ประชุมประจำเดือน' ไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพ | |
"ผมขอใช้คำว่า 'ประชุมประจำเดือน' ไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพ เพราะการพูดคุยกันจริงๆ มันไม่ใช่แบบนี้" เป็นวาทะร้อนๆ ของ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ดูประหนึ่งไม่ให้ราคากับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ เอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการกันไปแล้ว 3 ครั้ง และกำลังนัดพูดคุยครั้งใหม่ในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นการพูดคุยครั้งที่ 4 ที่ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะออกมาในรูปใด เพราะผู้นำเหล่าทัพของไทยเพิ่งปฏิเสธข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นอย่างไร้เยื่อใยไปเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ในมุมมองของ พล.อ.อกนิษฐ์ เขาอ่านเกมพูดคุยสันติภาพอย่างปรุโปร่ง และทำนายบทจบเอาไว้เรียบร้อย ซึ่งเป็นบทจบแห่งการสมประโยชน์ทางการเมือง หาใช่บทจบของความขัดแย้ง ณ ดินแดนปลายด้ามขวานไม่ พล.อ.อกนิษฐ์ เป็นนายทหาร ตท.12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน เขาเคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเชี่ยวชาญชายแดนด้านไทย-มาเลเซียเป็นพิเศษ เพราะเคยเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ หรือ Peace Process เพื่อแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม.จนประสบความสำเร็จ ที่สำคัญเขายังเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการ "พูดคุยลับ" กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม ทั้งบีอาร์เอ็นและพูโล ตั้งแต่ปี 2534 ด้วย ถึงขนาดเจ้าตัวพูดถึงท่าทีของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐแบบรู้เท่าทันว่า "เคยเห็นน้ำตาของพวกนี้มานักต่อนักแล้ว" แม้จะพลาดหวังจากเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 และไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใด ๆ ในศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต.ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ประสบการณ์ของเขาก็ยังเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษากับผู้บังคับบัญชาที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ผบ.ทบ. และแน่นอนย่อมเป็นประโยชน์กับการอ่านสถานการณ์ชายแดนใต้ กับอนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเขามองว่าเป็นเกมแห่งอำนาจและผลประโยชน์แทบจะล้วนๆ! @ กองทัพออกมาประกาศชัดเจนว่าไม่รับ 5 ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น การพูดคุยสันติภาพจะเดินหน้าต่ออย่างไร? เราก็ทราบๆ กันอยู่ว่ามันเป็นการตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย ดังนั้นตัวละครจึงมีอยู่ 3 ตัว คือ ไทย มาเลเซีย และกลุ่มขบวนการ (หมายถึงขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) แต่การที่มาเลเซียเปิดตัวครั้งนี้เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีกลุ่มขบวนการพักพิงอยู่ในมาเลเซีย @ มาเลเซียต้องการอะไรที่เปิดเกมเล่นอย่างเปิดเผยเช่นนี้? ถ้าติดตามคำบรรยายเวลาเราเชิญ นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด หรือ นายอับดุลเลาะห์ อาห์มัด บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาพูด ทั้งสองท่านจะบอกว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องแก้ด้วยการให้เป็น