วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

กราดยิงชาวบ้านบันนังกูแว ความจริงที่สื่อไม่กล้าเปิดเผย


กราดยิงชาวบ้านบันนังกูแว ความจริงที่สื่อไม่กล้าเปิดเผย


ตนไทยปลายด้ามขวาน

             สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ผู้ที่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอด จากการนำเสนอของสื่อมวลชนในแต่ละวันจะเห็นได้ว่ามีความรุนแรงขึ้นทั้งที่ก่อนหน้านี้เหตุการณ์ได้บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้ไฟใต้ไม่มีทีท่าจะดับลงสักที ความสงบ สันติสุข ที่ประชาชนในพื้นที่คาดหวังจากการพูดคุยสันติภาพต้องการ จะเป็นจริงได้หรือไม่ หากเหตุการณ์ยังคงคุกกรุ่นเช่นนี้อยู่ และจะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดวันต่อวัน นอกเหนือไปจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างความแตกแยกทางความคิด บ่อนทำลายความรู้สึกของคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดินเกิดทุกคน


            ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ และรู้สึกเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์ฆ่ากันตายรายวันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีวี่แววจะสงบสักที ผู้คนต่างกล่าวถึงการก่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องปกติประจำวัน หากวันไหนเงียบไม่เกิดเหตุ รู้สึกผิดปกติ เพราะต่างคนต่างรู้สึกชินชากับเหตุร้าย และสามารถใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด และกลิ่นคาวเลือด แต่จากการสังเกตในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าการก่อเหตุรุนแรงมีการมุ่งเป้าไปที่ประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก หลังจากนั้นมีการกล่าวอ้างเอาคืนด้วยการฆ่าแล้วเผาชาวไทยพุทธเพื่อสร้างเงื่อนไขความเกลียดชัง ความขัดแย้งขึ้นระหว่างเชื้อชาติ และศาสนา ในส่วนของการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่มีบ้างประปราย หากสังเกตจะพบว่าการก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ผู้ก่อเหตุรุนแรงจะเน้นการใช้ระเบิดเป็นหลัก ต่างกับประชาชนทั่วไปจะเป็นไปในลักษณะของการลอบยิง วางเพลิง และโปรยใบปลิวอ้างความชอบธรรมในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยการกล่าวอ้างทำเพื่อประชาชนปาตอนี



           ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งที่ได้สะสมมานานแล้ว มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนกับธุรกิจการค้าความขัดแย้งระหว่างคนในตระกูล ปัญหาการเมืองท้องถิ่น ปัญหาภัยแทรกซ้อน กลุ่มอิทธิพลมืด ธุรกิจผิดกฎหมาย และยาเสพติด กลายเป็นเชื้อในกองเพลิงชั้นดีในการสุมให้ไฟใต้ไม่มีวันดับ การสร้างสถานการณ์ต่างๆ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเพื่อดึงดูดความสนใจ เหตุจูงใจให้กลุ่มผู้ที่กระทำผิดกฎหมายในเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน หันมาใช้บริการกลุ่ม RKK ติดอาวุธในพื้นที่เข่นฆ่าคู่ขัดแย้งธุรกิจเถื่อนเหตุนองเลือดจึงเริ่มต้นขึ้น เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่โดยการอาศัยสถานการณ์บังหน้า ในการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการ BRN ผสมโรงโดยกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการในมหาวิทยาลัยดัง โดยเฉพาะกลุ่ม PerMAS ที่อาศัยสถานการณ์ความขัดแย้ง ปลุกปั่น ปลูกฝัง สืบทอดอุดมการณ์ด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และมาตุภูมิ ให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความแปลกแยกด้านจิตใจ นำไปสู่ความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐ


              ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ในการก่อเหตุฆ่ากันเองของประชาชนกลายเป็นปัญหาที่มีการนำมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ไฟใต้ได้อย่างแนบเนียน ลงตัวประจวบเหมาะกับห้วงเวลา มีการบิดเบือนกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จากกรณีนายอาแซ (ซัน) สมาชิกครอบครัว “ผดุง” บ้านบันนังกูแว ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับอับดุลฮากิม ดาราเซะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันมาจากความแค้นส่วนตัว ความหวาดระแวง และความกังวลว่าจะถูกลอบทำร้ายจึงตัดสินใจชิงลงมือทำการก่อเหตุกราดยิงจน นายดอเลาะนางมารีแย ผดุง ต้องมาจบชีวิตแทนลูกชายคาบ้านพัก กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วไป 

          ซึ่งหลังเกิดเหตุนายอับดุลฮากิม กลายเป็นผู้ต้องสงสัยทันที่พร้อมกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่การดำเนินเกมส์ของขบวนการ BRN และกลุ่ม PerMSAS ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อ กล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หากพลิกปูมหลังของคนในตระกูล “ผดุง” นำมาส่องทีละคนพบว่าไม่ธรรมดาอย่างที่คิด ไม่ติดใจเลยว่าทำไมกลุ่มขบวนการ BRN และกลุ่ม PerMAS จึงจัดฉากสร้างละครให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ โดยนายดอเลาะ ผดุง ผู้พ่อ พฤติกรรมเป็นแนวร่วม เมื่อปี 2553 แต่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร แต่ต่อมาภายหลังจากนายมะยาหะรี อาลี ซึ่งเป็นแกนนำในพื้นที่บ้านบันนังกูแว ได้ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต นายดอเลาะ ผดุง ได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนอย่างเต็มตัว 

            นางมารีแย ผดุง ภรรยา นายดอเลาะ มิใช่ย่อยแต่เริ่มเดิมทีเป็นแกนนำฝ่ายสตรีเคลื่อนไหวในพื้นที่ ทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชน ชักชวนให้ราษฎรออกมาชุมนุมต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่บ้านบันนังกูแว ส่วนตัวลูกชาย คือนายอาแซ (ซัน) ผดุง เดิมเป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการ จบการศึกษาชั้น 10 จากโรงเรียนธรรมวิทยา ขณะกำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิด 7 จุด ภายในเขตเทศบาลเมืองยะลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 หน่วยงานภาครัฐจึงได้ออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 นายอาแซ ได้ไปรายงานตัวแสดงตนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อเข้าร่วมศูนย์ยะลาสันติสุข ได้ยอมรับว่าเคยถูกชักชวนเข้าร่วมขบวนการจริงสมัยที่เรียนอยู่โรงเรียนธรรมวิทยา แต่ไม่เคยก่อเหตุรุนแรงจึงได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 ที่น่าสนใจคือในปัจจุบันนายอาแซ ผดุง เป็นสมาชิกกลุ่มชมรมบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนใต้ (Insouth) และสมาชิกกลุ่ม PerMAS ที่มีนายสุไฮมี ดูละสะ เป็นประธานกลุ่มในการขับเคลื่อนแย่งชิงมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

