วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
นักการเมืองในพื้นที่อยู่เบื้องหลังขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน
นักการเมืองในพื้นที่อยู่เบื้องหลังขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน | |
สุราษฎร์ธานี - กรมศุลกากรจับกุมเรือประมงดัดแปลงลักลอบนำมันดีเซลหนีภาษี 30,000 ลิตร ยึดของกลางมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท พร้อมควบคุมตัวผู้ต้องหา 3 คนสอบพบมีนักการเมืองในจังหวัดสงขลาอยู่เบื้องหลัง นายนิมิต แสงอำไพ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 2 สำนักสืบสวนปราบปรามนำกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าดักซุ่มจับกุมเรือประมงดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ ช.โชคชัย ขณะนำน้ำมันดีเซลออกจำหน่ายให้เรือประมงในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช จึงควบคุมเรือมาเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือสินค้าด่านศุลกากรบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อแถลงผลการจับกุม จากการตรวจสอบพบน้ำมันดีเซลสีเขียวที่นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 30,000 ลิตรมูลค่า 900,000 บาท จึงควบคุมตัว นายณรงค์ บัวลอย อายุ 50 ปี ผู้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรืออีก 2 คน มาทำการสอบสวนซึ่งพบว่าเรือลำดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีนักการเมืองในพื้นที่อยู่เบื้องหลังขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน นายนิมิต กล่าวว่า ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดดำเนินคดีตามความผิดกฎหมายศุลการกรพร้อมยึดเรือประมงเป็นของกลางเข้ารัฐโดยคิดเป็นมูลค่าของกลางทั้งหมดกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งสถิติในรอบปีงบประมาณ 2554 กรมศุลกากร ได้จับกุมน้ำมันลักลอบได้เป็นจำนวน 1,564 ราย ปริมาณ 1,476,100 ลิตร คิดเป็นมูลค่า 38,132,882 บาท และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้ลักลอบน้ำมันเถื่อนได้จำนวน 584 ราย ปริมาณ 574,235 ลิตร มูลค่า 13,420,572 บาท และการลักลอบน้ำมันเถื่อนเข้ามามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันมีการขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีคลิปเกลื่อนตอนนี้ เป็็นหลักฐานว่ามีจริง เขาจับปลายปีที่แล้ว แต่เงียบสนิท เพิ่งมาเปิดตอนนี้ ตร บุกปราบ แหล่งค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่สุดทางใต้ เป็นคนสนิท นักการเมืองพรรคใหญ่ทางใต้ เจอรถ สส ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่เจอคน ลูกน้องใส่เสื้อสายล่อฟ้า ออกรับแทนหมด แต่ความจริงลองไปถามคนใต้ที่หาดใหญ่ดูได้หมด เขารู้กันมานานแล้วว่า ใครเป็นเจ้ามือหวยใต้ดินใหญ่สุดทางใต้ ใครค้าน้ำม้ันเถื่อนรายใหญ่สุดทางใต้ทั้งทางบกและทะเล ใครหากินแบ่งงบความมั่นคงกับทางทหาร ผ่าน ศอบต จึงจะเป็นจะตาย ต้องวิ่งเผาโรงเรียนกันใหญ่ ถ้ามีใครจะมายุบ ศอบต แหล่งหากิน ใครอยุ่เบื้องหลังการค้ายาทางใต้ ที่เสียหายหนัก และเจ็บแค้นหนักเมื่อคนถูกกวาดล้าง ในสงครามยาเสพติดที่ผ่านมา ใครเป็นเจ้ามือเปิดบ่อนการพนันทางใต้ ตอนนี้เป็น สส อดีตเป็นอัยการ เป็นเสื่้อร้ายที่ทำเนียน ได้ตลอด ตอนนี้พวกนี้เขากลัวว่าภาคใต้จะสงบ หมดทางหากินกับงบลับ หมดทางหากินเรื่องของเถื่อน ของใต้ดิน จึงเนียนที่จะเร่งสร้างสถานะการณ์ ให้การเจรจาไม่สำเร็จ | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
แก๊งน้ำมันเถื่อนสยายปีกทั่วใต้...จ่ายส่วยกระจาย-คุกคามนักข่าว
แก๊งน้ำมันเถื่อนสยายปีกทั่วใต้...จ่ายส่วยกระจาย-คุกคามนักข่าว | |
แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดั่งสวรรค์ของธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติด สินค้าเถื่อน และน้ำมันเถื่อน อีกทั้งฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อว่าขบวนการประกอบธุรกิจสีดำเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวโยงกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยก็ตาม ทว่าความใหญ่โตของขบวนการธุรกิจเถื่อน แทบไม่เคยมีใครมองเห็นภาพได้ชัดๆ มาก่อน กระทั่งฝ่ายความมั่นคงจับมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจค้นแหล่งกักตุนน้ำมันเถื่อนและสินค้าเถื่อนรายใหญ่ที่ จ.ปัตตานี เมื่อกลางเดือน ต.ค.2555 ยึดได้ทั้งรถบรรทุก เรือ ถังน้ำมันดัดแปลงขนาดใหญ่ เงินสด คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารนานาชนิด โดยเฉพาะเอกสารที่ถูกเผาสดๆ ร้อนๆ ปรากฏร่องรอยส่วนหนึ่งเป็นรายชื่อหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในบัญชี"จ่ายส่วย" ของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อน จึงได้รู้ว่าเครือข่ายธุรกิจมืดสาขานี้ใหญ่โตมากมายขนาดไหน ที่น่าตกใจก็คือ มีรายชื่อ "นักข่าว" อยู่ในบัญชีด้วย! ในส่วนของนักข่าวนั้น ค่อนข้างตกที่นั่งลำบาก เพราะหากไม่อยู่ในบัญชีจ่ายส่วย และยังพยายามขุดคุ้ยข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ก็จะถูกข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ หนึ่งในนักข่าวที่ถูกกดดันอย่างหนัก เป็นถึงนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเกาะติดข่าวเปิดโปงขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนแบบกัดไม่ปล่อยมานานหลายปี รวมทั้งการทลายแหล่งกักตุนขนาดใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ด้วย เมื่อคนระดับนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯยังโดน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักข่าวตัวเล็กๆ อีกหลายคนจะตกเป็นเหยื่อการคุกคามเช่นกัน หลายๆ ครั้งเมื่อมีสื่อมวลชนไปรายงานข่าวการจับกุมน้ำมันเถื่อนของเจ้าหน้าที่ ยังเคยถูกกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนพูดจาข่มขู่ผู้สื่อข่าวต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่มาแล้ว บางรายก็อ้างตัวเป็นเด็กของนักการเมืองคนดัที่เอ่ยชื่อไปใครๆ ก็รู้จัก นี่คือความอหังการ์ของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายที่สยายปีกทั่วชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมอันตรายที่เสี่ยง "เอาไม่อยู่" ในอนาคต ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงสถานการณ์การค้าน้ำมันเถื่อนที่ชายแดนใต้ และผลประโยชน์หลังม่านควันแห่งความรุนแรง
ธุรกิจน้ำมันเถื่อนเป็นธุรกิจผิดกฎหมายอีกประเภทหนึ่งที่สร้างรายได้และมีเงินหมุนเวียนเยอะที่สุดรองจากการค้ายาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานด้านความมั่นคงให้ความสำคัญ จัดเป็น"ภัยแทรกซ้อน" ที่มีเม็ดเงินไปสนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ด้วย ขบวนการดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลทุกระดับ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล และพ่อค้าประชาชน เข้าไปมีส่วนได้เสียกับธุรกิจนี้ เมื่อมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนจึงทำให้ขบวนการเสียผลประโยชน์ และกระทบชิ่งหลายกลุ่ม จึงต้องพยายามตอบโต้นักข่าวที่นำเสนอข่าวทุกวิธี ตั้งแต่ติดต่อขอเข้ามาเจรจา ขับรถติดตาม ข่มขู่ และหนักที่สุดคือการลงขันจ้างมือปืนมาเก็บนักข่าว