autonomy (การปกครองตนเอง) ในช่วงรัฐบาลก่อน (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซียก็มาพูดกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียก็พูดกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเราว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแก้ให้เป็น autonomy และวันที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมัยยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน เขาก็บอกให้แก้ด้วย autonomy อีก คำถามคือทำไมมาเลเซียคิดว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำเป็น autonomy แล้วจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งผมไม่รู้ว่ามีการตกลงอะไรกันระดับรัฐบาลหรือไม่ แต่ถ้าจำได้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย) ออกมาพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ เราก็ดูเนื้อหาที่เขาพูด มันเหมือนมีการตกลงกันลับๆ แล้วว่าจะให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งไปสอดคล้องกับเรื่อง autonomy ที่มาเลเซียพูด นี่คือสาเหตุที่มาเลเซียให้ความร่วมมือ @ ตอนที่ พล.ท.ภราดร ออกมาพูด ก็โดนหลายฝ่ายในประเทศไทยต่อต้านพอสมควร พอสังคมวิจารณ์มาก พล.ท.ภราดร ถึงออกมาบอกว่ายังอีกไกล แต่ความจริงแล้วมันมีการเดินงานเป็นขั้นเป็นตอน ฝ่ายการเมือง (ของไทย) ในพื้นที่ก็เดินสายชี้แจงประชาชนเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษ มีการเสนอร่างกฎหมายนครรัฐปัตตานี หรือปัตตานีมหานครขึ้นมา มันเป็นกระบวนการของเขา @ มอง 5 ข้อเรียกร้องของนายฮัสซัน ตอยิบ อย่างไร? ทั้ง 5 ข้อสะท้อนวิธีคิดเชิงประวัติศาสตร์ เขายังยึดติดอยู่กับประวัติศาสตร์ ถ้าทุกพื้นที่ในโลกเอาประวัติศาสตร์มาเป็นหลักในการคิด ก็คงต้องรบกันทั่วโลก มีคนโต้แย้งผมว่าเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เรื่องเขตแดนจึงไม่มีความหมาย ดูสหภาพยุโรปสิ ผมก็เถียงว่าเฮ้ย...เข้าใจผิด ไม่มีประเทศไหนเขายอมให้ละเมิดทางดินแดนกันหรอก ถามว่าในยุโรปถ้าเอากำลังทหารข้ามเส้นเขตแดนมันจะรบกันไหม เรื่องความร่วมมือกันมันแค่เรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องการทหาร เรื่องอธิปไตย หรือบูรณภาพแห่งดินแดนเขาจะสงวนไว้ ไม่มีใครละเมิดกันหรอก มาถึงตรงนี้ถามว่าข้อเรียกร้องของนายฮัสซัน ตอยิบ 5 ข้อมีความสำคัญไหม มันไม่มีใครเสนอข้อเรียกร้องต่ำ ๆ หรอก ข้อเสนอที่เราไม่รับก็คุยกันไปเรื่อยๆ เขาจะคุยกันไปจนถึงเวลาที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรื่องการพูดคุยตรงนี้มันต้องจบ ผมทำนายเลยว่าจะมีการผลักดันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษก่อนที่จะเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งนายนาจิบก็เคยพูดว่าทุกอย่างต้องจบก่อนประชาคมเซียน ในช่วงเดือน ธ.ค.2558 ส่วนการพูดคุยตอนนี้ก็หยุดบ้างเดินบ้าง แต่สุดท้ายมันต้องจบก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะมาเลเซียเขาตั้งธงไว้แล้ว อีกสักพักก็เดินต่อ เหมือนดูละคร วันนี้จบแค่นี้ วันรุ่งขึ้นต่ออีกตอน สัปดาห์หน้าก็มีต่ออีก ทุกคนคือตัวละคร ทุกคนมีบทบาทต่างกัน ความจริงแล้วผมอยากใช้คำว่าประชุมประจำเดือนมากกว่า (หัวเราะ) ไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพหรอก เพราะการพูดคุยมันไม่ใช่วิธีการอย่างนี้ ถ้าการพูดคุยต้องมาจับเข่ากัน มาสุมหัวกัน มีปัญหาตรงไหนก็ช่วยกันแก้ แต่นี่ไม่ใช่ @ พล.