‘อิมรอน’
http://pulony.blogspot.com/2015/04/blog-post_20.html
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจได้สนธิกำลังเพื่อเข้าพิสูจน์ทราบหลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการรวมตัวของกลุ่ม ผกร. เพื่อเตรียมก่อเหตุในพื้นที่ หมู่ 6 บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์สามวันก่อนหน้านั้นหน่วยงานความมั่นคงได้รับแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวของสมาชิกแนวร่วม ผกร.ระดับปฏิบัติการ RKK จำนวน4 คน ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จำนวน 2 คัน เป็นยานพาหนะ คาดว่าเป็นนายอันวาร์ ดือราแม, นายมากูรอซี แมเลาะ, นายอุสมัน สะมะ และอีกคนไม่ปรากฏชื่อ
จากการวิเคราะห์ข่าวสารคาดว่ากลุ่ม ผกร. ดังกล่าวจะเข้ามาในพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อเหตุต่อเป้าหมายฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความอ่อนแอ หรือเตรียมก่อเหตุลอบวางระเบิด, ลอบซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งลอบยิงราษฎรชาวไทยพุทธ ตลอดจนเป้าหมายอ่อนแอ
และในเวลาต่อมามีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ เพื่อบังคับใช้กฎหมายในการติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยลงในพื้นที่ทันที จนเกิดเหตุการปะทะมีผู้เสียชีวิต 4 คน จับกุมตัว 22 คน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางของกลุ่ม องค์กรต่างๆ มีการออกมาเคลื่อนไหวจนกระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏ โดยมีกำหนดเวลาการทำงาน 7 วัน
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลการสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดั เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ถูกต้อง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบตามหลักนิติธรรมและคุณธรรม
คณะกรรมการมีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ เนื่องจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารสามารถปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยไม่ต้องมีหมายค้น
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูดได้ตั้ง 3 ประเด็นในการสอบ
- 1. ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่? “ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นเชื่อว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด”
- 2. ปืนเป็นของผู้ตายหรือไม่? “ในชั้นนี้คณะกรรมการจึงไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงาน โดยให้เป็นหน้าที่ของการแสวงหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย”
- 3. ดำเนินคดี, เยียวยา และปรับนโยบาย
- ประการแรก เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
- ประการที่สอง กรณีที่เกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย จำนวน 4คน เนื่องจากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ และเป็นเหตุสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการเยียวยาตามระเบียบดังกล่าวโดยเร็ว
และในวันดังกล่าวแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีการใช้ความรุนแรงที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้มอบหมายให้ ขออภัยต่อพี่น้องประชาชน, ขออภัยต่อผู้ที่เป็นญาติของพี่น้องผู้สูญเสีย และขออภัยต่อท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นจะนำไปแก้ไข
กระบวนการสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีได้พยายามทำลายยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกล่าวหาว่านโยบายทุ่งยางแดงโมเดล เป็นยุทธวิธีที่ต้องการสร้างความขัดแย้งระหว่างคนมลายู ฆ่าประชาชนแล้วไม่มีความผิด ฆ่าประชาชนแล้วโยนผิดให้RKK ทำเรื่องเน่าๆ แล้วโยนให้โจรใต้
มีการทิ้งใบปลิวต้องการสื่อให้ประชาชนรับรู้ มีความพยายามให้มีการทบทวนหรือยุติการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากกลุ่มขบวนการกลัวเสียมวลชนจึงมีใช้วิธีการทุกรูปแบบในการปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านนโยบายทุ่งยางแดงโมเดล โดยชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายทุ่งยางแดงโมเดล