             ย้อนกลับไปดูต้นตอความขัดแย้งของตระกูล “ผดุง” กับนายอับดุลฮากิม ดาราเซะ มาจากสาเหตุนายอาแซ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดอีกถึง 2 ครั้ง ด้วยกันหลังได้รับการปล่อยตัว และปมที่สำคัญนำไปสู่ความขัดแย้งเริ่มต้นจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดนายอับดุลฮากิม ดาราเซะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กับพวกในพื้นที่บ้านบันนังกูแว โดยนายอับดุลฮากิมฯ ให้การยืนยันชัดเจนว่า นายอาแซ ผดุง มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่ความบาดหมาง ความหวาดระแวง และในที่สุดนำมาซึ่งความตายของคนในครอบครัว“ผดุง” ถึง 2 ศพ ด้วยกัน

 

            หลังเกิดเหตุกลุ่ม PerMAS สร้างละครน้ำเน่าเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ลงพื้นที่เกิดเหตุทันที กล่าวหาเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านขบวนการ BRN มิรอช้าใช้โอกาสในการก่อเหตุ กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ทันทีโดยการปาระเบิด M-26A1 ร้านก๋วยจั๊บ หน้าโรงเรียนผดุงประชาพาณิชยการ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 แต่โชคดีระเบิดด้านไม่มีผู้บาดเจ็บล้มตาย พร้อมกันนี้ได้ทิ้งใบปลิวไว้ข้อความว่า “โทษฐานที่มึงปล่อยให้หมาอับดุลฮากิม ดาราเซะอส.อ.บันนังสตา ระรานชาวบ้านบันนังกูแว” ถัดมาวันที่ 4 มีนาคม เกิดเหตุยิง 2 สามีภรรยาชาวไทยพุทธ พื้นที่เกิดเหตุหมู่ที่ 2 ตำบล/อำเภอบันนังสตา นายอภิชาต แสงจันทร์ นางอังคณา หนูแดง ภรรยาเสียชีวิต สามีได้รับบาดเจ็บ ส่วนวันที่ 5 มีนาคม 2557 เหตุเกิดกับชาวไทยพุทธเช่นเดิม นายประวิง นางสุนีย์ หลุมนา เสียชีวิตคาที่เหตุเกิดพื้นที่ บ้านจาเต๊ะ หมู่ที่ 1 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา และเหตุการณ์ที่ 4 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 คนร้ายประกบยิง สิบโทจิรพันธ์ ปราบณรงค์ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 ช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เสียชีวิต ส่วนนางสาวอารีรมณ์ สมสวย ภรรยาได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดท้องที่บ้านทุ่งคอก ตำบลตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พร้อมทิ้งใบปลิว “กูทำเพื่อชาวบ้าน บันนังกูแว”

            นี่คือความเลวร้ายของกลุ่มขบวนการ BRN ที่ยังคงใช้ยุทธวิธีรูปแบบเดิมๆ ในการก่อเหตุ จากปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว การฆ่ากันเองของกลุ่มสูญเสียผลประโยชน์ นำมาซึ่งความตายของการฆ่ากัน ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขบวนการ BRN กลับนำมาอ้างว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ผลสุดท้ายสร้างความหวาดกลัวด้วยการลงมือเข่นฆ่าชาวไทยพุทธผู้บริสุทธิ์ พร้อมกับสร้างความชอบธรรมด้วยการโปรยใบปลิว อย่างหน้าด้านๆ แค่ต้องการเอาคืนที่คนของขบวนการโดนฆ่าตาย ทั้งๆ ที่ประชาชนผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับใครทั้งสิ้น ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อความจริงปรากฏออกมาโจรใต้ไร้ศาสนากลุ่มนี้ไม่เคยออกมารับผิดชอบ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปตราบใดไฟใต้ยังไม่มอดดับ ตราบใดที่ยังมีเชื้อเพลิงคอยหล่อเลี้ยงอยู่ อีกกี่ศพที่จะต้องสังเวยกับคราบน้ำตาที่ไม่เคยแห้งเหือดของคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวไปศพแล้วศพเล่า อนิจจา..ความสงบ สันติสุข ที่ทุกคนโหยหา…

*****************************

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

งานหลักของ PerMAS

งานหลักของ PerMAS


           พบกันฉบับนี้ก็คงหนีไม่พ้นการบอกเล่าเรื่องราวของ สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ปาตานีหรือ PerMAS ที่มี นายสุไฮมu ดูละสะ เป็นประธานอีกเช่นเคย เพราะจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การกระทำในบางสิ่งบางอย่างนับวันจะแสดงให้เห็นถึงปีกทางการเมืองเพื่อนำมวลชน ของขบวนการ บีอาร์เอ็น.(BRN.) ในคราบนักศึกษามากยิ่งขึ้นทุกวัน จนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มเกิดอาการไม่ค่อยไว้ใจนิสิต นักศึกษา ในสถาบันการศึกษา 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้างแล้วเวลานี้ มูลเหตุที่คิดว่า PerMAS เกี่ยวข้องกับขบวนการ บีอาร์อ็น.(BRN.) นั่นคือ งานและกิจกรรมที่กระทำ ทั้งการสืบเสาะหาข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบ นำมาสร้างกระแส ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกลวงประชาชน หน่ำซ้ำยังดึงต่างชาติ ต่างประเทศเข้ามาพัวพันสนับสนุนการทำงานหลังจากที่องค์กรบางองค์กรในประเทศเริ่มตีตัวออกห่าง เพราะเริ่มเห็นว่า PerMAS ไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์จริง แต่ทำเพื่อผลประโยชน์แอบแฝง 




          เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยิ่งชัดเจนแบบปฏิเสธไม่ได้ถึงรูปแบบกระบวนการคิด การทำงานของกลุ่ม PerMAS 
ในการนำเหตุการณ์ของคนร้ายที่บุกเข้ายิงครอบครัวของ นายเจะมุ มะมัน ทำให้ภรรยาของนายเจะมุ มะมัน บาดเจ็บ พร้อมกับลูกน้อยอีก 3 คนต้องเสียชีวิต กลุ่ม PerMAS ได้เอาเหตุการณ์นี้มาปลุกระดมทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ การจัดเวทีสาตู ปาตานี และอื่นๆมาโจมตีว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเหตุผลของความมั่นคง แต่แล้วความจริงก็ปรากฏว่า เหตุการณ์ที่เกิดกับครอบครัว นายเจะมุ มะมัน เป็นการแก้แค้นส่วนตัว ด้วยเหตุที่ว่า นายเจะมุ มะมัน เป็นฆาตรกรในคราบผู้นำศาสนาที่ได้ลอบฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์มาแล้วนั่นเองสถานการณ์พลิกผันแบบนี้PerMAS จะรับผิดชอบอย่างไร ? กับสิ่งที่ได้หลอกลวงประชาชน เป็นเรื่องที่น่าติดตามเพราะคิดว่า “ความคิดชั่วๆ ของPerMAS ยังมีอีกเยอะ”



         เมื่อ 23 ก.พ.57 คนร้ายใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะ กราดยิงแล้วเผาบ้านชาวบ้าน 2 หลัง ที่หมู่ 4 บ.บันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จว.ย.ล.เป็นเหตุให้ชาวบ้านสองสามีภรรยาชาวมุสลิมเสียชีวิต 2 ราย บ้านเรือนเสียหาย รถยนต์โดนเผา 3 คันในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนอาก้า และ M-16 ตกเกลื่อนกว่า 50 ปลอก หลังก่อเหตุคนร้ายได้ขับรถหลบหนีและโปรยตะปูเรือใบระหว่างเส้นทาง แล้วทิ้งใบปลิวกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำอีกเช่นเคย แล้ววันต่อมา นายสุไฮมิง ดุลละสะ นำแนวร่วมของ PerMAS ลงพื้นที่สร้างภาพและผลงานเช่นเคยว่าทำเพื่อคนมุสลิม แล้วช่วยขยายผลว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเคย 

.



อีกเรื่องครับที่เราชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เฝ้าสังเกต คือเมื่อวันที่ 2มี.ค.57 ได้มีชายฉกรรณ์ 2 คน ใส่เสื้อเจ็กเก็ตสีดำ หมวกกันน็อกสีดำ ขี่รถจักรยานยนต์ยีห้อ susuki smash (ขาว/ดำ) ไม่มีป้ายทะเบียน และได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นประกบยิง นายกอรี ดอเลาะ ซึ่งเป็นอีหม่ามประจำมัสยิดบ้านกูยิ(อุสตาส รร.ดารุลกุรอานุลการีมหรือปอเนาะบาบอแม) ขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนดังกล่าว พร้อมกับลูกชายคือ นายฮารีส ดอเลาะ ทำให้ นายกอรี ดอเลาะได้เสียชีวิต และลูกชายได้รับบาดเจ็บ



เช่นเคยครับ ไม่ต่างจากทุกๆ ครั้ง เมื่อใดที่มีการยิงประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่เป็นบุคคลสำคัญ เป็นครู ผู้นำศาสนา หรือเด็ก เน้นที่เป็นไทยมุสลิม PerMASได้นำสมาชิก PerMAS เกือบ 30 คน มี นายสูไฮมิง ดุลละสะ ประธานPerMAS ได้ยกโขยงนิสิต นักศึกษา ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง ขอให้ผู้อ่านทุกท่านได้สังเกตการสวมใส่เสื้อผ้า การใช้รถจักรยานยนต์และอุปกรณ์ประกอบเพื่อแยกเเยะตามลักษณะการเลือกสวมใสเสื้อผ้า การใช้รถ และบุคคลที่ได้รับผลกระทบด้วยน่ะครับ เพราะจากการได้ใกล้ชิดกับสมาชิกของ PerMAS มีหลายเรื่องที่ปิดไม่มิดครับ แต่ที่น่าสนใจในเหตุการณ์นี้คือ PerMAS ได้ดึงเอาภาคประชาสังคมของประเทศมาเลเซีย อย่างนายชากีร ตอฮา ตัวแทนองค์กร AMANI MALAYSIA ภาคประชาสังคม มาเลเซีย มาร่วมด้วย พร้อมกับจัดฉากเรียบร้อยให้สมจริงด้วยการมอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัว นายกอรี ดอเลาะ ก็ยังไม่รู้น่ะครับว่าแผนนี้ของ PerMAS จะออกมาแหกตาประชาชน ประชาชาติ กันอย่างไงอีก ต้องเคยติดตามกันน่ะครับ เพราะเชื่อว่าจากเหตุการณ์ยิงครอบครัว นายเจะมุ มะมัน เป็นทหารพรานฆ่าเพื่อล้างแค้น นายเจะมุ มะมัน PerMAS พลาดตกม้าตายแล้ว แต่น่าจะใช้แผนเชื่อมโยงว่ายังคงเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่อีกหรือไม่ แต่งานนี้มีเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์กันแน่นอนครับ






PerMAS ได้ทำทุกอย่างเพื่อโจมตี ใส่ความ โยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องยอมรับถึงแนวคิด การวางแผนสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับขบวนการ บีอาร์เอ็น.(BRN.) ค่อนข้างเป็นระบบ แต่ยังไงประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขารู้ เขาเห็น และเข้าใจต่อขั้นตอนของการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าใจความต้องการของ PerMAS เพราะเขาเกิดที่นี้ อยู่ที่นี่ และบางคนก็คุ้นเคยกับสมาชิก PerMAS ด้วย.......