ท.ภราดร เคยให้สัมภาษณ์ว่าช่วงที่ผ่านมาโต๊ะพูดคุยสันติภาพตกลงจะเริ่มออกแบบเขตปกครองพิเศษกันด้วย? เกมนี้มาเลเซียบังคับวิถีได้ แล้วมาเลเซียได้ประโยชน์เต็มๆ จะเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย หรือเป็นคนกลางก็ไม่สำคัญ แต่เขาคุมเกมได้หมด ไม่ต้องมีข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นก็คุมได้หมดอยู่แล้ว (การให้มาเลเซียขยับสถานะเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย เป็นข้อเรียกร้องข้อหนึ่งของบีอาร์เอ็น) ใครจะไปพบฮัสซัน ตอยิบ ต้องขออนุญาตมาเลเซียก่อน การเสนอข้อเรียกร้องผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ทาง YouTube มาเลเซียไม่รู้เลยหรือ ฉะนั้นต้องดูให้ดีว่ามาเลเซียมีสถานะเป็นกลางจริงหรือไม่ @ มาเลเซียได้ผลประโยชน์อะไรหากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเขตปกครองพิเศษ? เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของเขา ลองนึกภาพประเทศมาเลเซีย ทางตะวันตกมีเขตปกครองพิเศษ คือ อาเจะห์ (อินโดนีเซีย) ทางตะวันออก คือ มินดาเนา อีก 2 ปีก็จะเป็นเขตปกครองพิเศษ (มินดาเนาคือเกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งมีปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดน และมาเลเซียเข้าไปเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเจรจา) ทางใต้ติดประเทศสิงคโปร์ไม่มีปัญหา ทางเหนือคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถ้าทางเหนือเป็นเขตปกครองพิเศษอีก มันจะเป็นดินแดนกันชนให้มาเลเซีย มันจะเป็นเขตปกครองพิเศษที่เป็นมุสลิมล้อมรอบมาเลเซีย ลดปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดน โดยเฉพาะกับรัฐที่มีอัตลักษณ์หรือวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นี่คือยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของเขา ตอนนี้เราต้องมาถามกันว่าถ้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษแล้ว สถานการณ์ความรุนแรงมันจะยุติหรือไม่ อย่าลืมว่าขบวนการเขาไม่ได้เรียกร้องเขตปกครองพิเศษ เขาเรียกร้องเอกราชมาตลอด ฉะนั้นเขตปกครองพิเศษมันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของเขา ถ้าเป็นเขตปกครองพิเศษก็ไม่มีหลักประกันว่าสถานการณ์มันจะยุติ แต่มาเลเซียเขาได้ประโยชน์แล้ว เขาก็จะบอกว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย ลองหันไปดูอาเจะห์ก็ยังทะเลาะกันเอง มันไม่ต่างกัน สรุปก็คือ สถานการณ์ขณะนี้ พูดคุยสันติภาพก็ว่ากันไป พอถึงเวลาก็เขตปกครองพิเศษ เกมนี้มาเลเซียคือผู้บังคับวิถี และได้ประโยชน์เต็ม ๆ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของฮัสซัน ตอยิบ พอเสนอมาทุกคนก็เป็นเดือดเป็นแค้น จริงๆ แล้วมันก็เป็นละครฉากหนึ่งที่มันต้องเล่นกันไป มันก็เล่นลื่นไหลกันไปเรื่อย วันนี้ฉากนี้ อีกวันก็อีกฉากหนึ่ง และฉากสุดท้ายเขาเตรียมไว้แล้ว คือ เขตปกครองพิเศษ @ ช่วงนี้ก็เลยเหมือนกับอยู่ในช่วงของการชิงความได้เปรียบว่าใครจะเสนออะไร เหมือนที่นายฮัสซัน ตอยิบ มาเสนอขอเพิ่ม อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนโดยไทยไม่ทักท้วง อย่างนั้นหรือเปล่า? ตอนที่มีการเสนอข้อเรียกร้อง แล้วระบุว่า 5 อำเภอของ จ.สงขลา หลายคนตีความว่าอำเภอที่ 5 คือ อ.หาดใหญ่ แต่ผมบอกตั้งแต่วันแรกเลยว่าเขาต้องการ อ.สะเดา เพราะมีชายแดนติดกับมาเลเซีย ข้อเรียกร้องพวกนี้ผมรู้ดี ได้ยินได้ฟังมาหลายรอบแล้ว เห็นน้ำตาพวกนี้มาเยอะ ได้คุยกับหลายกลุ่มหลายพวก เพราะสู้กันมาตั้งแต่ปี 2519 @ ขอให้ช่วยขยายความเรื่อง "ดินแดนกันชน" มาเลเซียจะได้อะไรจากการมีดินแดนกันชน? คนที่พูดภาษาเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน วัฒนธรรม ความคิดความเชื่อเหมือนกัน มันพูดกันง่าย เข้าใจกันง่าย มาเลเซียถึงกล้าเปิดเกม ยอมเปิดตัวเต็มที่ เขามองผลลัพธ์สุดท้ายไว้แล้วว่าจะได้อะไร ถามว่านายกฯนาจิบประกาศนโยบาย 3 ไม่ คือ
