หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

จับคนไทยฯสงสัยโยง"พูโลใหม่" สมช.นัดถก BRN

จับคนไทยฯสงสัยโยง"พูโลใหม่" สมช.นัดถก BRN


          พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยืนยันกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียสามารถจับกุมบุคคลสัญชาติไทยพร้อมอาวุธสงครามล็อตใหญ่ได้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในรัฐเคดาห์ หนึ่งใน 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียที่มีอาณาเขตติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจริง พร้อมระบุว่าบุคคลดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "กลุ่มพูโลใหม่" ที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วงที่มีการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ
          "เจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 4 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 3 คน ขณะนี้ตำรวจสันติบาลของไทยกับสันติบาลมาเลเซียกำลังร่วมกันสืบสวนสอบสวนอยู่ รายงานในชั้นต้นระบุว่าคนไทยกลุ่มนี้อาจเป็นบุคคลสองสัญชาติ ช่วงที่ผ่านมาทางการมาเลเซียร่วมมือกับเราดีมาก เข้มงวดกับคนที่ครอบครองอาวุธหรือกระทำผิดในพื้นที่ของมาเลเซีย หรือข้ามแดนไปยังพื้นที่ของเขา ก็มีการจับกุมทั้งหมด" เลขาธิการ สมช.ระบุ


           ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไทยบางหน่วยมีการพูดถึง "กลุ่มพูโลใหม่" มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่ถูกจับกุมในครั้งนี้หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า จากข้อมูลข่าวสารในชั้นต้นก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะในห้วงเวลาที่มีข้อตกลงหยุดยิง หรือลดเหตุรุนแรงร่วมกัน 40 วันช่วงเดือนรอมฎอนของทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นนั้น ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็แจ้งข้อมูลมาว่า ปฏิบัติการความรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ใช่ฝีมือของพวกเขา แต่เป็นฝีมือของกลุ่มพูโลใหม่ ซึ่งหลังจากที่มีการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งต่อไปคงจะได้สอบถามกัน

คาดนัดคุยบีอาร์เอ็นรอบใหม่เร็ว ๆ นี้

           ทั้งนี้ พล.ท.ภราดร ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ว่า ล่าสุดเพิ่งมีการประสานงานผ่านผู้อำนวยความสะดวก คือทางการมาเลเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ก.ย.) ว่าจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ส่งคำอธิบายข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อมาแล้ว เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ความยาวกว่า 30 หน้า ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการแปลถ่ายมาเป็นภาษาไทย เบื้องต้นทราบว่ามีการระบุในคำอธิบายว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย และสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาในรายละเอียดว่าจริงตามที่อ้างหรือไม่ หรือเป็นการเข้าใจผิดของบีอาร์เอ็น

            นอกจากนั้น ทางบีอาร์เอ็นยังประสานผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาว่า ในการพูดคุยกันครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวๆ ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า จะดึงกลุ่มพูโลใหม่ 2 กลุ่ม และกลุ่มบีไอพีพีมาร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย

          ส่วนข่าวที่ว่ามีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กประสานพูดคุยในทางลับนั้น เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า เป็นการเสริมทีมพูดคุย ซึ่งในลำดับต่อไปจะลงลึกในแง่ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และประเด็นทางวิชาการมากขึ้น จึงต้องดึงบุคลากรมาเสริม แต่คณะพูดคุยชุดใหญ่ยังอยู่ในกรอบเดิม คือไม่เกิน 15 คน และฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังมีนายฮัสซันเป็นหัวหน้าคณะเช่นเดิม

พูโลตั้งกองกำลัง PLA กดดันร่วมโต๊ะเจรจา

           แหล่งข่าวจากฝ่ายทหาร เปิดเผยว่า กลุ่มพูโลใหม่เป็นกลุ่มที่แตกตัวออกไปจาก "องค์การพูโล" หรือพูโลเก่า โดยมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของ นายกัสตูรี มาห์โกตา อดีตโฆษกองค์การพูโล สัญลักษณ์ของกลุ่มนี้จะเป็นรูปนก อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ นายซำซูดิง คาน สัญลักษณ์เป็นรูปกริช สองกลุ่มนี้ถือว่าเป็น "พูโลใหม่" ที่ไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับทางการไทยพร้อมกับฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่โต๊ะพูดคุยดังกล่าวทางบีอาร์เอ็นดึงตัวแทนกลุ่มพูโลเก่าเข้าร่วม คือ นายลุกมาน บิน ลิมา

             แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่กลุ่มพูโลใหม่พยายามก่อเหตุรุนแรงในช่วงที่รัฐบาลไทยริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบนั้น เป็นเพราะกลุ่มพูโลใหม่ตกขบวนการพูดคุย ไม่ได้ร่วมอยู่ในโต๊ะพูดคุยด้วย ทั้งๆ ที่แสดงท่าทีพร้อมพูดคุยมาตลอด และยังพูดคุยทางลับกับหน่วยงานความมั่นคงไทย ตลอดจนองค์กรอื่นๆ มาอย่างยาวนานหลายปี ทำให้มีสมาชิกบางส่วนที่รู้สึกไม่พอใจ รวมตัวกันฝึก "กองกำลังรุ่นใหม่" ตระเวนก่อเหตุรุนแรงเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

              กองกำลังรุ่นใหม่เหล่านี้บางรายถูกจับกุมได้และยอมรับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มพูโลใหม่ แต่ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงบางแหล่งระบุว่า กลุ่มใหม่เรียกตัวเองว่า "พีแอลเอ" (PLA) ย่อมาจาก Patani Liberation Army


"ประชา"ล่องใต้ส่งผู้แสวงบุญฮัจญ์ที่สนามบินบ้านทอน

           พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.2556 และได้ไปส่งผู้แสวงบุญที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ท่าอากาศยานนราธิวาส (สนามบินบ้านทอน) จ.นราธิวาส ซึ่งนับเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นครั้งแรกที่ผู้แสวงบุญสามารถขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานนราธิวาส โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา

            จากนั้นเวลา 13.30 น. รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากกลุ่มเกษตรกร ภาคประชาชน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ต.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.ต.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เข้าร่วมหารือด้วย โอกาสนี้ได้มีการเชิญ นายทรงวุฒิ ดำรงกุล ประธานเครือข่ายยางพาราเขต6 (ยะลา นราธิวาส เบตง) และเครือข่ายเกษตรกร เข้าชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดย พล.ต.อ.ประชา เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น