ใช่ครับ อย่างเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจับกุมน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ อ.ควนโดน จ.สตูล ว่า สภ.ควนโดน ทำของกลางน้ำมันเถื่อนที่ทางดีเอสไอ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) ร่วมกันจับกุมหายไปกว่า 3 หมื่นลิตร จากทั้งหมด 50,000 ลิตร ซึ่งล่าสุดมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว เมื่อผมได้ติดตามรายงานข่าวนี้ และได้ไปสังเกตการณ์การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากทราบว่ามีการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนออกมาจากชายแดนที่ด่านวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน ซึ่งด่านแห่งนี้มีช่องทางเข้า-ออกกว้างเพียง 5-6 เมตร มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบรถยนต์ทุกคัน และห่างจากจุดตรวจศุลกากรก็เป็นที่ทำการของ ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) ห่างกันเพียงไม่กี่สิบเมตร แต่กลับปล่อยให้รถกระบะดัดแปลงถังน้ำมัน ขนน้ำมันจากประเทศมาเลเซียผ่านออกมาได้ นอกจากนั้น ห่างจากด่านชายแดนไปประมาณ 3 กิโลเมตร ยังพบศูนย์รวมน้ำมันขนาดใหญ่อยู่ริมถนน มีการขนถ่ายลำเลียงน้ำมันส่งไปให้ลูกค้า และบนถนนสายวังประจัน-ควนโดน มีจุดตรวจของ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ร่วมกับฝ่ายปกครอง 2 แห่ง และมีจุดตรวจของ สภ.ควนโดน 1 แห่ง รวมทั้งจุดตรวจของทหารอีก 1 แห่ง แต่ปรากฏว่าขบวนการค้าน้ำมันยังสามารถผ่านจุดตรวจเหล่านั้นไปได้โดยไม่มีการจับกุม ผมก็ตามไปทำข่าว ขณะที่กำลังสังเกตการณ์และถ่ายภาพอยู่นั้น ปรากฏว่ามีรถกระบะโตโยต้า วีโก้ สีดำ ขับติดตามและตรงเข้าประกบเพื่อให้หยุดรถลงมาเจรจา ทีแรกก็ถามว่ามาจากไหน มาทำอะไร เมื่อตอบไปว่ามาถ่ายภาพทำข่าวน้ำมันเถื่อน คนในรถซึ่งมี 2 คนได้แสดงท่าทีไม่พอใจ และพยายามอ้างว่าไม่มีการค้าน้ำมันเถื่อนบริเวณนี้แล้ว ผมจึงขับรถออกมา แต่รถกระบะคันดังกล่าวยังพยายามขับติดตามตลอด และพยายามจะให้หยุดรถ จนเมื่อถึงถนนสายหลัก รถกระบะคันดังกล่าวจึงหยุดติดตาม และขับหายไป ผมเชื่อว่ากลุ่มคนในรถกระบะเป็นคนในขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอย่างแน่นอน โดยคนกลุ่มนี้มีหน้าที่เฝ้าและเคลียร์เส้นทางให้กับขบวนการน้ำมันเถื่อนที่เป็นลูกน้องนายทุนและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
ที่ผ่านมาก็ยังเคยมีการคุกคามรูปแบบอื่นอีก อย่างกรณีที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ได้ออกคำสั่งด่วนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ดำเนินการปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างเด็ดขาด โดยทางผู้ว่าฯได้ปิดกั้นการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนบริเวณด่านชายแดนด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ทำให้กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่เดือดร้อน จากนั้นก็มีคนในเครือข่ายซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเข้ามาเจรจาและนำเงินมาจ่ายนักข่าวเพื่อไม่ให้ทำข่าว โดยอ้างว่าเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งผมไม่รับและขอให้กลับไป สร้างความไม่พอใจกับกลุ่มขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอย่างมาก ถึงขั้นมีข่าวออกมาว่าได้ลงขันกันเพื่อจ้างมือปืนมายิงผม
สถิติการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไม่ได้ลดลง สาเหตุสำคัญเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องมีผลประโยชน์จากการเรียกรับส่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน เจ้าหน้าที่ที่พัวพันมีทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตั้งแต่กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และฝ่ายความมั่นคง เช่น ตำรวจ ทหารที่ตั้งด่านตามเส้นทางการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน
จากข้อมูลที่ทราบมา ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ จ.สงขลา มีการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยต่างๆ ประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน ยอดเงินนี้สำหรับรถขนน้ำมันเถื่อน 1 คันเท่านั้น แต่รถขนน้ำมันเถื่อนในพื้นที่มีเป็นพันคัน ลองคิดดูว่ายอดเงินส่วยจะมากขนาดไหน และน้ำมันเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนลิตร ตัวเลขนี้เป็นเพียงปริมาณน้ำมันเถื่อนที่ถูกลักลอบนำเข้ามาเฉพาะทางบกโดยผ่านด่านชายแดนเท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมน้ำมันเถื่อนทางทะเลที่มีการลักลอบนำเข้ามาเช่นกัน และมีปริมาณมากกว่าทางบกเสียอีก
ก็ส่งผลดีทำให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เปิดปฏิบัติการปราบปรามอย่างหนัก ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย พล.ต.ท.พิสิฏฐ์ พิสุทธิศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้มีคำสั่งให้ตำรวจในพื้นที่กวดขันปราบปรามน้ำมันเถื่อนอย่างเด็ดขาด ทำให้บางพื้นที่อย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งในอดีตมีจุดขายน้ำมันเถื่อนหลายร้อยแห่ง ตอนนี้ไม่มีพ่อค้าน้ำมันเถื่อนกล้านำน้ำมันเถื่อนออกมาขายแล้ว เพราะมีการตั้งเงินประกันตัวสำหรับผู้ที่ถูกจับกุมสูงถึง 70,000 บาท | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนจะต้องหมดไปจากแผ่นดินปลายด้ามขวาน
ขบวนการนักการเมืองน้ำมันเถื่อนในภาคใต้
| |
ปัจจุบันขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ธรรมดา เพราะพื้นที่การจำหน่ายน้ำมันเถื่อนไม่ได้จำกัดอยู่อำเภอแนวชายแดนเหมือนในอดีต แต่มีการขยายวงกว้างไปใน 14 จังหวัดภาคใต้ และบางส่วนถูกนำเข้าไปจำหน่ายในจังหวัดภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร กันแล้ว ขบวนการนี้ไม่ธรรมดาอย่างไร คำตอบก็คือ ใช้วิธีการลักลอบโดยกองทัพมด และใช้รถดัดแปลงถังน้ำมันที่มีความจุ 400-500 ลิตร มาเป็นรถแทงเกอร์ หรือรถส่งของเหลว จำนวน 3,000 ลิตร และจากจำนวนรถดัดแปลงไม่ถึง 100 คันต่อหนึ่งจังหวัด กลายเป็น 1,000 คันต่อจังหวัด และแต่ละคันสามารถผ่านเข้า-ออก ระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยผ่านช่องทางศุลกากร คันละ 4-5 เที่ยวต่อวัน...ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ในส่วนการค้าทางทะเล วันนี้ทะเลอ่าวไทยมีเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อนกว่า 500 ลำ ครึ่งหนึ่งเป็นของนักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองท้องถิ่น อีกครึ่งหนึ่งเป็นของนายทุนที่อิงแอบอยู่กับนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ มีท่าเรือขนถ่ายน้ำมันเถื่อน ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช กว่า 100 แห่ง มีรถบรรทุกน้ำมันตั้งแต่ 6 ล้อ ถึง 10 ล้อ และ 22 ล้อ ที่อยู่ในเครือข่ายกว่า 200 คัน แต่ละวัน แต่ละคืน จะมีน้ำมันเถื่อน ถูกนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ทางบกผ่านช่องทางศุลกากรที่ ต.สำนักขาม ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา และ ต.ประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ไม่ต่ำกว่าวันละ 500,000 ลิตร และที่นำเข้าทางเรือใน จ.สงขลา ไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ลิตรต่อวัน เช่นเดียวกับน้ำมันเถื่อนที่ผ่านช่องทางด่าน ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล และนำมาเก็บไว้ในโกดังแนวชายแดน บ้านวังประจัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 500,000 ลิตร และถูกนำเข้าทางเรือด้านทะเลอันดามัน อ.เมืองสตูล อ.ละงู และ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล อีกไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ลิตรต่อวัน ส่วนที่ผ่านทาง อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งที่ อ.สุไหงโก-ลก นั้นผ่านทางช่องทางด่านศุลกากร และผ่านทางแม่น้ำสุไหงโก-ลก วันละไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ลิตร น้ำมันเถื่อนเหล่านี้เมื่อนำมารวมกันแล้ว จะมีตัวเลขการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนวันละไม่ต่ำกว่า 4,000,000 ลิตร เป็นน้ำมันเบนซินครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นน้ำมันดีเซล แสดงว่ามีการค้าน้ำมันเถื่อนวันละ 100 กว่าล้านบาท ถ้าคิดราคาน้ำมันเป็นเงินไทย และใน 100 กว่าล้านบาท รัฐต้องขาดรายได้ที่เป็นภาษีของประเทศไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อวัน สำหรับที่เป็นเรื่องสำคัญกว่าการขาดรายได้ที่เป็นภาษีของประเทศ คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการระบุชัดเจนว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนเป็นขบวนการเดียวกับขบวนการค้ายาเสพติด และอาวุธสงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มีการพบหลักฐานที่ชัดเจนว่า เงินจากการค้าน้ำมันเถื่อนส่วนหนึ่งถูกส่งให้กับขบวนการ “อาร์เคเค” หรือ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น” เพื่อใช้ในการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรการป้องกันนั้น ต้องใช้กำลังทหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และใช้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ทำการจับกุม ทั้งที่เส้นทางนำเข้าน้ำมันเถื่อนทางบกนั้น 80 เปอร์เซ็นต์ผ่านทางช่องทางศุลกากร และประตูเข้า-ออก ระหว่างประเทศ มีการเข้า-ออก วันละ 4-5 เที่ยวต่อคัน?? วันนี้ จึงมีเพียงชุดปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเท่านั้น ที่ทำหน้าที่ ตรวจค้น จับกุมขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ซึ่งล่าสุด การบุกเข้าจับกุมที่ ต.