มีหลายอย่างที่มาเลเซียทำได้แต่ไม่ทำ เรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เรามาคุยกันใหม่ไหม เพราะมีสนธิสัญญาที่ทำไว้สมัยรัฐบาลสยามกับสหราชอาณาจักรในยุคที่อังกฤษปกครอง มันยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่เอามาปัดฝุ่นกันใหม่ได้ไหม เพราะมันไม่ทันสมัย หรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือชายแดน พ.ศ.2543 เอามาแก้ไขได้ไหม นี่มาเลเซียสามารถเล่นบทบาทอื่นได้เยอะ แต่มาเลเซียไม่เอา ผมอยากจะถามมาเลเซียกลับไปว่าสมัยที่ไทยช่วยแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) แล้วเรารับคนที่เป็นภัยกับประเทศของเขามาสร้างหมู่บ้านจุฬาภรณ์ให้อยู่อย่างถาวร เพื่อดูแลไม่ให้กลับไปเป็นภัยกับประเทศมาเลเซียอีกนั้น ถึงวันนี้มาเลเซียจะทำอย่างนั้นให้เราบ้างได้ไหม ดูแลคนพวกนี้ (ขบวนการแบ่งแยกดินแดนชายแดนใต้) ไม่ให้มาเป็นภัยกับเราเหมือนที่เราเคยให้เขาได้ไหม @ ทหารไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษ? รัฐธรรมนูญมาตรา 78 เปิดช่องให้ตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ได้ แต่มันตรงกับข้อเรียกร้องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า และถ้าจะให้ปกครองพิเศษ ถามว่า จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ โคราช พร้อมกว่าไหม แล้วจังหวัดเหล่านั้นไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ฉะนั้นต้องดูให้ดีว่าอะไรเป็นโจทย์ในการคิด ทหารไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษแน่ เพราะมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ (ว่าด้วยแนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐและหน้าที่ของทหาร) เรามองว่าเขตปกครองพิเศษจะทำให้มีบันไดอีกขึ้นหนึ่งที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทหารจึงต้องระแวดระวัง ทหารปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ คืออย่าให้เกิดการเสียดินแดน การสูญเสียอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดน มันเป็นหน้าที่ของทหาร ถ้าทหารไม่ทำแล้วใครจะทำ แล้วยังจะมาบอกว่าทหารสายเหยี่ยว ทหารสายพิราบ ถ้ามาพูดเรื่องนี้ทหารไม่มีสาย มันเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ทหารคนไหนที่พูดเป็นอย่างอื่นต้องถือว่าคุณไม่ใช่ทหาร ผมเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองกันเอง แต่ต้องไม่มีบันไดอีกขั้นหนึ่งไปสู่การแบ่งแยกดินแดน มีทหารยศพลเอก เป็นทหารนักวิชาการ บอกว่าทำไมต้องคิดว่าเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน กทม.มีฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร แล้วมารวมกันเป็นเขตปกครองพิเศษคือ กทม. ไม่เห็นแบ่งแยกดินแดน ผมถามว่าฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระ นครแต่ก่อนเขาสู้รบกันไหม เขาพร้อมที่จะรวมกันเพื่อพัฒนา แล้วมันอยู่ใจกลางประเทศ ไม่ได้มีดินแดนติดกับประเทศอื่น ไม่ทราบว่าคนพูดเอาสมองส่วนไหนคิด @ ในคณะพูดคุยสันติภาพก็มีทหารอยู่ด้วย และบอกว่าเขตปกครองพิเศษมีความเป็นไปได้ คณะพูดคุยคิดอย่างไร คนพื้นที่เขาก็รู้ เขาดูออก คนที่มาทำงานมีวาระซ่อนเร้นอะไรไหม หวังอะไรกันบ้าง เราก็รู้ นี่เขาถึงบอกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ การทำอย่างนี้พอบรรลุเป้าหมายของตัวเองแล้วก็ไป แต่ปัญหายังอยู่ ปัญหาจะแก้เสร็จหรือไม่เสร็จไม่รู้ แต่ตัวเองบรรลุเป้าหมายแล้ว คนที่ออกหน้ามีวาระของตัวเอง เขามีธงไว้แล้ว เอาตัวพวกนี้มาเล่น ชาวบ้านเขาอ่านออก อย่าไปมองว่าเขาคิดไม่เป็น @ ทหารค้าน 5 ข้อเรียกร้อง ค้านเขตปกครองพิเศษ แต่ถ้าเขาล็อคไว้แล้วว่าต้องเป็นเขตปกครองพิเศษ ทหารจะทำอย่างไร? ผมออกมาพูดตรงนี้ ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ทหารต้องเตือนว่าอะไรจะเกิด ต้องพูดให้สังคมตระหนักรู้ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำต่อ เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่สังคมต้องรู้ @ แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ไปไกลแล้ว มีการออกแบบโมเดลปกครองพิเศษเอาไว้ 5-6 โมเดล เท่าที่ทราบมีถึง 9 โมเดลแล้ว แต่ประชาชนระดับรากหญ้าไม่รู้เรื่องเลย มีแต่นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติที่รับรู้ การไปเปิดเวทีก็มีการเปิดจริง และเปิดหลายเวทีจริง แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ไปร่วมเวทีก็หน้าเดิมๆ พูดเรื่องเดิม ต้องถามว่าเป็นการแอบอ้างประชาชนหรือไม่ มีเขตปกครองพิเศษแล้วสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นไหม อยู่ดีกินดีขึ้นหรือเปล่า เก็บภาษีเลี้ยงตัวเองได้หรือยัง @ ที่บอกว่าเขตปกครองพิเศษจะเป็นบันไดไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคืออะไร จะมีการลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตตนเอง (Self-determination) ตามกฎบัตรของยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) หรือไม่? มันทำได้ทั้งนั้น ทำได้ทุกอย่าง ยกตัวอย่างวันนี้รัฐบาลไทยบอกสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เข้าข่าย armed conflict (ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ หรือการขัดกันด้วยอาวุธ) เพราะถ้าเป็น armed conflict ยูเอ็นจะเข้ามาแทรกแซงได้ ใครจะรู้ถ้าเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วอาจมีการทำให้เป็น armed conflict ก็ได้ เสร็จแล้วก็โหวต ยูเอ็นส่งกำลังเข้ามา ถ้าถึงจุดนั้นใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้ตลอดมาไทยบอกว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ armed conflict แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามี Year book (รายงานประจำปี) ค.ศ.2013 ของต่างประเทศ บอกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าข่ายเป็น armed conflict ในรายงานเขาไล่มาเลยว่าตรงไหนบ้างที่เป็น armed conflict ซึ่งมีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราด้วย และยังเขียนว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็น separatist (ผู้แบ่งแยก) นี่คือมุมมองที่ต่างชาติเขามอง ส่วนตัวเราเองมองอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมากาชาดสากลก็พยายามเข้ามาขอตั้งสำนักงานถาวรในพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็น armed conflict แต่เราบอกว่าไม่ใช่ จึงเข้ามาตั้งสำนักงานถาวรไม่ได้ เข้ามาได้แค่เป็นครั้งคราว