การสาบาน เรียกตามศัพท์เฉพาะในศาสนาอิสลามว่า อัลยะมีนหรืออัลฮัลฟฺ (เรียก ตามภาษายาวี ว่า ซุมเปาะฮฺ) คำว่า ยะมีน (يمين) หมายถึง มือขวาที่ตรงกันข้ามกับมือซ้าย เหตุที่เรียก การสาบานว่า ยะมีน เพราะผู้สาบานจะจับมือขวาของผู้ร่วมสาบาน บ้างก็กล่าวว่า เพราะการสาบานจะรักษาสิ่งนั้นๆ เยี่ยงที่มือขวาจะรักษาสิ่งนั้น (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ, ซัยยิด ซาบิก 2/66)
ตามหลักนิติศาสตร์ คำว่า ยะมีน หมายถึง การกระทำให้เรื่องนั้นๆ เป็นจริง หรือการ เน้นย้ำสิ่งนั้นๆ ด้วยการกล่าวพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ (ซุบบาฮานาฮุวะตะอาลา) หรือคุณลักษณะ (ซีฟัต) หนึ่งจากบรรดาคุณลักษณะของพระองค์ หรือหมายถึง การทำข้อตกลงที่ผู้สาบานจะมีความมุ่งมั่น (อัซมฺ) อย่างจริงจังด้วยการสาบานนั้นต่อการกระทำหรือการละทิ้ง คำว่า ยะมีน, ฮัลฟฺ, อีลาอฺ และ ก่อซั่ม มีความหมายเดียวกัน (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)
มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สาบานดังนี้
(1) บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะ
(2) สมัครใจในการสาบาน ไม่ถูกบังคับ
(3) มีเจตนาในการสาบานและการสาบานนั้นจำต้องมีสำนวนหรือถ้อยคำที่ใช้ในการสาบานตามข้อกำหนดดังในคำนิยามข้างต้น
ประเภทของการสาบาน
การสาบาน (ยะมีน) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1) ยะมีน อัลฆ่อมูซ (يمين الغموس) คือ การที่บุคคลสาบานเท็จโดยเจตนา อาทิเช่น การที่ผู้สาบานกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ (วัลลอฮิ) ฉันจะกระทำสิ่งนี้แน่นอน” โดยที่เขา ไม่กระทำสิ่งนั้น เหตุที่เรียกการสาบานประเภทนี้ว่า “ฆ่อมูซ” ซึ่งแปลว่า จุ่ม เพราะการสาบานดังกล่าวจะจุ่มผู้สาบานลงในความบาป (มินฮาญุ้ลมุสลิม หน้า 570) บางทีก็เรียกการสาบานประเภทนี้ว่า อัซซอบิเราะฮฺ (الصابرة) ซึ่งหมายถึงการสาบานเท็จที่มุ่งทำลายบรรดาสิทธิหรือ มีเจตนากระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักการและบิดพลิ้วด้วยการสาบานนั้น (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ 2/72)
ข้อชี้ขาด การสาบานประเภทนี้ ถือเป็นบาปใหญ่ และการเสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) สำหรับการสาบานประเภทนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเตาบะฮฺและขอลุแก่โทษ (มินฮาญุล มุสลิม หน้า 570) และจำต้องส่งคืนสิทธิไปยังเจ้าของ เมื่อการสาบานมีผลทำให้เจ้าของสิทธิสูญเสียสิทธิ (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ 2/72,73)
2) ยะมีน อัลลัฆวี่ย์ (يمين اللغو) หมายถึง การสาบานโดยไม่มีเจตนาสาบาน แต่เป็น การพูดติดปาก อาทิเช่น การกล่าวว่า ไม่! ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เป็นต้น
ข้อชี้ขาด การสาบานประเภทนี้ ผู้สาบานไม่มีบาปแต่อย่างใดในการสาบาน และ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) แต่อย่างใด (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ 2/72, มินฮาญุลมุสลิม หน้า 571)
3) ยะมีน มุนอะกิดะฮฺ (يمين منعقدة) หมายถึง การสาบานซึ่งผู้สาบานมีเจตนาและมุ่งมั่นต่อการสาบานนั้น บ้างกล่าวว่า : หมายถึง การที่บุคคลสาบานว่าจะกระทำเรื่องหนึ่งที่เป็นอนาคตหรือไม่กระทำเรื่องนั้น (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ 2/72)