สำนักขาม และที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งได้น้ำมันเถื่อนจำนวนมาก และได้รถยนต์ดัดแปลงถึง 11 คัน รวมทั้งการยึดน้ำมันเถื่อนที่ ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล เป็นจำนวนมาก และเกิดปัญหาของกลาง “ล่องหน” ในขณะที่อยู่ในความดูแลของตำรวจ จนเป็นข่าวฉาวโฉ่ ในขณะนี้ เป็นการทำหน้าที่ของดีเอสไอ และ กำลังทหาร จาก กอ.รมน.ภาค 4 ทั้งสิ้น การหยุดขบวนการน้ำมันเถื่อน ที่ทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ กองทัพ หรือใช้ ดีเอสไอ ให้สูญเสียงบประมาณและกำลังพล เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำหน้าที่ของตนเองเท่านั้น ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนก็จะหมดไปจากแผ่นดินปลายด้ามขวาน และคงไม่ต้องกล่าวกันมากว่า การสกัด ป้องกัน และจับกุมเป็นหน้าที่ของใคร??. | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
น้ำมันเถื่อนเกลื่อนเมืองใต้ ขุมทรัพย์สำคัญของโจรใต้
"น้ำมันเถื่อน" เกลื่อนภาคใต้ บนบกใช้ "รถกระบะดัดแปลง" | |
"น้ำมันเถื่อน" เกลื่อนภาคใต้ บนบกใช้ "รถกระบะดัดแปลง" ขนจากมาเลย์เที่ยวละ 1,000 ลิตร วันละ 2 เที่ยว เสียค่าน้ำร้อนน้ำชา 3 หมื่นต่อเดือน ส่วนกลางทะเลใช้เรือแทงเกอร์ขนทีละ 1 แสนลิตร มีเรือประมงไปรับ ส่วนต่างลิตรละ 3-4 บาท สถิติการสำรวจของ"หาดใหญ่โพล" ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ระบุชัดว่า คน 14 จังหวัดภาคใต้ให้ความสำคัญต่อปัญหาน้ำมันราคาแพงมากที่สุด คือ ร้อยละ 47.0 มากกว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้และยาเสพติดที่ได้ร้อยละ 17.1 และ 16.7 ตามลำดับ ความเดือดร้อนของคนใต้จึงไม่ต่างจากคนทุกภาคของประเทศแต่ที่นี่มีปัจจัยเสริมที่ทำให้คนในพื้นที่แสวงหาช่องทางบรรเทาความเดือดร้อนของตัวเองได้มากกว่านั่นคือ การซื้อหา "น้ำมันเถื่อน" ซึ่งลักลอบนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย แรงจูงใจสำคัญเกิดจากส่วนต่างราคาซึ่งต่างกันมาก ถึงลิตรละ 10-15 บาท !!! นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำมันจากมาเลเซียที่มีการนำเข้ามาในทางบกมีอยู่ 2 จุด คือ ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และด่านวังประจันทร์ จ.สตูล ประมาณ 2-3 หมื่นลิตรต่อวัน ส่วนวิธีการลักลอบนำเข้าจะมีพ่อค้ารายย่อยใช้รถยนต์ส่วนตัวและ "ดัดแปลงถังน้ำมัน" เพื่อให้สามารถเติมน้ำมันได้เพิ่มจากถังขนาดปกติที่ติดมากับรถประมาณ 100-200 ลิตร ปัจจุบันจำนวนพ่อค้ารายย่อยเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นราว 300 - 400 ราย เพราะมีรายได้งาม...เฉลี่ยวันละ 500-1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ เช่น นำป้ายทะเบียนปลอมมาใส่ และพ่นสีรถใหม่เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่จำได้ แนวทางแก้ปัญหาของศุลกากรคือประสานขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของฝั่งมาเลเซียให้ช่วยตรวจสอบการเข้าไปเติมน้ำมันของพ่อค้ารายย่อยจากฝั่งไทย และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ไทยด้วย มาตรการจัดการในเรื่องนี้หากพบว่ามีการดัดแปลงถังน้ำมันจะมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ
สอดคล้องกับแหล่งข่าวผู้ใช้รถในอ.สะเดา ที่ให้ข้อมูลอีกว่า ผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายย่อยในพื้นที่มีประมาณ 10 ราย แต่ละรายจะลงทุนซื้อรถป้ายแดงมาดัดแปลงถังน้ำมัน เพื่อให้เติมน้ำมันได้ครั้งละมากๆ โดยความจุจะอยู่ที่ประมาณ 900-1,000 ลิตร ปั๊มน้ำมันเถื่อนจะว่าจ้างคนขับวันละ1,500-2,000 บาท โดยจะเข้าออกวันละ 2 เที่ยวต่อวัน แล้วส่งขายพ่อค้าคนกลางและให้ปั๊มปลอดในพื้นที่ ราคาที่ส่งขายให้ปั๊มหลอดจะตกลิตรละ 24-25 บาท ส่วนราคาที่ขายให้พ่อค้าคนกลางลิตรละ 26-27 บาท จะมีการขายต่อให้ลูกค้าในราคาลิตรละ 30-31 บาท วิธีการตบตาเจ้าหน้าที่จะมีการ "ปรับแต่งเข็มวัดน้ำมัน" เพื่อรองรับการเติมน้ำมันเต็มถังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเข็มวัดน้ำมันจะแสดงว่ามีการเติมน้ำมันไม่เต็มถัง แม้น้ำมันจะเต็มความจุแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มักจะปล่อยผ่าน เพราะดูจากเข็มวัดน้ำมันเป็นหลัก นอกเหนือจากการตบตาเจ้าหน้าที่ไทยแล้วพ่อค้าน้ำมันยัง "จ่ายใต้โต๊ะ" ให้แก่ปั๊มน้ำมันในฝั่งมาเลเซียเพื่อให้ปั๊มเติมน้ำมันในปริมาณเท่าไรก็ได้เพราะหากไม่จ่าย ทางปั๊มก็จะเติมให้ในอัตราถังปกติคือ แค่ 70-80 ลิตรเท่านั้น ที่น่าสนใจคือปัจจุบันจะมีการ ซื้อ "รถป้ายแดง" มาทำการขยายถังน้ำมันแทนรถมือสองเพราะหากเป็นรถยนต์ที่ซื้อมาเองจะไม่สามารถขอคืนได้ แต่ ถ้าเป็นรถป้ายแดงที่เช่าซื้อกับไฟแนนซ์หากเจ้าหน้าที่จับกุมและยึดรถ ไฟแนนซ์สามารถนำรถออกมาได้ เนื่องจากสิทธิครอบครองยังไม่ได้เป็นของผู้ซื้อ และเมื่อไฟแนนซ์ไถ่ถอนกลับมา...พ่อค้าก็สามารถนำรถมาทำธุรกิจได้อีก พ่อค้าน้ำมันรายย่อยในพื้นที่รายหนึ่งแฉด้วยว่าการนำน้ำมันออกมาจากฝั่งมาเลเซียต้องจ่าย "สินบน" ให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ อัตราการจ่ายอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อเดือน และต้องจ่ายเป็นรายครั้ง "ตามความเหมาะสม" อีกด้วย โดยรถที่จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาจะสามารถวิ่งเข้าออกได้วันละ 2 เที่ยว แต่ละเที่ยวจะสามารถนำน้ำมันออกมาได้ประมาณ 900-1,000 ลิตร พ่อค้าน้ำมันรายนี้ยืนยันว่าถ้าไม่จ่ายก็จะไม่สามารถเข้าไปเติมได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีข้อมูลรถยนต์ทุกคัน ทั้งเลขทะเบียนและรายชื่อผู้ขับขี่ นอกเหนือจากการลำเลียงทางบกแล้วทางทะเลก็เป็นอีกช่องทางที่มีการลักลอบเข้ามามาก... ข้อมูลจากแหล่งข่าวในจ.สุราษฎร์ธานีชี้ว่า จะมีเรือน้ำมันเถื่อนจากต่างประเทศมาลอยลำกลางทะเล และจะมีเรือประมงขนาดใหญ่ของไทยรับช่วงรับน้ำมันมาขายต่อในปริมาณเฉลี่ย 1 แสนลิตร ขึ้นไป เรือซอยนี้จะมีการดัดแปลงถังน้ำมันให้สามารถบรรทุกได้5-8 หมื่นลิตร และมีราคาส่วนต่างลิตรละ 3-4 บาท จุดที่มีการลักลอบมากที่สุดคือเขตต่อเนื่องในทะเลแถวๆ เกาะโลซิน ใน จ.ปัตตานี เกากระในจ.นครศรีธรรมราช เกาะพะงัน ใน จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งเกาะแก่งในแถบ จ.สตูล ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งซื้อขายน้ำมันในมาเลเซียและสิงคโปร์ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็จะจับกุมได้ยากเพราะเรืออยู่ในเขตต่อเนื่อง สามารถหลบเข้าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศมาเลเซียได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ไทยไม่มีอำนาจในการจับกุม น้ำมันส่วนใหญ่จะใช้เติมเรือประมงแต่ส่วนหนึ่งจะถูกลำเลียงขึ้นบก โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันมีราคาพุ่งสูงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะอนุโลมในกรณีของเรือประมงที่มีต้นทุนสูง แต่จะเข้มงวดการลักลอบขึ้นบก เพราะทำให้รัฐสูญเสียภาษีเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งหมดนี้คือกลวิธีของขบวนการน้ำมันเถื่อนที่มีครบทั้งทางบกและทะเลที่นำความสูญเสียทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศอย่างมหาศาลแต่ก็เป็นช่องทางที่พ่อค้าน้ำมันเถื่อนยอมเสี่ยง เพราะมีผลประโยชน์อื้อซ่าจากส่วนต่างของราคาน้ำมันที่มีแต่จะถ่างกว้างขึ้นทุกขณะ "น้ำมันเถื่อน"ปนน้ำมันคลัง ลดต้นทุน-ตบตาเจ้าหน้าที่! นอกจากจะขายเฉพาะน้ำมันเถื่อนเพียวๆแล้ว ตามปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ในภาคใต้ ยังนิยมใช้น้ำมันเถื่อนผสมปนลงไปในน้ำมันที่ซื้อมาจากคลังอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จุดประสงค์คือ มุ่งลดต้นทุน และใช้ "ใบเสร็จ" จากการซื้อน้ำมันในคลังมาตบตาเจ้าหน้าที่นั่นเอง !! น้ำมันที่มีการผสมมากที่สุดคือ "น้ำมันดีเซล" สมมติเช่น ปั๊มแห่งหนึ่งเก็บน้ำมันได้ 3 หมื่นลิตร แต่อาจซื้อน้ำมันจากคลังแค่ 1 หมื่นลิตร ส่วนอีก 2 หมื่นลิตร เป็นน้ำมันเถื่อน เป็นต้น แรงจูงใจคือ ราคาที่ต่างกันถึงลิตรละ 7 บาท นายไสววงศ์วรชาติ ผู้จัดการส่วนคลังปิโตรเลียม ปตท. สงขลา ระบุว่า ทุกวันนี้ตัวเลขการสั่งซื้อน้ำมันจากคลังลดลงถึง 20% และมีแนวโน้มว่าจะลดลงมากเรื่อยๆ สาเหตุหลักคือ ผู้ใช้รถหันมาใช้ก๊าซแอลพีจี ก๊าซเอ็นจีวีเติมรถมากขึ้น และส่วนหนึ่งยังมีการนำน้ำมันเถื่อนเข้ามาปลอมปนอีกด้วย | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