ถ้ายอมให้กาชาดสากลเข้ามาตั้งสำนักงานถาวร ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กาชาดสากลดูข้อมูลจากตัวเลขสถิติเหตุรุนแรง เราก็บอกว่าข้อมูลอาจจะไม่ตรงกัน สถิติที่ทำ ๆ กันเชื่อถือได้แค่ไหน ตัวเลขคนตายเชื่อได้หรือไม่ แต่สังคมตระหนกกับข้อมูลพวกนั้นไปแล้ว ตัวเลขสถิติที่บางสำนักในพื้นที่ทำอยู่ ไม่ได้แยกแยะสาเหตุการเสียชีวิตอย่างชัดเจน แค่ตายผิดธรรมชาติ (ถูกฆ่าตาย) เขานับรวมหมด ตัวเลขมันจึงสูงมาก ทั้งที่บางเรื่องเป็นอาชญากรรมธรรมดา นครศรีธรรมราช หรือจังหวัดใหญ่ๆ อีกหลายจังหวัดก็มีอาชญากรรมขนาดนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดความจริง สถิติที่ทำโดยบางสำนักในพื้นที่ไม่ได้ทำให้คนตระหนักรู้ แต่ทำให้คนตระหนกมากกว่า @ ถ้าให้เสนอไปยังรัฐบาลได้ จะเสนอให้เลิกพูดคุยหรือไม่? ไม่ต้องเลิก เพราะผมเห็นด้วยกับการพูดคุย แต่การพูดคุยที่ทำอยู่นี้เป็นนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการสันติภาพ เพราะไม่มีชาติไหนในโลกเขาทำกัน เขามีแต่คุยลับไปสักระยะ เมื่อตกลงกันได้แล้วค่อยเปิดเผย แต่นี่เปิดหมดทุกอย่าง ถือว่ากำลังเขียนทฤษฎีใหม่ที่ไม่มีใครทำ ฉะนั้นจึงต้องปรับวิธีการ @ การพูดคุยแบบเปิดทำให้มีแรงกดดันมาก แม้แต่ฝ่ายขบวนการเอง บางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษ เพราะเป้าหมายต้องการเอกราช ตรงนี้จะแก้อย่างไร? ถือเป็นสิ่งที่ท้ายทายฮัสซัน ตอยิบ ว่าจะทำความเข้าใจกับคน 2 กลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องญิฮาด กับคนที่มีความเชื่อเรื่องเอกราชรัฐปัตตานี ต้องการทวงคืนดินแดน ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร เป็นความท้าทายของลุงฮัสซัน ตอยิบ ที่จะคุยกับหลานๆ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มประจักษ์แล้วว่าฮัสซัน ตอยิบ คุยกับคน 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ และมันก็ไม่จบ @ มีวิธีใดบ้างที่พอจะแก้ปัญหาได้? มีวิธีอยู่ ยังไม่สายเกินไป ถึงแม้จะเลวร้ายขนาดนี้ ผมอยากให้หยุดทบทวนตัวเองก่อน ทุกภาคส่วนต้องหยุดทบทวน ทีมพูดคุยสันติภาพก็ต้องหยุด เพราะที่ผ่านมามีคนทักท้วงว่าเข้าผิดซอยแต่เขาก็ไม่หยุด ผมอยากให้หยุดทบทวนก่อน ถ้าทบทวนแล้วมันถูกค่อยเดินต่อก็ได้ แต่ขอให้หยุดคิด หยุดทบทวน เพราะมันยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำ @ โครงสร้าง ศปก.กปต.ของรัฐบาลเวิร์คหรือไม่? ศปก.กปต.เป็นเวทีหนึ่งเท่านั้น ถามว่าอำนาจตามกฎหมายอยู่ตรงไหน อำนาจตามกฎหมายมันไปอยู่ที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) กับ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งถือกฎหมายคนละฉบับ เดิม ศอ.บต.อยู่ในกรอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ไปออกกฎหมายให้ ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) เพื่อดึงงบภาคใต้ไปใช้ เมื่อกฎหมายมี 2 ฉบับโดยหน่วยงานที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ก็เกิดการชิงอำนาจกันระหว่างทหารกับพลเรือน พอตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้ก็ตั้ง ศปก.กปต.ขึ้นมาแก้ปัญหา พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าคุมอำนาจเต็ม แต่ตัวเองกลับแพ้เลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็เลยได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ศอ.บต. ฉะนั้นเรื่องเอกภาพมันจึงเป็นไปไม่ได้ | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น