม่คนที่สองของเด็กนักเรียนทุกคน ความใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียนดั่งครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นครูคือความหวังของเด็กนักเรียนชาวใต้ทุกคนที่กำลังรอคอย และร่วมสู้ฝ่าฟันไปด้วยกัน
ขอวิงวอนกรุณาอย่าปิดโรงเรียน ที่ใดมีโรงเรียน ที่นั้นย่อมมีนักเรียน และมีครู หากโรงเรียนปราศจากครู ก็
ย่อมขาดชีวิต จิตวิญญาณของโรงเรียน
ประดุจต้นไม้ที่ขาดแสงสว่างเพื่อเจริญเติบโต และในพื้นที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไม่มีครูอยู่กับโรงเรียน
ย่อมแสดงถึงการสูญเสียจิตวิญญาณที่จะหล่อเลี้ยง
กำลังสำคัญในการสร้างสันติสุขในอนาคต และความว่างเปล่าของโรงเรียนที่ไร้ครู
จะเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างโอกาสในการก่อเหตุ ปลุกระดม ทำลาย
เผาผลาญ ทั้งตัวโรงเรียน และจิตวิญญาณความรู้สึกของโรงเรียนให้สูญหายไปจาก
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครูทุกคนยอมได้หรือ
พวกเราทุกคนคงยอมไม่ได้ที่จะให้โรงเรียนไร้ซึ่งบุคลากรครู โรงเรียนถูกทำลาย
เผาผลาญไปสิ้น หากวันนี้โรงเรียนปิด นักเรียนจะไปพึ่งพาใคร
สุดท้ายโรงเรียนก็ต้องกลับมาเปิดเพื่อลูกหลานของเราทุกคน
แต่หากเกิดกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้กระทำการอันชั่วร้ายต่อครูอีก
โรงเรียนก็ต้องปิดอีกอย่างนั้นหรือ
นั่นเองเท่ากับทุกคนเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ครูเป็นเครื่องมือ
เพื่อให้โรงเรียนหยุดตามที่ฝ่ายขบวนการต้องการคือ
“ก่อเหตุต่อครูแล้วจะมีการปิดโรงเรียน”
วันนี้ทุกคนต้องไม่ยอมให้โรงเรียนปิด
“ครูกรุณาอย่าทอดทิ้งนักเรียน”
| |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น