ยอดจับน้ำมันเถื่อนพุ่ง ชี้เจ้าพ่อน้ำมันเถื่อนร่วมวงจุดไฟใต้
ชี้เจ้าพ่อน้ำมันเถื่อนร่วมวงจุดไฟใต้ | |
"การดำเนินการต่อขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในห้วงที่ผ่านมา สามารถตรวจยึดของกลางได้จำนวนกว่า 3 แสนลิตร พร้อมของกลางอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการดำเนินการต่อขบวนการค้ายาเสพติด โดยสามารถขยายผลการจับกุมนำไปสู่การยึดทรัพย์เครือข่ายรวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และพบหลักฐานสำคัญที่เชื่อได้ว่าเครือข่ายยาเสพติดและน้ำมันเถื่อนที่ถูกจับกุมมีความเชื่อมโยงกับผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อย่างชัดเจน" นี่เป็นบางช่วงบางตอนของเอกสารรายงานที่จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งได้สรุปความคืบหน้าการดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหา "ภัยแทรกซ้อน" นำเสนอหน่วยเหนือและรัฐบาล ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น ไม่ได้มีแต่ปัญหาที่เกิดจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเพียงด้านเดียว แต่ยังมีขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อนเป็น "ภัยแทรกซ้อน" ที่ผสมโรงทำให้เกิดความรุนแรงขยายวงในพื้นที่ด้วย ขบวนการแยกดินแดน"เปลี่ยนไป?" ทฤษฎีที่อธิบายความรุนแรง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ว่ามียาเสพติด น้ำมันเถื่อน และธุรกิจผิดกฎหมายร่วมขบวนอยู่ด้วยนั้น เป็นประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พยายามสื่อสารต่อสังคมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเรียกรวมๆ ว่า "ปัญหาภัยแทรกซ้อน" แต่ก็ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามอยู่หลายประเด็น แม้แต่ในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วยกันเอง บ้างก็ว่าขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนจะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายได้อย่างไร เพราะขบวนการนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังศรัทธาและศาสนา เพื่อกู้ชาติปัตตานี ซึ่งมีอัตลักษณ์เด่นทั้งในแง่เชื้อชาติมลายูและความเป็นมุสลิม บ้างก็ว่าการปั่นสถานการณ์ให้เต็มไปด้วยความรุนแรง จะช่วยให้ธุรกิจผิดกฎหมายขับเคลื่อนไปโดยสะดวกโยธินได้อย่างไร เพราะย่อมถูกจับตา ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกว่า 6 หมื่นนายที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ ฯลฯ แต่ข้อมูลจาก พ.อ.จตุพร กลัมพสุต ผู้อำนวยการกองข่าว ศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เกาะติดปัญหาภัยแทรกซ้อนมานาน และฝังตัวอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเพียง 1 วัน อธิบายได้ว่า ข้อสังเกตและคำถามจากหลายฝ่ายนั้นไม่ได้ผิด เพียงแต่สถานะของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังจากต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับกองกำลังของรัฐมานานเกือบ 1 ทศวรรษ และยังมีสถานการณ์จากภายนอกกดดันให้กลุ่มขบวนการต้องหันเหไปยึดโยงกับธุรกิจผิดกฎหมายด้วย 3 ยุคกลุ่มติดอาวุธป่วนใต้ พ.อ.จตุพร กล่าวว่า หากพิจารณาจากกลุ่มติดอาวุธของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนซึ่งถูกจับกุมได้ และบางส่วนยอมเข้ามอบตัวกับทางราชการ จะพบความเปลี่ยนแปลงที่แบ่งออกได้เป็น 3 ยุคของการก่อเหตุรุนแรง กล่าวคือ
"เงินขาดมือ"ต้องหาทุนก่อเหตุ พ.อ.จตุพร กล่าวต่อว่า หลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมันเถื่อนและยาเสพติด กับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบางระดับเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการจับกุมขบวนการเหล่านี้ในระยะหลัง เช่น การตรวจค้นฐานฝึและแหล่งพักของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เริ่มพบยาบ้าตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์โจมตีและปล้นฐานพระองค์ดำที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 15 ม.ค.2554 มีการสอบปากคำผู้รู้เห็นในการก่อเหตุ ได้ข้อมูลว่าในวันนั้นรถน้ำมันเถื่อนหยุดวิ่ง จึงกลายเป็นประเด็นเจ้าหน้าที่เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อน, การจับกุมเครือข่ายยาเสพติดและขยายผลไปค้นบ้าน เจอเอกสารการปฏิวัติปัตตานี เอกสารร้องเรียนว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน และใบปลิวที่ทำล่วงหน้าป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียเอง สำหรับสาเหตุที่กลุ่มขบวนการต้องปรับยุทธวิธีหันมายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายนั้น จากการวิเคราะห์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พบเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ
"ข้อสังเกตที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ เมื่อก่อนขบวนการระดมทุนด้วยการเก็บเงินคนละ 1 บาทเพื่อกู้ชาติปัตตานี แต่ระบบนี้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2552 แล้ว เพราะทำให้เสียมวลชน เหตุนี้จึงต้องหาแหล่งรายได้อื่นแทน เพราะปฏิบัติการความรุนแรงใหญ่ๆ ครั้งหนึ่งใช้เงินเป็นแสน โดยเฉพาะคาร์บอมบ์ ต้องมีผู้ร่วมขบวนการกว่า 10 คน ทั้งคนเฝ้าต้นทาง คนชี้เป้า คนพาหนี ทุกคนที่ร่วมกระทำความผิดมีค่าตอบแทนทั้งสิ้น แต่ลองหันมาดูรายได้จากน้ำมันเถื่อนที่ได้กำไรลิตรละ 10 บาท หากดัดแปลงถังน้ำมันให้ขนได้เที่ยวละ 3 พันลิตร ขนแค่ 5 เที่ยวก็มีเงินมาทำคาร์บอมบ์ 1 ครั้งแล้ว" 5 กลุ่มน้ำมันเถื่อนโยงการเมือง จากการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานความมั่นคง พบว่า น้ำมันเถื่อนเป็นแหล่งทุนสำคัญของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทุกกลุ่มในพื้นที่ เพราะมียอดการใช้สูงและรายได้งาม มีการประเมินกันว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนราว 1.2 ล้านคัน หากใช้น้ำมันแค่คันละ 1 ลิตรต่อวัน ก็มียอดการใช้ถึง 1.2 ล้านลิตรแล้ว ขณะที่ยอดจับกุมตั้งแต่เดือน มี.ค.2554 ถึงต้นเดือน ส.ค.2555 มีจำนวนกว่า 4.2 แสนลิตร เฉพาะปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่ 1 ต.ค.54 ถึง 31 ก.ค.55 ยึดของกลางได้ 3 แสนลิตร รถกระบะ 111 คัน เรือ 4 ลำ สถานที่เก็บน้ำมัน 16 แห่ง ผู้กระทำผิด 127 ราย ส่วนยาเสพติด มีการปิดล้อมตรวจค้น 150 ครั้ง จับกุม 211 ราย ยึดของกลางยาบ้า 253,000 เม็ด ยาแก้ไอ 33,000 ขวด พืชกระท่อม 2,500 กิโลกรัม ทั้งหมดขยายผลยึดทรัพย์เครือข่ายได้ถึง 300 ล้านบาท จากข้อมูลเชิงลึกของหน่วยข่าวในพื้นที่พบว่า กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่มีทั้งหมด 5 กลุ่ม แยกเป็น จ.ปัตตานี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชื่อย่อ "อ." กับกลุ่มตะลุโบะ จ.นราธิวาส 2 กลุ่ม คือกลุ่มตากใบ กับกลุ่มรือเสาะ และยะลา 1 กลุุ่ม เกือบทั้งหมดมีนักการเมืองหนุนหลัง ส่วนข้อมูลกลุ่มก่อความไม่สงบที่รวบรวมไว้จนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 9,654 คน เป็นกลุ่มที่เข้ารายงานตัวเอง 3,300 คน เป็นผู้ปฏิบัติการหลัก 2,400 คน เสียชีวิตไปแล้ว 140 คน ที่เหลือถูกจับกุมตามกฎหมาย บางส่วนถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม "ขบวนการ-แก๊งอิทธิพล"สมประโยชน์ แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า การเอื้อประโยชน์กันระหว่างกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกับผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย คือเมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ผู้มีอิทธิพลที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงก็จะเข้าไปกว้านซื้อที่ดินราคาถูกจากชาวบ้านที่หนีความรุนแรงเข้าไปอยู่ในเมือง จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่นบางรายถือครองที่ดินนับพันไร่ "จะเห็นได้ว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุม มอบตัว และอยู่ในกระบวนการยุติธรรมร่วมหมื่นคน ทำให้ขบวนการมีแนวร่วมน้อยลงและลดอิทธิพลลงมาก จึงต้องก่อเหตุใหญ่ๆ เพื่อให้เสียงดัง จะได้ควบคุมมวลชนได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงใช้น้ำมันเถื่อนกับยาเสพติดมาสนับสนุนทั้งทุนและกำลังคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็วุ่นกับงานเชิงรับ ทั้ง รปภ.ครู รปภ.สถานที่ ทำให้ไม่มีเวลาไล่จับ เมื่อเขาก่อเหตุรุนแรงได้ ก็สกัดคนออกจากขบวนการได้ และไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้เจ้าหน้าที่ ทั้งหมดนี้คือวงจรของความรุนแรงที่ชายแดนใต้" | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน นายทุนใหญ่แนวร่วมป่วนภาคใต้
ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน นายทุนใหญ่แนวร่วมป่วนภาคใต้ | |
"ทหาร" แจง "สปต." ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน นายทุนใหญ่แนวร่วมป่วนภาคใต้ หอบภาพถ่ายเอกสารยืนยัน ส่งเงินครั้งละ 4-6 แสนบาท แฝงสนับสนุนโรงเรียนบางแห่งในพื้นที่ อ.บันนังสตา ระบุเหตุวินาศกรรมหลายครั้งมาจากตอบโต้ จนท.จับกุมน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาภัยซ้ำซ้อนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเชิญ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าให้ข้อมูล โดย พล.ท.อุดมชัยได้ส่งตัวแทนมาตอบข้อซักถามต่างๆ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ได้ยื่นกระทู้ถาม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรื่องความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน เช่น น้ำมันเถื่อน ซึ่งตัวแทน พล.ท.อุดมชัยนำหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายวิดีโอมาแสดง พร้อมยืนยันว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินให้กับแนวร่วมจริง เช่น การส่งเงินครั้งละ 400,000-600,000 บาท ให้กับโรงเรียนบางแห่งในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา "การนำตัวผู้อยู่ในขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนมาสอบสวน พบว่าเชื่อมโยงกับแนวร่วมทั้งที่ถูกควบคุมตัวอยู่ และที่ยังหลบหนี และยังมีหลักฐานยืนยันได้ว่าการก่อวินาศกรรมหลายครั้งในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นจากการตอบโต้ หลังจากเจ้าหน้าที่จับกุมน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ทุกครั้ง โดยมีการเปิดเผยรายชื่อของผู้นำท้องถิ่นบางคนที่มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อขอขนน้ำมันเถื่อนผ่านจุดตรวจ" ตัวแทนของ พล.ท.อุดมชัยระบุ ตัวแทนแม่ทัพภาคที่ 4 ยังระบุว่า ในการบุกเข้าจับกุมโกดังรายใหญ่ ในพื้นที่ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ยังยึดอาวุธปืนสงคราม กล้องอินฟราเรด ยาเสพติด และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวนมาก โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีการจับน้ำมันเถื่อนได้กว่า 500,000 ลิตร ยึดรถยนต์ เรือ และอุปกรณ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย รวมเป็นมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท และล่าสุดสามารถยึดเรือภูตะวัน 5 และรถบรรทุกน้ำมัน 3 คัน ที่ อ.ละงู จ.สตูล ในขณะที่ขนถ่ายน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นของนายทุนรายใหญ่ อดีตนักการเมืองใหญ่ ที่มีเรือขนน้ำมันฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จำนวน 5 ลำ ขณะที่นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกรณีคณะองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) จะเดินทางมาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้วันที่ 9 พ.ค.ว่า เป็นโอกาสดีที่คณะเดินทางมาดูสภาพข้อเท็จจริงต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ได้มารับฟังทั้ง กองทัพภาคที่ 4 ศอ.บต. และควรจะเปิดโอกาสมาพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงรัฐบาลไทย "ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่าโอไอซีไม่สนับสนุนและไม่ชอบความรุนแรงอยู่แล้ว สิ่งสำคัญโอไอซีมีบทบาทหน้าที่มากมาย ส่วนหนึ่งคือดูแลปกป้องประชาคมมุสลิมด้วยกัน โดยเฉพาะประชาคมมุสลิมชนกลุ่มน้อยตามประเทศต่างๆ กรอบเรื่องประชาคมอิสลาม ดังนั้นผลดีคือสามารถที่จะนำเสนอเรื่องของการช่วยเหลือผู้ที่มีผลกระทบกับสถานการณ์ใต้คือด้านมนุษยธรรม รวมถึงขอความร่วมมือในด้านการพัฒนาการศึกษาสำหรับชาวไทยมุสลิม การขอความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ และด้านอุตสาหกรรมด้านอาหารฮาลาล ซึ่งที่ปัตตานีสามารถกระทำได้ และผมเห็นว่าเข้ากับแนวทางของ ศอ.บต." ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีกล่าว. | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่แท้จริงมาจาก ปตท.
น่าคิดเหมือนกันนะ
| |
ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่แท้จริงมาจาก ปตท." คุณจะเชื่อไหม?
"ทุกอย่างในโลกนี้มันมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเราจะค้นหาเจอและเข้าใจมันหรือไม่"
เมื่อพูดถึงเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันประกอบไปด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอที่ติดชายแดนมาเลเซียของจังหวัดสงขลา อันได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย (ตามในรูปแผนที่คือพื้นที่สีเหลืองและพื้นที่สีครีม) ทุกคนก็คงต้องนึกถึงแต่ ภาพความรุนแรงที่มีประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้ที่ ทหาร-ตำรวจ บาดเจ็บ ล้มตาย อันมาจากน้ำมือของ โจรใต้ ที่ใครหลายคนเรียก หรือที่เรียกให้ถูกต้องตามคำของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ก็คือ กลุ่มอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครที่สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่แท้จริงว่า มันเกิดจากสาเหตุใด มีเพียงข้อสันนิษฐานต่าง ๆ นา ๆ ว่ามาจากสาเหตุนั้นสาเหตุนี้ (อย่างเช่น เกิดจากความขัดแย้งทาง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่างกันบ้าง หรือ ความขัดแย้งจากผลประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าหนีภาษีบ้าง เป็นต้น) จนถึงวันนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจาก กอ.รมน. ภาค 4 สน. ซึ่งเป็นหน่วยงานนี้มีหน้าที่ วางแผน อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตรง ทำให้มีข้อมูลในส่วนต่าง ๆ มากพอสำหรับนำมาประมวลหาสาเหตุว่า ความรุนแรง ความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร
ขอท้าวความหลังนิดหนึ่ง เดิมทีพวกกลุ่อุดมการณ์ ฯ นี้ เป็นพี่น้องไทยเชื้อสายมุสลิม ที่มีความรู้สึกว่า ตัวเองและพวกพ้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากทางการ จึงคิดร่วมมือกันเพื่อแสวงหาแนวทางเพื่อแยกยินแดนแถบนี้เป็นรัฐอิสระ เหมือนก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้ข้ออ้างเรื่องศาสนา ทำให้พี่น้องชาวมุสลิมบางส่วนหลงผิด ด้วยการถูกล้างหัวให้เชื่อด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และทำการแข็งข้อกับทางการ จนถูกจับกุมดำเนินคดี พอถูกดำเนินคดี ก็ใช้จุดนี้เป็นจุดร่วมในการเพิ่มหรือขยายแนวร่วมทางอุดมการณ์ให้เพิ่มและกว้างออกไป ใหม่ ๆ กลุ่มอุดมการณ์ ฯ ก็ขอเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์ แต่ต่อมากลายเป็นว่า นำเงินเหล่านั้นมาก่อความรุนแรงที่มิใช่แนวทางแห่งมุสลิม ประเทศตะวันออกกลางที่เคยให้การสนับสนุนด้านการเงินก็ยุติการสนับสนุนลง แล้วทีนี้คนกลุ่มนี้จะไปพึ่งการเงินจากที่ไหน เพราะการก่อเหตุแต่ละครั้งมันต้องใช้เิงินทั้งนั้น อย่างทำคาร์บอมแต่ละครั้งน่าจะไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อครั้ง สรุปว่าปัญหาของ โจรใต้ ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องความต้องการแบ่งแยกดินแดนตามอุดมการณ์แล้วล่ะ แล้วมันคืออะไร?