ข้อชี้ขาด ผู้ใดสาบานแล้วผิดสาบานในประเภทนี้ถือว่ามีบาปและจำเป็นที่ผู้นั้นต้อง เสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) และเมื่อผู้นั้นเสียค่าปรับนั้นแล้ว บาปอันเนื่องจากการผิดสาบาน ก็ตกไป (มินฮาญุ้ลมุสลิม หน้า 571)
แนวทางในการแก้คำสาบาน (Sumpah)
1. กรณีการสาบาน (Sumpah) มีองค์ประกอบครบตามเงื่อนไขที่ระบุข้างต้น หากผู้สาบานประสงค์ถอนคำสาบานจำต้องเสียค่าปรับ (Kaffaraah,Expiatory giff) ภายหลังการถอน คำสาบาน (The violation of an oath) ดังนี้
ก. เลี้ยงอาหารคนยากจนจำนวน 10 คน ด้วยอาหารในระดับปานกลางที่ครอบครัวของ ผู้สาบานรับประทาน หรือมอบธัญญาหาร (อาทิเช่น ข้าวสาร) แก่คนยากจนจำนวน 10 คนๆ ละ 1 ทะนาน (อิอานะตุตตอลิบีน, อัซซัยยิด อัลบักรี่ย์, เล่มที่ ๔/๓๖๖ สำนักพิมพ์ดารุ้ลฟิกร์, (เบรุต เลบานอน), ค.ศ.1993)
ข. มอบเครื่องนุ่งห่ม อาทิเช่น เสื้อ, ผ้านุ่ง เป็นต้น แก่คนยากจนจำนวน 10 คน (โดย แต่ละคนได้รับเครื่องนุ่งห่มดังกล่าวคนละ 1 ชิ้น)
ค. ปล่อยทาส (ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีทาส การเสีค่าปรับในข้อนี้จึงถือว่าตกไป) (อัลฟิกฮุ้ลอิสลามีย์ฯ, ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์, เล่มที่ ๓/๔๙๗ สำนักพิมพ์ดารุ้ลฟิกร์ (เบรุต), (พิมพ์ครั้งที่ 2) ค.ศ.1984)
ทั้งนี้ผู้ถอนคำสาบานสามารถเลือกการเสียค่าปรับข้อหนึ่งข้อใดจาก 3 ข้อนี้ได้ ตามสถานภาพหรือฐานานุรูปของตน หากไม่สามารถเสียค่าปรับตามที่กล่าวมา ผู้ถอนคำสาบานจำต้องถือศีลอดเป็นเวลา 3 วัน (ตามเงื่อนไขของการถือศีลอด โดยตั้งเจตนาว่าตนถือศีลอด กัฟฟาเราะฮฺ และการตั้งเจตนานี้จำต้องกระทำในช่วงเวลากลางคืนเหมือนการถือศีลอดที่จำเป็น) โดยการถือศีลอด 3 วันติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม (อิอานะตุตตอลีบีน อัซซัยยิด อัลบักรีย์, เล่มที่ ๔/๓๖๗ , สำนักพิมพ์ดารุ้ลฟิกร์ , ค.ศ.1993)
อนึ่งการเสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) เนื่องจากการถอนคำสาบานนั้น ผู้ถอนคำสาบานสามารถกระทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยผู้รู้ทางศาสนามาประกอบพิธีแต่อย่างใด
กรณีการสาบาน (Sumpah) ขาดองค์ประกอบหลักตามเงื่อนไขที่ระบุข้างต้น ถือว่า การสาบานนั้นเป็นโมฆะ (Invalid) และไม่มีผลอันใดติดตามมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้ปากคำ ของผู้ต้องหาที่มีส่วนร่วมในขบวนการก่อความไม่สงบทางภาคใต้ในชั้นต้น โดยพิจารณาดังนี้
ก. หากผู้สาบานให้การสารภาพในชั้นต้นว่า ตนถูกบังคับให้สาบานโดยขาดความสมัครใจ การสาบานนั้นย่อมเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลอันใดติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นการผิดคำสาบานหรือการเสียค่าปรับ เพราะการสาบานของผู้ถูกบังคับนั้นไม่เป็นผลในเบื้องต้นอยู่แล้วตามหลักการศาสนา (อัลบัยญูรีย์ เล่มที่ ๒/๕๘๕ สำนักพิมพ์ดารุ้ลกุตุ้บ อัลอิลมียะฮฺ (เบรุต) ค.ศ.1999/ มัตละอุ้ลบัดรอยนฺฯ, มุฮำมัด อิบนุ อิสมาอีล ดาวุด อัลฟาตอนีย์, หน้า ๒๑๑, สำนักพิมพ์มุฮำมัด อันนะฮฺดีย์ ม.ป.ป.)