ย้อนรอยความจริงเหตุยิงราษฎรบันนังกูแว


ย้อนรอยความจริงเหตุยิงราษฎรบันนังกูแว

ตนไทยปลายด้ามขวาน

           จากเหตุคนร้ายลอบยิงราษฎร บ้านบันนังกูแว อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 จากคำบอกเล่าของเพื่อนบ้านที่ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาท่ามกลางเสียงปืน และเปลวเพลิงที่กำลังลุกไหม้บ้านของนายดอเลาะ ผดุง แต่ไม่มีใครกล้าที่จะออกจากบ้านเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ จนกระทั่งรุ่งเช้าทราบข่าว 2 สามีภรรยาเสียชีวิตคาบ้านพัก พร้อมกับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ถูกคนร้ายวางเพลิงวอดเสียหายนั้น ซึ่งเวลาต่อมาในภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่สนใจและติดตามความคืบหน้าของคดีว่าได้ไปถึงไหนของคนในพื้นที่ เนื่องจากมีองค์กรภาคประชาสังคม สื่อเว็บไซต์ออนไลน์ และกลุ่ม PerMAS มีความพยายามเคลื่อนไหวบิดเบือนความจริงใส่ร้ายว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในการก่อเหตุดังกล่าว

           นายดอเลาะ ผดุง เป็นใคร? ทำไมจึงตกเป็นเป้าในการลอบสังหารอย่างอุกอาจของคนร้ายในครั้งนี้ จากแหล่งข่าวพอที่จะเชื่อถือได้กล่าวว่า นายดอเลาะ และนางมารีแย ผดุง มีอาชีพหลักในการทำสวนยางพารา เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในพื้นที่ ทุกคนในหมู่บ้านต่างรู้ดีว่า นายดอเลาะ เป็นสมาชิกแนวร่วมคนหนึ่ง เป็นมวลชนจัดตั้งของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง BRN เครือข่ายในพื้นที่บ้านบันนังกูแว ส่วนประเด็นมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้น่าจะมาจากประเด็นหลัก 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกความขัดแย้งเรื่องส่วนตัว เกี่ยวข้องการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ประเด็นที่สองอาจจะมาจากตัวลูกชาย คือนายอาแซ ผดุง สมาชิกแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เครือข่ายพื้นที่ตำบลบันนังสตา เคยถูกควบคุมตัวเนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารพราน เมื่อ 19 พฤษภาคม 2552 และล่าสุดเป็นผู้ต้องสงสัยเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดนเมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ 2557 ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 ราย




          เค้าลางความจริงเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อตอนเช้าของวันที่ 3 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้คนพลุกพล่านซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วนเร่งรีบไปทำงาน บางส่วนมาส่งบุตรหลานไปโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองยะลาได้มีคนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยายยนต์ ฮอนด้า เวฟ สีฟ้า เป็นยานพาหนะ หลังจากนั้นได้ใช้ระเบิดขว้างแบบมาตรฐาน ชนิด M-26 A1 ขว้างเข้าไปในร้านก๋วยจั๊บ บ้านเลขที่ 26 ถนนเทศบาล 3 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา หน้าโรงเรียนผดุงประชาพาณิชยการแต่โชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหลังจากเกิดเหตุคนร้ายได้ทิ้งใบปลิวซึ่งมีข้อความว่า “โทษฐานที่มึงปล่อยหมาอับดุลฮากิม ดาราเซะอ ส.อ.บันนังสตา ระรานชาวบ้านบันนังกูแว”ซึ่ง อับดุลฮากิม ดาราเซะ คือ อาสาสมัครรักษาดินแดน อำเภอบันนังสตา 1 ใน 3 ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 ที่บ้านบันนังกูแว



          จากหลักฐานการเชื่อมโยงในการก่อเหตุ วิเคราะห์แล้วความน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ปมประเด็นความขัดแย้งส่วนตัว หรืออาจจะเป็นประเด็นอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ ตามที่องค์กรภาคประชาสังคม สื่อเว็บไซต์ออนไลน์ และกลุ่ม PerMAS ได้ทำการกล่าวหาสร้างความเสื่อมเสียให้กับเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว เช่นเดียวกันกับคดีฆ่าเด็ก 3 ศพ ลูกชายนายเจ๊ะมุ มะมัน อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส จนกระทั่งความจริงได้เปิดเผยนำไปสู่การจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ 2 ราย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยหนึ่ง ได้ออกมากล่าวยอมรับว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุฆ่าล้างแค้นให้กับพี่ชายและพี่สะใภ้ที่กำลังตั้งท้อง 4 เดือน โดนฆ่าเสียชีวิต ซึ่งนายเจ๊ะมุ มะมัน เป็นผู้ต้องสงสัย แต่คดีไม่มีความคืบหน้าเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

           ในส่วนความคืบหน้าของคดีฆ่านายดอเลาะ ผดุง และภรรยา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการเก็บวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ ได้นำปลอกกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 139 ปลอก มาทำการตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบกระสุนปืนดังกล่าวพบว่าใช้ยิงมาจาก ปลย.AK-47 จำนวน 6 กระบอก ด้วยกัน จาการตรวจสอบพบประวัติในสารบบของศูนย์พิสูจน์หลักฐานเขต 10 (ศพฐ.10) จำนวน 1 กระบอก ซึ่งเคยใช้ในการก่อเหตุมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือ เหตุการณ์แรกยิงนายอิสมาแอ อาบูวะ เสียชีวิตหน้าบ้านพักเลขที่ 64/1 หมู่ 1 ตำบลวัด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 เหตุการณ์ที่สองยิงนายคาลิยา เฮดาดา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสตา เสียชีวิตหน้ามัสยิดบันนังกูแว หมู่ 4 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ส่วนอาวุธปืนอีก 5 กระบอก กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการพิสูจน์หลักฐานเพิ่มเติม 



              ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาสังคมและนักศึกษา โดยนายสุไฮมี ดูละสะ ประธานกลุ่ม PerMAS พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษา จำนวน 80 คน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลยังสถานที่เกิดเหตุบ้านบันนังกูแว โดยกล่าวอ้างว่าประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์ประณาม เรียกร้องภาคประชาสังคมและประชาชนให้ร่วมทำการตรวจสอบทุกขั้นตอน โดยมีสื่อ Wartani ประโคมข่าวอ้างว่าชายชุดดำได้ลงมือก่อเหตุ พร้อมทั้งได้นำใบปลิวที่คนร้ายทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุมาทำการเผยแพร่ ข้อความว่า “AkHirnya PengKhiaNat akhiR penGkhiAnat, Patani Merdeka”ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “จุดจบของคนทรยศ ปาตานีเอกราช”มีการสัมภาษณ์อาจารย์ชินทาโร่ ฮารา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อยืนยันถึงความหมายในใบปลิวดังกล่าว พบว่า ข้อความที่เขียนบนใบปลิวนั้นไม่สามารถจะตีความได้ “ผู้เขียนไม่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในภาษามลายู และตีความไม่ได้เลย”