คำตอบก็คือ เงิน เพื่อเอาใช้ในการดำเนินการก่อความรุนแรง เพราะไหนจะค่าแรง ค่าจ้าง ค่าวัสดุ-อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ (รถมอเตอร์ไซต์และ รถยนต์) ค่าน้ำมันในการเดินทาง จิปาถะไปหมด มันคงไม่สนุกแน่ถ้าจะบ้าแต่อุดมการณ์แต่ไม่มีเงินมาขับเคลื่อน อุดมการณ์นั้นก็คงไม่มีวันบรรลุผลได้ ต่อไปนี้คือการวิเคราะห์ถึงเนื้อแท้ของปัญหาแบบเจาะลึก ด้วยข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เพื่อความกระจ่างว่า อะไรคือตัวปัญหาที่แท้จริง
1. อะไรคือสาเหตุหลักของความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ผมไม่สามารถนำรายละเอียดมาเขียนได้ทั้งหมด คงต้องรบกวนท่านผู้อ่านเปิดอ่านรายละเอียดเอง แต่พอสรุปจากรายละเอียดได้ว่า สามสิ่งที่ทำให้กลุ่มอุดมการณ์ฯ ยังคงขับเคลื่อนอุดมการณ์ได้อยู่ก็คือ สินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน(หนีภาษี) และยาเสพติด ทั้งสามอย่างล้วนเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งสิ้น ปกติแล้วใครก็ตามที่เข้าไปยุ่งกับของผิดกฎหมายเหล่านี้จะถูกเรียกว่า โจร ซึ่งคือสาเหตุที่ทำให้คนทั่ว ๆ ไป เรียกกลุ่มอุดมการณ์นี้ว่า โจรใต้ ก็น่าจะมาจากสาเหตุนี้
1.2 ข้อยืนยันจาก กอ.รมน. ภาค 4 สน. คลิกอ่านรายละเอียด
ข้อยืนยันนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า น้ำมันเถื่อน คือของผิดกฎหมายตัวหลักที่เป็นสาเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ไม่ใช่ สินค้าหนีภาษี และยาเสพติด (โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตามลิงค์ครับ) ในกรณีสินค้าหนีภาษีนั้นคงไม่มีมูลค่ามากมายนัก กลุ่มอุดมการณ์ฯ ก็รู้ดีว่า คงได้เงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายก็เลยไม่ยุ่ง ในส่วนของยาเสพติดถ้าจะว่าไปแล้ว ในกลุ่มอุดมการณ์นี้ก็จำเป็นต้องใช้เพื่อเสพด้วยเช่นกัน เพราะในการก่อเหตุแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นมันก็ต้องย้อมใจกันหน่อยเพื่อให้ฮึกเหิมก่อนลงมือ
ดังนั้นประเด็นเรื่องยาเสพติดก็มีมูลอยู่ด้วย แต่เป็นแค่ผู้เสพเท่านั้นไม่ใช่ผู้ค้า เนื่องจากว่ายังอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถหาทุนเพื่อเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์ได้มากกว่า ซึ่งก็คือน้ำมันเถื่อน และเมื่อเปรียบเทียบโทษทัณฑ์ที่จะได้รับหากโดนจับกุมขึ้นมา ยาเสพติดมีสิทธิ์ถูกประหารชีวิต แต่น้ำมันเถื่อนแค่ติดคุกไม่กี่ปี ส่วนแบ่งที่ได้อาจน้อยกว่าการค้ายาเสพติดก็ไม่มาก ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ค้าน้ำมันเถื่อนคุ้มค่ากว่า จึงกลายเป็นว่าในเวลานี้ กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนหรือพ่อค้าน้ำมันเถื่อนเองจำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มอุดมการณ์ ฯ พวกนี้เป็นอย่างยิ่ง ในการทำธุระกิจน้ำมันเถื่อน ไล่กันมาตั้งแต่ รับน้ำมันเถื่อนเข้าเก็บในคลัง คุ้มครองคลังน้ำมัน ลำเลียงน้ำมันไปยังปลายทาง(ลูกค้า) สังเกตุจากรายงานของ กอ.รมน.ภาค.4 บอกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่รถลำเลียงน้ำมันเถื่อนโดนยึดหรือจับกุม กลุ่มอุดมการณ์ ฯ จะอาละวาดทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อนกับกลุ่มอุดมการณ์ ฯ ไม่มีวันที่จะแยกทางกันเป็นอันขาด หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกอย่างก็เจ๊งกัน จึงต้องอยู่กันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า กลุ่มพ่อค้ายิ่งขายน้ำมันได้มากก็ได้กำไรมาก กลุ่มอุดมการณ์ ฯ ก็ยิ่งได้ส่วนแบ่งจากพ่อค้ามากเช่นกัน ทำให้ธุระกิจน้ำมันเถื่อนยิ่งเจริญเติบโต และน้ำมันเถื่อนจะไม่มีวันหมดไปจากพื้นที่ขัดแย้งนี้แน่นอน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
1.3 เป้าหมายของทั้งสองกลุ่ม
กลุ่มอุดมการณ์ฯ มีเป้าหมายคือ หาเงินหรือทุนจากการค้าน้ำมันเถื่อนเพื่อเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์ดั้งเดิมคือ แบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระ ส่วนกลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อนมีเป้าหมายคือ ค้าน้ำมันให้ได้ปริมาณมาก ๆ เพื่อจะได้กำไรมาก ๆ การจะขายน้ำมันให้ได้กำไรมาก ๆ มันมีข้อแม้อยู่ว่าต้องขายภายในราชอาจักรไทยเท่านั้น เพราะภายในราชอาณาจักรไทยมีส่วนต่างระหว่าน้ำมันที่ถูกกฎหมายกับมันที่ผิดกฎหมาย(หรือน้ำมันเถื่อน)ต่างกันถึง 10 กว่าบาทต่อลิตรโดยประมาณ แต่ไม่เคยต่ำกว่าลิตรละ 10 บาท ดังนั้นหากกลุ่มพ่อค้าทำเป็นไม่รู้สึกรู้สาอะไรอีกหน่อยเมื่อกลุ่มอุดมการณ์ได้เงินไปเยอะ ๆ ก็คงบรรลุผลเข้าสักวัน นั่นก็คือพวกเขาสามารถแบ่งแยกดินแดนได้ ทีนี้ล่ะกลุ่มพ่อค้าจะยุ่ง เนื่องจากว่า พอแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระปั๊บ นโยบายเรื่องราคาน้ำมันภายในรัฐอิสระนั้นจะเป็นเหมือนกับราชอาณาจักรไทยหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ดังนั้นพ่อค้าน้ำมันเถื่อนรู้เรื่องนี้ดี จึงไม่อยากไปเสี่ยง เลยคิดหาวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มอุดมการณ์ฯ ทำการเคลื่อนไหวจนแบ่งแยกดินแดนได้สำเร็จ ทำให้ดูเหมือนว่า ลึก ๆ แล้วสองกลุ่มนี้จะขัดแย้งกันในเรื่องเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะว่า ในเวลานี้กลุ่มอุดมการณ์ฯ ก็ใหญ่คับพื้นที่แล้ว แค่ชาวบ้านได้ยินชื่อก็กลัวหัวหด รวมไปถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกเหล่าทุกกองด้วย ดังนั้นสู้อยู่แบบนี้มีเงินใช้ และมีอำนาจในพื้นที่ที่ใครๆ ต่างก็ต้องขยาดดีกว่าเป็นไหน ๆ เพราะถ้าแยกดินแดนได้จริง ๆ ขึ้นมา ก็ยังต้องไปทะเลาะกันเองอีกหลายขั้นตอน โดยปกติแล้วการก่อการร้ายทุก ๆ ครั้งทั่วทุกมุมโลก จะมีฝ่ายก่อการออกมาแสดงข้อเรียกร้องต่อทางการในทันทีเมื่อก่อการเสร็จและได้ผลว่า ตัวเองขอเรียกร้องให้ทางการทำอะไรบ้างเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติการก่อการแบบนั้น แต่กลุ่มอุดมการณ์ฯ ของเราไม่เคยออกมาเรียกร้องอะไรเลยแม้แต่ครั้งเดียว นั่นก็เท่ากับว่า พวกเขาหลงติดกับดัก เงินและอำนาจในพื้นที่เข้าแล้ว ทำให้กลุ่มพ่อค้าน้ำมันเองก็พอใจที่ไม่ต้องแยกดินแดนให้เสียโอกาสสร้างผลกำไร สถานการณ์ปัจจุบันเลยกลายเป็นว่า สร้างสถานการณ์เพื่อข่มขู่ผู้คนชาวบ้านและทางการให้กลัวเพื่อไม่ให้ไปสนใจเรื่องน้ำมันเถื่อน คือเบี่ยงประเด็นเรื่องน้ำมันเถื่อนออกไปเท่านั้นเอง