ข. หากสอบปากคำผู้ต้องสงสัยแล้วได้ความว่า สำนวนในการสาบานมีรูปประโยคว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะไม่เปิดเผยความลับกับคนที่มิได้ร่วมขบวนการ หากข้าพเจ้าเปิดเผยความลับแล้ว ถือว่าข้าพเจ้าเป็นบุคคลนอกศาสนา (ตกศาสนา)” เป็นต้น การสาบานด้วยสำนวนทำนองนี้ไม่ถือเป็นการสาบานตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ จึงไม่มีการเสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) ในการผิดคำสาบานแต่อย่างใด ทั้งนี้การใช้สำนวนตามรูปประโยคข้างต้นถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) จึงสมควรกล่าวคำปฏิญาณตน (อัชชะฮาดะฮฺ) “ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ มุฮำมัด ร่อซูลุ้ลลอฮฺ” และขอลุแก่โทษ (อิสติฆฟ๊าร) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซุบบาฮานาฮุวะตะอาลา) (กิฟายะตุ้ลอัคย๊ารฯ , อัลฮุซอนีย์ หน้า ๕๔๒ สำนักพิมพ์ดารุ้ลคอยฺร์ (เบรุต) ค.ศ.1991)
ค. กรณีการก่อความไม่สงบด้วยการประทุษร้าย , การละเมิดในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น การทำลายสาธารณูปโภคและการประกอบอาชญากรรมทุกรูปแบบถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ตามหลักการของศาสนา ดังนั้นการสาบานเพื่อกระทำการดังกล่าว ศาสนาถือว่าผู้สาบานเช่นนั้นได้ฝ่าฝืนหลักนิติธรรมและเป็นผู้ประพฤติชั่ว (ฟาซิก) ผู้สาบานนั้นจำต้องผิดคำสาบาน (กล่าวคือ จะกระทำการตามคำสาบานนั้นมิได้โดยเด็ดขาด) และจำต้องเสียค่าปรับเพื่อไถ่ถอนความผิด (อัลบัยญูรีย์ อะลาชัรฮิ้ลอัลลามะฮฺ อัลกอซิม อัลฆอซซีย์, เล่มที่ ๒/๕๘๖, ฟัตฮุ้ลวะฮฺฮาบ บิชัรฮิ มินฮะญิตตุ้ลล๊าบ, ชัยคุ้ลอิสสลาม อบียะฮฺยา ซะกะรียา อัลอัน ซอรีย์ เล่มที่ ๒/๒๔๔, สำนักพิมพ์ดารุ้ลฟิกร์ (ไคโร) ค.ศ.1994)
และการให้ความร่วมมือในการสืบสวนคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญเพื่อหาผู้กระทำผิดตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสร้างความสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินถือเป็นภารกิจจำเป็น (วาญิบ) ตามหลักการของศาสนา ดังนั้นการสาบานว่าจะไม่กระทำสิ่งที่เป็นภารกิจจำเป็น (วาญิบ) หรือเข้าข่ายละทิ้งหน้าที่ จึงถือว่าผู้สาบานได้ฝ่าฝืนหลักคำสอนของศาสนาและถือเป็นผู้ประพฤติชั่ว (อัลอาซีย) ด้วยคำสาบานเช่นนั้น และจำต้องผิดคำสาบาน (กล่าวคือ จะละทิ้งหน้าที่อันเป็นภารกิจทางศาสนามิได้) และจำต้องเสียค่าปรับเพื่อไถ่ถอนความผิดนั้นด้วย (มุฆนีย์อัลมุฮฺต๊าจฺญ์, อัลค่อตีบ อัชชัรบีนีย์ , เล่มที่ ๖/๑๘๙ สำนักพิมพ์ ดารุ้ลกุตุบอัลอิลมียะฮฺ (เบรุต) ค.ศ.1994/อัลอิกนาอฺ ฟี ฮัลลี่ อัลฟ๊าซฺ อบีชุญาอฺ, อัลค่อตีบ อัชชัรบีนีย์ เล่มที่ ๒/๕๘๙, สำนักพิมพ์ ดารุ้ลกุตุบอัลอิลมียะฮฺ (เบรุต) ค.ศ.1994)
ง. หากพิจารณาไตร่ตรองดูแล้วว่าการผิดคำสาบานเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่า การรักษาคำสาบาน ถือว่าการผิดสาบานนั้นเป็นเรื่องที่อนุญาตให้กระทำได้ทั้งนี้เพราะเป็นการ ไม่สมควรที่จะนำเอาการสาบานมาเป็นสิ่งกีดกั้นมิให้กระทำความดีและการประนีประนอม (สมานฉันท์) (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ, ซัยยิดซาบิก เล่มที่ ๒/๙๗ สำนักพิมพ์ดารุ้ลฟัตฮฺ (ไคโร) ค.ศ.1996)
เขียนโดย อ.อาลี เสือสมิง