ข้อเท็จจริงนโยบายทุ่งยางแดงโมเดล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านโต๊ะชูด เป็นคนละส่วนกัน นโยบายทุ่งยางแดงโมเดล เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยกันเองโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยเป็นพี่เลี้ยง ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้านโต๊ะชูดนั้นเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายในการติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย จึงขอให้พี่น้องประชาชนแยกแยะว่ามีบุคคลบางกลุ่มพยายามทำลาย สร้างความแตกแยกขึ้นในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ต้องการให้ประชาชนให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจแต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนกล้าพอที่จะหยิบยกออกมาสื่อให้สาธรณชนได้รับรู้เนื่องจากหลังเกิดเหตุการณ์ กระแสน้ำกำลังเชี่ยวกราก เกรงว่าหากนำเรือไปขวางกั้นจะเกิดการพลิกคว่ำของลำเรือง่ายๆ
ผลการพิสูจน์หลักฐาน ของนายซัดดัม วานุ ผู้ตายมีความเชื่อมโยงต่อเหตุการณ์ และเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงที่มีการเก็บข้อมูลไว้เมื่อ 9 ธันวาคม 2556โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี
- ผลการพิสูจน์หลักฐาน 5 ใน 22 คน พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และนายสมาน วาเด็ง มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดที่ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 56
- 1 ใน 22 มีหมายจับ ป.วิอาญาแต่อยู่ในระหว่างการประกันตัวคือ นายฮำรี หะยีจิ อายุ 30 ปี เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ
- จากการตรวจสอบมากกว่า 11 คน มีความเชื่อมโยงกับแนวร่วมผู้ก่อเหตุรุนแรง และที่น่าตกใจคือ 18 คน จาก 22 คน เมื่อมีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดมีฉี่เป็นสีม่วง
แต่กลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดียังมีหน้าทิ้งใบปลิวในพื้นที่ด้วยการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ขายยามอมเมาประชาชนมลายู กลุ่มขบวนการต่างหากที่มีการใช้ยาเสพติดในการมอมเมาเยาวชนแล้วใช้ในการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ อีกทั้งกลุ่มขบวนการยังมีความเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาภัย
แทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายครั้งด้วยกันเมื่อมีการจับกุมยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าลอบหนีภาษี จะมีการซัดทอดผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือระดับแกนนำกลุ่ม ผกร. ซึ่งรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำจากการกระทำผิดกฎหมายเหล่านี้จะเป็นแหล่งเงินทุน เป็นท่อน้ำเลี้ยงสนับสนุนการจัดซื้ออาวุธ รวมทั้งอุปกรณ์ในการประกอบระเบิดเพื่อใช้ในการก่อเหตุ
ที่กล่าวมาข้างต้น
เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้รับการเปิดเผยที่ใดมาก่อน ซึ่งหากเป็นจริงดังผลการพิสูจน์หลักฐาน ย่อมเป็นสิ่งยืนยันว่าการรวมตัวของกลุ่มคนสามสิบกว่าคนย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน ไม่ใช่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเสพยาเสพติด แต่เป็นการวางแผนเพื่อก่อการอะไรสักอย่าง ที่สำคัญจากการพิสูจน์หลักฐาน ย่อมชี้ชัดบวกกับการแจ้งของแหล่งข่าวว่ามีการเคลื่อนไหวของแกนนำระดับสั่งการ แต่ความพลาดพลั้งของเจ้าหน้าที่ในการวิสามัญ 4 ศพ ได้สร้างเงื่อนไขขึ้นมาก่อน มิเช่นนั้นน้ำหนักในกระบวนการซักถามจะนำไปสู่ความจริงทั้งหมด
จากเหตุการณ์บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี จะเป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานความมั่นคงในการทบทวนใช้กำลังให้มีความรอบคอบในการปฏิบัติยิ่งขึ้น การออกมากล่าวคำขอโทษของท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีการใช้ความรุนแรงที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้มอบหมายให้ต่อพี่น้องประชาชน ญาติของพี่น้องผู้สูญเสีย และต่อท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและจะนำไปแก้ไข ถือได้ว่าลดกระแสต้านไปได้บางส่วนแต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่พยายามจ้องทำลายหาโอกาสปลุกระดมมวลชนอยู่
สุดท้ายผู้เขียนอยากจะฝากให้ท่านผู้อ่านได้ตั้งข้อสังเกต
มีองค์กร NGOs บางกลุ่มได้อาศัยความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการปลุกกระแสสร้างความเกลียดชัง สร้างความขัดแย้งแบ่งเขาแบ่งเรา ยุยงประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ พยายามทุกวิถีทางในการบ่อนทำลายนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา PerMAS ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติ ไม่ต้องการให้มีการพูดคุยสันติสุขเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น...
- แล้วพวกเขาต้องการอะไร?..
- คอยจับตามองกันต่อไป!!!
------------------------