2. ช่องว่างของปัญหา
2.1 ความเป็นมาเกี่ยวกับน้ำมันเถื่อนในพื้นที่
จริง ๆ ปัญหาเรื่องน้ำมันเถื่อนในพื้นที่แห่งนี้มีมานานแล้ว โดยเฉพาะชาวประมงเป็นผู้ใช้น้ำมันเถื่อนกันมานานแล้ว โดยไปซื้อเติมกันกลางทะเล ถ้าเหลือจากที่ใช้ในทะเลแล้วก็นำมาขายเป็นน้ำมันเถื่อนต่อไปอีกทอดหนึ่ง ต้นทุนการออกทะเลหาปลาก็จะถูกลง ชาวประมงในพื้นที่แห่งนี้ก็ได้จะกำไรสูงกว่าชาวประมงในพื้นที่อื่น จนแพปลาบางแพถึงกับดัดแปลงเรือหาปลาเพื่อตบตาตำรวจน้ำ ให้เป็นเรื่อที่ดูภายนอกเหมือนเรือหาปลาแต่ภายในบรรทุกน้ำมันเถื่อนเต็มลำเรือ แล้วนำมาขายที่ฝั่ง เมื่อแพปลาโน้นทำได้แพปลานี้ก็ทำได้ กลายเป็นหลาย ๆ แพปลาช่วยกันทำ เพราะเอาขายเท่าไรก็หมดเท่าไรก็หมด ก็เป็นอะไรที่น่าทำและน่าลงทุน แต่ในหลาย ๆ ครั้งก็มีปัญหาเรื่องตำรวจน้ำเข้มงวดบ้าง ฝนฟ้าอากาศบ้าง ทำให้ต้องออกไปเอาน้ำมันมาทีละเยอะ ๆ ซึ่งก็คงขายไม่หมด จึงต้องหาที่เก็บน้ำมันบนบกเรียกว่า คลังน้ำมัน(เถื่อน) คลังน้ำมันเมื่อตั้งขึ้นมาบนบกแล้วมันคงไม่ดีแน่ เพราะอันตราย จะต้องหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องหาคนมาคุ้มกัน จนกว่าจะลำเลียงไปส่งขายหมด นี่คือลักษณะธุระกิจน้ำมันดั้งเดิม
2.2 อะไรทำให้นำ้มันเถื่อนขายดี
ราคาน้ำมันภายในประเทศ กับ ราคาน้ำมันเถื่อน ห่างกัน ลิตรละ 10-17 บาท ถามว่าใครบ้างอยากซื้อน้ำมันของ ปตท. ถ้าตัวเองหาน้ำมันเถื่อนเติมรถหรือเรือหรือเครื่องยนต์ใด ๆ ของตนเองได้ นี่คืออุปสงค์น้ำมันเถื่อนมีอยู่เต็มในพื้นที่ จากข้อมูลของ กอ.รมน.ภาค.4 บอกว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดมีรถยนต์และจักรยานยนต์ที่จดเบียนประมาณ 1.2 ล้านคัน และยังมีรถขนส่งสินค้าที่ไปส่งของจากภูมิภาคอื่นเข้าเติมน้ำมันเถื่อนเมื่อต้องไปส่งสินค้าในถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย ทำให้พ่อค้าน้ำมันเถื่อน รวย รวย และก็ รวย ลองคิดเล่นว่า ถ้าวันหนึ่งสามารถลำเลียงน้ำมันเถื่อนไปส่งถึงผู้รับช่วงได้วันละ 100,000 ลิตร พ่อค้าจะได้กำไรกี่บาท คำตอบคือ 1,000,000 บาท/วัน เห็นไหมว่ามันน่าทำแค่ไหน มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจน้ำมันเถื่อนต้องหยุดชงักลงได้เพียงปัจจัยเดียวคือ ถูกทางการกวาดล้างธุระกิจนี้ ดังนั้นพ่อค้าน้ำมันก็ไปฮั้วกับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ทำเพิเฉยเมื่อรถส่งน้ำมันผ่านด่าน ไปฮั้วกับกลุ่มอุดมการณ์ฯ เพื่อคุ้มครองการลำเลียงน้ำมันเถื่อนไปยังที่หมายปลายทาง แล้วแบ่งผลกำไรกัน จะเห็นว่าแทบจะไม่มีความเสี่ยงอะไรเลยก็ว่าได้
2.3 สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันเถื่อนสูง
ตัวที่ชี้วัดว่า ในพื้นที่มีความต้องการน้ำมันเถื่อนสูงอีกตัวหนึ่งก็คือ ผู้คนชาวบ้านต่าง ๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะบริเวณย่านด่านเข้าเมือง รู้ดีว่าน้ำมันในฝั่งประเทศมาเลเซียถูกกว่าประเทศไทยหลายบาท เลยนิยมนำรถทำทีเป็นนักท่องเที่ยวลอบเข้าไปเติมน้ำมันในฝั่งประเทศมาเลเซีย แล้วกลับมาขับในประเทศไทย เพราะน้ำมันเมื่อมาอยู่ในถังน้ำมันรถยนต์ ไม่มีใครรู้ว่าเถื่อนหรือไม่เถื่อน และเวลากลับเข้าประเทศตอนผ่านด่านก็ตรวจสอบไม่ได้ด้วย ทำให้คนในพื้นที่ดังกล่าวนิยมใช้น้ำมันเถื่อนและน้ำมันประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนมาก ถึงแม้ว่าตรงนี้จะเป็นเพียงแค่กลุ่มคนไม่มาก แต่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่า ถ้าราคาน้ำมันในประเทศขายในราคาสูงแบบนี้อยู่ พวกเขาก็พร้อมที่จะหันไปใช้น้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านหรือน้ำมันเถื่อนทันที เพราะพวกเขาสามารถหาของเหล่านี้มาทดแทนได้โดยไม่ยากอะไรเลย
แต่ในความเป็นจริงราคาน้ำมันในประเทศกลับมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมานานหลายสิบปีแล้ว ทำให้พ่อค้าน้ำมันเถื่อนสามารถพัฒนารถบรรทุกน้ำมันข้ามเขตแดนได้ในเที่ยวละหลายพันลิตร โดยที่ยากต่อการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นแหล่งน้ำมันเถื่อนที่นำเข้ามาขายก็คือ น้ำมันที่ถูกกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ลักลอบนำเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้น้ำมันที่ถูกกฎหมายที่ทาง ปตท. ผลิตมา ขายไม่ค่อยดี พอขายไม่ค่อยดีก็ทำให้น้ำมันมาค้างอยู่ในคลังน้ำมันสงขลาในปริมาณมากและนานเกินไป ต้องเร่งระบายน้ำมันเหล่านั้นออกไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่อย่างนั้น ปตท. ได้กำไรน้อยลง
2.4 พบช่องว่าง
มีข้อสังเกตุบางประการเกี่ยวกับ ปตท. ทุกคนคงทราบดีว่า ปตท. ผลิตน้ำมันส่วนหนึ่งเพื่อ ขายในประเทศ(ในราคาสูง) และอีกส่วนหนึ่งขายไปต่างประเทศ(ในราคาต่ำแต่ส่งขายในปริมาณมากๆ)
ผลการประกอบการของ ปตท. ในแต่ละปีไม่เคยขาดทุน กลับมีกำไรมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกปี สมมติว่า ปตท.มีกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อขายสูงสุดทั้งหมดปีนละ 100,000 ล้านลิตร (ย้ำอีกครั้งว่า ข้อมูลนี้เป็นข้อสมมติขึ้นมาเท่านั้น) แบ่งขายในประเทศ 30,000 ล้านลิตรที่ราคาลิตรละ 30 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งขายไปต่างประเทศ 70,000 ล้านลิตร ในราคาลิตรละ 20 บาท รวมรายได้จากการขายน้ำมันที่ ปตท. ได้ปีละ 900,000 + 1,400,000 = 2,300,000 ล้านบาท แต่ถ้าน้ำมันภายในประเทศขายไม่ดีเพราะมีน้ำมันเถื่อนทะลักเข้ามา ทำให้ยอดน้ำมันในส่วนที่ขายในประเทศขายได้เพียงแค่ 25,000 ล้านลิตร คงเหลืออยู่ในคลัง 5,000 ล้านลิตร จะทำให้ ปตท. มีรายได้ในปีนั้นแค่ 750,000 + 1,400,000 = 2,150,000 ล้านบาท กับน้ำมันที่เหลือในคลังอีก 5,000 ล้านลิตร ประเด็นก็คือว่า ปตท.จะเอาไงกับ 5,000 ล้านลิตรที่เหลือ? ถ้าเก็บเอาไว้ขายในรอบปีถัดไป แบบนี้ ปตท. กำไรลดแน่ เพราะยอดรายได้ไม่เข้าเป้า มีทางเดียวคือ อย่างไรก็ต้องขาย แล้วขายใครล่ะ ก็ขายไปต่างประเทศสิ ที่ราคาลิตรละ 20 บาท ก็ยังดี เพราะยอดรายได้หดหายไปเพียง 50,000 ล้านบาท