           นี่คือสิ่งชั่วร้ายที่กำลังกัดกิน บั่นทอนความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความรุนแรง จากการกระทำของขบวนการโจรใต้ BRN รวมทั้งสมุนบริวารที่กล่าวอ้างเป็นตัวแทนประชาชนชาวปาตานีแต่กลับมาเข่นฆ่าประชาชนชาวปาตานีด้วยกันเอง เพียงเพื่อต้องการสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ สอดรับกับการขับเคลื่อนงานการเมืองด้วยการเคลื่อนไหวของ องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) กลุ่ม PerMAS สื่อเว็บไซต์ออนไลน์ สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน รวมทั้งนักวิชาการอิสระที่ได้ร่วมมือกันบิดเบือนความจริง เพื่อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐให้ให้เป็นผู้ร้าย หลายต่อหลายเหตุการณ์เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผู้ลงมือก่อเหตุ กระทำลงไปเพื่อการล้างแค้นให้กับเครือญาติ ขัดแย้งเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ธุรกิจน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี และยาเสพติด นำไปสู่ “มุสลิมฆ่ามุสลิมด้วยกันเองแล้วโยนความผิดให้กับคนต่างศาสนา”

          จะเห็นได้ว่าในระยะหลังๆ เมื่อมีการก่อเหตุลอบฆ่าชาวไทยมุสลิม กลุ่มนักศึกษา PerMAS จะรีบลงพื้นที่เก็บข้อมูล และต้องการให้เป็นข่าว ควบคู่กับการทิ้งใบปลิว ปล่อยข่าวลือตามร้านน้ำชา โฆษณาชวนเชื่อโดยสื่อสถานีวิทยุ สื่อเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมด้วยช่วยกันปลุกกระแสสร้างความเกลียดชังเหมือนดั่งเช่นที่ได้เคยปฏิบัติมาโดยตลอดให้ประชาชนเห็นคล้อยตามสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้เท่าทันน่าเป็นห่วงยิ่งนักสำหรับหลุมพรางที่ขบวนการโจรใต้BRN ได้ขุดล่อรออยู่ เพราะกว่าขั้นตอนของกฎหมายจะเสร็จสิ้น จากการรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษดำเนินคดี ความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้ขยายไปสู่ประชาชนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐแทบไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่อีกเลย

*****************************

ครบรอบ 46 ปี ขบวนการ PULO – MKR กับการต่อสู้..เพื่ออะไร?

ครบรอบ 46 ปี ขบวนการ PULO – MKR กับการต่อสู้..เพื่ออะไร?

              ขบวนการพูโล (PULO – MRK/MKR=Majlis Kepimpinan Pertubuhan) เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 22มกราคม 2511 ซึ่งปีนี้ขบวนการพูโลครบรอบ 46 ปี โดยมีนายกัสตูรี มะห์โกตา (Kasturi Makota) พื้นเพเป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันพำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน เป็นประธานขบวนการพูโล ได้ปราศรัยผ่านเว็บไซต์ทางการของขบวนการพูโลในประเทศสวีเดน (http://puloinfo.net) และบันทึกเป็นวีดีโอเผยแพร่ผ่าน Youtube.com ในช่อง Abu Shahid (http:youtube.com/abushahid100) ในหัวข้อ “Pulo Kasturi” เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา




           นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธาน PULO – MRK ต้องการสื่ออะไรเนื่องในวันครบรอบการก่อตั้งขบวนการพูโล ถึงรัฐบาลไทย ถึงกลุ่มขบวนการต่อสู้ในปาตานีทุกกลุ่ม และที่สำคัญสมาชิกแนวร่วมขบวนการพูโลเองทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะรอรับฟังสัญญาณความชัดเจนในแนวทางการต่อสู้จากนายกัสตูรี หลังจากที่ในระยะหลังๆ การขับเคลื่อนของขบวนการพูโลได้เงียบไป โดยมีขบวนการ BRN เข้ามามีบทบาทแทนที่ มีการสั่งการจากระดับแกนนำระดับสูงให้ทำการเคลื่อนไหวก่อเหตุสร้างสถานการณ์โดยไม่สนคำก่นด่า ไม่เลือกเป้าหมายเพื่อกดดันรัฐบาลไทย ควบคู่งานการเมืองปลุกระดมมวลชน สร้างกระแสชาตินิยมปาตานี โดยกลุ่ม PerMAS ซึ่งเป็นปีกหนึ่งของขบวนการ BRN




         การปราศรัยของ นายกัสตูรี มะห์โกตา เมื่อได้ถอดเทปออกมาคำต่อคำแล้ว ได้ใจความสำคัญที่มีการกล่าวถึงคือ แนวความคิดในการปกครองตนเอง (Autonomy) ซึ่งเป็นความต้องการของชาวปาตานีที่เรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเองหรือปกครองตนเอง แต่ไม่ใช่ความต้องการของขบวนการพูโลเป้าหมายสูงสุดที่แท้จริงของกลุ่ม PULO – MKP คือ เอกราช เนื่องจากขบวนการพูโลเป็นองค์กรต่อสู้เพื่อเอกราช พร้อมทั้งได้กล่าว “99 % ของปัญหาความขัดแย้งในโลกใบนี้ ยุติได้ด้วยกระบวนการพูดคุยเจรจา หันหน้ามาพูดคุยกัน”

         ขบวนการ PULO โดยนายกัสตูรี ต้องการสื่อไปยังประชาคมคมโลก รัฐบาลไทย รวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เห็นว่า กลุ่มพูโล (PULO) เห็นด้วยและมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามกระบวนการตะฮัลลุฟ (ความเป็นมิตร) ในแนวทางของการเจรจา กระบวนการพูดคุยสันติภาพ และการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย ถึงแม้ว่าจะมีแนวความคิด และอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่แท้จริง พร้อมทั้งเชิญชวนให้กลุ่มขบวนการต่อสู้ในปาตานี ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ ทั้งกลุ่มพูโล (PULO) ขบวนการ BRN หันหน้ามาร่วมมือในข้อตกลง เพื่อให้เป็นหนึ่งในแนวทางการต่อสู้ทั้งทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธี โดยเฉพาะการสกัดกั้นความสูญเสียที่เป็นปัญหาของประเทศชาติ (อุมมะห์) และประชาชนชาวปาตานี



          ก่อนหน้านั้นนายกัสตูรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ TV3มาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 ที่ผ่านมาที่ประเทศสวีเดนเขากล่าวว่านอกจากมาเลเซียแล้วบทบาทองค์กรระหว่างประเทศเช่น CSO และ NGOs ก็มีความจำเป็น “หากมีมาเลเซียเพียงอย่างเดียวอาจจะถูกมองว่า มาเลเซียเข้าข้างประเทศไทย และขณะเดียวกันมาเลเซียอาจจะถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายขบวนการ ดังนั้น NGOs องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่จะค่อย check and balance ของทั้งสองฝ่ายเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นไปอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน” นายกัสตูรี กล่าว