ผมจะไม่ขอกล่าวถึงว่า แล้ว ปตท. จะไปหาเงินในส่วนที่หดหายไปจากไหนมาทดแทน แต่จะขอนำท่านไปสู่ประเด็นที่ว่า แล้วไอ้น้ำมัน 5,000 ล้านลิตรที่ ปตท. ขายออกไปต่างประเทศขายให้ใครและขายอย่างไร ปกติแล้วการซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศต้องทำสัญญาซื้อ-ขายกันล่วงหน้า จะเกิดความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในประเทศลูกค้าแบบกระทันหันได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เกิดภัยพิบัติหรือภัยจากมนุษย์ที่ทำให้คลังน้ำมันเสียหายเป็นต้น แบบนี้คงต้องขอซื้อน้ำมันมาใช้แบบฉุกเฉิน แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่มีทั่วไป นาน ๆ ถึงจะมีบ้าง ถ้าเช่นนั้นแล้ว ปตท. ขายน้ำมัน 5,000 ล้านลิตรไปให้ใครกันแน่? และต่อไปนี้คือข้อสันนิษฐานของผม นั่นก็คือว่า "เป็นไปได้หรือไม่ที่ ปตท. ขายไปให้ต่างประเทศนั่นแหละ แต่ขายให้พ่อค้าน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเอาน้ำมันส่วนนั้นมาขายให้แก่กลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อนไทยอีกทอดหนึ่ง" ผมก็ไม่ทราบว่าแต่ละท่านจะมีข้อสันนิษฐานที่ใกล้เคียงกับผมหรือไม่ แต่ขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ปตท. มีกำไรเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จะเป็นไปได้หรือที่ผลิตแล้วขายไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ว่า ขายให้ใคร ตรงนี้คงต้องค้นหาความจริงกันต่อไป
3. ใครได้-เสีย ผลประโยชน์จากช่องว่าง
3.1 ผู้ที่ได้ประโยชน์จากช่องว่าง
คนที่ได้คือ กลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อน กลุ่มอุดมการณ์ฯ ชาวประมงที่ใช้น้ำมันเถื่อน รถขนส่งสินค้าที่ใช้น้ำมันเถื่อน ชาวบ้านที่เติมน้ำมันรถยนต์ด้วยน้ำมันเถื่อน เรียกว่าได้ประโยชน์กันทั่วหน้า ถ้าเป็นแบบนี้ ในทางพฤตินัยถือว่าเป็นการสมคมกันเพื่อผลประโยชน์แห่งตนในวงกว้าง โดยมีข้ออ้างว่า น้ำมันในประเทศแพง แต่น้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่า แล้วจะไปเติมที่แพงกว่าทำไม จะว่าไปมันก็ไม่ดีต่อส่วนรวมประเทศชาติเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในยุคที่มัรัฐบาลที่ทำงานอะไรไม่เป็นเลย ดีแต่กู้ สร้างหนี้ อะไร ๆ มันก็ต้องแพง ทำให้ชาวบ้านที่เขามีทางออกเรื่องลดต้นทุนจำเป็นต้องทำแม้ว่าไม่ถูกกฎหมายก็ตาม คิดง่าย ๆ แค่ออกแรงขับรถข้ามแดนผ่านด่านตรวจไปแล้วเติมให้เต็มถังในราคาลิตรละ 20 บาท แล้วกลับมา หรือไม่ก็ หาเติมน้ำมันเถื่อนในประเทศไทยเอาในราคาลิตรละ 25 บาท ถ้าไม่เอาทั้งสองก็ต้องเรียกว่า "รวยจริง รักชาติจริง ๆ" นั่นก็คือควักเงินจ่ายเต็มลิตรละ 30 บาทไปเลย
3.2 ผู้ที่สูญเสียประโยชน์จากช่องว่าง
ผู้ที่เสียคือ ประเทศไทยและคนไทยทุกคน เนื่องจากขาดรายได้จากภาษีน้ำมัน ซึ่งจะถูกนำไปเป็นงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศในส่วนนี้ต้องลดหายไป ประเทศก็ต้องพัฒนาล่าช้าและยังกลายเป็นเรื่องสองมาตรฐานอีกด้วย กล่าวคือ คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ใช้น้ำมันราคาถูก แต่คนไทยที่อยู่ในภูมิภาคอื่นกลับต้องใช้น้ำมันราคาแพง ก็เลยกลายเป็นสองมาตรฐาน หากประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้นาน ๆ ไป จะทำให้คนไทยทั้งสองส่วนเกลียดชังกัน อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต
3.3 แล้ว ปตท. ได้หรือเสีย
จะว่าไปแล้ว ปตท.ไม่จัดว่าได้หรือเสียอะไร แพงแต่อาจจะได้รายได้รวมต่อปีลดลงไปเล็กน้อย แต่เมื่อประเมินศักยภาพของ ปตท. แล้ว น่าจะหาเงินส่วนที่ขาดหายไปได้โดยไม่ยากเย็นนัก (จากตัวอย่างที่ยกมา เงินที่ ปตท. ขาดหายไปคือ 50,000 ล้านบาท) ยังมีน้ำมันเถื่อนอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ น้ำมันเถื่อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อนซื้อน้ำมันมาในราคาประเทศเพื่อนบ้าน แล้วขายไปในประเทศในที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันที่ถูกกฎหมายในประเทศ แต่น้ำมันเถื่อนที่กำลังจะบอกก็คือ น้ำมันเถื่อนรูปแบบนี้จะมีขายในภาคใต้ตอนบนทุกจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล ไล่ลงไปแต่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เรื่อยลงไป โดยน้ำมันเถื่อนรูปแบบนี้ พ่อค้าจะซื้อมาที่ราคาสูงกว่าราคาที่ ปตท. ขายไปให้ต่างประเทศเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณลิตรละ 24 บาท แล้วพ่อค้าก็นำน้ำมันเถื่อนนี้ไปปนรวมกับน้ำมันถูกกฎหมายในถังน้ำมันของตนเองตามปั๊มน้ำมันต่าง ๆ แล้วก็ขายปลีกเท่ากับราคาในประเทศ ซึ่งพ่อน้ำมันเถื่อนแต่ไม่เถื่อนลักษณะนี้ก็ได้กำไรโขอยู่ทีเดียว การกระทำแบบนี้ คล้าย ๆ กับการเปลี่ยนสัญชาติน้ำมันให้ถูกต้องแล้วขายตามราคาปกตินั่นเอง จึงอดสงสัยไม่ได้อีกเช่นกันว่า ใครเป็นคนขายน้ำมันที่ว่านี้ให้แก่พ่อค้าน้ำมันเถื่อนแต่ไม่เถื่อนพวกนี้
4. บทสรุป
สาเหตุของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาจาก ผลประโยชน์ในธุระกิจน้ำมันเถื่อน โดยมีกลไกทางการตลาดของปตท.เข้าไปมีส่วนเเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความตั้งใจของ ปตท. หรือไม่ แต่ปัญหาทั้งหมดสามารถยุติได้ที่ ปตท. และนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล แต่ก็ต้องบอกว่าพูดยาก เพราะระหว่างกำไรที่เห็นเป็นกอบเป็นกำ กับ ความสงบสุขของพี่น้องไทยในพื้นที่ ปตท.จะเลือกสิ่งไหน ในเมื่อ ปตท. ทุกวันนี้คือเครื่องมือทำกำไรของพวกนักลงทุน ไม่ใช่ ปตท. ที่มีเคยสโลแกนว่า "พลังไทย เพื่อไทย" อีกต่อไปแล้ว
ทั้งหมดที่ผมว่ามา ถ้าอยากรู้ว่ามันเป็นจริงหรือไม่ มีวิธีพิสูจน์คือ ประกาศแบ่งแยกดินแดนไปให้กลุ่มอุดมการณ์ ฯ เสียเลย หากไม่มีใครคัดค้านหรือต่อต้าน แสดงว่าสิ่งที่ผมว่ามาผิดทั้งหมด แต่ถ้ามีคนออกมาต่อต้านขัดขวางไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดน(โดยเฉพาะคนในพื้นที่) แสดงว่า สิ่งที่ผมว่ามาถูกทั้งหมด เพราะหากรัฐบาลไทยหรือคนไทยพร้อมใจกันยกดินแดนให้แก่อุดมการณ์ฯ ขึ้นมาจริง ๆ ทั้งกลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อนและกลุ่มอุดมการณ์ ฯ ต่างก็เดือดร้อนอย่างทั่วถึง (ตรงนี้หากยังไม่เข้าใจ โปรดอ่านใหม่ซ้ำอีกรอบ) จะพิสูจน์ตามที่ผมพูดก็ได้ ถ้ารัฐบาลไทยและคนไทยใจถึงและกล้าพอ แต่คิดว่าประตูนี้คงไม่เปิด
แต่ถ้าไม่แบ่งแยกดินแดนให้เขา แล้วปัญหามันจะยุิติอย่างไร? ง่าย ๆ เลยครับ ปตท. ลองขายน้ำมันภายในประเทศในราคาเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านดูสิครับ ผมเอาหัวเป็นประกันว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วปัญหาความสงบจะค่อย ๆ ลดลง อยู่ที่ ปตท. จะทำ(เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ)ได้ไหมล่ะ?
| |
http://narater2010.blogspot.com/
|
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)