         หากกระบวนการพูดคุยสันติภาพเดินหน้า บนโต๊ะเจรจามีตัวแทนผู้คิดเห็นต่างจากรัฐเข้าร่วมหลากหลายกลุ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BRN หรือขบวนการ PULO โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่จากการให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ TV3 ประเทศมาเลเซีย ของนายกัสตูรี ต้องการให้กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) เข้าร่วมในการพูดคุยด้วย อาจจะเป็นการยกระดับปัญหาความขัดแย้งไปสู่สากล องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการเจรจา ปัญหาที่ตามมานำไปสู่การแทรกแซงภายในประเทศ และที่สำคัญจะเข้าทางขบวนการ BRN และกลุ่ม PerMAS เรียกร้องมาตลอดเวลาต้องการให้องค์กรเหล่านี้เข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีการกล่าวหาเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

           พอจะสรุปการออกมากล่าวปราศรัยของนายกัสตูรี มะห์โกตา “ครบรอบ 46 ปี ขบวนการPULO – MKR กับการต่อสู้..เพื่ออะไร?” พอจะจับประเด็นและท่าทีของนายกัสตูรีฯ ได้ว่าต้องการจะสื่อต่อสาธารณะและประกาศให้ประชาคมโลก รัฐบาลไทยรับรู้ว่า ตนเองมีความสำคัญในฐานะประธานกลุ่มPULO และต้องการแสดงศักยภาพต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ยังยึดจุดยืนเดิมของตัวเองต่อข้อเรียกร้อง คือ เอกราชเท่านั้น พร้อมทั้งยังกล่าวปฏิเสธต่อกรณีที่มีกระแสข่าวสารบางข้อมูล ที่ระบุว่า นายกัสตูรีฯ ยอมรับข้อตกลงต่างๆ ที่ทางรัฐบาลไทยเสนอ นี่คือการเลือกเส้นทางเดินของขบวนการ PULO ในวันนี้ คอยติดตามท่าทีของแต่ละฝ่ายในการเรียกร้องความสนใจเพื่อสร้างคะแนนให้กลุ่มขบวนการของตนมีความสำคัญ ให้รัฐบาลไทยยอมรับเพื่อเชิญเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ หรือเป็นแผนลับลวงพราง หักหลังในภายหลัง แต่ ณ ตอนนี้ทำอย่างไรก็ได้ให้กลุ่มของตนเองได้เข้าพ่วงโบกี้ขบวนรถไฟสันติภาพเที่ยวสุดท้ายที่มีรัฐบาลไทย ขบวนการ BRN ร่วมขบวนอยู่ โดยมีมาเลเซียเป็น พนักงานขับรถไฟขบวนนี้ เพื่อไปส่งขบวนรถไฟดังกล่าวให้ถึงยังจุดหมายปลายทางสถานีสันติภาพที่ทุกฝ่ายต้องการ

******************************

วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

‘ซัมซามิน’ บุกปัตตานีย้ำไทยสงบเดินหน้าคุย – ตัวแทนขบวนการชูดอกชบา ‘สัญลักษณ์สันติภาพปาตานี

‘ซัมซามิน’ บุกปัตตานีย้ำไทยสงบเดินหน้าคุย – ตัวแทนขบวนการชูดอกชบา ‘สัญลักษณ์สันติภาพปาตานี
ดาโต๊ะ ซัมซามิน คนกลางฝ่ายมาเลเซียเยือนปัตตานี ย้ำเมื่อการเมืองไทยสงบ การพูดคุยสันติภาพปาตานีเดินหน้าต่อ เผยพูโลตั้งตัวแทนพร้อมร่วมโต๊ะ นักวิชาการมาเลย์ย้ำสองฝ่ายต้องไว้ใจกัน คนปาตานีต้องตอบให้ได้ต้องการอะไร ตัวแทนทหารวอนอย่าทำลายความหวังคนในพื้นที่ แนะต้องกำหนดการพูดคุยในรัฐธรรมนูญ
ปลูกต้นสันติภาพ - ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพได้ร่วมปลูกต้นดอกชบาใกล้กับบริเวณจัดงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพปาตานี
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซียในคณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (JWG-PDP) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการต่อสู้ในพื้นที่ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สันติสนทนาและกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี: หนึ่งปีที่ผ่านมาและอีกหลายปีต่อจากนี้”
การปาฐกถาดังกล่าว มีขึ้นในงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี [PPP 101: 10 ปี ความรุนแรง, 1 ปี สนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี" มีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
ซัมซามินย้ำการเมืองไทยสงบ พูดคุยเดินหน้าต่อ


ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพในการปาฐกถา
ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม กล่าวในการปาฐกถาว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายคนสรุปว่า การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN ล้มเหลว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
“การพูดคุยสันติภาพที่หยุดชั่วคราวในตอนนี้ เนื่องจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับรัฐบาลอยู่ในฐานะรักษาการ จึงไม่สามารถดำเนินการพูดคุยสันติภาพที่เป็นทางการได้ แต่ผมมองในแง่ดีว่า เมื่อรัฐบาลไทยสามารถแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานครได้ การพูดคุยสันติภาพก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าว
ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าวต่อไปว่า การที่มาเลเซียเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพถูกกล่าวหาว่ามาเลเซียมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่นั้น ตอบว่าใช่ แต่วาระของมาเลเซียคือต้องการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างรัฐกับขบวนการ BRN และเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มีความครอบคลุมและเที่ยงธรรม ซึ่งข้อตกลงสันติภาพที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในปาตานี ร่วมถึงมาเลเซียด้วย
เผยพูโลตั้งตัวแทนแล้ว พร้อมร่วมโต๊ะ
ดาโต๊ะซัมซามิน เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีหรือขบวนการพูโล ทั้ง 3 กลุ่มได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อที่จะเข้าร่วมการการพูดคุยสันติภาพนี้ด้วย นอกจากยังมีแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปาตานี หรือขบวนการบีไอพีพีก็มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการเจรจาด้วย
หลังการปาฐกถา ดาโต๊ะซัมซามิน ได้ร่วมปลูกต้นดอกชบาในบริเวณนอกอาคารคณะวิทยาการสื่อสาร ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมดังกล่าวด้วย
จากนั้นเป็นการเปิดเวทีสันติเสวนาพิเศษ: “หนึ่งปีที่ผ่านมาและก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” โดยมีศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ศ.ดร.กามารุซามัน อัสกันดาร์ มหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซียประเทศมาเลเซีย พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล
นักวิชาการมาเลย์ย้ำสองฝ่ายต้องไว้ใจกัน
ศ.ดร.กามารุซามัน อัสกันดาร์ จากมหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า แม้ว่าระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็อย่ายอมแพ้และไม่ควรมีทัศนะคติที่แพ้ เพราะการแก้ปัญหาและหาทางออกในด้านบวกอย่างยั่งยืนนั้นจะรีบร้อนไม่ได้ และดำเนินไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน
“ความไว้วางใจของกลุ่มที่เข้าร่วมการพูดคุยด้วยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ กระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ใช้เวลาในการพูดคุยสันติภาพได้ไม่นาน เพราะทั้งสองฝ่ายมีความไว้วางใจสูงอยู่แล้ว จึงทำให้การพูดคุยสันติภาพเดินไปได้อย่างไม่สะดุด”
คนปาตานีต้องตอบให้ได้ต้องการอะไร
ศ.ดร.กามารุซามัน ตอบคำถามที่ว่าปัญหาของการพูดคุยสันติภาพปาตานีคืออะไรว่า ทุกอย่างเป็นปัญหาของปาตานี การเมืองส่วนกลางของไทยที่ไม่มีเสถียรภาพก็ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องสร้างความแกร่งในพื้นฐานให้ได้ โดยพื้นที่ต้องคำตอบให้ได้ว่าคนปาตานีทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ต้องการอะไร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่คนปาตานีต้องตอบด้วยตัวเอง คนนอกจะมาตอบให้ไม่ได้
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวด้วยว่า ในการแก้ปัญหาของพื้นที่ควรแนวทางจัดการปัญหาอยู่ 3 ประเด็น คือประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และการไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพอย่างไร จึงต้องมีการหารือในเรื่องนี้ให้มาก
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวว่า ถ้ามีกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นก็สามารถเรียกร้องผ่านกระบวนการนี้ได้ จะให้เป็นข้อบังคับที่ห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงก็ได้ แต่บางครั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อาจจะเกิดจากฝ่ายอื่นก็ได้
ไม่ต้องรีบ แต่ต้องสร้างความไว้วางใจ
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวว่า การยึดกระบวนการสันติภาพจะสามารถทำให้แก้ปัญหาเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่เนื่องจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีเพิ่งเริ่มต้นปีแรกเท่านั้น และแม้ว่าในปีแรกนี้ก็เป็นเพียงการพูดคุยอภิปรายประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ซึ่งอาจจะไปทางขวางบ้าง ซ้ายบ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจกันซึ่งกันและกัน
“ตอนนี้เราเร่งรีบมากเกินไป แต่ความคิดเห็นทั้งหมดยังไม่ได้รับพิจารณาจึงทำให้เป็นปัญหาต่อการเดินหน้าในการพูดคุย ดังนั้นจึงไม่ควรเร่งรีบมากเกินไปในการแก้ปัญหาเพื่อหาทางออก” ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าว
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวว่า ตอนนี้ต้องสร้างความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สองฝ่ายเท่านั้น แต่ต้องสร้างความไว้วางใจกันหลายๆฝ่าย และต้องสร้างความเชื่อมโยงกันทั้งคนในปาตานีและนอกปาตานี และคนทั้งหมดในปาตานีทั้งหมดต้องอยู่ในกระบวนการพูดคุยด้วย ส่วนมาเลย์ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน โดยหวังอย่างยิ่งว่า กระบวนการพูดคุยต้องดำเนินไปและต้องดีขึ้น
วอนอย่าทำลายความหวังคนในพื้นที่
พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการประสานการปฏิบัติที่5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายความมั่นคงให้การสนับสนุน เพราะเป็นหลักสากลของการแก้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งทุกอย่างต้องจบลงที่การพูดคุย
“กระบวนการพูดคุยที่ผ่านมาเริ่มต้นมาจากการบีบบังคับ จึงทำให้การพูดคุยหยุดไปบ้าง ซึ่งที่จริงแล้วการพูดคุยต้องเริ่มจากด้านล่าง คือต้องสร้างความสนิทสนมกันก่อนเพื่อสร้างบรรยากาศการคุย แล้วจึงเริ่มพูดคุยสันติภาพ” พล.ต.นักรบ กล่าว
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าคนที่อยู่บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ มีสิทธิแค่ไหนในการตอบคำถาม ในขณะที่คนในพื้นที่ต่างก็ให้ความหวังกับคนที่ไปเจรจาบนโต๊ะ แต่เมื่อพูดคุยไปแล้วไม่ได้อธิบายให้สาธารณะก็ทำให้ความหวังของคนที่รอข่าวอยู่ รู้สึกไม่ได้อะไรเลย
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า ในการพูดคุยสันติภาพต้องทำความเข้าใจถึงความคาดหวังจากพื้นที่ด้วย เพราะกระบวนการพูดคุยครั้งนี้เริ่มต้นผิดขั้นตอน ทั้งนี้เพราะตัวแทนกลุ่มที่เจรจาบนโต๊ะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนที่มาจากทุกกลุ่มหรือเปล่า เพราะกลุ่มคนที่สร้างความไม่สงบในภาคใต้มีเยอะ
ต้องกำหนดการพูดคุยในรัฐธรรมนูญ
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติได้ แต่ที่ผ่านมาวาระดังกล่าวประกาศโดยรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีหลายรัฐบาล มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยจึงทำให้ลำบากในการสานต่อนโยบายเพื่อให้การแต่ปัญหาตามวาระดังกล่าวเป็นไปต่อเนื่อง เพราะการประกาศโดยรัฐบาลก็ทำให้ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งต่างจากกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการประกาศในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตามนั้น
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า กระบวรการพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนเต็มที่ หากทำแล้วได้ผลก็ต้องไปด้วยดี เพราะจะเกิดผลต่อความมั่นคงทั้งสิ้น
สันติภาพปาตานีต้องเป็นบทเรียนให้โลก
ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปด้วยว่า คู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายควรจับมือกันเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่เอาแต่เรื่องการเมือง แต่ใช้การพูดคุยสันติภาพมาแก้ปัญหาทุกปัญหา ซึ่งเริ่มต้นที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน เพื่อเป็นเป็นบทเรียนให้ที่อื่นในโลกได้ด้วย ส่วนคนที่เป็นผู้นำระดับชาติ แม้ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพก็ควรมาสนับสนุนด้วย
ศ.ดร.ดันแคน กล่าวว่า ขอเรียกร้อง 5 ข้อของฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นหากจะให้นำเข้าพิจารณาในรัฐสภาด้วยนั้น คิดว่ายังเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นเพียงความฝันเท่านั้น การนำข้อเสนอของขบวนการเข้าสภานั้นยังเร็วเกินไป เช่นเดียวกับข้อเสนอของฝ่ายรัฐไทยที่ขอจากฝ่ายขบวนการด้วย 5 ข้อก็เร็วเกินไปเหมือนกัน
มาเลย์ต้องอยู่การพูดคุยจึงจะสำเร็จ
ศ.ดร.ดันแคน กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยตอนนี้ คิดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะคุยกันได้ ส่วนการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการเจรจานั้น ฝ่ายรัฐบาลต้องมีความคิดเห็นที่ตรงกันกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อน
ศ.ดร.ดันแคน กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คนนอกพื้นที่สงสัยว่ามาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ถ้าไม่มีมาเลเซียมาเป็นคนนำร่วมเพื่อสร้างสันติภาพก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กระบวนการพูดคุยที่ตั้งในมาเลเซียนั้นถือว่าดีที่สุดแล้ว หากไม่ใช่มาเลเซียการดำเนินงานไปก็ไม่สำเร็จ แม้ว่าการเริ่มต้นของการพูดคุยไม่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุดก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีการเดินหน้าไปแล้วโดยการอนุมัติของทั้งสองประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาโดยการพูดคุยของที่นี่ยังดีกว่ากระบวนการพูดคุยของที่อื่นด้วย
สร้างกลไกที่หลากหลาย ทุกฝ่ายยอมรับ
ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า หัวใจของการลดปัญหาความรุนแรง คือต้องลดเงื่อนไขความรุนแรงทุกรูปแบบ ต้องใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งนโยบายการพูดคุยเพื่อสันติภาพนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบจึงเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นจำเป็นที่ทุกคนต้องมีหน้าที่เป็นกลไกในการพูดคุยที่หลากหลาย เพื่อเป็นหลักประกันให้ทุกฝ่ายยอมรับ
“10 ปีเราสูญเสียมามากพอแล้ว เราควรหันมาใช้สันติวิธีในการพูดคุยทำความเข้าใจต่อไปในภาวะที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ แม้เราไม่มั่นใจว่าปัญหาจะแก้ได้หรือไม่ก็ตาม” ผศ.ปิยะ กล่าว
 “อาบูฮาฟิส” ตัวแทนร่วมโต๊ะส่งคลิปแถลง
ทั้งนี้ระหว่างการเสวนาเจ้าหน้าที่ได้เปิดฉายคลิปวิดีโอที่มีภาพของ “อาบูฮาฟิส อัลฮากีม” ซึ่งระบุว่าเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนการพูดคุยสันติภาพในฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นด้วย พร้อมกันนี้ในที่เสวนามีการแจกเอกสารคำแถลงดังกล่าวซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยให้ผู้เข้าร่วมด้วย
ย้ำ“สู้กับระบอบอาณานิคม ชาวไทยไม่ใช่ศัตรู”
โดยอาบูฮาฟิส กล่าวว่า “เราต่อสู้กับระบอบอาณานิคมของไทยเท่านั้น ขณะที่ชาวไทยหาได้เป็นศัตรูของเราไม่ ... เราเลือกการต่อสู้ด้วยกาลังอาวุธ ก็เพราะว่าในอดีตรัฐไทยไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชนเลย บรรดาผู้นาของเราในอดีตซึ่งต่อสู้ผ่านรัฐสภาหรือการเรียกร้องบนหลักการสิทธิมนุษยชนก็มักต้องประสบกับการถูกจับกุมหรือไม่ก็ถูกคุมขัง บางคนยังถูกฆาตกรรมหรือต้องหลบหนีลี้ภัยในต่างแดน ที่น่าเศร้าก็คือสถานการณ์เหล่านั้นก็ยังคงดารงอยู่ในทุกวันนี้”
เผยเบื้องหลัง วงเจรจาในอดีตล้มซ้ำซาก
อาบูฮาฟิส กล่าวว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของนักต่อสู้ปาตานีไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ก็เคยเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐบาลบางประเทศและองค์กรเอกชนบางกลุ่มทำหน้าที่ประสานงาน ซึ่งดำเนินการอย่างปิดลับและมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนและการมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายชัดเจนหรือชอบธรรมเพียงพอ
อาบูฮาฟิส กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าสู่โต๊ะพูดคุยด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน จุดประสงค์ของบรรดานักต่อสู้หมายจะประเมินความจริงใจและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐไทย ส่วนฝ่ายไทยก็เข้ามาเพียงเพื่อหาข่าวกรองและแสวงหาหนทางที่จะยุติความรุนแรง ไม่มีการยอมรับสถานะของบรรดานักต่อสู้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ก่อการร้าย
เข้าร่วมคุยเพราะหวังทางเลือกที่ไม่ใช้อาวุธ
อาบูฮาฟิส กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพครั้งนี้เริ่มต้นอย่างเปิดเผย ถือเป็นครั้งแรกที่กระบวนการสันติภาพปาตานีได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากประชาคมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ถึงแม้ถูกผูกมัดให้อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย แต่เราก็ได้เข้าร่วมพูดคุยเพื่อค้นหาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือไปจากการใช้กำลังอาวุธ เพื่อให้ได้มาทางออกของความขัดแย้งปาตานีที่มีความยุติธรรม ความรอบด้านและความยั่งยืน
ทิ้งท้าย “ดอกชบา สัญลักษณ์แห่งสันติภาพปาตานี”
อาบูฮาฟิส ยังได้กล่าวทิ้งท้ายของแถลงการณ์ครั้งนี้ด้วยว่า “วันนี้ เรามาพร้อมดอกชบาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ โดยไม่พกพาอาวุธใดๆ สงครามได้ปะทุขึ้นที่ปาตานี และที่ปาตานีนี่เองที่สันติภาพจะก่อเกิดขึ้น สมฉายานามปาตานี ดารุสลาม คือ ปาตานี ดินแดนแห่งสันติภาพ”
Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม